ThaiPublica > เกาะกระแส > Facebook กับกรณีข้อมูลผู้ใช้รั่วไหล (ตอน 2) : จาก “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” สะเทือนถึง Goolgle/Twitter

Facebook กับกรณีข้อมูลผู้ใช้รั่วไหล (ตอน 2) : จาก “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” สะเทือนถึง Goolgle/Twitter

18 เมษายน 2018


มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ระหว่างชีแจงคณะกรรมาธิการรัฐสภาทีมาภาพ:https://www.bloomberg.com/news/live-blog/2018-04-11/zuckerberg-testifies-to-house-on-facebook-data-scandal

ต่อจากตอนที่ 1 Facebook กรณีข้อมูลผู้ใช้รั่วไหล (ตอน 1) : การบ้านของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก

เมื่อการซักฟอกและการชี้แจงของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอ Facebook เสร็จสิ้นลง สมาชิกรัฐสภาต่างมีความเห็นว่า ควรมีการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคที่จะปกป้องข้อมูลส่วนตัว ด้วยเหตุนี้สมาชิกวุฒิสภา 2 ราย คือ เอมี โคลบุชาร์ ตัวแทนพรรคเดโมแครตจากรัฐมินนิโซตา และจอห์น เคนเนดี ตัวแทนพรรครีพับลิกันจากรัฐลุยเซียนา ได้เสนอให้มีการร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บนออนไลน์

รายงานข่าวจากเว็บไซต์ The Verge แถลงการณ์ร่วมของวุสมาชิกวุฒิสภาสองรายนี้ระบุว่า แม้ร่างกฎหมายยังไม่จัดทำขึ้น แต่ก็ควรมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ในระบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้มีทางเลือกหากพบว่ามีการละเมิดข้อมูลส่วนตัวและให้สิทธิผู้ใช้ในการที่จะไม่ใช้การติดตามและเก็บรวบรวมข้อมูล (opt-out)

ประเด็นหลักที่จะนำเสนอเป็นกฎหมายมีด้วยกัน 7 ข้อ ประกอบด้วย

  • ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรักษาข้อมูลส่วนตัวด้วยการไม่ใช้การติดตามและเก็บรวบรวมข้อมูล (opt-out)
  • ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและจัดการข้อมูลของตัวเอง
  • นโยบายและข้อตกลงในการให้บริการต้องเขียนให้เข้าใจง่าย
  • ให้ผู้ใช้เห็นว่าข้อมูลอะไรบ้างที่มีการเก็บและแชร์ไป
  • ต้องแจ้งผู้ใช้ภายใน 72 ชั่วโมงหากพบว่าข้อมูลผู้ใช้ถูกละเมิด
  • ต้องชดเชยความเสียหายแก่ผู้ใช้หากมีการละเมิดข้อมูล
  • แพลตฟอร์มออนไลน์นั้นต้องติดตั้งโปรแกรมรักษาความเป็นส่วนตัว

    รายงานข่าวระบุอีกว่า การเสนอร่างกฎหมายคุ้มสิทธิผู้บริโภคนี้มีความคล้ายคลึงกับ ร่างกฎหมาย CONSENT Act ที่เสนอก่อนหน้านี้โดยสมาชิกวุฒิสภา เอ็ดเวิร์ด มาร์กีย์ และสมาชิกวุฒิสภาริชาร์ด บลูเมนทัล

    CONSENT Act หรือ Customer Online Notification for Stopping Edge-provider Network Transgressions กำหนดว่า การเก็บข้อมูล การติดตามข้อมูล การใช้ข้อมูล การขายข้อมูล ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้ก่อน และต้องแจ้งผู้ใช้ทุกครั้งที่มีการเก็บ หรือแชร์ หรือใช้ข้อมูล

    นอกจากนี้ สภาคองเกรสยังมีแนวคิดที่จะขยายการซักฟอกออกไปสู่บริษัทเทคโนโลยีรายอื่น โดยมี Google และ Twitter เป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งรายงานข่าวของ CNET เปิดเผยว่า แม้มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอ Facebook จะผ่านพ้นการซักฟอกไปได้ด้วยดี แต่อาจจะสร้างภาระให้กับบริษัทอื่น เช่น Google และ Twitter

