ThaiPublica > Sustainability > Headline > “ปิดทองหลังพระฯ” ถอดบทเรียน ‘น่าน’ จากโจทย์เดิมสู่โจทย์ใหม่ เดินแผนฯ 4 เชื่อมชุมชนต่อยอดความรู้ใหม่ๆ

“ปิดทองหลังพระฯ” ถอดบทเรียน ‘น่าน’ จากโจทย์เดิมสู่โจทย์ใหม่ เดินแผนฯ 4 เชื่อมชุมชนต่อยอดความรู้ใหม่ๆ

8 พฤศจิกายน 2022


ปิดทองหลังพระฯ ร่วม 4 หน่วยงานในจังหวัดน่านต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบจากพัฒนาฐานรากสู่การต่อยอดสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชุมชน สรุปบทเรียน 13 ปี ปรับแผนทำงาน เดินหน้าสู่แผนฯ 4 เป็นตัวกลางสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ขายผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมขานรับมติ ครม. ซ่อมแหล่งน้ำขนาดเล็ก 3,000 แห่งทั่วประเทศ

ปัญหาขาดแคลนน้ำ การทำลายป่าไม้และดิน คือโจทย์เดิมเมื่อ 13 ปีที่ผ่านมา ที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เริ่มเข้ามาพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน จนสามารถพัฒนาหมู่ต้นแบบได้กว่า 20 หมู่บ้าน ใน 3 อำเภอ ที่มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อต้องเผชิญกับโจทย์ใหม่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกการต่อยอดเพื่อยกระดับหมู่บ้านต้นแบบไปสู่ความร่วมมือเพื่อสร้างความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น สถาบันปิดทองหลังพระฯ และผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ร่วมกันลงนามในบันทึกความร่วมมือในการสืบสาน ต่อยอด พื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ พร้อมกับ 4 หน่วยงานในจังหวัดน่าน

สาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือดังกล่าว คือ ทุกภาคีการพัฒนาทั้งหมดตกลงที่จะเชื่อมโยงแผนชุมชนที่มีการจัดทำขึ้นก่อนหน้านี้เข้าสู่ระบบราชการปกติ โดยงบประมาณจากทั้งราชการส่วนท้องที่และท้องถิ่น เพื่อต่อยอดการพัฒนาต่อไป โดยสถาบันปิดทองหลังพระฯ จะยังคงให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และให้คำปรึกษาต่อไป

นายวีรเทพ พิรโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันปิดทองหลังพระฯ บอกว่า พื้นที่น่านมีความสำคัญกับสถาบันปิดทองหลังพระฯ เป็นอย่างมาก เพราะเป็นพื้นที่ต้นแบบพื้นที่แรก ซึ่งหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันฯ คนแรกตัดสินใจเลือกที่จะเข้ามาทำงานที่นี่ ด้วยเหตุผลที่ว่า จังหวัดน่านมีความสำคัญต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม เนื่องจากแม่น้ำน่านเป็นต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา (ร้อยละ 40) ซึ่งเป็นอู่ข่าวอู่น้ำหล่อเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศ

หลังจากที่สถาบันฯ ได้พัฒนาหมู่บ้านต้นแบบในพื้นที่จังหวัดน่านมานานกว่า 13 ปี ตั้งแต่เมื่อปี 2552 ครอบคลุมการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร เช่น การขุดบ่อพวงสันเขา การสร้างฝายอนุรักษ์และฝายเพื่อการเกษตร การต่อท่อส่งน้ำเข้าแปลง การปรับปรุงดินให้เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก การเกษตรแบบผสมผสาน ส่งเสริมการปลูกพืชมูลค่าสูง การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวมทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ส่งผลให้หมู่บ้านต้นแบบมีความเข้มแข็ง

  • ตามไปดู “ภูโกร๋น” ที่น่าน กับโครงการปิดทองหลังพระ
  • ตามไปดู “ภูโกร๋น” ที่น่าน กับโครงการปิดทองหลังพระ (จบ)
  • สำหรับการวัดผลของการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในพื้นที่จังหวัดน่าน หลังจากสถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้เก็บข้อมูลและประเมินผลการพัฒนาทุกปี พบว่า มีพื้นที่รับประโยชน์จากน้ำเพิ่มขึ้น 120,214 ไร่ ทั้งจากโครงการในพื้นที่ต้นแบบ โครงการตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงภาคเกษตรและชนบท โครงการประชาอาสา และโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานราก เป็นต้น

    การบูรณาการทำงานในพื้นที่ยังสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ 209,970 ไร่ ชาวน่านได้รับประโยชน์ 35,735 ครัวเรือน รายได้ภาคการเกษตรของพี่น้องในพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยครัวเรือนละ 41,359 บาทต่อปี เป็น 92,645 บาท หรือประมาณ 2.2 เท่า

