ThaiPublica > Sustainability > Contributor > อีสานกับการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้กรอบ “BCG Model”

อีสานกับการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้กรอบ “BCG Model”

2 พฤศจิกายน 2021


ณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ทวิตเตอร์ @NatapanuN

หนึ่งในประเด็นสำคัญของประเทศไทยในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกหรือเอเปคปี พ.ศ. 2565 ที่กำลังจะจัดขึ้นนี้ คือการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy Model ซึ่งมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับใช้ให้เข้ากับศักยภาพของอุตสาหกรรมในประเทศไทย

ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสาน มีจุดแข็งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ความพร้อมของแรงงาน และพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น อีกทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ดังนั้นแล้ว ภาคอีสานจึงมีควาสำคัญในฐานะที่มีความหลากหลายของทรัพยากรและเป็นที่ตั้งของแหล่งอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ภูมิภาคอีสานวันนี้และในอดีตมีความแตกต่างกันอย่างมาก โลกาภิวัตน์และการเข้ามาของเทคโนโลยีได้ส่งผลทำให้จากเดิมที่อีสานเคยมีลักษณะเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ โดยเฉพาะการทำเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลัก

แต่ในปัจจุบัน ภาพของชาวนาอีสานในอดีตเปลี่ยนไป คนอีสานที่ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมและสามารถเลี้ยงชีพได้นั้น มักจะมีที่นาเยอะพอสมควร และมีผลผลิตส่วนเกินจากการทำเกษตรเพื่อบริโภค มาขายเพื่อหารายได้อีกทางหนึ่ง

ในขณะที่การเพาะปลูกแตกต่างจากอดีตโดยมีการจ้างแรงงานและใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีการใช้เครื่องจักรในการทำนา ทั้งรถไถ รถแทร็กเตอร์ และรถเกี่ยวข้าว อีกทั้งมีการจ้างแรงงานในทุกขั้นตอน ในด้านที่พักอาศัยสำหรับพักผ่อนช่วงกลางวันระหว่างทำนา (เถียงนาหรือเถียงไฮ่) ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน โดยในอดีต ชาวนาอีสานปลูกเถียงนาเป็นเพิง สร้างและรื้อถอนได้ง่าย แต่ปัจจุบัน เถียงนาถูกสร้างอย่างแข็งแรง มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อาทิ ห้องน้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประกอบอาหาร เป็นต้น

จุดแข็งอีกหนึ่งอย่างของภาคอีสานคือภาคการค้าและบริการ โดยเฉพาะประเด็นแรงงาน เมื่อการทำเกษตรกรรมไม่สามารถสร้างรายได้ที่เหมาะสมเพื่อเลี้ยงชีพ ชาวอีสานจึงหันไปทำงานรับจ้างในชุมชนและรับค่าจ้างรายวัน อีกทั้ง ยังทำให้เกิดการพบปะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร

นอกจากการรับจ้างในชุมชนแล้ว การอพยพของแรงงานอีสาน ไปยังภูมิภาคอื่น ๆ และกรุงเทพฯ ยังเป็นส่วนสำคัญของการสร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคอีสานและประเทศไทย โดยแรงงานอพยพจากภาคอีสานเป็นกำลังหลักของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงลูกจ้างร้านอาหาร พนักงานปั๊มน้ำมัน คนรับจ้างทำงานบ้าน แรงงานประมง ลูกจ้างในไร่สวนที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอื่น และส่งเงินค่าจ้างกลับไปให้ครอบครัวที่อยู่ภาคอีสาน

นอกจากนี้ มีบางส่วน ที่ย้ายไปภูมิภาคอื่นแล้วลงหลักปักฐานถาวร มีที่ดินทำกิน และอยู่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

