ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > พรรคก้าวไกล…ชูนโยบาย 15 เรื่อง “การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต”

พรรคก้าวไกล…ชูนโยบาย 15 เรื่อง “การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต”

25 เมษายน 2023


“ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกล เปิดตัวสู้ศึกเลือกครั้งนี้ด้วยนโยบายจะสร้างประเทศไทยที่ไม่เหมือนเดิม ด้วยนโยบาย “การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต” ด้วยนโยบายรวม 15 เรื่อง

“ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล อธิบายว่า นโยบายทั้งหมดมาจากแนวคิด สิ่งที่อยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า เป็นธรรม สังคมที่ทุกคนมีคุณภาพที่ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม เป็นแนวคิดที่เรียบง่าย ตอบโจทย์สิ่งที่เห็นในทุกวันนี้ ตั้งแต่ระบบการเมืองที่ยังตอบไม่ได้เต็มปากว่า นี่คือประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การที่ระบอบการเมืองไม่ดี ก็กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้นไม่ได้ จึงเป็นโจทย์ต้องแก้ ให้การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต ที่ประกอบด้วย 15 นโยบาย

การเมืองดี

1. การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้ง
2. การปฏิรูปกองทัพ โดยให้ทหารอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้การเป็นทหารด้วยความสมัครใจ
3. การกระจายอำนาจ จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงการกระจายงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วย โดยกระจายตามขนาดของพื้นที่ เพราะบางแห่งงบที่เคยได้รับจัดสรรไม่เพียงพอที่จะให้ท้องถิ่นนำไปจัดการขั้นพื้นฐานได้
4. ต้านคอร์รัปชัน เพราะการเมืองดีอย่างไร ถ้าไม่แก้เรื่องคอร์รัปชัน สุดท้ายก็จะมีการรั่วไหล คนเสื่อมศรัทธาในการเมือง พรรคก้าวไกลไม่เชื่อเรื่องคนดีมาทำให้บ้านเมืองสุจริต แต่เชื่อในระบบที่ดี การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐต้องมีการเปิดเผยข้อมูล โดยใช้ระบบ AI ในการตรวจจับเวลามีการเปิดประมูล เพื่อให้โกงได้ยากขึ้น และช่วยให้สำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) สามารถตรวจจับโกงง่ายขึ้น รวมถึงการให้สิทธิ์ประชาชนในการยื่นถอดถอน ป.ป.ช. ได้

ปากท้องดี

เริ่มจากสวัสดิการไทยก้าวหน้า สวัสดิการที่มั่นคง พรรคก้าวไกลชูเรื่องการสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่

เงินอุดหนุนเด็ก

แม้ว่าปัจจุบันจะมีการให้สวัสดิการบ้าง เช่น เงินอุดหนุนดูและเด็กแรกเกิดเดือนละ 600 บาท แต่ต้องเป็นครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท ทำให้มีเด็กยากจนตกหล่นจำนวนมาก แต่พรรคจะให้กับเด็กแรกเกิดทุกราย 3,000 บาท ขณะที่เด็กเล็กจะได้ 1,200 บาทต่อเดือน และทำทั้งระบบ เพื่อให้การเลี้ยงดูเด็กง่ายขึ้น เช่น การให้สิทธิลาคลอด 180 วัน การตั้งศูนย์ดูแลเด็กอ่อนของรัฐ ที่ไทยไม่เคยมีเลย วิธีนี้จะทำให้ครอบครัวสามารถดูแลลูกจนครบ 6 เดือน หลังจากนั้นก็มีบริการของรัฐคอยดูแลให้ โดยจะให้งบ อปท. ที่ต้องการสร้างศูนย์ดูแลเด็กเล็ก มีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับอาคารสำนักงานเพื่อให้จัดห้องสำหรับดูแลเด็กเล็ก สำหรับผู้สูงอายุ จะต้องแก้ระบบบำนาญให้ครอบคลุมคนทั้งประเทศ โดยให้เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะรัฐละเลยมาตลอด โดยจะให้แบบขั้นบันได ปีแรก 1,000 บาท เพื่อให้เวลาในการจัดทำงบประมาณด้วย

กลุ่มแรงงาน

มีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นทันที หัวใจของเรื่องนี้คือเพิ่มค่าแรงทุกปี เพราะที่ผ่านมาจะได้ขึ้นค่าแรงต่อเมื่อมีการเลือกตั้ง และพรรคเคยเสนอแก้กฎหมายให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี ตามค่าครองชีพหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะจีดีพีที่เพิ่มสะท้อนถึงความสามารถในการผลิต ส่วนค่าครองชีพเป็นต้นทุนการใช้ชีวิต โดยใช้ระบบไตรภาคีในการเจรจาว่า ค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นเท่าไหร่ ไม่ต้องให้พรรคการเมืองไหนมาคอยบอก โดยได้ทดลองคำนวณแล้วว่า ตั้งแต่มีการขึ้นค่าแรง 300 บาท จนถึงวันนี้ค่าแรงต้องเป็น 450 บาท

กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี

โดยชูนโยบาย “หวยใบเสร็จ” คือ เพิ่มแต้มต่อให้เอสเอ็มอีที่มาลงทะเบียนเข้าโครงการหวยใบเสร็จ จะต้องทำบัญชีหลังบ้านให้เรียบร้อย ใครมาซื้อของร้านนี้ ให้เก็บใบเสร็จที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ สามารถนำมาเลือกซื้อสลากกินแบ่งได้ 1 ใบ ทำให้มีแรงจูงใจให้คนอยากเดินเข้าร้านเล็กๆ หรือโชห่วย เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบย่อมๆ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก วิธีนี้จะทำให้เอสเอ็มอีมาเข้าระบบด้วย เพราะปัจจุบันเอสเอ็มอีเป็นเศรษฐกิจใต้ดิน ทุกวันนี้ไม่มีข้อมูลเอสเอ็มอีทั้งประเทศ เป็นเพียงคาดคะเนเท่านั้นว่ามี 3 ล้านราย โดยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมีจำนวนเท่าไหร่ อยู่ที่ไหน ทำกิจการอะไร และไม่ได้ให้เข้ามาอยู่ในฐานภาษี โดยจะให้เอสเอ็มอีหักลดหย่อนภาษีได้ 90% เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษี แต่นำเอสเอ็มอีมาเข้าระบบเพื่อจะได้มีข้อมูลในการทำนโยบายได้

ที่ดิน

ปัจจุบันในชนบททุกพื้นที่จะพบปัญหาที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทกับภาครัฐในเรื่องเอกสารสิทธิ์ หรือ ส.ป.ก. ถ้าไม่มีการแก้ไข ก็เท่ากับแช่แข็งชนบทไทยไว้ให้อยู่เหมือนเดิม เป็นเกษตรกรก็ต้องเป็นเกษตรกรชั่วลูกหลาน ไม่มีทางเลือกอื่นๆ ให้ อย่างกรณีที่ดิน ส.ป.ก. คนถือทำได้เพียงเกษตร จะเปิดร้านขายของหน้าบ้าน ก็ผิดกฎหมายเพราะที่ ส.ป.ก. ไม่ให้ทำอย่างอื่น จะเปิดร้านแปรรูปขนาดเล็กก็ทำไม่ได้ ต่อยอดอะไรไม่ได้ ฉะนั้น นอกจากจะเร่งออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่เป็นข้อพิพาทแล้ว ต้องเปลี่ยน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนด มีคนบอกว่าเป็นการแจกที่ดินให้นายทุน แต่นายทุนได้ใช้หรือไม่ แต่ถ้าให้เปลี่ยนเป็นโฉนดได้จะทำให้ถนนกลับเป็นของประชาชน และสามารถทำเรื่องอื่นได้ เช่น ถ้าชื่อไม่ตรงกับชื่อใน ส.ป.ก. หรือผู้ถือ ส.ป.ก. มีทรัพย์สินอื่นเกิน 10 ล้านบาท จะถูกยึดคืน หรือถ้าเกษตรกรซื้อขายกันเอง เพราะขาดเงิน ก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้ว่ามีการเปลี่ยนมือโดยสุจริต สามารถแปลงเป็นโฉนดได้ แต่ต้องถือต่อ 5 ปีก่อนที่จะเปลี่ยนมือได้

“จากการลงพื้นที่จริง พบว่าที่ ส.ป.ก. ไม่ใช่ที่ดินที่นายทุนอยากได้ เพราะเคยเป็นป่าเสื่อมโทรมมาก่อน โดยเฉพาะพื้นที่อีสาน สามารถทำวิธีนี้ได้เลย เพราะส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรหน้าเดิมที่ถือที่ ส.ป.ก. มาตั้งแต่แรก อย่างพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ จะเป็นเกษตรกรจริงคนเดิมๆ ที่มีชื่อหลัง ส.ป.ก. มีการเปลี่ยนมือเพียง 2% และเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการทำเกษตรกร แต่ติดกฎหมาย ไม่สามารถทำเป็นโซลาร์ฟาร์ม หรือโรงงาน หรือขายของได้”