    รายงานข่าวระบุว่า กรณีอื้อฉาวของ Facebook นอกจากสะท้อนถึงขุมข้อมูลมหาศาลที่บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้มีแล้ว ยังสะท้อนถึงการนำข้อมูลไปใช้อย่างไม่ถูกต้องด้วย (ในกรณี Facebook มีการขายข้อมูลเพื่อการโฆษณา) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่โซเชียลมีเดียมีนั้นยังไม่เท่ากับบริษัทเทคโนโลยีอื่น ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ Google ที่มีข้อมูลของผู้คนทั่วโลก เพราะเก็บข้อมูลผู้ใช้แทบครบทุกด้านตั้งแต่ สิ่งที่ผู้ใช้ชอบ ข้อมูลการค้นหา การใช้ Gmail, Google Maps ซึ่งทั้ง Google และ Twitter ก็ใช้ข้อมูลเพื่อการโฆษณาเช่นกัน และที่ผ่านมาสภาได้ตำหนิการละเมิดข้อมูลผู้ใช้ของบริษัทเหล่านี้มาแล้ว

    ในเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ทั้งสามบริษัทได้เคยเข้าให้การกับสภาคองเกรสมาแล้ว เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม ทว่า ไม่มีบริษัทใดส่งซีอีโอมาเลย แต่กลับใช้ทนายความแทน จึงเป็นความท้าทายของสภาคองเกรส และคาดได้ว่าหลังจากมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เข้าให้การแล้ว รายต่อไปคงเป็น Google และ Twitter

    สมาชิกวุฒิสภา มาร์ก วอร์เนอร์ ตัวแทนพรรคเดโมแครตจากรัฐเวอร์จิเนีย กล่าวว่า ประเด็นที่กังวลกันมากในการซักฟอกที่ผ่านมา คือ ความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ ที่ไม่ใช่เพียง Facebook เท่านั้นที่ต้องแก้ไข แต่ Twitter ก็ต้องจัดการ และ Google กับ YouTube ในฐานะองค์กรเดียวกันต้องจัดการ

    สิ่งที่สภาคองเกรสต้องการจาก Google และ Twitter ไม่ใช่เพียงการชี้แจงเท่านั้น แต่ต้องการให้มีการดำเนินการในเชิงรุกที่จะปกป้องผู้ใช้ รวมทั้งให้สนับสนุนกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค

    ก่อนหน้าทั้ง Facebook และ Twitter ประกาศสนับสนุน ร่างกฎหมาย Honest Ads Act ที่กำหนดให้บริษัทอย่าง Facebook Google เก็บสำเนาโฆษณาการเมืองและเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ Google ยังไม่มีท่าทีใดๆ

    Google/Facebook มีข้อมูลผู้ใช้รอบด้าน

    รายงาน Are you ready? Here is all the data Facebook and Google have on you ที่ ดีแลน เคอร์แรน ที่ปรึกษาด้านข้อมูลและผู้พัฒนาเว็บไซต์ นำเสนอ รายงานใน The Guardian เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 ได้แสดงให้เห็นว่า ทั้ง Google และ Facebook มีข้อมูลผู้ใช้จำนวนมหาศาล

    ดีแลนบอกว่า การรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวที่ร้ายแรงเกินกว่าจะคาดคิด ทำให้เขาต้องหันกลับมาดูว่า ข้อมูลอะไรบ้างที่ Google และ Facebook เก็บ ซึ่งปรากฏว่ามีมากเกินกว่าที่ผู้ใช้จะตระหนัก

    Google รู้ว่าเราเคยไปที่ไหนบ้าง

    ดีแลนบอกว่า Google เก็บข้อมูลสถานที่ที่เราเคยไป หากเราเปิดระบบติดตามไว้ ทึกครั้งที่เปิดโทรศัพท์มือถือ ก็จะเห็นบนไทม์ไลน์ว่าไปที่ไหนมาบ้างนับตั้งแต่วันแรกที่ใช้ Google บนมือถือ โดยสามารถตรวจสอบได้จาก Google Maps Timeline