โรงงานรับซื้อยางพาราในภาคอีสาน

นอกจากภาคการเกษตรและแรงงานแล้ว อีสานยังเป็นที่ตั้งของแหล่งอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยอุตสาหกรรมส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ตามเมืองหลัก อาทิ นครราชสีมา ขอนแก่น เป็นต้น ส่วนมากอยู่ในอุตสาหกรรมกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ในขณะที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (กระจุกตัวใน จ.นครราชสีมา) ผลิตภัณฑ์จากยางและพลาสติก (ส่วนใหญ่กระจุกตัวใน จ.นครราชสีมา บึงกาฬ อุดรธานี และบุรีรัมย์) และสิ่งทอ (กระจายตัวอยู่ในทุกจังหวัดโดย จ.ขอนแก่น มีสัดส่วนมากที่สุด) เริ่มมีบทบาทและสร้างรายได้ให้กับภาคอีสานมากขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายเป็นฐานรายได้เดิมจากอุตสาหกรรมในภาคอีสาน

ด้านการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมนั้น มีอยู่ 2 แห่งด้วยกัน ได้แก่ เขตอุตสาหกรรมสุรนารี จ.นครราชสีมา เป็นแหล่งผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์รถยนต์ สุขภัณฑ์ และพลาสติก อีกหนึ่งแห่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกของภาคอีสาน คือ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2564 นี้ โดยเน้นการบริหารจัดการความยั่งยืนและความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้และความเจริญให้แก่ภาคอีสาน

อีกทั้งยังมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ เนื่องจากอยู่ในโครงข่ายคมนาคมและการขนส่งที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและตอนใต้ของประเทศจีนโดยใช้ถนนเส้น R12, R8 และ R9 อีกทั้งยังอยู่ในเส้นทางรถไฟทางคู่และทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย ซึ่งได้รองรับการขนส่งสินค้าทางรางเพื่อขนส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบังและเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอีกด้วย โดยนิคมแห่งนี้มีอุตสาหกรรมเป้าหมายหลายประเภท อาทิ ยางพารา ขั้นปลาย แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะและประกอบรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

จะสังเกตได้ว่าอุตสาหกรรมในภาคอีสานมีค่อนข้างมากและหลากหลาย กอปรกับโครงข่ายคมนาคม ที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพกับเมืองหลักในภาคอีสาน และต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศจีนด้วยนั้น จะช่วยให้เศรษฐกิจของภาคอีสานเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ความเจริญที่เข้าสู่ภาคอีสานและการพัฒนาเศรษฐกิจในหลาย ๆ ด้าน ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนอีสานเปลี่ยนไป จากเดิมที่ภาคอีสานปราศจากโรงงานอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย ศูนย์ราชการ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ดังนั้นแล้ว วิถีชีวิตของคนอีสานส่วนใหญ่จึงผูกติดอยู่กับความเป็นเกษตรกรและการประมง แต่ทว่า ภายหลังจากที่เทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ขยายเข้ามาสู่อีสาน ได้เกิดความเจริญและสิ่งรองรับต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกขึ้นมา โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม ย่อมเป็นที่รับทราบกันอย่างชัดเจนว่าหากต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จะต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมจนทำให้ดัชนีและตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ เติบโตขึ้น

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมก็ย่อมส่งผลเสียตามมาเช่นกัน ปัญหาที่พบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมมีอย่างมากมาย อาทิ ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ หรือในด้านทรัพยากรต่าง ๆ ที่เริ่มไม่เพียงพอต่อการป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ อีกทั้งความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ยังเป็นปัญหาที่สำคัญที่เกิดจากการพัฒนา

จนมีการตั้งคำถามว่า “การพัฒนาในปัจจุบันยั่งยืนหรือไม่” และ “เราจะพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนได้อย่างไร” จึงเป็นที่มาของข้อเสนอการพัฒนาประเทศภายใต้กรอบ BCG Economy Model ซึ่งมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน อีกทั้ง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย

รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG นั้น เป็นการพัฒนาโดยอาศัยแนวคิด 2 ประการ ได้แก่ B – Bio Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ และ C – Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว G – Green Economy และอาศัยจุดแข็งของภาคอีสานที่มีทรัพยากรและความพร้อมในหลายด้าน โดยการพัฒนาตามแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2560 – 2565 ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ 3 เรื่องการสร้างความเข้มแข็งของฐานเศรษฐกิจภายในควบคู่กับการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแนวทางส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพให้เป็นฐานรายได้ใหม่ที่สำคัญของภาคอีสาน โดยมุ่งเน้นการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูง เพื่อนำทรัพยากรชีวภาพ (พืช สัตว์ จุลินทรีย์) วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรของเสียและน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ฟาร์มปศุสัตว์ และชุมชน มาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง อีกทั้ง พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปภาคการเกษตร อาหาร สาธารณสุข พลังงาน อุตสาหกรรมเคมี และภาคสังคม

