ThaiPublica > คนในข่าว > ลูกผู้ชายสายน้ำโขง “นิวัฒน์ ร้อยแก้ว” กับรางวัล “Goldman Environmental Prize”

ลูกผู้ชายสายน้ำโขง “นิวัฒน์ ร้อยแก้ว” กับรางวัล “Goldman Environmental Prize”

28 พฤษภาคม 2022


“ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้รับรางวัลโนเบลสิ่งแวดล้อม “Goldman Environmental Prize” หลังเรียกร้องจนสามารถยุติการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง รักษา ความหลากหลายทางชีวภาพของลุ่มน้ำนานาชาติ

ถึงจะไม่มีรางวัลการันตี แต่วิถีของ “ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ และเป็นที่ยอมรับในแวดวงนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่า เป็นผู้ที่อุทิศตัวเองเพื่อปกป้องแม่น้ำโขงและทรัพยากรของท้องถิ่นแบบเอาจจริงเอาจัง

ฉายาที่ใครต่อใครเรียกว่า “ผู้ชายแห่งลุ่มแม่น้ำโขง” ก็ดูจะไม่เกินไปนักเพราะหากนึกถึงเรื่องราวของแม่น้ำโขง คนแรกแรก ที่นึกถึงคือ “ครูตี๋” เนื่องจากผู้ชายคนนี้ จะรับรู้ถึงทุกความเปลี่ยนแปลงของสายน้ำแห่งนี้

ครูตี๋ เป็นชาวเชียงของโดยกำเนิด ผันตัวเองจากราชการครู เมื่อปี 2538 มาทำงานเพื่อท้องถิ่นและบ้านเกิด เป็นนักอนุรักษ์ มีบทบาทสำคัญในการปกป้องแม้น้ำโขง โดยขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนตามลำน้ำโขงจนก่อเกิด “กลุ่มรักษ์เชียงของ” องค์กรชาวบ้านที่ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือในการอนุรักษ์แม่น้ำโขง ขยายความร่วมมือจนเป็นเครือข่ายพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำอิง-โขง และขึ้นสู่ระดับวางนโยบายเพื่อตั้งรับกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ลำน้ำนานาชาติ

ครั้งหนึ่งเคยมีคนถาม “ครูตี๋”ว่า รู้สึกท้อ หรือเหนื่อยมั้ย เพราะถึงจะเรียกร้องไม่ให้มีการสร้างเขื่อน บนลุ่มแม่น้ำโขง แต่ก็ดูเหมือนเสียงเล็กของชาวบ้านลุ่มน้ำโขงไปไม่ถึง และไม่มีใครรับฟัง และยังคงมีโครงการสร้างเขื่อนบนลุ่มน้ำแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง

ครูตี๋ บอกว่า ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาพูด แม่น้ำโขงจะถูกทำลายมากขึ้น สิ่งที่พวกผมทำ ผมเข้าใจฝืนกระแสพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ เราทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ได้ปลุกชีวิตของผู้คนที่ลุกขึ้นมาปกป้องร่วมกัน

“ผมพูดเรื่องนี้มานาน และคงจะพูดต่อไปแม้จะไม่มีใครได้ยินก็ตามว่า เขื่อนคือตัวทำลายแม่น้ำโขง หยุดการสร้างเขื่อนและคืนชีวิตให้แม่น้ำเถอะครับ”

ครูตี๋ บอกว่าไม่เคยท้อหรือเหนื่อย และจะพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนไปเรื่อยๆในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่อยากปกป้องธรรมชาติ

ความหนักแน่นและยืนหยัดในการปกป้องแม่น้ำโขงของ ครูตี๋ ทำให้ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 6 ของผู้ได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมโลก “Goldman Environmental Prize” ประจำปี 2565 โดยมีพิธีมอบรางวัลเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ตามเวลาของสหรัฐอเมริกา

สำหรับ Goldman Environmental Prize ถือเป็น รางวัลด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกเทียบเท่ารางวัลโนเบลด้านสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งโดยครอบครัวนักธุรกิจตระกูล Goldman ในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เพื่อเชิดชูและสนับสนุนบุคคลผู้มุ่งมั่นในการปกป้องคุ้มครองธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เริ่มเมื่อค.ศ.1990(พ.ศ.2533)

