ThaiPublica > สู่อาเซียน > “เกาะช้างตาย” พื้นที่ริมน้ำโขง กับข้อกังวลชาวบ้าน…ไทยจะเสียดินแดนให้ลาว

“เกาะช้างตาย” พื้นที่ริมน้ำโขง กับข้อกังวลชาวบ้าน…ไทยจะเสียดินแดนให้ลาว

9 ธันวาคม 2022


ขุนสามเมือง…รายงาน

แม่น้ำโขง ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/TheMekongRiver

ชะตากรรมของสายน้ำแห่งชีวิต

แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบต และมณฑลชิงไห่ของประเทศจีน ไหลผ่านเทือกเขาสูงและทุ่งราบจากมณฑลยูนานเข้าสู่ประเทศลาว พม่า เข้าสู่ไทยบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ กลายเป็นเส้นแบ่งอาณาเขตระหว่างประเทศไทยและลาว ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมระยะทางกว่า 1,520 กิโลเมตร ก่อนจะไหลกลับเข้าสู่ลาวและกัมพูชา แล้วไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ในประเทศเวียดนาม

แม่น้ำโขงเป็นดั่งสายน้ำแห่งชีวิตที่หล่อเลี้ยงประชากรตลอดลุ่มน้ำกว่า 300 ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 795,000 ตารางกิโลเมตร เป็นของขวัญที่ธรรมชาติมอบให้กับมนุษย์ทุกชาติ ทุกภาษา เป็นดั่งสมบัติล้ำค่าที่มิควรจะถูกแบ่งแยกยึดครองโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่งได้ แต่จากพัฒนาการของรัฐชาติสมัยใหม่และกระแสทุนนิยมที่เชี่ยวกราก ได้ทำให้เกิดความพยายามในการเข้าครอบครอง ฉกฉวยผลประโยชน์จากสายน้ำแห่งนี้ จนแทบจะไม่เหลือสภาพเดิมอีกต่อไป

ชีพจรแม่น้ำโขงไหลเอื่อย…อ่อนแรงลง

หากเทียบกับร่างกายคนเรา มาถึงวันนี้ สัญญาณชีพของแม่น้ำโขงก็เปรียบดังคนไข้โคม่าที่อ่อนแรงลงทุกขณะ ปรากฏการณ์เหล่านี้เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ประเทศมหาอำนาจจีนเริ่มสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง (ในประเทศจีนมีชื่อว่าแม่น้ำล้านช้าง) ในเขตของตนเองเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และการชลประทาน เขื่อนเหล่านี้ถูกพูดถึงกันมาอย่างยาวนานและก่อผลกระทบให้ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขงในไทยที่ จ.เชียงราย ชายแดนไทย-ลาว ที่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำโขงขึ้นลงผันผวนผิดธรรมชาติ ส่งผลต่อการขึ้นลงของสายน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เป็นไปตามฤดูกาลตามที่ควรโดยสิ้นเชิง

ความเป็น “แม่น้ำ” ได้ตายไปแล้ว คงเหลือเป็นเพียง “คลองส่งน้ำขนาดยักษ์” ที่ถูกควบคุมโดยมนุษย์เท่านั้น

จนถึงขณะนี้จีนก็ก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงรวมทั้งสิ้น 11 แห่ง เขื่อนเหล่านี้ไม่ใช่โครงการใหญ่ชุดเดียวที่มหาอำนาจจีนทำในแม่น้ำโขง แต่ยังมีโครงการอีกจำนวนหนึ่งในแถบลุ่มน้ำโขง ที่จีนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างทั้งในลาว และกัมพูชา

นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า เขื่อนที่สำคัญคือ “เขื่อนจิงหง” (Jinghong dam) ตั้งอยู่ในเมืองเชียงรุ้ง ดินแดนสิบสองปันนา เป็นเขื่อนตอนล่างสุดและใกล้ชายแดนไทยมากที่สุด คือห่างจากบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ราว 340 กิโลเมตร เขื่อนแห่งนี้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านริมแม่น้ำโขงใน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย มาตลอดกว่า 25 ปี โดยจีนเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้ประโยชน์จากการควบคุมระดับน้ำ ส่งผลกระทบระดับน้ำในแม่น้ำโขงท้ายน้ำบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ผันผวนขึ้นลงไปตามการใช้งานของเขื่อนผลิตไฟฟ้าในจีน

นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ที่มาภาพ : https://www.google.com/imgres?imgurl=https%3A%2F%2Fthecitizen.plus%2Fwp-

หายนะจากเขื่อนและผลกระทบข้ามแดนที่ยากจะหลีกพ้น

นอกจากเขื่อนจีนแล้ว เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในลาว โดยเขื่อนไซยะบุรี (มีบริษัทซีเค พาวเวอร์ จำกัด เครือ ช.การช่าง เป็นผู้ก่อสร้าง) ได้เริ่มเดินเครื่องผลิตและขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่แผนการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงแห่งใหม่ที่กำลังจะเป็นตัวสร้างปัญหาร้ายแรงที่สุดตัวล่าสุด คือ โครงการเขื่อนปากแบง ที่ตั้งอยู่ที่ดอนเทด เขตเมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ในประเทศลาว ห่างจากชายแดนด้าน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ไปทางท้ายน้ำระยะทางประมาณ 97 กิโลเมตร เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่าน กำลังการผลิต 912 เมกะวัตต์ ดำเนินการโดย บริษัทไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสเมนต์ จำกัด ของจีน และมีแผนจะขายกระแสไฟฟ้ากว่าร้อยละ 90 ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ให้ข้อมูลไว้ว่า การที่รัฐบาลเร่งรัดการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากเขื่อนปากแบง ทั้งๆ ที่ยังไม่มีผลการศึกษาถึงผลกระทบข้ามแดนที่ชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง “น้ำเท้อ” ที่จะเข้ามาถึงแผ่นดินไทย ซึ่งจะทำให้เกาะดอนบริเวณผาได อ.เวียงแก่น ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งต้องถูกท่วมหายไปตลอด ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของท้องถิ่น แต่เป็นเรื่องของประเทศเพราะเป็นการสูญเสียแผ่นดินที่เคยใช้ประโยชน์ต่อเนื่องยาวนานมานับจากรุ่นบรรพบุรุษ แม้ชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการอนุรักษ์จะพยายามออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่อง จนถึงขั้นมีการนำเรื่องขึ้นฟ้องศาลปกครอง เมื่อ 18 กันยายน 2560 แต่หลังการพิจารณานานกว่า 3 ปี ในที่สุดศาลปกครองก็ไม่รับฟ้อง

นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly)

นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) ให้ข้อมูลไว้ว่าการสร้างเขื่อนปากแบง จะทำให้มีน้ำเท้อเข้ามาในเขตประเทศไทยประมาณ 10 กิโลเมตร ทำให้เกาะแก่งบริเวณผาไดถูกท่วมหมด แม้จะมีการลดความสูงของสันเขื่อนลงจาก 345 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) เป็น 340 ม.รทก. ก็ตาม และจากการที่คณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎรได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปชี้แจง ได้รับคำตอบว่ายังไม่มีการทำรายงานผลกระทบข้ามแดนมายังฝั่งไทย

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรการ ให้ข้อมูลไว้ว่าเคยมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็น 3-4 ครั้ง ตามกระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือ (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งเมื่อประชุมร่วมกับลาวเมื่อปี 2560 ทางไทยได้แสดงความกังวลใจเรื่องผลกระทบข้ามแดนและน้ำเท้อมาถึง อ.เวียงแก่น และขอให้มีการปรับปรุง แต่เรื่องก็เงียบหายไปจนมีการเดินหน้าผลักดันโครงการเขื่อนปากแบงอีกครั้ง เครือข่ายชาวบ้านริมแม่น้ำโขงได้เคยทำหนังสือถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ

จากการเฝ้าติดตามข้อมูลในระดับพื้นที่มาตลอด อาจสรุปได้ว่า จนถึงเวลานี้ยังไม่มีหน่วยงานราชการใดๆ ของไทยสามารถออกมาให้ข้อมูลได้ว่า การสร้างเขื่อนปากแบงจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวสน์วิทยาของลำน้ำ และวิถีชีวิตของชุมชนตลอดแนวลำน้ำอย่างไร ปัญหา “น้ำเท้อ” (ปรากฏการณ์ที่ระดับน้ำจะค่อยๆ ยกตัวเออล้นท่วมสูงขึ้นในพื้นที่ท้ายเขื่อน) จะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านมากน้อยแค่ไหน หากน้ำท่วมทั้งปีจะทำให้ธรรมชาติ เช่น หาดทราย เกาะแก่ง หายไปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบควรเร่งตอบคำถามให้ได้ว่าหากมีการสร้างเขื่อนปากแบง ระดับน้ำที่เอ่อสูงขึ้นจะอยู่ระดับไหน และใครจะรับผิดชอบช่วยเหลือชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบในประเด็นเหล่านี้

เกาะช้างตาย รูปธรรมของความสุ่มเสี่ยงที่เกิดจากนิการเปลี่ยนแปลงของสายน้ำ

เกาะช้างตาย เป็นเกาะริมน้ำโขง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ในพื้นที่ ม. 7 บ.สบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ. เชียงราย ซึ่งเป็นชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว พื้นที่ของเกาะช้างตาย มีขนาดประมาณ 7 ไร่ มีความยาวจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกประมาณ 800 เมตร และความกว้างจากทิศเหนือไปทิศใต้ประมาณ 200 เมตร ลักษณะเป็นดินเหนียวคลุมด้วยหญ้า มีไม้ยืนต้นชุกอยู่บนเนินกลางเกาะ

เกาะช้างตาย ที่มาภาพ : https://transbordernews.in.th/home/wp-content/uploads/fb-701-%C3%97-366px-6-9.png

พื้นที่เกาะช้างตาย เดิมเป็นเกาะที่เชื่อมกับแผ่นดินใหญ่บ้านสบกก ในฤดูแล้งสามารถเดินทางไปตามสันทรายไปที่เกาะได้ และที่เกาะแห่งนี้เคยใช้เป็นที่จัดงานและกิจกรรมประเพณีของชุมชนมายาวนาน

ต่อมามีโครงการก่อสร้างท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 (ผ่านการอนุมัติและเห็นชอบในหลักการ ตามมติคณะรัฐมนตรีในสมัย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2550 ด้วยวงเงินก่อสร้าง 1,546.40 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการปี พ.ศ. 2552-2554 ก่อนจะให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้บริหารท่าเรือ และเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555)

ผลจากการสร้างท่าเรือพาณิชย์แห่งนี้ ทำให้มีการขุดร่องน้ำลึกใหม่ มีผลทำให้สันทรายที่เคยเชื่อมเกาะช้างตายกับแผ่นดินใหญ่ถูกตัดขาดออกไป โดยอ้างว่าเพื่อการอำนวยความสะดวกเส้นทางเรือที่เข้าเทียบท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน หรือท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 2 ในพื้นที่ฝั่งด้านในตรงข้ามกับเกาะช้างตาย ซึ่งห่างจากท่าเรือเชียงแสน แห่งที่ 1 เป็นระยะทางน้ำลงมา 5 กิโลเมตร โดยท่าเรือแห่งใหม่นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้า ตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่มีประเทศสมาชิกคือ ไทย จีน เมียนมา และลาว

อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงในพื้นที่ท้ายน้ำลงไปจากเขตจังหวัดเชียงราย ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนไซยะบุรี ที่มีการสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการไปแล้ว รวมถึงที่กำลังก่อสร้างอยู่คือเขื่อนปากแบง กั้นลำน้ำโขงของลาว ทั้งหมดล้วนเป็นเขื่อนสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อป้อนขายให้กับประเทศไทยทั้งสิ้น ซึ่งผลจากการสร้างเขื่อนดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบข้ามแดนที่เรียกว่าปรากฏการ “น้ำเทิ้ม” คือปริมาณน้ำหลังเขื่อนจะเพิ่มสูงขึ้นจนผิดปกติ ทำให้ท่วมพื้นที่เกาะแก่งต่างๆ พื้นที่ลุ่มชายฝั่งตลอดแนว ทำให้เกิดผลกระทบต่อชายแดนไทย ซึ่งผูกมัดอยู่กับสนธิสัญญาที่เสียเปรียบที่ถูกฝรั่งเศสบังคับทำไว้ในสมัยล่าอาณานิคม