หนี้เกษตรกร

เรื่องแช่แข็งชนบทไทย ยังมีเรืองหนี้เกษตรกร ปัจจุบัน ชาวนาอายุ 70 ปี ควรหยุดพักผ่อน หรือปลูกพืชไว้กินเอง ไม่ใช่ปลูกเพื่อใช้หนี้ จึงจะมีการลดหนี้ เหมือนธนาคารทั่วไปที่ลดหนี้ให้ผู้กู้ที่อายุขนาดนี้ เวลานี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ยอมลดหนี้ให้เกษตรกรสูงอายุ แต่ยังมีความไม่คล่องตัว จึงต้องมีนโยบายไปกระตุ้น หรือแบ่งเบาภาระเพื่อให้ ธ.ก.ส. ลดหนี้ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการนำหนี้สินมาบริหารใหม่ เป็น asset management โดยรัฐรับซื้อหนี้จาก ธ.ก.ส. มาบริหารด้วยการนำที่ดินเกษตรกรมาแบ่งเช่า อาจจะครึ่งหนึ่งก็ได้ และทำอย่างอื่นให้เกิดประโยชน์ เช่น ปลูกไม้ยืนต้น ที่สามารถขายได้ทั้งต้นไม้ และได้คาร์บอนเครดิตด้วย ทำให้มีรายได้ชำระหนี้ เพราะซื้อหนี้ในราคาเพียง 30-50% ของหนี้เดิม ซึ่งเกษตรกรไทยไม่เคยได้รับสิทธินี้ หรือถ้าไม่มีที่ดิน ก็ติดโซลาร์รูฟทอป โดยบริษัท asset management เป็นผู้ลงทุนให้ และจ่ายค่าดูแลให้เกษตรกร ส่วนค่าไฟก็แบ่งผลประโยชน์กัน ซึ่งเกษตรกรไทยก็ไม่เคยได้รับสิทธิ์นี้ ยังอยู่กันเหมือนเดิม หนี้ก็ก้อนใหญ่ แค่จะเปลี่ยนพืชที่จะปลูกยังต้องคิดเยอะ เพราะเกษตรกรจ่ายหนี้ปีละครั้งและเป็นเงินก้อนใหญ่ ถ้าไม่ปลูกข้าว ไปปลูกพืชอื่นที่แม้จะได้กำไรมากกว่า แต่ไม่พอจะคืนหนี้ในแต่ละปี ทำให้เปลี่ยนอาชีพไม่ได้

“ที่ผ่านมาไม่มีการพูดเรื่องนี้ เพราะพูดกันแต่พักชำระหนี้ ต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว พอพักหนี้เสร็จ ปรากฏว่าหนี้เพิ่มขึ้น 70% จากดอกเบี้ยที่ทบมา เพราะไม่ได้จ่ายมา 5 ปี เกษตรกรก็ไม่อยากได้แล้ว ถ้าไม่ได้พักหนี้เขาอาจจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแล้ว แต่ถูกเลี้ยงไข้มา 5 ปี จนรายได้ที่เกษตรกรคิดว่าพอที่จะจ่ายหนี้ ตอนนี้ไม่พอแล้ว วินัยการเก็บเงินแต่ละปีก็ไม่มี หนี้งอกอีก เกษตรกรจึงควรมีการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ชีวิตได้เริ่มต้นใหม่มีอนาคต”

มีอนาคต

สุขภาพที่ดี

เริ่มจากเรื่องสุขภาพ ปัจจุบันนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคค่อนข้างลงตัว แต่จะมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องปรับปรุง และที่เห็นว่าเป็นปัญหา คือ การทำงานของบุคคลากรสาธารณสุข ทั้งพยาบาลและหมอต่างทำงานหนัก ปีหนึ่งมีหมอลาออก 600 คน แม้จะผลิตหมอได้ปีละ 2,500 คน ทั้งลาออกไปเปิดคลินิกหรือเข้าโรงพยาบาลเอกชน เพราะสภาพการทำงานดีกว่ามาก พยาบาลยิ่งเลวร้าย ออกครั้งละครึ่งหนึ่งของที่ผลิตได้ปีละ 1 หมื่นคน ทำให้หมอและพยาบาลไม่เพียงพอ เพราะไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ

แนวทางการยกระดับสาธารณสุขของพรรค จึงเป็นแนวทางในการช่วยลดภาระความแออัดในโรงพยาบาลเป็นหลัก ผู้ป่วยที่ต้องดูแลระยะยาว ต้องเอาออกจากวอร์ดในโรงพยาบาลให้ไปอยู่กับชุมชน อยู่ที่บ้านแทน โดยมีระบบการดูแลผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง มาช่วย เพื่อให้ผู้ป่วย ที่รวมถึงผู้ป่วยระยะสุดท้าย ระยะประคับประคอง เป็นการให้สิทธิ์ในการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพและตายอย่างมีศักดิ์ศรี ไปจนถึงการให้หมอช่วยเรื่องการฆ่าตัวตายได้ ซึ่งพบว่า คนไทยไม่ค่อยมีการต่อต้านเรื่องนี้ และอยากให้เหมือนสวิตเซอร์แลนด์ด้วย นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากอาการโคม่า ต้องครองเตียงในโรงพยาบาลนานๆ ก็จะจัดให้มีโปรแกรมฟื้นฟู เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นคนไข้หนักอีก

