ThaiPublica > เกาะกระแส > Facebook กรณีข้อมูลผู้ใช้รั่วไหล (ตอน 1) : การบ้านของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก

Facebook กรณีข้อมูลผู้ใช้รั่วไหล (ตอน 1) : การบ้านของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก

17 เมษายน 2018


มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ระหว่างชีแจงคณะกรรมาธิการรัฐสภาทีมาภาพ:https://www.bloomberg.com/news/live-blog/2018-04-11/zuckerberg-testifies-to-house-on-facebook-data-scandal

ในช่วงวันที่ 10-11 เมษายนที่ 2561 ผ่านมา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Facebook ต้องเข้าชี้แจงและรับการซักฟอกจากวุฒิสภาสหรัฐฯ นานหลายชั่วโมง หลังจากที่ยอมรับว่าข้อมูลผู้ใช้ Facebook รั่วไหล อันเนื่องจากบริษัทให้คำปรึกษาทางการเมือง เคมบริดจ์ อะนาลีติกา (Cambridge Analytica) ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลที่ร่วมทำงานในแคมเปญการหาเสียงเลือกตั้งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2559 สามารถรวบรวมข้อมูลผู้ใช้ Facebook ได้โดยไม่ได้รับความยินยอม และนำข้อมูลที่เก็บได้นี้ออกไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

วันแรกของการเข้าชี้แจงต่อการซักฟอกร่วมกันของ คณะกรรมาธิการตุลาการวุฒิสภา (The Senate Judiciary Committee) และคณะกรรมาธิการการพาณิชย์วุฒิสภาซึ่งมีจำนวนกันถึง 44 คน ในช่วงต้น ซักเคอร์เบิร์กได้อ่านแถลงการณ์ที่เตรียมไว้ โดยเริ่มจากการกล่าวขอโทษและยอมรับว่า Facebook ทำผิดพลาดครั้งใหญ่ เพราะไม่ได้มองความรับผิดชอบให้รอบด้าน และเป็นความผิดของตัวเขา เขาเป็นคนก่อตั้ง Facebook เป็นคนบริหาร และเขาต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ซักเคอร์เบิร์กกล่าวด้วยว่า ในกรณีเคมบริดจ์อะนาลีติกา Facebook ไม่ได้ทำให้ดีพอในการป้องกันไม่ให้เครื่องมือเหล่านี้ถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง จึงทำให้เกิดข่าวลวง การแทรกแซงของต่างชาติในการเลือกตั้ง

การซักฟอกในวันแรกกินเวลากว่า 5 ชั่วโมง ส่วนใหญ่เป็นการตอบคำถามถึงแนวทางปฏิบัติการในการเก็บข้อมูลของ Facebook

ในแถลงการณ์ของซักเคอร์เบิร์กที่เตรียมไว้ก่อนหน้าที่จะเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ ซึ่งได้มีการนำไปใส่ไว้เว็บไซต์ของรัฐสภานั้น นอกจากให้ข้อมูลที่มาของกรณีเคมบริดจ์อะนาลีติกาว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรแล้ว ยังบ่งบอกถึงสิ่งที่ Facebook ได้ดำเนินการ ได้แก่ การรักษาความปลอดภัยของแพลตฟอร์ม โดยได้ปรับเปลี่ยนการให้เข้าถึงข้อมูลของแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2014 แต่ได้ทำให้รัดกุมมากขึ้น จำกัดการเข้าถึงข้อมูล และ Facebook กำลังตรวจสอบแอปพลิเคชันจำนวนมากที่เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้

มาตรการที่ระบุไว้ในแถลงการณ์นี้คือมาตรการเดียวกันที่ Facebook เผยแพร่บนเว็บไซต์และที่ซักเคอร์เบิร์กได้ประกาศบนเพจของตัวเองในสัปดาห์ก่อนการซักฟอก

วันที่สองของการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการด้านพลังงานและการพาณิชย์ (House Energy and Commerce Committee) ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา (Congress) ซักเคอร์เบิร์กได้ยอมรับว่า เขาเป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลและถูกเคมบริดจ์ อะนาลีติกา นำไปหาประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และยอมรับว่าข้อมูลผู้ใช้ที่รั่วไหลมีจำนวน 87 ล้านบัญชี ไม่ใช่ 50 ล้านบัญชีตามที่ได้รายงานในช่วงแรก