ที่มาภาพ : https://mpics.mgronline.com/pics/Images/565000009686804.JPEG

ผลจากการพัฒนาข้างต้นทำให้ระบบนิเวศของเกาะช้างตายซึ่งตั้งอยู่ปากแม่น้ำกกเปลี่ยนแปลงไป โดยในอดีตเกาะแห่งนี้มีคนไทยขึ้นไปทำการเกษตรเพราะในฤดูแล้งสามารถเดินข้ามไปยังบนเกาะได้ รวมทั้งชุมชนในพื้นที่ข้างเคียงใช้เกาะแห่งนี้เป็นพื้นที่สำหรับศูนย์กลางทางวัฒนธรรมในการจัดงานประเพณีต่างๆ ของชุมชนสืบเนื่องมายาวนาน เช่น การแข่งกีฬาชุมชน การจัดประเพณีสงกรานต์ ไปจนถึงจัดประเพณีแข่งเรือประจำปี เป็นต้น

ปัจจุบันมีการดูดทรายและสร้างท่าเรือ ทำให้เกาะช้างตายไม่ได้เชื่อมต่อกับแผ่นดินไทยและมีคนลาวอ้างกรรมสิทธิโดยอ้างว่าเกาะทุกแห่งในแม่น้ำโขงเป็นของลาวตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ปัจจุบันมีประชาชนลาวรุกเข้ามาทำการเกษตร ปลูกกล้วย และกั้นคอกเลี้ยงวัวประมาณ 10 ตัว (มีประชาชนลาว ไปมาประมาณ 3 คน พักอาศัยประจำ 1-2 คน) โดยคนลาวอ้างกรรมสิทธิ์โดยอ้างว่าเกาะทุกแห่งในแม่น้ำโขงเป็นของลาวตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส

ชาวบ้านร้อนใจทนแทบไม่ไหวแต่หน่วยราชการเงียบสนิท

เมื่อ 2 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา นายนิรันดร์ กุณะ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านสบกก หมู่ 7 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลและเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนหลายสำนัก หลายช่องทาง ถึงประเด็นที่ประชาชนในพื้นที่มีความวิตกกังวล และไม่พอใจท่าทีฝ่ายความมั่นคงในการแก้ไขปัญหาเกาะช้างตายล่าช้า จนชาวบ้านหวั่นว่าจะทำให้ไทยต้องเสียเกาะช้างตายให้กับฝ่ายลาว

นายสมยศ จันทรังสี ชาวบ้านผู้มีถิ่นกำเนิดและเติบโตในบ้านสบกก และอดีตสมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านแซว บอกเล่าถึงความกังวลและไม่สบายใจ ที่อยู่ๆ ก็มีคนลาวเข้ามาอ้างสิทธิ์ นำสัตว์เลี้ยงข้ามเข้ามาเลี้ยง และทำการเกษตรอย่างสบายใจ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นชาวบ้านในพื้นที่สามารถเดินข้ามไปยังเกาะช้างตายได้ พื้นที่แห่งนี้เป็นที่อยู่ ที่เล่น ที่ทำกินของชาวบ้าน แต่หลังจากนั้นก็มีการสร้างท่าเรือขึ้นมา ก็มีการใช้รถแบคโฮขุดร่องน้ำลึก จนน้ำตัดแผ่นดินเป็นเกาะ เดินข้ามไม่ได้อีก แล้วอยู่ๆ ก็มีคนลาวมาอ้างสิทธิ์ นำเอาสัตว์ข้ามมาเลี้ยง และปลูกพืชผลการเกษตรต่างๆ พวกเราร้องไปยังทหารและหน่วยงานรัฐก็ไม่เห็นมีความคืบหน้าอะไร ถ้าเราจะทำอะไรก็มักอ้างว่าจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่อึดอัดใจเป็นอย่างมาก ต้องลุกขึ้นมาร้องเรียนผ่านสื่อต่างๆ ให้ลงมาช่วยตรวจสอบให้

นายสมยศ จันทรังสี ชาวบ้านผู้มีถิ่นกำเนิดและเติบโตในบ้านสบกก และอดีตสมาชิกสภาเทศบาลตำบลบ้านแซว ที่มาภาพ : https://www.thereporters.co/wp-content/uploads/2022/10/CoverN-OCT22_073-07.jpg