ส่วน primary care ที่ทุกพรรคมีหมด แต่พรรคก้าวไกลมี sandbox ที่ร่วมกับกลุ่มส้มจี๊ด ทำ telemedicine คือ การให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน ตัวอย่างที่จังหวัดมุกดาหาร ผู้ป่วยไม่ได้แค่คุยกับหมอ แต่ตรวจเลือด ตรวจความดันได้หมด โดยผลจะขึ้นจอให้หมอดูได้ อย่างความดัน แทนที่จะต้องไปนั่งรอหมอเป็นชั่วโมงแล้วได้ยามากินเหมือนเดิม ก็ใช้ระบบนี้ ทำให้ไม่ต้องเดินทาง

ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็เป็นมาตรการที่จะให้ 30 บาทดีขึ้น เช่น แว่นตาฟรีสำหรับเด็กจนถึงอายุ 18 ปี จากปัจจุบันอายุ 11 ปี เพราะพบว่าเด็กมัธยมต้นเพิ่งรู้ว่าตัวเองสายตาสั้น แต่แม่ไม่มีเงิน เบิกไม่ได้ การเรียนก็ถดถอย เพราะอ่านหนังสือ มองไม่เห็น มีเรื่องคัดกรองมะเร็งที่ต้องทำตั้งแต่เริ่มแรก ยิ่งคัดกรองเร็วจะรอดตายในอัตราสูงมาก โดยเพิ่มไว้ในโปรแกรมตรวจสุขภาพโดยไม่ต้องรอหมอสั่ง เช่น มะเร็งเต้านม ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถตรวจแมมโมแกรมได้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่ให้ตรวจแบบส่องกล้องได้ มะเร็งปอดให้ทำซีทีแสกนได้ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีฝุ่น PM2.5 สูง ที่พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งปอดสูงขึ้นมาก แล้วก็มะเร็งต่อมลูกหมาก

นอกจากนี้ มีระบบระเบียนคนไข้ ที่ไม่ได้เชื่อมโยงกัน แต่ไม่ต้องถึงขั้นเอาขึ้นระบบคลาวด์ เพียงแค่คนไข้อนุญาตให้ระบบเรียกดูและวิเคราะห์ได้เท่านั้น

“ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

การศึกษา

ต้องมีการปรับหลักสูตรใหม่ทั้งระบบ เรื่องนี้เป็นหัวใจของเรื่องการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่มีการเลื่อนออกไปเพราะถูกล็อบบี้ รวมทั้งฐานสมรรถนะที่จะสอนต้องเป็นทักษะที่ใช้ได้จริง สามารถนำไปต่อยอดได้ด้วยตัวเอง เป็นเรื่องที่ต้องทำทันทีตั้งแต่ปีแรก และการเปลี่ยนหลักสูตรได้ต้องเริ่มที่ครู ด้วยการปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น แต่จะทำได้ต้องปลดปล่อยภาระหนี้ที่มีอยู่

สิ่งแวดล้อม

เรื่อง climate change ต้องทำให้เกิดขึ้นโดยใช้ภาคบังคับ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทำกฎหมาย climate change มา 3 ปีแต่ยังไม่ผ่านสภา จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังแก้ไขกันอยู่ อ้างว่าเอกชนกังวล จนทำให้ล่าสุดเกิดกรณีแร่ซีเซียมขึ้น แต่ ณ วันนี้กลายเป็นภาคเอกชนที่ขอร้องให้ดำเนินการได้แล้ว นักลงทุน คู่ค้า ก็บอกแล้ว เหลือรอกฎหมายว่าจะออกมาเมื่อไหร่ ก็ต้องเร่ง รวมถึงการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่ทุกฝ่ายพร้อมจะปรับเปลี่ยน โดยมีภาครัฐสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนน้อยลง หรือเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน ภาคธุรกิจพร้อมจะปรับตัวแล้ว รวมถึงชาวบ้านก็อยากทำโซลาร์รูฟทอป ปลูกป่า ที่ได้คาร์บอนเครดิต เพียงแต่รัฐต้องทำอย่างจริงจัง ออกกฎระเบียบให้ทำได้ ที่สำคัญ คือ การปรับตัว โดยจัดกองทุนให้ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง น้ำท่วม ได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงที และสนับสนุนให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม หรือปรับตัวให้รับมือได้ รวมทั้งนำไปสู่การลดโลกร้อนด้วย เช่น การปลูกนาข้าวที่มีการจัดการน้ำเปียกสลับแห้ง ที่ลดก๊าซมีเทนได้เวลาน้ำขังนานๆ หน้าแล้งก็ไม่ต้องใช้น้ำมากเหมือนเดิม ก็จะมีกองทุนให้ปรับตัวได้