ซักเคอร์เบิร์กกล่าวในการชี้แจงว่า การที่บริษัทไม่ได้แจ้งต่อคณะกรรมการ Federal Trade Commission ตั้งแต่แรก เพราะมองว่าการเก็บข้อมูลนี้เป็นเรื่องภายใน นอกจากนี้ยอมรับว่าเข้าใจผิดว่าเคมบริดจ์ อะนาลีติกา ได้ลบข้อมูลที่แอบเก็บไปเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นความผิดพลาดของบริษัท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งของการชี้แจง ซักเคอร์เบิร์กกลับบอกว่า บนหลักการพื้นฐานของ Facebook นั้นเมื่อไรก็ตามที่เจ้าของบัญชี Facebook โพสต์ข้อมูลบนแพลตฟอร์ม ก็หมายความว่าตัดสินใจแล้วที่จะแบ่งปันข้อมูลเหล่านั้นกับบุคคลอื่นผ่านการควบคุมของเจ้าของบัญชี ในการให้บุคคลภายนอกรับรู้ข้อมูล

ไร้คำตอบปกป้องผู้ใช้

หลายคำถามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามขึ้นนั้น ซักเคอร์เบิร์กไม่ได้ตอบหรือปฏิเสธ แต่กล่าวสั้นๆ ว่าจะให้ข้อมูลในภายหลัง และเป็นคำตอบที่ซักเคอร์เบิร์กใช้มากในการตอบคำถามหลายครั้ง คำถามเหล่านี้จึงกลายเป็นการบ้านที่ซักเคอร์เบิร์กต้องกังวล

โดยคำถามจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เบน ลูฮัน ตัวแทนพรรคเดโมแครตจากรัฐนิวเม็กซิโก ถามว่า เมื่อคนเข้าอินเทอร์เน็ต Facebook มีการเก็บข้อมูลหรือไม่ และมีการเก็บข้อมูลคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนใช้งาน Facebook แบบโปรไฟล์เงา หรือ Shadow Profile (การที่ใช้คำว่า Shadow Profile เพราะไม่รู้ว่า Facebook เก็บข้อมูลอะไรบ้าง) หรือไม่ ซึ่งคำถามนี้ทำให้แม้ซักเคอร์เบิร์กจะบอกว่าไม่รู้จักกับคำว่า Shadow Profile แต่ยอมรับว่า Facebook ไปไกลจนถึงขั้นเก็บข้อมูลบุคคลอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนบัญชี Facebook โดยมีเหตุผลเพื่อความปลอดภัย

ซักเคอร์เบิร์กกล่าวว่าจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมภายหลังว่า Facebook ได้เก็บข้อมูลคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนใช้งานด้านใดบ้าง และจะให้ข้อมูลว่า Facebook มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้ Facebook จากอุปกรณ์ใช้งานอย่างไร แม้จะล็อกเอาต์ออกจากระบบ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แฟรงก์ พัลโลน ตัวแทนพรรคเดโมแครตจากรัฐนิวเจอร์ซีย์ ถามว่า ให้คำมั่นได้หรือไม่ว่า Facebook จะปรับเปลี่ยนการตั้งค่าเริ่มต้นผู้ใช้ทุกบัญชีเพื่อจำกัดโอกาสที่จะมีการเก็บข้อมูลผู้ใช้และนำข้อมูลผู้ใช้ไปให้มากที่สุด ซักเคอร์เบิร์กกลับกล่าวเพียงแต่ว่า จะให้ข้อมูลภายหลังการชี้แจงเสร็จสิ้น และประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ซับซ้อนเกินกว่าที่จะตอบด้วยคำคำเดียว

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เดบบี ดิงเกล ตัวแทนพรรคเดโมแครตจากรัฐมิชิแกน ตั้งคำถามว่า มีปุ่มกดไลค์หรือแชร์มากน้อยแค่ไหน เพราะแม้ไม่มีบัญชี Facebook แต่ Facebook มีเครื่องมือที่สามารถเก็บข้อมูลของผู้คนได้หมด และดูเหมือนกับว่ามีปุ่มเยอะแยะไปหมดที่จะทำให้ผู้ใช้กดไลค์หรือแชร์ได้ทันที

