ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.ไฟเขียวกฎกระทรวง ปลดล็อกผลิตเหล้า-เบียร์

ครม.ไฟเขียวกฎกระทรวง ปลดล็อกผลิตเหล้า-เบียร์

1 พฤศจิกายน 2022


ครม.ผ่านร่างกฎกระทรวง ปลดล็อกขอใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตเบียร์ โดยยกเลิกข้อจำกัดทุนจดทะเบียน-กำลังการผลิตขั้นต่ำ พร้อมยกระดับ “สุราชุมชน” ขึ้นเป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตครบทุกขนาด ตั้งแต่เล็ก-กลาง-ใหญ่ รวมทั้งสนับสนุนภาคครัวเรือนต้มเหล้ากินเองไม่เกิน 200 ลิตร/ปี ห้ามซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. …. เป็นการปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิตสุรา รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอน และวิธีการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุราให้สอดคล้องกับบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุรา ในปัจจุบันให้มากขึ้น โดยร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่มีสาระสำคัญดังนี้

1) ปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิต “กรณีสุราแช่” เช่น น้ำตาลเมา อุ เบียร์ ไวน์ สปาร์กลิ้งไวน์ และสุราแช่พื้นเมือง โดยยกเลิกการกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท แต่ผู้ขออนุญาตผลิตสุราแช่ ชนิดเบียร์ ยังต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51

ส่วน “กรณีสุรากลั่น” เช่น สุราขาว ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนโรงงานอุตสาหกรรมสุรากลั่นขนาดกลางขึ้นมาใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า หรือ ใช้คนงานน้อยกว่า 50 คน จากเดิมกำหนดขนาดของโรงงานอุตสาหกรรมประเภทนี้เอาไว้เฉพาะโรงงานขนาดเล็ก (Size S) กล่าวคือมีเครื่องจักรไว้ไม่เกิน 5 แรงม้า หรือ ใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยจะทำให้กำลังการผลิตและคุณภาพดีขึ้น

2) ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำของโรงอุตสาหกรรมสุราแช่ ชนิดเบียร์ จากเดิมที่กำหนดกำลังผลิตต้องไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตร/ปี และไม่เกิน 1 ล้านลิตร/ปี แก้ไขเป็น โดยให้เป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือ ใช้เครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตสุราแช่ ชนิดเบียร์ที่มีมาตรฐาน ตามที่อธิบดีกรมลรรพสามิตประกาศ แต่ยังให้คงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกำลังการผลิตขั้นต่ำไว้ตามเดิม กล่าวคือ ในส่วนของโรงอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่น ชนิดสุราพิเศษ เช่น วิสกี้ บรั่นดี และยิน ต้องมีขนาดกำลังการผลิตคิดเทียบเป็นน้ำสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ 28 ดีกรี เอาไว้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตร/วัน และโรงอุตสาหกรรมผลิตสุรากลั่นชนิดอื่น ๆ เช่น สุรากลั่นชนิดสุราขาว และองค์การสุรา ต้องมีขนาดกำลังการผลิตคิดเทียบเป็นน้ำสุราที่มีแรงแอลกอฮอล์ 28 ดีกรี ไม่ต่ำกว่า 90,000 ลิตร/วัน รวมทั้งให้เพิ่มเติมให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

ทั้งนี้ ยังเพิ่มเติมขั้นตอนและวิธีการในการขออนุญาต โดยให้สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้

นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการผ่อนคลายความเข้มข้นของ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งได้มีการหารือหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุราให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ในเชิงธุรกิจ และธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตสุราไนปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจมากขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งหลักการสำคัญในเชิงประโยชน์ของรัฐ ในการบริหารการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าสุราอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสินค้าสุราที่ผลิตได้คุณภาพมีมาตรฐานและความปลอดภัยต่อการบริโภค ครอบคลุมการดูแลทั้ง 3 ด้าน คือ การดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชน การดูแลสังคม ป้องกันอุบัติเหตุที่มาจากการดื่มสุรา รวมไปถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตสุราด้วย

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสามิต และที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต กล่าวภายหลัง ที่ประชุม ครม.ผ่านร่างกฎกระทรวงปลดล็อกการใบอนุญาตผลิตสุราแช่ และสุรากลั่นว่า เดิมทีผู้ผลิตเบียร์ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และมีกำลังการผลิตตั้งแต่ 100,000 – 1,000,000 ลิตรต่อปี แต่ได้มีการยกเลิกหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถผลิตเบียร์เพื่อ ‘บริโภคภายในครัวเรือน’ เท่านั้น

“วันนี้ คราฟเบียร์ทำได้แล้ว ทำได้เลย โดยไม่ต้องมีทุนจดทะเบียน และไม่ต้องมีเกณฑ์ขั้นต่ำในการผลิต อย่างไรก็ตาม ต้องมีเรื่องการตรวจสอบคุณภาพ และสิ่งแวดล้อม เพราะเราอยากให้มีการผลิตที่มีคุณภาพและยั่งยืน ปัจจุบันมีการนำเข้าคราฟเบียร์จากประเทศเพื่อนบ้าน หมายความว่าคราฟเบียร์ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านที่คนไทยนำไปผลิตแล้วนำเข้ามา เทียบกับเบียร์ที่เราผลิตน้อยไม่ถึง 1%” นายณัฐกร กล่าว

นายณัฐกร อธิบายว่า การแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อให้ประชาชนมีกระบวนการผลิต โดยต้องขออนุญาตกับกรมสรรพสามิต ถ้าไม่ขออนุญาตจะมีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ นายณัฐกร ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตสุราขาวประมาณ 2,600 ราย สุราแช่ประมาณ 2,000 ราย โดยที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากเดิมมีประมาณ 4,000 ราย ตั้งแต่เปิดในปี 2546-2547 เหตุผลเพราะในช่วงปี 2546-2547 มีการเปิดสุราเสรี กรณีสุรากลั่นชุมชนม ทำให้คนเข้ามาผลิตจำนวนมาก แต่ไม่ได้มีคุณภาพและนำภูมิปัญญามาใช้ ทำให้บางที่ผลิตแล้วขายไม่ได้ก็ต้องปิดตัวไป

ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการผลิตเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น และการแจกให้เพื่อนบ้าน โดย นายณัฐกร ชี้แจงว่า “เราบอกว่าทำภายในครัวเรือน แต่ต้องไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี ห้ามขาย ไม่ใช่การค้า ให้บริโภคภายในบ้าน ไม่สามารถนำออกนอกบ้านได้ และไม่สามารถแจกเพื่อนบ้านได้ ถ้าทำแล้วมีการแจกกัน แลกกัน ก็เป็นการค้าประเภทหนึ่ง

“มีแต่ทำเพื่อการค้า กับไม่ใช่การค้า ทำเพื่อแจกไม่มี คำว่าในครัวเรือนคือบริเวณบ้าน จะมีคนมาทานด้วย ผมว่าไม่ขัด เพราะยังอยู่ในครัวเรือนอยู่ ถ้าในครัวเรือนก็ทำเองบริโภคเอง อาจจะต้องมีระบบติดตามว่า วันนี้ผลิตกี่ลิตร” นายณัฐกร กล่าว

นายณัฐกร กล่วต่อว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้เรื่องกฎหมายฉบับนี้ว่า มีอะไรที่ทำได้และทำไม่ได้ วันนี้เราให้ชุมชนผลิตสุรากลั่นที่เป็นสุราขาวได้ คิดเป็นสัดส่วน 10% ของปริมาณการผลิตสุราขาวที่เสียภาษีทั้งหมด