เรื่องสิ่งแวดล้อมยังมีหลายแง่มุม ทั้งขยะอุตสาหกรรม ฝุ่นมลพิษ PM2.5 รวมถึงเรื่องซีเซียม ที่พรรคมีการร่างกฎหมายการรายงานการปลดปล่อยสารมลพิษ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าสารพิษ อย่างซีเซียม อยู่ที่ไหนบ้าง กรณีหายไป ก็จะรู้ว่าโรงงานรับหลอมเหล็ก ได้หลอมอะไรบ้าง หรือการเอา PM2.5 มาอยู่ในสารมลพิษ ก็จะได้รู้ว่าโรงงานไหนที่ปล่อย PM2.5 มากน้อยเพียงใด ปล่อยช่วงไหนมาก ช่วงไหนน้อย ถ้าดูแล้วกรุงเทพฯ ช่วงนี้ฝุ่นมาก แล้วลอยมาจากจังหวัดระยอง ก็จะไปเจรจาให้โรงงานในจังหวัดระยองลดการผลิตช่วงนั้นช่วงนี้ลง เพื่อให้ฝุ่นน้อยลง เป็นเรื่องการจัดการด้านภาคอุตสาหกรรมที่มีการพูดกันน้อย ส่วนใหญ่จะดูที่ภาคขนส่ง หรือการเผาภาคเกษตรที่โดยข้อเท็จจริงวัสดุการเกษตร เช่น ซังข้าวโพด ตอข้าว ล้วนมีมูลค่า แต่ไม่มีการเก็บรวบรวม และสนับสนุนหรือให้เงินอุดหนุนให้คนที่เก็บรวบรวมไปรับซื้อมาแล้วส่งเข้าโรงงานผลิตชีวมวล เกษตรกรก็มีรายได้ไม่ต้องเผา แต่ที่หนักมากคือการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีข้อมูลมา 2-3 ปีแล้วที่ประเทศเพื่อนบ้านส่งออกข้าวโพดมาไทยเพิ่ม 3-4 เท่า โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่ไม่ปลูกข้าวโพดในไทย แต่ไปปลูกและเผาในต่างประเทศ และต่อไปควรจะติดป้ายที่เนื้อไก่ เนื้หมู แล้วว่า ไก่จากเขียงนี้ไม่ได้ใช้อาหารที่มาจากข้าวโพดที่มีการเผา เพื่อให้เกิดการกดดันหลายทาง

“ศิริกัญญา” บอกว่าพรรคมียุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยการเติบโตที่เป็นธรรม (inclusive growth) คือ ทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ขณะเดียวกัน ดอกผลของการพัฒนาต้องถูกกระจายอย่างเป็นธรรม โดยมี 3 เรื่องหลักที่ต้องดำเนินการ คือ การสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้มั่นคง (firm ground) การสร้างกลไกภาครัฐและกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม (fair game) และการผลักดันเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ ที่เติบโตไปพร้อมกับซัพพลายเชนโลก (fast forward growth)

ที่ผ่านมา เศรษฐกิจ ไทยไม่ได้ขี้เหร่ ยังเติบโตต่อไปได้ แม้จะชะลอตัวลง แต่รัฐบาลที่ผ่านมา ภาครัฐเองก็ทำแบบให้โตตามยถากรรม ไม่ได้ขับเคลื่อนให้เกิดจุดพลิกผัน ให้เศรษฐกิจโตต่อไปได้ มีการพูดแต่ทางปฏิบัติไม่ได้เกิดขึ้นจริง ว่าจะนำพาประเทศไปอย่างไร เป็นเศรษฐกิจที่เสรีมากเกินไปและปล่อยให้โตตามยถากรรม ทำให้ไทยไม่สามารถแก้โจทย์ความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น หรือแก้ปัญหาดั้งเดิมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมผู้สูงอายุ เศรษฐกิจกระจุกตัวมาก

หรือต่อไปข้างหน้าที่เศรษฐกิจจะโตได้ช้าจากผลกระทบสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการกระจายดอกผลจากการพัฒนาอย่างเป็นธรรมที่เห็นได้จากรายได้ประชาชาติย้อนหลัง 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 2557 จนถึงขณะนี้โต 20% แต่กำไรภาคเอกชนโต 30% ขณะที่รายได้ประชาชนโตเพียง 3% เห็นได้ว่าดอกผลการพัฒนาไม่ได้กระจายอย่างเป็นธรรม แล้วจะให้เศรษฐกิจโตไปมากมายเพื่ออะไรถ้าสุดท้ายไม่ได้ทำให้ปากท้องหรือชีวิตคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ดีขึ้นได้

ปากท้องดีของเราจึงหมายถึงการเติบโตอย่างเป็นธรรม ดอกผลการพัฒนากระจายไปอย่างทั่วถึง และยืนยันว่าต้องทั่วถึงจริงๆ ไม่ใช่กระตุ้นตรงนั้นที ตรงนี้ที ให้โตขึ้น