โดยในปี 2565 ได้พิจารณาจากตัวแทนของทวีปต่างๆ 6 ภูมิภาค ซึ่งครูตี๋ได้รับการคัดเลือกในฐานะตัวแทนของทวีปเอเชีย ส่วนที่เหลือประกอบด้วย
1. Chima Williams นักกฏหมายสิ่งแวดล้อมจากประเทศไนจีเรียซึ่งมีบทบาทสำคัญกรณีน้ำมันรั่วและมีการเรียกร้องให้บริษัทรับผิดชอบต่อชุมชน
2. Marjan Minnesma จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายด้านมาตรการป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
3. Julien Vincent จากประเทศออสเตรเลีย ที่รณรงค์ระดับรากหญ้าให้มีการตัดงบที่ให้กับอุตสาหกรรมถ่านหิน
4. Nalleli Cobo จากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งนำพันธมิตรในชุมชนให้เคลื่อนไหวเพื่อปิดสถานที่ขุดเจาะน้ำมันที่เป็นพิษในชุมชน
5. Alex Lucitante และ Alexandra Narvaez จากประเทศเอกวาดอร์เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวของชนพื้นเมืองเพื่อปกป้องดินแดนจากบรรพบุรุษของผู้คนจากการทำเหมืองทอง
6. ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ที่ทำการต่อต้านการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง

“รางวัลเป็นสิ่งหนึ่งที่พาให้คนได้เห็นเรื่องราวแม่น้ำโขงผ่านผู้คนที่ทำเรื่องราวนี้ คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่คนท้องถิ่นที่ต่อสู้ได้มีพลังมากขึ้นผ่านการรับรู้ เพราะโลกถูกทำลายมากขึ้น ซึ่งมนุษย์อยู่ร่วมกันต้องช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่ช่วงชิงกัน แต่ต้องลดทอนความเห็นแก่ตัวและความอยากได้” ครูตี๋ กล่าว

ครูตี๋มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ ไม่ให้มีการระเบิดลุ่มแม่น้ำโขง ภายใต้ โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ เริ่มต้นเมื่อปี 2543

โดยทางการจีนประกาศแผนการร่วมกับประเทศไทยและประเทศลุ่มน้ำโขงที่จะระเบิดแก่งแม่น้ำโขงระยะทาง 886 กิโลเมตรจากตอนใต้ของประเทศจีนไปถึงหลวงพระบางโดยลัดเลาะชายแดนไทยที่จังหวัดเชียงราย 97 กิโลเมตร เพื่อให้เรือสินค้าขนาด 500 ตันผ่านได้สะดวกทั้งปี

ครูตี๋และกลุ่มรักษ์เชียงของ และประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำโขง รวมถึงพันธมิตรได้ร่วมกันคัดค้านการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่ปี 2543 อย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ที่จะทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศของแม่น้ำ จนในที่สุดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรีไทยจึงมีมติยกเลิกโครงการดังกล่าว

หลังจากรับรางวัลที่ถือเป็นเหมือน โนเบล ด้านสิ่งแวดล้อม “ครูตี๋ และกลุ่มรักษ์เชียงของ ยังคงเรียกร้องให้หยุดการสร้างเขื่อนบนลุ่มแม่น้ำโขง แต่ ทั้งลาว ไทย กัมพูชา และเรียกร้องให้มนุษยชาติหันมามองความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง หยุดก่อสร้างเขื่อนบนลุ่มแม่น้ำแห่งนี้

ขณะที่รัฐบาลในประเทศลุ่มน้ำโขงมีแผนจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอีกอย่างน้อย 9 แห่ง นอกเหนือจาก 11 เขื่อนของจีนที่สร้างไปแล้ว ประกอบด้วย 1. เขื่อนปากแบง ที่จะสร้างในเขตเมืองปากแบง แขวงอุดมไซ ทางภาคเหนือของลาว 2. เขื่อนหลวงพระบาง ที่จะสร้างที่เมืองหลวงพระบาง ทางเหนือของลาว 3. เขื่อนปากลาย ซึ่งตั้งอยู่ท้ายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี และอยู่ห่างจากชายแดนไทยที่ อ.ท่าลี่ จ.เลย 4. เขื่อนสะนะคาม หรือ ชนะคราม จะสร้างที่แขวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว 5. เขื่อนปากชม ซึ่งอยู่บริเวณพรมแดนไทย-ลาว บริเวณ อ.ปากชม จ.เลย 6. เขื่อนบ้านกุ่ม จะตั้งอยู่บริเวณพรมแดนไทย-ลาว บริเวณ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี 7. เขื่อนภูงอย หรือ เขื่อนลาดเสือ จะอยู่ที่แขวงจำปาสัก ประเทศลาว 8. เขื่อนสตึงเตร็ง จะอยู่ที่จังหวัดสตึงเตร็ง ในประเทศกัมพูชา 9. เขื่อนซำบอ จะอยู่ที่เมืองซำบอ จ.กระแจ๊ะ ประเทศกัมพูชา