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแอนนา เอชู ตัวแทนพรรคเดโมแครตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ถามว่า ข้อมูลส่วนตัวของซักเคอร์เบิร์กรวมอยู่ในกลุ่มข้อมูลผู้ใช้งานที่ถูกขายไปยังบุคคลที่ 3 ที่เป็นอันตรายหรือไม่ ซึ่งซักเคอร์เบิร์กก็ยอมรับว่าใช่ และแอนนา เอชู ยังได้ถามต่ออีกว่า พร้อมที่จะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ เพื่อให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้หรือไม่ ซักเคอร์เบิร์กกลับกล่าวว่า ไม่มั่นใจว่าคำถามนั้นหมายถึงอะไร

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เคที แคสเตอร์ ตัวแทนพรรคเดโมแครตจากรัฐฟลอริดา ตั้งคำถามกดดันว่า Facebook มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้หรือไม่หลังจากผู้ใช้ล็อกเอาต์ออกจากระบบไปแล้ว และเก็บข้อมูลของผู้ใช้นอกแพลตฟอร์ม Facebook เมื่อใดก็ตามที่มีคนใดคนหนึ่งเปิดหน้าเว็บไซต์ที่แสดงผลยอดไลค์และยอดแชร์ของ Facebook ข้อมูลเหล่านี้ถูกเก็บโดย Facebook ใช่หรือไม่ นอกจากนี้ Facebook ยังเก็บข้อมูลของทุกคนเมื่ออยู่บนออนไลน์ใช่หรือไม่ คำถามนี้ซักเคอร์เบิร์กถึงกับตอบไม่ถูก แต่ยอมรับว่ามีการเก็บข้อมูลหากผู้ใช้แชร์

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บ๊อบ แลตต้า ตัวแทนพรรครีพับลิกันจากรัฐโอไฮโอ ถามว่า แอปพลิเคชันที่ Facebook ตรวจสอบมีจำนวนเท่าไร ซักเคอร์เบิร์กตอบว่า แอปพลิเคชันที่เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้มีจำนวนมากหลายหมื่นแอพปก่อนที่ Facebook จะปรับแพลตฟอร์มใหม่ในปี 2014

การบ้านข้อมูลของซักเคอร์เบิร์ก

โดยเหตุที่ซักเคอร์เบิร์กยังไม่สามารถตอบคำถามการซักฟอกได้ทุกคำถาม ที่มีทั้งหมดราว 600 คำถามในเวลาทั้งสิ้นกว่า 10 ชั่วโมง มีหลายคำถามที่ซักเคอร์เบิร์กไม่ได้ตอบว่า เยส หรือ โน แต่บอกว่าจะให้ทีมงานไปหาข้อมูลและนำส่งหลังจากนี้ รายงาน A Comprehensive list of Everything Mark Zuckerberg will follow up ได้รวบรวมประเด็น สิ่งที่ซักเคอร์เบิร์กจะต้องเตรียมและนำผลมาให้คณะกรรมาธิการตามที่ได้กล่าวไว้ดังนี้