    ตัวอย่างภาพที่แสดงบนไทม์ไลน์ ที่มาภาพ:
    https://www.theguardian.com/commentisfree/2018/mar/28/all-the-data-facebook-google-has-on-you-privacy?CMP=share_btn_link

    Google รู้ทุกอย่างที่เราค้นหาและลบ
    Google เก็บข้อมูลการค้นหาย้อนหลังในทุกอุปกรณ์ที่เราใช้ นั่นหมายถึงว่า แม้จะลบข้อมูลการค้นหานั้นไปแล้วหรือข้อมูลการโทรไปแล้วในอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่ง แต่ Google ยังมีข้อมูลที่เก็บไว้ในอีกอุปกรณ์หนึ่ง ซึ่งตรวจสอบได้จาก My Activity

    Google มีข้อมูลเพื่อโฆษณาเฉพาะเรา

    Google สร้างโปรไฟล์ข้อมูลเพื่อการโฆษณาสำหรับเราโดยเฉพาะ โดยใช้ข้อมูลของเรา ทั้งสถานที่ เพศ อายุ งานอดิเรก อาชีพ ความสนใจ ความสัมพันธ์ และอาจจะรวมไปถึงน้ำหนักตัวและรายได้ โดยสามารถตรวจสอบได้จาก Google Ad Setting

    Google รู้ทุกแอปพลิเคชันที่เราใช้

    Google เก็บข้อมูลทุกแอปพลิเคชันและ Extension (โปรแกรมหรือส่วนขยายที่พัฒนาจากบุคคลภายนอก เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับเว็บเบราว์เซอร์) ทั้งแอปและ Extension จะรู้ว่าเราใช้บ่อยแค่ไหน ใช้ที่ไหน และใช้ติดต่อกับใคร ซึ่งหมายความว่าจะรู้ว่าเราคุยกับใครบน Facebook เราพูดกับประเทศอะไร เราเข้านอนเวลาไหน ตรวจสอบได้จาก Security

    Google มีข้อมูลการใช้ YouTube

    Google เก็บข้อมูลการใช้ YouTube ไว้หมด ดังนั้นก็จะรู้ทุกอย่างของเรา เช่น จะเป็นพ่อแม่คนแล้ว หรือเราเป็นคนอนุรักษนิยม หรือเป็นคนหัวก้าวหน้า เป็นคนยิว นับถือศาสนาอะไร เป็นคริสเตียน หรือเป็นมุสลิม กำลังเศร้าใจ ตรวจสอบได้จาก Search History

    ข้อมูลของเราที่ Google เก็บไว้ สามารถดาวน์โหลดมาดูได้ โดยดีแลนบอกว่า ข้อมูลของเขาที่ดาวน์โหลดออกมามีปริมาณถึง 5.5 กิกะไบต์ หากแปลงออกมาเป็นตัวหนังสือจะได้มากถึง 3 ล้านคำ

    ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถใช้ลิงก์ Takeout ตรวจสอบได้ ซึ่งจะพบว่ามีข้อมูลเรามากมาย ทั้ง Bookmark, Email, Contact, ไฟล์ใน Google Drive, วิดีโอ YouTube, รูปที่ถ่ายกับมือถือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในปฏิทิน, Google Hangout, สถานที่ที่เคยไป, เพลงที่เคยฟัง, โทรศัพท์ที่เคยมี แม้แต่เดินวันละกี่ก้าว

    ทางด้าน Facebook ดีแลนกล่าวว่า เฉพาะข้อมูลส่วนตัวของเขาที่ตรวจสอบจากระบบข้อมูลของ Facebook นั้นปรากฏว่า มีมากถึง 600 เมกะไบต์ หรือหากเป็นเอกสารก็มีจำนวนคำมากถึง 400,000 คำ ซึ่งรวมถึงทุกข้อความที่ได้เคยส่ง ทุกไฟล์ที่เคยส่ง ทุก Contacts ในโทรศัพท์ ทุกข้อความเสียงภาพที่เคยส่ง