ศิริกัญญากล่าวว่า การแก้ไขให้เศรษฐกิจโตและมีความเป็นธรรม ต้องแก้ไขตั้งแต่เรื่องการศึกษา กำลังแรงงานที่ปัจจุบันมีอยู่ 40 ล้านคน มี 20 ล้านคนวุฒิการศึกษาต่ำกว่ามัธยมต้น ในจำนวนนี้ 10 ล้านคนอายุเกิน 40 ปี ซึ่งพรรคไม่ได้แก้การศึกษาเพียงแค่ผลิตแรงงานรุ่นใหม่ แต่แรงงานที่มีอยู่ก็ต้องทำอะไรได้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถนำพาประเทศโตต่อไปได้ และหมายถึงรายได้ของเขาไม่โตด้วย

แม้จะมีนโยบายแรงงานขั้นต่ำก็ตาม แต่ค่าจ้างจะขึ้นได้ยั่งยืนต่อเมื่อแรงงานมีทักษะที่ตอบโจทย์ตลาด ถ้าไม่แก้เรื่องนี้ ต่อให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สุดท้ายเขาก็จะตกงาน

“ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล

เรื่องต่อมาคือการสร้างอุตสาหกรรม ที่มุ่งเศรษฐกิจในประเทศด้วยการทำฐานรากให้เข้มแข็ง แต่ต้องมีเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ที่พาเศรษฐกิจโดยรวมเดินไปข้างได้ โดยหาอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพสูงมาทดแทน

ศิริกัญญากล่าวต่อว่า การหาอุตสาหกรรมใหม่มาทดแทนมี 2 ด้าน ด้านแรก คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะนำไปสู่ซอฟต์เพาเวอร์ได้ ไม่ใช่ซอฟต์เพาเวอร์แค่อาหาร ความบันเทิง แต่เป็นการสร้างแบรนด์ การทำตลาด สามารถทำให้เศรษฐกิจด้านอื่นๆ เพิ่มมูลค่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ต่างๆ

อีกด้านคือ การมุ่งเน้นเรื่องเทคโนโลยี ที่ไทยตกขบวน เช่น เวลานี้ไทยไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสมาร์ทโฟนเลย ทั้งที่สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ติดหนึ่งในสามของอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ส่งออกให้กับไทย แต่เนื่องจากอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยผลิตเป็นอิเล็กทรอนิกส์สำหรับแอร์ เครื่องซักผ้า แต่พลาดการผลิตไมโครอิเล็กทรอนิกส์ไปตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นเวียดนามที่ได้ไป หรือล่าสุด บริษัท อินฟินีออน เทคโนโลยีส์ ของเยอรมัน ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลก เคยมาดูไทยเพื่อเข้ามาตั้งฐานการผลิตเวเฟอร์แฟบ แต่ไม่สามารถต่อรองเจรจาได้ เลยไปมาเลเซีย หรือข่าวที่ไต้หวัน กับอเมริกาจะมาลงทุนในไทย ปรากฏว่า ไทยได้แต่เครื่องจักรที่หมดอายุ เป็นต้น

ประเทศไทยจึงต้องวางแผนเรื่องนี้ใหม่หมด โดยต้องรู้ให้ได้ว่าไทยจะอยู่ในจุดไหนของห่วงโซ่ซัพพลายเชน

โดยโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยที่จะต้องเปลี่ยน คือ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังจะสูญเสียความได้เปรียบ ก็มาเป็นรถไฟฟ้า (อีวี) ที่เริ่มมาแล้ว แต่ที่ไทยมีศักยภาพทำได้ คือ อีวีบัส แต่ยังมีกำแพงภาษีกับประเทศจีน และประเทศทั่วโลกก็มาแนวทางนี้ 2. อิเล็กทรอนิกส์ดั้งเดิม ต้องเปลี่ยนเป็นอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเซมิคอนดักเตอร์รุ่นที่ไม่ก้าวหน้ามาก มาทำในไทยเพื่อให้มีการต่อยอดการดีไซน์ ทดแทนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ทดแทนอิเล็กทรอนิกส์แบบเดิมที่เสื่อมถอยแล้ว 3. ปิโตรเคมิคัล ที่ไปต่อไม่ได้ในกระแสนที่ทั่วโลกมุ่งสู่สีเขียวกันหมด ก็ต้องเป็นพลังงานทดแทน renewable energy เทคโนโลยีการลดคาร์บอน ที่น่าสนใจ เช่น พลังงานลม ปัจจุบันมีเทอร์ไบน์ที่ปั่นได้แม้กระแสลมไม่แรง ซึ่งไทยอยู่ในประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตรที่ลมไม่แรง แต่มีเทอร์ไบน์นี้ทำได้โดยลมไม่แรง