  • เปิดเผยแอปพลิเคชันทั้งหมดที่แบนไป จากการที่นำข้อมูลผู้ใช้งานไปให้กับบุคคลที่สามอีกทอดหนึ่ง
  • Facebook เคยใช้ผู้ตรวจสอบกี่ครั้ง เพื่อดูว่าข้อมูลที่แอปพลิเคชันที่แอบเก็บข้อมูลผู้ใช้งานได้ลบข้อมูลแล้วจริงๆ
  • Facebook ได้ลบบัญชีปลอมไปเท่าไร
  • มีพนักงาน Facebook ทำงานร่วมกับเคมบริดจ์ อะนาลีติกา ในช่วงรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ปี 2559 หรือไม่
  • Facebook Messenger เก็บข้อมูลการโทรศัพท์และข้อความในโทรศัพท์จากการประสานกับบัญชีหรือไม่
  • Facebook ติดตามข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตเบราว์เซอร์ แม้ผู้ใช้จะล็อกออฟจากระบบ Facebook ไปแล้วหรือไม่
  • Facebook เปิดเผยการติดตามผู้ใช้งานที่ล็อกออฟแบบนี้อย่างไรบ้าง
  • ข้อมูลผู้ใช้ที่ล็อกออฟ ที่เก็บนี้ นำไปใช้ด้านความปลอดภัยอย่างเดียวหรือเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจด้วย
  • เสนอแนะแนวทางการกำกับดูแลที่ Facebook ต้องการจากหน่วยงานสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
  • ผู้ใช้ 87 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากกรณี เคมบริดจ์ อะนาลีติกา อยู่ในภูมิภาคใดบ้าง
  • จะสนับสนุนกติกาการให้แจ้งเตือนผู้ใช้ภายใน 72 ชั่วโมงหากมีการฝ่าฝืนเก็บข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่
  • Facebook เก็บข้อมูลผู้ใช้งานไว้มากแค่ไหน (จำนวน Data Points)
  • ค่าเฉลี่ยจำนวน Data Points ที่ Facebook เก็บไว้ต่อหนึ่งบัญชีผู้ใช้งาน
  • Facebook เก็บข้อมูลผู้ใช้ไว้นานแค่ไหนหลังจากที่ผู้ใช้ปิดบัญชี
  • หลักการที่ Facebook ใช้ในการพัฒนา AI
  • Facebook มั่นใจได้อย่างไรว่าเงื่อนไขควบคุมโฆษณาทางการเมืองจะสามารถกันการแทรกแซงจากต่างประเทศได้
  • การทำงานของ Facebook เมื่อมีการลบข้อมูลส่วนตัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลบบัญชี
  • ทำไม Facebook ไม่เลือกตั้งค่าเริ่มต้นเป็นไม่แชร์ข้อมูลใดๆ จากนั้นให้ผู้ใช้ค่อยๆ เลือกเปิดข้อมูลเพิ่มเอง
  • มีปุ่ม Like, Share, Pixel Code อยู่ตามเว็บไซต์ทั่วไปที่ไม่ใช่ของ Facebook เท่าไร
  • ทีมงาน Facebook สามารถตอบคำถามแก่คณะกรรมการธิการได้ภายใน 72 ชั่วโมงหรือไม่
  • อเล็กซานแดร์ โคแกน ขายข้อมูล 87 ล้านบัญชีให้กี่บริษัท มีใครบ้างอีก
  • อเล็กซานแดร์ โคแกน ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ได้ขายข้อมูลผู้ใช้ Facebook ร่วมล้านบัญชีให้กับเคมบริดจ์ อะนาลีติกา บริษัทที่ปรึกษาทางการเมืองให้กับประธานาธิบดีทรัมป์นั้น ยังมีบัญชีส่วนตัวกับ Facebook หรือไม่

    ไล่เรียงเหตุการณ์

    ก่อนหน้านี้วันที่ 21 มีนาคม 2561 ซักเคอร์เบิร์กได้ชี้แจงปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้ผ่านแถลงการณ์ที่โพสต์บน Facebook ส่วนตัว ซึ่งการโพสต์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ซักเคอร์เบิร์กมีแถลงการณ์ออกมาชัดเจนหลังจากที่เกิดเหตุอื้อฉาวนี้ ว่า ความรับผิดชอบของ Facebook คือการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ทุกคน และหากทำไม่ได้ ก็ไม่ควรที่จะอยู่ให้บริการต่อไป โดยลำดับเหตุการณ์ไว้ดังนี้

    มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ชี้แจงผ่านเฟสบุ๊ค

    ปี 2550 Facebook เปิดแพลตฟอร์ม ด้วยหวังว่ามีหลายแอปพลิเคชันสามารถใช้เพื่อสังคมได้ โดยในปฏิทินของผู้ใช้ควรที่จะมีวันเกิดของเพื่อนโชว์อยู่ แผนที่ที่สามารถระบุที่อยู่และภาพของเพื่อน จึงเปิดให้ผู้ใช้งานล็อกอินเข้าแอปพลิเคชันต่างๆ ได้และแอปพลิเคชันนั้นสามารถเก็บข้อมูลเหล่านั้นได้

    ปี 2556 อเล็กซานแดร์ โคแกน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สร้างแอปพลิเคชันทำนายบุคลิก (Personality quiz app) ขึ้นมา โดยผู้ใช้งานแอปพลิเคชันนี้มีประมาณ 3 แสนคน ซึ่งได้แชร์ข้อมูลรวมทั้งข้อมูลเพื่อน ด้วยการที่แพลตฟอร์มมีลักษณะการงานแบบนี้ จึงทำให้โคแกนสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อนได้หลายสิบล้านคน