    ข้อมูลของดีแลน เคอร์แรน ที่ Facebook มี ที่มาภาพ: https://www.theguardian.com/commentisfree/2018/mar/28/all-the-data-facebook-google-has-on-you-privacy?CMP=share_btn_link

    Facebook ยังเก็บข้อมูลผู้ใช้ทุกอย่างตั้งแต่สติกเกอร์ไปจนถึงสถานที่ที่ล็อกอิน Facebook เก็บข้อมูลทุกอย่างที่คิดว่าผู้ใช้งานจะสนใจ โดยประเมินจากสิ่งที่ผู้ใช้ชอบ หรือผู้ใช้กับเพื่อนชอบคุยกัน และที่น่าสนใจคือ Facebook เก็บข้อมูลสติกเกอร์ที่ผู้ใช้เคยส่งบน Facebook ซึ่งดีแลนก็บอกว่าไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเก็บข้อมูลนี้

    ดีแลนบอกอีกว่า Facebook เก็บข้อมูลทุกครั้งที่ผู้ใช้ล็อกอิน สถานที่ที่ล็อกอิน เวลาที่ล็อกอิน และล็อกอินจากอุปกรณ์อะไร

    นอกจากนี้ยังเก็บข้อมูลทุกแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้เคยใช้ผ่านบัญชี Facebook เพื่อที่จะประเมินได้ว่าผู้ใช้สนใจด้านไหน ซึ่งสำหรับตัวเขาแล้ว สนใจ การเมือง การออกแบบเว็บไซต์ และกราฟิกดีไซน์ รวมทั้งประเมินว่าเขามีสถานะโสดในช่วงเวลาไหน จากการที่ใช้แอปพลิเคชัน Tinder รวมไปถึงจากการที่เขาซื้อมือถือ HTC เครื่องใหม่ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

    ดีแลนยังบอกอีกว่า Google และ Facebook ยังเก็บข้อมูลผ่านเว็บแคมและไมโครโฟน ซึ่งข้อมูลที่เก็บได้จากการติดตามแอปพลิเคชันที่ติดตั้ง ใช้เมื่อไร และใช้เพื่ออะไร เพราะสามารถเข้าถึงเว็บแคม และไมโครโฟนของเราได้ตลอดเวลา จึงเก็บข้อมูลได้ทุกอย่าง ทั้งอีเมล, Contact, เกมที่เล่น เพลง รูปถ่าย ข้อมูลการท่องเว็บ

    ดีแลนได้แสดงภาพตัวอย่างให้เห็นว่า Google เก็บข้อมูลเราในหลายวิธี

    Google เก็บข้อมูลหลายทาง ที่มาภาพ:
    https://www.theguardian.com/commentisfree/2018/mar/28/all-the-data-facebook-google-has-on-you-privacy?CMP=share_btn_link

    Facebook รู้อะไรเกี่ยวกับเรา

    รายงาน How to find out what Facebook knows about you ที่รายงานโดย ท็อดด์ด เฮเซลตัน บรรณาธิการข่าวเทคโนโลยี แสดงให้เห็นว่า Facebook รู้หลายอย่างเกี่ยวกับตัวเรา

    จากการตรวจสอบ ท็อดด์ดบอกว่า Facebook รู้ว่าเขาใช้คอมพิวเตอร์เครื่องไหนล็อกอินเข้าระบบ รู้ว่าเขาชอบสมาร์ทโฟน รู้ว่าชอบเคโนโลยี รู้ว่าเขาคลิกดูโฆษณาขายกระเป๋าใส่แลปทอป รู้ว่าทำงานกับ CNBC รู้ว่าชอบเข้าเครือข่ายโซเชียลด้วยสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต

    ท็อดด์บอกว่า ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ Facebook ได้ไปมาจากเจ้าของบัญชีที่ให้ไป แต่อีกส่วนหนึ่ง Facebook เก็บเองจากปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้กับสิ่งต่างๆ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จาก Ads หรือโฆษณา เป็นช่องทางหนึ่งที่ Facebook รู้เกี่ยวกับผู้ใช้ รวมไปถึงความสนใจ โฆษณาที่ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์ด้วย เช่น เปิดลิงก์ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่การตั้งค่า เมื่อล็อกอินเข้า Facebook ไปแล้วให้ดูที่ Ads ผู้ใช้สามารถตั้งค่าได้ด้วยตัวเองว่าจะรับโฆษณาแบบไหนหรือไม่รับ

    โดยข้อมูลที่ Facebook แสดงให้เห็นว่ารู้อะไรเกี่ยวกับเจ้าของบัญชี คือ

    Facebook รู้ความเป็นไปได้ว่าเราจะมีปฏิสัมพันธ์กับอะไรบ้าง

    กรณีของท็อดด์ เขาบอกว่า Facebook นำเสนอโฆษณาในหน้านิวส์ฟีดให้ตรงกับความสนใจและแอปพลิเคชันที่ใช้ล่าสุด เมื่อเข้าระบบเปิดใช้ Facebook

    Facebook รู้นิสัยผู้ใช้

    ในส่วนการตั้งค่า ตรงหน้า Your Information Facebook สามารถให้ข้อมูลผู้ใช้หรือเจ้าของบัญชีแก่ผู้ซื้อโฆษณาได้ เพราะมีข้อมูลผู้ใช้ในด้านการใช้งาน Facebook ว่าผ่านอุปกรณ์ไหน มีอุปกรณ์กี่อย่าง ใช้มือถือหรือแท็บเล็ตรุ่นไหน ใช้ 4G หรือ wifi ที่จะสะท้อนถึงนิสัยผู้ใช้

    รู้ว่าใช้งานจากที่ไหน ใช้อุปกรณ์อะไรเข้าระบบ

    ในหน้า Security and Login แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้ล็อกอินเข้าระบบด้วยอุปกรณ์ชนิดใด

    รู้ว่าคลิกโฆษณาอะไรจากนิสัย

    Facebook รู้ว่าโฆษณาชิ้นไหนที่ผู้ใช้คลิกดู ก็จะเป็นโอกาสเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะส่งโฆษณาให้ตรงกับผู้ใช้มากที่สุด

    รู้ว่าวันนี้เมื่อปีที่แล้วผู้ใช้ทำอะไร

    ลองคลิกไปที่ On This Day ก็จะพบว่าวันนี้ในปีก่อนผู้ใช้ทำอะไร แม้จะไม่ได้โพสต์ไว้ก็ตาม เพราะ Facebook เก็บข้อมูลจากผู้ใช้รายอื่นซึ่งอาจจะเป็นเพื่อน ที่ tag ผู้ใช้ไว้ ทั้งในรูปภาพและโลเคชัน

    5 ขั้นตอนตรวจข้อมูลที่ Facebook มี

    รายงาน จาก With 5 Quick Clicks You Can See All the Data Facebook Has on You (I Was Truly Stunned by What I Found) ที่นำเสนอโดย บิลล์ เมอร์ฟี จูเนียร์ ที่บอกว่า จากการตรวจสอบบัญชีของเขาพบว่ามีแอปพลิเคชันที่ Facebook แชร์ข้อมูลของเขาถึง 130 แอป ซึ่งนับว่ามากพอสมควร แต่กลับพบว่าเพื่อนร่วมงานบางคนยังมีถึง 200-300 แอป

    ดังนั้น จึงเสนอแนะ 5 ขั้นตอนที่จะทำให้ผู้ใช้ Facebook รู้ว่า Facebook มีข้อมูลอะไรของผู้ใช้บ้าง โดยดูข้อมูลตัวเองได้จาก

    หนึ่ง จากการตรวจสอบที่เว็บไซต์ Facebook โดยคลิกไปที่ www.facebook.com/settings

    สอง คลิกที่ Download Archive ระบบจะให้ใส่รหัสอีกครั้ง โดยขั้นตอนนี้ Facebook จะใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีที่จะรวบรวมข้อมูลเจ้าของบัญชี เพื่อจัดส่งลิงก์ไปที่อีเมล ซึ่งผู้ใช้จะต้องคลิกที่ลิงก์นี้อีกที

    สาม เช็คอีเมลที่โฟลเดอร์สแปม เพราะอาจจะไม่ไปที่อินบ็อกซ์ บิลล์บอกว่า ลิงก์ของเขาก็ไปอยู่ที่สแปม โดยมีหัวข้อเมลว่า “Your Facebook download is ready” จากนั้นคลิกลิงก์ที่ส่งมา ซึ่งจะนำผู้ใช้กลับไปที่ Facebook อีกครั้ง และอาจจะต้องใส่รหัสอีกครั้ง

    สี่ คลิก Download Archive ที่เปิดขึ้นมาในหน้าจอ แล้วดาวน์โหลดไฟล์ zip ซึ่งอาจจะมาในชื่อ “facebook-YOURUSERNAME.zip” เมื่อได้แล้วก็เปิดไฟล์ขึ้นมาดู ก็จะพบกับโฟลเดอร์เยอะแยะมากมาย แต่ก็มีไฟล์หนึ่งที่ชื่อว่า index.html

    ห้า กดเปิด ไฟล์ index.html ข้อมูลใน archive ก็จะปรากฏขึ้นในเบราว์เซอร์ ซึ่งข้อมูลนั้นจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ว่าผู้ใช้ใช้งาน Facebook มานานแค่ไหน และใช้งานอย่างไร ผู้ใช้บางรายอาจจะมีข้อมูลมหาศาล

    การที่เริ่มจาก index.html เพราะจะเปิดเว็บเพจในประเทศในเบราว์เซอร์เริ่มต้นของผู้ใช้ ทำให้สามารถดูข้อมูลง่ายขึ้น เนื่องจากเชื่อมโยงกับ Profile, Contact Info, Timeline, Photos, Videos, Friends, Messages, Pokes ,Events, Security, Ads และแอปพลิเคชันที่อยู่ด้านซ้ายของเพจ

    บิลล์บอกว่า สำหรับข้อมูลของเขาเอง ถึงกับประหลาดใจมาก เพราะบางอย่างเป็นข้อมูลเก่ามากที่ตัวเองยังจำไม่ได้ เป็นข้อมูลตั้งแต่เริ่มลงทะเบียนใช้ Facebook ครั้งแรกมากว่า 10 ปี นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการรับเป็นเพื่อนที่มีรายละเอียดแม้กระทั่งวันที่ แม้ข้อมูลเบื้องต้นบางด้านไม่ตรงและไม่ถูกต้อง เช่น วันเดือนปีเกิด เมืองที่อยู่ แต่ข้อมูลอื่นๆ ก็ทำเขากังวลต่อข้อมูลส่วนตัวมากพอสมควร

    บิลล์บอกว่า Facebook ยังมีข้อมูล จำนวน เพจ กลุ่มและโฆษณาที่เขาเข้าร่วมหรือเยี่ยมชมอีกด้วย โดยเขาได้ร่วมกับ 376 เพจ และ 89 กลุ่ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโพสต์จำนวนมากจะกลายมาเป็นฟีดของใครก็ได้ในเวลาใดก็ได้ ที่น่าประหลาดใจก็คือ โฆษณา 34 ชิ้นมีข้อมูลที่จะติดต่อกับบิลล์ได้

    บิลล์บอกว่า สิ่งที่ค้นพบทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว แต่ก็ยอมรับว่า Facebook มีประโยชน์ในหลายด้าน ช่วยให้ย้อนกลับไปดูรูปภาพเก่าๆ เตือนความทรงจำที่ผ่านมา ที่ตัวเขาเองลืมไปแล้ว ดังนั้นจะไม่ลบบัญชี Facebook ทิ้ง