ในขณะเดียวกัน มีการวางแผนพัฒนาให้ จ.นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี และสกลนคร เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารแบบครบวงจร

ในพื้นที่ของ จ.สกลนคร มหาสารคาม สุรินทร์ อำนาจเจริญ และอุดรธานีนั้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อให้ได้มาตรฐาน GMP และสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและส่งออก

อีกทั้งมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ในกลุ่มพื้นที่ภาคอีสานตอนกลางและตอนล่าง ด้วยการพัฒนาต่อยอดเพื่อทำผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง อาทิ ชีวเภสัชภัณฑ์ โปรตีนทางเลือก ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติกชีวภาพ (bio-plastic) เอนไซม์หรืออาหารเสริมสุขภาพจากจุลินทรีย์ เป็นต้น รวมทั้งการนำวัตถุดิบ ของเหลือทิ้งทางการเกษตร ขยะจากครัวเรือน มาผลิตเป็นพลังงานเพื่อใช้ในครัวเรือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระดับชุมชนในด้านเกษตรกรรม

ภาคอีสานมีจุดแข็งในด้านการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงจากแหล่งผลิตทุ่งกุลาร้องไห้ ในพื้นที่ จ.ยโสธร สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และศรีสะเกษ สามารถนำเอาโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ในด้านเศรษฐกิจสีเขียว โดยปรับการผลิตให้ได้มาตรฐานเกษตรปลอดภัย พัฒนาห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ให้ครอบคลุมทุกขั้นตอนการผลิต ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการผลิตและแปรรูป ยกระดับราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้แตกต่างจากสินค้าเกษตรที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต การจัดมาตรฐานรองรับเกษตรอินทรีย์และกระบวนการตรวจสอบ พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ เพื่อวางแผนในการผลิต การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมตลาดสีเขียวในท้องถิ่น รวมถึงการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทาง E-commerce ทั้งในและต่างประเทศ

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือการท่องเที่ยวสีเขียว ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาภาคอีสานตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นช่องทางหลักในการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ โดยแนวทาง BCG นี้จะปรับให้เป็นการท่องเที่ยวสีเขียว มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้สินค้าและบริการ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชุมชนและเมืองเก่าในภาคอีสาน อาทิ เมืองเก่าบุรีรัมย์ เมืองเก่าพิมาย เมืองเก่าสุรินทร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ การดึงเอาอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นใน แต่ละแห่งที่โดดเด่น ลอกเลียนแบบได้ยาก มาสร้างเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มระยะเวลาพำนักและค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่จะไปถึงมือคนในชุมชน พัฒนาความรู้และมาตรฐานการให้บริการของผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้มีความเป็นมืออาชีพ พัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขงในแถบจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ เป็นต้น และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การท่องเที่ยวยุคก่อนประวัติศาสตร์ในแถบจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ และชมแหล่งธรรมชาติในแถบจังหวัดชัยภูมิ เลย นครราชสีมา อุบลราชธานี ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นในภาคอีสาน รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตร ที่เกษตรกรสามารถพัฒนาแหล่งทำการเกษตรของตนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

การพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบ BCG Economy Model นี้ จะเห็นได้ว่ามีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของภาคอีสานและประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน มีการพัฒนาโดยอาศัยจุดแข็งของภาคอีสานในด้านต่าง ๆ อาทิ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว เป็นต้น และดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งพบว่าภาคอีสานมีความเหมาะสมต่อรูปแบบการพัฒนานี้เป็นอย่างมาก และจะช่วยให้อีสานเป็นภูมิภาคที่มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว นอกจากนี้ ยังตอบคำถามที่ว่า “เราจะพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนได้อย่างไร” ด้วย