    ปี 2557 เพื่อไม่ให้มีการใช้แอปพลิเคชันในทางที่ไม่ถูกต้อง Facebook ได้ปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มเพื่อจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของแอปพลิเคชันต่างๆ ที่สำคัญ แอปพลิเคชันของโคแกนก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของเพื่อนผู้ใช้งานได้ ยกเว้นเพื่อนผู้ใช้งานจะอนุญาต นอกจากนั้นยังกำหนดให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ต้องขออนุญาต Facebook ก่อนในกรณีที่ต้องการขอข้อมูลที่สำคัญจากผู้ใช้ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่ทำให้แอปพลิเคชันแบบเดียวกับที่โคแกนพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ในปัจจุบันนี้

    ปี 2558 Facebook ได้ข้อมูลจากนักข่าวของเดอะการ์เดียนว่า โคแกนได้แชร์ข้อมูลจากแอปพลิเคชันของเขากับเคมบริดจ์ อะนาลีติกา ซึ่งการกระทำนี้ขัดกับนโยบายของ Facebook เรื่องการแชร์ข้อมูลโดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูล Facebook จึงได้แบนแอปพลิเคชันของโคแกน รวมทั้งยังได้เรียกร้องให้โคแกนและเคมบริดจ์ อะนาลีติกา ออกมายืนยันอย่างเป็นทางการว่าได้ลบข้อมูลที่ได้มาอย่างไม่เหมาะสมแล้ว ซึ่งทั้งสองก็ได้ยืนยันว่าลบข้อมูลแล้ว

    เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Facebook ทราบข่าวจากนิวยอร์กไทมส์ เดอะการ์เดียน และแชนแนลโฟร์ ว่า กับเคมบริดจ์ อะนาลีติกา อาจจะไม่ได้ลบข้อมูลที่เคยรับรองว่าลบไปแล้ว Facebook จึงได้แบนการเข้าถึงการบริการจาก Facebook ของเคมบริดจ์ อะนาลีติกา ทุกรูปแบบ ซึ่งเคมบริดจ์ อะนาลีติกา ยืนยันว่าได้ลบข้อมูลไปแล้ว และยินยอมให้มีการตรวจสอบโดยบริษัทที่ Facebook จ้างมา

    ซักเคอร์เบิร์กยังได้กล่าวว่า แม้การรั่วไหลของข้อมูลครั้งนี้เกิดการทำผิดสัญญาระหว่างโคแกนกับเคมบริดจ์ อะนาลีติกา และ Facebook แต่ Facebook เองก็ผิดสัญญากับผู้ใช้งานด้านการแชร์ข้อมูลกับ Facebook เพราะผู้ใช้เองก็คาดหวังว่า Facebook ต้องป้องกันข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่ Facebook ต้องแก้ไข

    ในปี 2557 Facebook ได้ดำเนินมาตรการสำคัญในการป้องกันเข้าถึงข้อมูลในลักษณะนี้มาแล้ว แต่ยังมีหลายสิ่งที่จะทำต่อ ดังนั้น Facebook จะดำเนินการดังต่อไปนี้

    หนึ่ง จะตรวจสอบแอปพลิเคชันทั้งหมดที่เคยเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากก่อนที่จะเปลี่ยนนโยบายในปี 2557 และจะตรวจสอบแอปพลิเคชันที่น่าสงสัย แบนผู้พัฒนาแอปพลิเคชันบนแพลตฟอร์ม Facebook ที่ไม่ยอมรับการตรวจสอบ รวมถึงแบนคนที่นำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด และจะแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบ ซึ่งรวมถึงเจ้าของข้อมูลที่รั่วไหลที่โคแกนนำไปใช้แบบผิดๆ ด้วย

    สอง จำกัดการเข้าถึงข้อมูลของผู้พัฒนาแอปพลิเคชันให้มากขึ้น เช่น ยกเลิกการเข้าถึงของแอปพลิเคชันหาผู้ใช้ไม่ได้ใช้แอปพลิเคชันเกิน 3 เดือน รวมทั้งลดปริมาณข้อมูลที่ผู้ใช้งานต้องใส่เมื่อเข้าใช้แอปพลิเคชัน โดยให้ข้อมูลแค่ชื่อ รูป และอีเมล ตลอดจนกำหนดให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันต้องได้รับอนุญาตและเซ็นสัญญาหากต้องการเข้าถึงโพสต์หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ

    สาม เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใจว่าแอปพลิเคชันไหนบ้างที่จะเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ได้ Facebook จะมีเครื่องมือใหม่แสดงถึงแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้ใช้งาน และสามารถยกเลิกการเข้าถึงข้อมูลของแอปพลิเคชันนั้นได้ ปัจจุบันเครื่องมือนี้มีอยู่แล้วในแถบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว แต่จะยกมาไว้ด้านบนของนิวส์ฟีดเพื่อให้เห็นได้ง่ายขึ้น