พระอธิการอภิชาติ รติโก เจ้าอาวาสวัดสบกก ให้ข้อมูลว่า ในอดีตพื้นที่เกาะช้างตายมีความอุดมสมบูรณ์มากๆ เป็นแหล่งทำกินของชาวประมง มีปลามากมายมาอาศัยอยู่เยอะมาก ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือปลาให้จับ ชาวบ้านที่ทำอาชีพประมงหายไปมาก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสายน้ำและการขุดลอกสันทรายอันเนื่องมาจากการสร้างท่าเรือยิ่งทำให้เส้นทางเชื่อมกลายหายไป ในหน้าแล้งชาวบ้านไม่สามารถเดินข้ามไปทำกิจกรรมบนพื้นที่เกาะช้างได้เหมือนก่อนแล้ว เมื่อก่อนมีกิจกรรมประเพณีต่างๆ โดยเฉพาะในห้วงปีใหม่เมือง (สงกรานต์) แต่เดี๋ยวนี้มีคนฝั่งโน้นมาอยู่ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าเกาะแห่งนี้เป็นของใคร

พระอธิการอภิชาติ รติโก เจ้าอาวาสวัดสบกก ที่มาภาพ : https://www.thereporters.co/wp-content/uploads/2022/10/CoverN-OCT22_073-05.jpg

นายกฤษฎา ทิวาคำ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลบ้านแซว อ.เชียงแสน กล่าวว่า อยากพัฒนาให้พื้นที่เกาะช้างตายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์การเรียนรู้ แต่เมื่อเกิดความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้ อยากให้รัฐบาลเข้ามาดำเนินการ หากท้องถิ่นทำอะไรก็มักถูกอ้างในเรื่องสัญญาที่ไทยทำไว้กับฝรั่งเศส แต่ในชีวิตจริง ภาครัฐหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีหน้าที่ดูแลไม่เคยบอกหรือทำความเข้าใจอะไรกับชาวบ้านในพื้นที่เลย มีแต่คำสั่งห้ามคนไทยฝ่ายเดียว

เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นทวงถามถึงผู้รับผิดชอบ

หากพิจารณาจากความวิตกกังวลและข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรในพื้นที่ พวกเขาไม่ได้เรียกร้องอะไรที่เกินความเป็นจริงไปมากมายเลย เพียงแค่ต้องการให้ทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงเข้ามาหาทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ปล่อยให้คนลาวบุกรุกเข้ามาในพื้นที่เกาะช้างตาย แต่สำหรับคนไทยกันเอง หลังเวลา 6 โมงเย็นจะถูกเจ้าหน้าที่หน่วย นรข. (หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง) ห้ามไม่ให้ขับขี่เรือเข้าไปใกล้ แต่สำหรับคนลาวดึกๆ ดื่นๆ ก็ยังขับเรือเข้ามาได้ ทำให้ชาวบ้านอึดอัดและคับข้องใจมาก

นอกจากนี้ ฝ่ายผู้เกี่ยวข้องจะต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ให้คลายกังวล และมีการตอบสนองต่อข้อร้องเรียน ข้อห่วงใยของราษฎรมากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาร้องเรียนผ่านไปเรื่องก็เงียบหายไป ไม่มีการดำเนินการอะไร หรือชี้แจงอะไรให้ชาวบ้านรับทราบเลย ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวข้องกับดินแดนและอธิปไตยของประเทศ แล้วก็พยายามปิดหูปิดตาปิดปากชาวบ้านโดยอ้างว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนในที่สุดชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนกันเอง ถึงจะมีคนสนใจในประเด็นนี้

  • เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นายนิรันดร์ กุณะ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านสบกก หมู่ 7 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน ได้ทำหนังสือรายงานสถานการณ์ชายแดน ณ บริเวณเกาะช้างตาย อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ส่งถึงนายอำเภอเชียงแสน เนื่องจากพบเห็นประชาชนคนลาวเข้ามาจับจองพื้นที่ทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์บริเวณเกาะที่อยู่ใกล้กับบ้านสบกก ทำให้ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงกลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างชายแดน เพราะที่บริเวณนั้นชาวบ้านฝั่งไทยเคยทำกิน และเกรงปัญหาความมั่นคง เรื่องการลักลอบข้ามแดน ปัญหายาเสพติด และปัญหาอื่นๆ ตามมา และขณะนี้ทราบว่าทางอำเภอได้รายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายแล้ว
  • ต่อมา สื่อมวลชนไทยหลายสำนักได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ชาวบ้านสบกกร้องเรียนว่า เกาะช้างตายซึ่งเป็นของคนไทยถูกประชาชนลาวยึดครองภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเนื่องจากการดูดทรายและสร้างท่าเรือของไทย ซึ่งเกาะช้างตายเคยเชื่อมอยู่กับแผ่นดินไทยในบางฤดู แต่ภายหลังกระแสน้ำเปลี่ยนแปลงทำให้กลายเป็นเกาะตลอดปี ซึ่งภายหลังการนำเสนอข่าวทำให้คนลาวที่มาทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ได้อพยพกลับไป แต่ล่าสุดได้อพยพกลับเข้ามาอีก โดยที่ฝ่ายความมั่นคงไทยพยายามห้ามไม่ให้คนไทยขึ้นไป
  • เมื่อ 29 พ.ย. 2565 นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ร่วมพูดคุยและรับฟังสถานการณ์จากผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ต.บ้านแซว และ ต.แม่เงิน สาระสำคัญกล่าวถึงกรณีเกาะช้างตายเป็นกรณีที่เกิดจากการทำโครงการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ใน สปป.ลาว ในแม่น้ำโขงทำให้ไทยต้องเสียพื้นที่ครอบครอง นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากมีการปรับพื้นที่เพื่อทำท่าเรือพาณิชย์ ทำให้เกิดสภาพขัดแย้งของคนชายแดน ที่ไม่มีการแก้ปัญหาที่ชัดเจน และปัญหาคล้ายกรณีเช่นนี้จะมีเพิ่มขึ้น หากมีการสร้างเขื่อนปากแบง เพราะจะยกระดับน้ำทำให้สภาพพื้นที่ต่างไป ขณะที่เรื่องการแบ่งเขตแดนไทยลาวในพื้นที่ทางบกและทางน้ำบางส่วนชายแดนยังไม่ชัดเจน ทำให้ไทยต้องสูญเสียแผ่นดิน
  • จากการตรวจสอบกรณีปัญหาดังกล่าว ทราบว่าฝ่ายความมั่นคง (กองทัพภาค 3) ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ได้พยายามดำเนินการในทางลับเพื่อการแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าล่าสุด คือ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2565 หน่วย นรข. ประจำพื้นที่ อ.เชียงแสน ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ ได้รายงานรายละเอียดของประเด็นปัญหาเพิ่มเติมเข้าไปยังกองกำลังผาเมือง กองทัพภาค 3 แล้ว โดยในชั้นต้น ทางฝ่ายไทยมีข้อสั่งการ (ลับมาก) ให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคง (นรข. เป็นหน่วยรับผิดชอบ) หาวิธีการผลักดันคนลาวที่เข้ามาใช้พื้นที่ออกไปให้ได้โดยเร็วที่สุด และจะต้องดำเนินการในลักษณะที่ถือว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นดินแดนของไทยถูกต้องมาแต่อดีต โดยจะต้องไม่มีการนำเรื่องหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหารือหรือเจรจากับทางการลาวโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เสียเปรียบทางลาวทันที เนื่องจากหากมีการหยิบยกไปเจรจา หรือหารือ หรือขอให้มาทำความเข้าใจกับคนลาวที่เข้ามาใช้พื้นที่บนเกาะ ลาวจะยกระดับปัญหาพื้นที่ขึ้นเป็น “พื้นที่สงสัย” หรือถือเป็นพื้นที่พิพาทที่ต้องเจรจา และจะไปเข้าข่ายกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยถูกบังคับทำไว้กับประเทศฝรั่งเศสในสมัยอาณานิคม (ฉบับลงวันที่ 25 ส.ค. 2469) ซึ่งฝ่ายไทยจะเสียเปรียบทันที

    ก็ได้แต่หวังว่าจะมีคำตอบ และรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาที่ช่วยคลายความวิตกกังวล และความห่วงใยในใจชาวบ้านในพื้นที่ได้ในเร็ววันนี้