ครูตี๋ และกลุ่มรักษ์เชียงของ บอกว่า ยังต้องส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจเพื่อให้หยุดสร้างเขื่อน หยุดทำลายแม่น้ำโขง แม้จะไม่มีใครได้ยินก็ตาม

  • จีนร่วม 6 ประเทศ ศึกษาผลกระทบเขื่อน “ลุ่มน้ำโขง” ครั้งแรก
  • เว็บไซต์ goldmanprizeให้ข้อมูลแนวทางการต่อสู้ของครูตี๋ไว้ว่า

    ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ครูตี๋ และกลุ่มตัวแทนชุมชนแม่น้ำโขง ได้ทำให้มีการยกเลิกโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงตอนบนที่นำโดยจีน ซึ่งจะทำลายแม่น้ำโขงเป็นระยะทาง 248 ไมล์ เพื่อเพิ่มช่องทางการเดินเรือสำหรับเรือบรรทุกสินค้าของจีนที่เดินทางลงใต้ นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยยกเลิกโครงการข้ามแดนเนื่องจากการทำลายสิ่งแวดล้อม

    แม่น้ำโขงที่ไหลลงจากภูเขาของทิเบตเป็นระยะทาง 3,000 ไมล์ก่อนออกสู่ทะเลจีนใต้ นำมาซึ่งการประมง ลำน้ำสาขา พื้นที่ชุ่มน้ำ และที่ราบน้ำท่วมถึงในแม่น้ำโขงที่อุดมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นวิถีชีวิตที่สำคัญสำหรับผู้คนกว่า 65 ล้านคน

    แม่น้ำโขงใหญ่เป็นอันดับสองรองจากแม่น้ำแอมะซอนในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพของน้ำจืด และวัฏจักรภัยแล้งและน้ำท่วมประจำปีที่ทำให้ปลาย้ายถิ่น อย่างไรก็ตามโครงการเขื่อนหลายแห่งทั่วทั้งภูมิภาคคุกคามระบบนิเวศอันละเอียดอ่อนของแม่น้ำ

    ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 จีนได้ประกาศแผนร่วมกับไทยในการระเบิดเกาะแก่งของแม่น้ำโขงใกล้ชายแดนไทย-ลาว เพื่อเปิดทางให้เรือบรรทุกสินค้าจีนขนาด 500 ตัน เรือบรรทุกสินค้านี้ล่องลงสู่ปลายน้ำจากประเทศจีน ผ่านลาว และมายังประเทศไทย แผนโครงการระเบิดแม่น้ำโขง (หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า โครงการปรับปรุงร่องนํ้าเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ในแม่นํ้าล้านช้าง–แม่น้ำโขงหรือ Lancang-Mekong Navigation Channel Improvement Project) ได้เสนอให้ปรับเปลี่ยนแม่น้ำให้เป็นช่องทางเดินเรือทางอุตสาหกรรมที่มีรูปแบบคล้ายคลองปานามา และทำลายแม่น้ำโขงที่ทอดยาว 248 ไมล์ใกล้กับเชียงของ ชาวบ้านมองว่าเป็นการเปลี่ยนแม่น้ำของพวกเขาให้เป็น “ทางหลวงขนาดยักษ์”

    “ครูตี๋” อยู่ในวัย 60 ปี เกิดและเติบโตที่เชียงของ ริมฝั่งแม่น้ำโขง การเป็นครูโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลบริเวณชายแดนไทย-ลาว จึงได้เห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงที่มีต่อเกษตรกรในชนบทโดยตรง หลังเกษียณในปี 2538 ครูตี๋ได้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งเป็นเครือข่ายแบบหลวมๆ ของหมู่บ้าน 30 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ริมแม่น้ำ และจากการที่ครูได้รับความเคารพนับถืออย่างมากในชนบทของประเทศไทย ครูตี๋จึงถูกมองว่าเป็นตัวแทนของสำหรับกลุ่มคนที่ไม่มีใครรับฟัง