    นอกเหนือจากมาตรการที่ได้ดำเนินการไปนี้ ซักเคอร์เบิร์กกล่าวว่า ยังต้องมีการดำเนินการอีกมาก เพื่อให้การใช้งาน Facebook มีความปลอดภัย

    ซักเคอร์เบิร์กยังระบุว่า เขาเป็นคนก่อตั้ง Facebook และเป็นความรับชอบของเขาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เขามีความตั้งใจจริงในที่จะปกป้องสังคมออนไลน์ กรณีที่เกิดขึ้นกับเคมบริดจ์ อะนาลีติกา นั้นไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ แต่เขาและทีมงานจะใช้บทเรียนนี้ทำให้แพลตฟอร์มและสังคมออนไลน์ปลอดภัยขึ้นในการใช้งานของทุกคน

    ซักเคอร์เบิร์กได้ขอบคุณทุกคนที่ยังเชื่อมั่นใน Facebook และแม้ว่าการแก้ไขในหลายประเด็นจะเวลานานกว่าที่หวัง แต่ให้คำมั่นว่าจะทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บริการที่ดีกว่าในระยะยาว

    จำกัดข้อมูลให้แอป

    ในวันที่ 4 เมษายน วันเดียว เว็บไซต์ Facebook ได้อัปเดตข่าวสารเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันข้อมูลผู้ใช้ถึง 3 ชิ้นซึ่งรวมถึงข้อมูลที่ซักเคอร์เบิร์กได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนในการแถลงข่าวด้วย โดยใน 2 ชิ้นแรกเป็นแถลงการณ์การให้ข้อมูลเพิ่มถึงแผนงานที่เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้มากขึ้น เพื่อไม่ให้บุคคลที่ 3 นำไปหาประโยชน์ ซึ่งในแถลงการณ์ An Update on Our Plans to Restrict Data Access on Facebook ยอมรับว่ามีข้อมูลผู้ใช้ 87 ล้านบัญชี ถูกเคมบริดจ์ อะนาลีติกา เก็บรวบรวมไป ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา

    ข้อมูลผู้ใช้ 87 ล้านบัญชี ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ทีมาภาพ:
    https://newsroom.fb.com/news/2018/04/restricting-data-access/

    แถลงการณ์ได้ให้ข้อมูลว่า Facebook ได้ปรับเปลี่ยนการให้เข้าถึงข้อมูลของแอปพลิเคชันต่างๆ โดยมีสาระสำคัญคือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน การล็อกอินเข้า Facebook จะจำกัดข้อมูลที่แอปพลิเคชันสามารถขอจากผู้ใช้งาน เช่น การเช็คอิน รูปโปรไฟล์ การกดไลค์ การโพสต์ วิดีโอ และกลุ่ม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2014 แต่ได้ทำให้รัดกุมมากขึ้น ส่วนการเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ เช่น ศาสนา มุมมองการเมือง การศึกษา ข้อมูลการทำงาน ต้องได้รับอนุญาตจาก Facebook ก่อน รวมทั้งจะยกเลิกไม่ให้แอปพลิเคชันขอข้อมูลที่ผู้ใช้แชร์ หากไม่ได้ใช้งานแอปพลิเคชันนั้นเกิน 3 เดือน

    สำหรับการค้นหาและการกู้คืนบัญชี ต่อไปนี้การค้นหาเพื่อนไม่สามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมลได้อีกต่อไปเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่ 3 สามารถเก็บข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้

    ข้อมูลการโทรและข้อความย้อนหลัง ที่ผู้ใช้ได้ใช้ผ่าน แอปพลิเคชัน Messenger ที่ผู้ใช้สามารถเลือกได้ตั้งแต่การตั้งค่านั้น Facebook จะลบข้อมูลที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป เพื่อแสดงให้เห็นว่า Facebook ไม่ได้เก็บข้อมูลด้านนี้ไว้ ในอนาคตข้อมูลที่จะเก็บไว้เซิร์ฟเวอร์ของ Facebook จะเป็นข้อมูลที่จำเป็นเพื่อการให้บริการฟีเจอร์นี้เท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูลทั่วไป