“ที่ต้องปรับเปลี่ยนอย่างมาก เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมทั้งหน่วยงานในต่างประเทศที่ต้องทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ ที่สำคัญผู้นำต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดว่า ไทยต้องการอะไร ถ้ารู้เป้าหมาย ทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นบีโอไอ กรมเจรจาการค้า ทูตพาณิชย์ จะไปแนวทางเดียวกันหมด ก็จะคว้าดาวได้ แม้จะคว้าไม่ได้ก็ยังรู้ว่าจะทำอะไรต่อ ไม่ได้อันนี้ จะเปลี่ยนเป็นอันใหม่อย่างไร ไม่เช่นนั้นก็จะทำงานกันอย่างลอยๆ ได้เงินลงทุนมาจริง แต่เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยอยากได้หรือเปล่า”

นอกจากนี้ ในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ จะมียุทธศาสตร์ ซูชิจิ้มน้ำปลาพริก เพราะถ้าทำแบบเดิมในทุกวันนี้คือ ให้ต่างประเทศมาผลิตสินค้า ผลิตซูชิในไทย โดยเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ไม่ว่าจะปลา ข้าว ฯลฯ แล้วไทยได้ส่วนแบ่งแค่การล้างจาน คือค่าแรงบางส่วน แต่ถ้ามองเป็นยุทธศาสตร์ ซูชิจิ้มน้ำปลาพริก ให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในซัพพลายเชนส์จำเป็น ต้องมีไทยอยู่ และไทยยืนหนึ่งเรื่องนี้จริง

ประเด็นคือ ผลิตในไทย โดยไทยต้องเข้าไปทำเอง เป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้วย และขับเคลื่อนไปพร้อมกับซัพพลายเชนของโลกที่เติบโตได้ จึงต้องเปิดเรื่องไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เพราะโลกที่จะไปข้างหน้า สีเขียว แน่นอน พลังงานหมุนเวียนที่จะใช้มากขึ้นต้องใช้อุปกรณ์แปลงไฟที่มีชิ้นส่วนของ ชิป ที่ยังไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าตลาดในโลก นี่เป็นโอกาสของไทย เพราะสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ระลอกใหม่กำลังเกิดขึ้น ทำให้จีนไม่สามารถนำเข้าเครื่องจักรรุ่นใหม่ในการผลิตชิป หลายบริษัทในสหรัฐฯ ไต้หวัน ก็หาทางย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ทำอย่างไรที่ไทยจะเข้าไปประกบและใช้โอกาสนี้ในการปักธง เรื่องอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ หรือสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ให้ได้

แหล่งที่มาของเงินเพื่อทำนโยบาย

ศิริกัญญายังกล่าวถึงข้อสังเกตจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเม็ดเงินในการใช้ทำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายสวัสดิการไทยก้าวหน้า ที่คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 6.5 แสนล้านบาท ว่า สวัสดิการเหล่านี้เป็นสวัสดิการพื้นฐานที่รับไม่เคยให้มาก่อน มาวันนี้จึงต้องใช้เงินก้อนใหญ่จนคนตกใจ ส่วนแหล่งเงิน ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่ามาจากการเก็บภาษีประชาชน แต่ก่อนจะเก็บภาษี จะต้องเริ่มจากงบประมาณที่มีอยู่ก่อน นำงบประมาณมาจัดสรรใหม่ให้ดีขึ้น แต่ก็ได้ไม่มาก ประมาณ 1 แสนล้านบาท เริ่มจากการปรับลดขนาดกองทัพ แต่ก็ไม่ได้ทำให้มีรายได้กลับมาทันที เพราะต้องมีโครงการเกษียณก่อนกำหนด ทำให้ต้องใช้งบเพิ่มในระยะสั้น

แต่ระยะยาวงบประมาณกองทัพจะลดลง แต่ที่ลดทันที คือ จำนวนทหารกองประจำการ หรือทหารเกณฑ์ที่ต่อไปจะไม่มี มีแต่ทหารที่สมัครใจเข้ามา ขณะที่ขนาดกองทัพจะเหลือ 5 หมื่นนาย ไม่ต้องถึง 1 แสนนายที่ไม่รู้ที่มาว่าจำนวนนี้มาจากไหน และอื่นๆ ที่จะทำให้ประหยัดงบในอนาคตได้ 2 หมื่นล้านบาท และยังมีที่ราชพัสดุทั่วประเทศ 12 ล้านไร่ เป็นของกองทัพถึง 6 ล้านไร่ บางแห่งเป็นบ้านพักหรู หรือสนามกอล์ฟจำนวนมาก ก็ควรโอนให้กระทรวงการคลังเพื่อจะได้หารายได้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ในส่วนของกองทัพจึงไม่ได้แค่ลดงบประมาณ แต่ลดขนาดกำลังพล และให้ธุรกิจกองทัพให้เป็นของกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีต้องมีความเข้มงวดขึ้น ป้องกันการรั่วไหล ไม่ว่าจะเป็นภาษีรายได้จากทรัพย์สิน จากค่าเช่า หรือช่องว่างเรื่องการจัดเก็บรายได้ที่ต้องขันน็อตให้แน่นขึ้น หรือภาษีที่ดินที่เจ้าของพื้นที่รายใหญ่พยายามหลีกเลี่ยงด้วยการปลูกมะละกอ ปลูกกล้วย ก็ต้องจัดเก็บให้ดีขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่ม 1 แสนล้านบาท ที่เหลือก็ต้องเก็บภาษีเพิ่มจากคนที่มั่งคั่ง เช่น การเอาบัญชีทรัพย์สินที่ข้าราชการแจ้ง ป.ป.ช. มาเทียบกับรายได้ที่แจ้งกรมสรรพากร ว่ามีการเสียภาษีครบหรือไม่ ภาษีที่ดินนอกจากเก็บเป็นรายแปลงแล้ว จะเก็บแบบรวมแปลงด้วย โดยผู้ถือที่ดิน 1 ชื่อ ไม่ว่าจะมีกี่โฉนดต้องเอามารวมมูลค่า แล้วเก็บภาษี ซึ่งจะลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วย ไม่ใช่เจ้าสัวกับชาวบ้านมีที่ดินขนาดเท่ากัน จ่ายภาษีเท่ากัน