    ที่มาภาพ:https://www.goldmanprize.org/recipient/niwat-roykaew/

    เมื่อได้รับรู้เกี่ยวกับโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ครูตี๋ก็เริ่มรณรงค์ต่อต้านโครงการ โดยสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ของกลุ่มภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น เอ็นจีโอ และสื่อเพื่อให้ได้รับความสนใจจากนักพัฒนาและรัฐบาล ครูตี๋ให้สัมภาษณ์และสร้างการรายงานข่าวอย่างกว้างขวาง โดยเน้นที่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและความล้มเหลวของระบบนิเวศหากโครงการยังเดินหน้า

    ครูตี๋เป็นผู้นำการประท้วงการระเบิดในแม่น้ำโขงด้วยการลอยเรือในแม่่น้ำโขง และได้พบกับชาวประมงทั้งในประเทศไทยและลาว รวมทั้งสนับสนุนให้ชาวบ้านลงนามในคำร้องที่ส่งไปยังสถานทูตจีนในกรุงเทพฯ

    ครูตี๋ได้ใช้เครือข่ายอาสาสมัครในชุมชนมาร่วมทำการศึกษาวิจัย(citizen science) จำแนกปลา 100 สายพันธุ์ รวมทั้ง 16 สายพันธุ์ที่พบในแก่งเท่านั้น รวมทั้งทำงานร่วมกับนักวิชาการและนักวิจัยเพื่อจัดทำเอกสารเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในแม่น้ำโขงตอนบนเพิ่มเติม

    ครูตี๋แสดงความเห็นค้านไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการรัฐสภาที่รับผิดชอบดูแลโครงการนี้ จนกดดันให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเดินทางไปเชียงของเพื่อพบกับครูตี๋และกลุ่มผู้ร่วมประสานงาน หลังการคัดค้านในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง นักพัฒนาชาวจีนตกลงที่จะพบกับครูตี๋และคนในชุชมชนเพื่อหารือเกี่ยวกับผลของโครงการ

    ในเดือนธันวาคม 2560 รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยประกาศว่าจีนได้ระงับโครงการนี้ อย่างไรก็ตาม การประชุมปรึกษาหารือของรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไป ทำให้เกิดความไม่แน่นอนสำหรับชุมชนในท้องถิ่น ขณะเดียวกัน แม้การรณรงค์จะยังคงเดินหน้า ได้มีการเริ่มก่อสร้างในตอนต้นน้ำของแม่น้ำ โดยมีการระบิดเป็นแนวยาวประมาณ 124 ไมล์

    ที่มาภาพ:https://www.goldmanprize.org/recipient/niwat-roykaew/

    ครูตี๋ไดเ้ร่งดำเนินการมากขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเน้นที่ผลในวงกว้างของโครงการ การระเบิดครั้งนี้น่าจะเปลี่ยนพรมแดนของประเทศไทยกับประเทศลาวที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นเขตแดนที่กำหนดโดยแม่น้ำ เมื่อเผชิญกับการคัดค้านและโต้แย้งมากขึ้น รัฐบาลไทยจึงะงับโครงการนี้ไป แต่ดึงกลับมาทำใหม่ในช่วงปลายปี 2559

    ครูตี๋และเพื่อนร่วมงานยังไม่ละความพยายาม ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 การรณรงค์ที่ต่อเนื่อว ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างมากจากภาคประชาสังคม นักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการ จนรัฐบาลต้องยุติโครงการทำระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงอย่างเป็นทางการ ในที่สุดรัฐบาลไทยก็ประกาศว่ายกเลิกโครงการนี้ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

    การยกเลิกโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงอย่างเป็นทางการ ถือเป็นชัยชนะที่หายากและเป็นทางการในภูมิภาค ที่เผชิญกับแรงกดดันมหาศาลจากโครงการพัฒนาและเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพลังแห่งการรณรงค์ร่วมกันของครูตี๋ โดยการขยายเสียงสะท้อนของคนในท้องถิ่น ถึงคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมของแม่น้ำโขง ครูตี๋ได้กดดันให้รัฐบาลไทยให้ความสนใจต่อภาคประชาสังคมและเพิ่มความรับผิดชอบต่อพลเมืองของประเทศ

    ครูตี๋ยังคงเดินหน้ารักษาสิทธิของแม่น้ำและผู้คนที่พึ่งพาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และยังทำงานเพื่อสร้างคนดูแลแม่น้ำรุ่นต่อไปผ่านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และโครงการต่างๆ ของเยาวชน