    ด้านผู้ให้บริการข้อมูลและพันธมิตร Facebook จะปิดในส่วนของพันธมิตรลง จากเดิมที่บุคคลที่ 3 สามารถนำเสนอต่อผู้ใช้ได้โดยตรง

    การควบคุมแอปพลิเคชัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2561 หน้า Facebook จะแสดงลิงก์ไว้ด้านบนของนิวส์ฟีด เพื่อให้ผู้ใช้เห็นว่ากำลังใช้แอปพลิเคชันอะไรอยู่บ้าง รวมทั้งข้อมูลที่ผู้ใช้แชร์ให้กับแอปพลิเคชันนั้น ผู้ใช้สามารถยกเลิกการใช้แอปพลิเคชันที่ไม่ต้องการด้วยตัวเอง

    และในวันที่ 9 เมษายน 2561 Facebook ได้แจ้งผู้ใช้ ว่ามีผู้ใช้รายใดที่เคมบริดจ์ อะนาลีติกา นำข้อมูลไปใช้บ้าง โดยผู้ที่ถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้จะได้รับแจ้งตรงด้านบนสุดของหน้านิวส์ฟีด ซึ่งประกาศแจ้งจะระบุด้วยว่า ข้อมูลของผู้ใช้งานถูกเก็บไปโดยแอปพลิเคชันไหน และแอปพลิเคชันนั้นได้ข้อมูลอะไรไปบ้าง ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถลบแอปพลิเคชันนั้นได้หากไม่ต้องการ นอกจากนี้ จะแจ้งผู้ใช้งานด้วยกรณีที่ข้อมูลถูกส่งต่ออย่างผิดเงื่อนไขไปยังเคมบริดจ์ อะนาลีติกา

    นอกจากนี้ ได้ขยายการทำงานของ data bounty program ให้รางวัลกับผู้ที่ค้นพบข้อบกพร่อง บุคคลทั่วไปสามารถรายงานมายัง Facebook หากพบการนำข้อมูลไปใช้งานในทางที่ผิดโดยนักพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ

    การแจ้งเตือนแก่ผู้ใช้จากเฟศบุ๊ค ที่มาภาพ:https://newsroom.fb.com/news/2018/04/restricting-data-access/

    เข้มซื้อโฆษณาทางการเมือง

    วันที่ 6 เมษายน 2561 ซักเคอร์เบิร์กได้ประกาศผ่าน Facebook ของตัวเอง ด้วยเหตุที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล อินเดีย ปากีสถาน และอีกหลายประเทศ ในปีหน้า ดังนั้น ประเด็นที่ Facebook จะให้ความสำคัญในปีนี้ก็คือ การป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงการเลือกตั้ง

    ทั้งนี้ หลังจาก Facebook ตรวจพบกรณีการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2559 บริษัทได้พัฒนาเครื่องมือใหม่ในการเปิดโปงบัญชีผู้ใช้งานปลอม ซึ่งนำไปสู่การทลายเครือข่ายบัญชีปลอมของรัสเซียในต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดังนั้น Facebook จึงมีแนวทางการทำงานด้านนี้ดังนี้

    หนึ่ง นับจากนี้เป็นต้นไป ผู้ซื้อโฆษณาที่ต้องการโฆษณาการเมืองจะต้องมีการตรวจสอบ โดยเริ่มจากการพิสูจน์ตัวตนและที่อยู่ของผู้ที่ต้องการซื้อโฆษณาบนเพจ ผู้ที่ต้องการซื้อโฆษณาที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจะถูกห้ามไม่ให้ซื้อโฆษณา รวมทั้งจะเปิดเผยข้อมูลผู้ซื้อ และผู้ซื้อจะต้องให้ข้อมูลผู้จ่ายเงินกับเพจด้วย มาตรการนี้จะจะมีผลในสหรัฐฯ เป็นประเทศแรก ก่อนขยายให้ครอบคลุมทั่วโลกภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

    สอง Facebook ยังกำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ดูแล “เพจขนาดใหญ่” ต้องผ่านการพิสูจน์ตัวตนด้วย เพื่อป้องกันการสวมรอยและการใช้บัญชีปลอม รวมไปถึงการสร้างกระแสไวรัล หรือการกระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และข้อมูลที่ทำให้เกิดการแตกแยก โดยตั้งเป้าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561

    เรียบเรียงจาก
    CNN Money,Washington Post,Tampa Bay Times,Vox,Telegraph,NBCNews,abcNews,BBC,Mark Zuckerberg Facebook