    นอกจากนี้ มูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดน่าน ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา จากจังหวัดที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนในอันดับต้นๆ ของประเทศ วันนี้น่านกลายเป็นจังหวัดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ด้วยรายได้จากภาคการเกษตร การค้าชายแดน และการท่องเที่ยวกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี

    “หมู่บ้านต้นแบบมีความเข้มแข็ง มีอาชีพมีรายได้ หลายหมู่บ้านมีแผนพัฒนาหมู่บ้านของตัวเอง และหลายพื้นที่ชาวบ้านสามารถร่วมกลุ่มเป็นวิสาหกิจเพื่อสร้างสินค้าตัวเอง จึงเห็นว่าการทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการสามารถความยั่งยืนได้”

    นายวีรเทพ พิรโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันปิดทองหลังพระฯ

    นายวีรเทพบอกด้วยว่า ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ถึงการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน โดยผู้ว่าฯได้สั่งการให้หน่วยงานราชการเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน เช่น พาณิชย์จังหวัดเข้ามาดูเรื่องของผลิตภัณฑ์ และตลาด ขณะที่เกษตรจังหวัดมาช่วยดูเรื่องมาตรฐาน โรงงานคัดบรรจุที่ได้มาตรฐาน

    นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการประสานงานกับภาคเอกชนกลุ่มโมเดิร์นเทรด เช่น ห้างแมคโครฯ โลตัส บิ๊กซี เพื่อรับซื้อผลิตภัณฑ์ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการผลิตที่ได้มาตรฐานและปริมาณ และคุณภาพเพียงพอ

    “สิ่งที่โมเดิร์นเทรดต้องการคือ มาตรฐานทั้งการผลิต การแปรูป การปลูกที่ต้องมีมาตรฐาน GAP และผลิตได้ในปริมาณเพียงพอ เนื่องจากเกษตรกรในหมู่บ้านต้นแบบยังไม่ใช่เกษตรกรกลุ่มใหญ่ ซึ่งในเรื่องนี้กำลังสนับสนุนในเรื่องการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างแบรนด์การค้าขายของตัวเองด้วย”

    ขณะที่การตลาดกำลังมองไปถึงการขายผ่านออนไลน์ โดยการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์การขาย ซึ่งมีสถาบันปิดทองฯ เป็นตัวกลางในการเชื่อมระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อ โดยขณะนี้เริ่มทดลองขายผ่านแอปพลิเคชัน MyShop โดยในอนาคตจะพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์แบบเดียวกับลาซาด้า เพื่อให้เกษตรกรมนำสินค้ามาขาย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค่าของเกษตรกร


    ผู้ว่าฯ ขยายโมเดลปิดทองต้นแบบพัฒนาหมู่บ้าน

    นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันโดยยังมีพื้นที่อื่นๆ อีกมากที่ยังกันดาร เป็นป่าเขา และต้องการพัฒนาซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการทำงานที่ลงรายละเอียดแบบปิดทองหลังพระ ที่ครอบคลุมทุกด้าน จึงให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมเรียนรู้กระบวนการทำงาน ต่อยอด ขยายผล เพื่อขับเคลื่อนการทำงานพัฒนาแบบองค์รวมต่อไป

    สำหรับส่วนราชการที่เข้าร่วมลงนามรับช่วงต่องานพัฒนา ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน, สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดน่าน, สำนักงานพาณิชย์จังหวัดน่าน, องค์การบริหารส่วนตำบลศรีภูมิ, องค์การบริหารส่วนตำบลตาลชุม, องค์การบริหารส่วนตำบลขุนน่าน, เทศบาลตำบลยอด, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน, องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกันลงนามในบันทึกความร่วมมือในการสืบสาน ต่อยอด พื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ จังหวัดน่าน ณ ลานวัฒนธรรมข่วงน้อย อำเภอเมืองน่าน

    นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน

    เดินหน้าแผนฯ 4 ตอบโจทย์โลกยุคใหม่

    สำหรับบทบาทของสถาบันปิดทองฯ หลังส่งต่อหมู่บ้านต้นแบบร่วมต่อยอดกับหน่วยงานราชการ ศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษา สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ บอกว่า โจทย์เดิมเมื่อ 13 ปีก่อนที่สถาบันปิดทองฯเข้ามาจังหวัดน่านเพราะน่านเป็นป่าต้นน้ำ ขณะที่ชาวบ้านเองไม่มีทางเลือกเมื่อไปดูพื้นฐานก็พบว่ามีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ จึงเริ่มพัฒนาแหล่งน้ำ จนปัจจุบันชาวบ้านมีความเข้มแข็ง มีทางเลือกในการทำเกษตรกรรม ปลูกพืชได้หลากหลายชนิดการพัฒนาแหล่งน้ ำและการสร้างอาชีพจึงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป

    “การจัดการน้ำ คือ คำตอบที่เราคิดว่ามันใช่ในเวลานั้น แต่ปัจจุบันมันเริ่มจะไม่ใช่ แต่เมื่อก่อนไม่มีน้ำก็จะไม่รอดต้องย้ายถิ่นฐาน แต่เวลานี้มีน้ำอย่างเดียวไม่พอ น้ำไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของชาวบ้านที่นี้อีกต่อไปเพราะเรามาพัฒนาแหล่งน้ำ ฝาย จนเต็มพื้นที่แล้ว”

    ศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษา สถาบันปิดทองหลังพระฯ

    เมื่อโจทย์เปลี่ยนแปลง ขณะที่โลกเปลี่ยนเร็ว สิ่งที่ชาวบ้านต้องการจึงเป็นเรื่องของข้อมูล ความรู้ การแปรรูปวัตถุดิบ และการใช้เทคโนโลยี โชเซียลมีเดียมาใช้ในการขายผลิตภัณฑ์ อาจารย์ชาติชาย บอกว่า เมื่อก่อนคิดว่าการที่มีดินมีน้ำมีป่าเป็นทุนธรรมชาติที่เพียงพอสำหรับชาวบ้านแล้ว แต่เวลานี้ทุนธรรมชาติอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ชาวบ้านรอดได้เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่การมองโลก ปรับเปลี่ยนวิธีผลิต พร้อมเอาเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งโจทย์ดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการพัฒนาแผนฯ 4 ในการดำเนินงานของสถาบันปิดทองฯ

    “สถาบันปิดทองฯ ตอนคิดแผน 4 ก็ตระหนักเช่นกันว่าโจทย์เปลี่ยนไปจาก 13 ปีก่อนและโจทย์ยากขึ้นทำให้การทำงานในแผนฯ 4 ของเราก็ปรับบทบาทตัวเองมากขึ้นโดย ถึงเวลาเปลี่ยนวิธีคิด คิดหาอะไรใหม่โดยส่วนราชการก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด โดยชวนฝ่ายต่างๆมาร่วมกันทำงาน โดยมีสถาบันปิดทองฯ ค่อยสนับสนุนความรู้และอุดรูรั่วและเข้าไปเสริมในส่วนที่ขาดด้วยประสบการณ์ทำงานกับชาวบ้าน 13 ปีที่ผ่านมา”

    แผนปฏิบัติการระยะที่ 4 ของปิดทองหลังพระฯ จึงปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกและประเทศ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

    1. ปรับเปลี่ยนจุดเน้นการปฏิบัติงานจากการส่งเสริมการพัฒนา มาเป็นการขยายผล โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนทั้งในและนอกพื้นที่ 9 จังหวัดต้นแบบและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนนำไปประยุกต์ ใช้อย่างกว้างขวาง

    2. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จากการเป็นหน่วยงานหลักสนับสนุนการปฏิบัติงานของส่วนราชการในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ เป็นการทำงานเชิงรุกแสวงหาความร่วมมือ และสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐทุกระดับและภาคเอกชน นำชุดความรู้และประสบการณ์การพัฒนาของมูลนิธิฯ และสถาบันฯ ไปปรับใช้ในการทำงานและเรียนรู้ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นตามหลักการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เกิดแผนงานโครงการที่ตอบโจทย์ปัญหาความต้องการของชุมชน

    3. ปรับรูปแบบการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการให้พึ่งพาตนเองได้ จากการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชนขยายผลต่อยอดในเชิงธุรกิจ (Doing Business) เพื่อสร้างความยั่งยืนในการรวมกลุ่มและทางการเงินมีความรับผิดชอบต่อสังคม เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

    4. ปรับเปลี่ยนที่มาของงบประมาณจากการได้รับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนจากรัฐบาลทุกปีเพียงแหล่งเดียว เป็นการมุ่งแสวงหารายได้จากการให้บริการทางวิชาการความรู้ การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาแนะนำในบริหารจัดการการพัฒนา และนำประสบการณ์ความรู้มาบูรณาการแผนงานร่วมกับหน่วยงานอื่น รวมทั้งภาคธุรกิจ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ในรูปแบบของ Matching fund ยกตัวอย่าง เช่น ความร่วมมือกับ สนทช. และตลาดหลักทรัพย์ ในการพัฒนาลุ่มน้ำมูล เป็นต้น

    สำหรับแนวทางการพัฒนา คือ

      1. ปิดทองหลังพระฯจะขยายผลการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
      2. การพัฒนาทางเลือกในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศ เช่นพื้นที่ยาเสพติดภาคเหนือ และ3 จังหวัดชายแดนใต้
      3. การพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็กเพื่อการเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมติครม.ได้มีมติให้ปิดทองหลังพระฯเข้าไปดำเนินการซ่อมแซมพัฒนาแหล่งน้ำ 3,000 แห่งในระยะเวลา 5 ปีที่ใช้งานไม่ได้ ให้สามารถใช้งานได้
      4. การสร้างชุมชนผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร BCG ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการเพาะปลูกไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพคน

    แผนปฏิบัติการระยะที่ 4 จะเริ่มดำเนินการในปี 2566-2570 ภายใต้แนวคิดต่อยอดและขยายผลเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาร่วมกัน