นอกจากนี้ จะมีการเก็บภาษีความมั่งคั่ง เดิมคิดว่าถ้าเก็บภาษีส่วนนี้จะมีคนหอบเงินหนีไปต่างประเทศ แต่เวลานี้ประเทศไทยได้เป็นภาคีเครือข่าย OECD ทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล foreign resident ที่ไปซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศได้ โดยไม่ได้แลกข้อมูลเฉพาะสมาชิกใน OECD เท่านั้น แต่แลกกับทั้ง 190 กว่าประเทศทั่วโลก รวมถึงบริติชเวอร์จิน ฯลฯ โดยประเมินว่าถ้าเก็บภาษีจากคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 300 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รายได้ 6 หมื่นล้านบาท สุดท้ายจะมีการเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็น 23% ที่ผ่านมาต่ำเกินไป เพราะปัจจุบันภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บสูงถึง 35% ทำให้มีการเลี่ยงไปจ่ายเป็นเงินปันผลส่วนหนึ่ง โดยเงินปันผลมาจากกำไรของบริษัท เป็นกำไรที่จ่ายภาษีปัจจุบัน 20% ส่วนเงินปันผลหักภาษี 10% รวมแล้วจ่ายภาษีเพียง 28% ถ้าขยับภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 23% จะทำให้รูปแบบการจ่ายแบบนี้เสียภาษี 32% ใกล้เคียงกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมมากขึ้น

“การขึ้นภาษีเป็นเรื่องที่ต้องทำ แม้จะถูกโจมตี แต่ก็ต้องจริงใจกับคนที่เลือกเราว่า สิ่งที่พรรคเสนอต้องใช้เงิน ถ้าเห็นด้วยกับสวัสดิการที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น เด็กที่เกิดมาไม่ว่าจะเกิดจากครอบครัวแบบไหนมีโอกาสที่ดี มีโอกาสเท่าเทียมมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหนก็มีรถเมล์ใช้ มีน้ำประปาที่ดื่มได้ ถ้าคิดเหมือนกัน ก็อย่ากังวลใจ”

เพราะฉะนั้น เงินที่ต้องใช้ 6.5 แสนล้านบาทในการทำนโยบายของพรรค จึงมีแหล่งรายได้ ไม่เป็นหนี้สาธารณะเพิ่ม และไม่รอให้เศรษฐกิจโตก่อน เพราะพรรคไม่อยากให้สวัสดิการที่รัฐให้นั้น ต้องผูกกับอะไรที่ไม่แน่นอน อย่างเศรษฐกิจถ้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกขึ้น อย่างปี 2565 ใครจะคิดว่าเศรษฐกิจไทยที่กำลังจะโต พอเกิดวิกฤติขึ้นก็ไม่โต การผูกติดกับเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ทำให้การให้สวัสดิการจะไม่มั่นคง และทำอย่างไรไม่ให้เป็นภาระทางการคลังเพิ่มด้วย จึงต้องพูดเรื่องการเก็บภาษีที่มีประชาชนส่วนหนึ่งเข้าใจแน่ๆ ส่วนคนที่รู้สึกว่าไม่อยากจ่ายเพิ่ม ก็บังคับให้เลือกพรรคเราไม่ได้ และขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองเปิดเผยที่มาของแหล่งเงินด้วย และไม่ผูกติดกับเศรษฐกิจ

นี่คือแนวทางพลิกฟื้นประเทศไทยของพรรคก้าวไกล “การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต”

  • “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล…เปลี่ยนผู้นำไม่พอ ต้องปรับโครงสร้าง เปลี่ยนทั้งประเทศ
  • พรรคก้าวไกล แจ้ง กกต. ใช้เงิน 650,000 ล้านบาท จัดสวัสดิการก้าวหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย