ThaiPublica > คนในข่าว > “บัณฑูร ล่ำซำ” ชี้”น่าน”เล่นแพ้ในระบบทุนนิยม – รัฐต้องกล้าแก้โจทย์ที่ต่างจากเดิมๆ

“บัณฑูร ล่ำซำ” ชี้”น่าน”เล่นแพ้ในระบบทุนนิยม – รัฐต้องกล้าแก้โจทย์ที่ต่างจากเดิมๆ

10 มีนาคม 2017


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในงานสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ ๓ และทรงบรรยายเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย” โดยมีนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานราชการ เอกชน และผู้นำชุมชนเข้าร่วมสัมมนา ซึ่งร่วมจัดโดยสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพฯ กองทัพบก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และสนับสนุนโดยธนาคารกสิกรไทย ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาฯ จ.น่าน

“น่าน” ได้รับการกล่าวขานถึงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านบวกเรื่องท่องเที่ยว-วัฒนธรรม และด้านลบที่กลายเป็นภูโกร๋น

หลากสรรพกำลังของภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และโครงการหลวง เช่น โครงการปิดทองหลังพระ ต่างใส่ทรัพยากรมาที่นี่ ที่เมืองน่าน “นันทบุรี ล้านนาตะวันออก” เพื่อหยุดการทำลายป่าต้นน้ำน่าน และฟื้นฟูกันใหม่

เช่นเดียวกับ “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หนึ่งในภาคเอกชนที่ร่วมขับเคลื่อนเพื่อค้นหาว่าจะทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

จากภาพของการกล่าวโทษบริษัทเอกชน ซึ่งกลายเป็นจำเลยของสังคมว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำลายป่า เพื่อให้ได้ “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ด้วยการให้บริการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแบบครบวงจร คนส่วนใหญ่มองว่านี่คือวงจรอุบาทว์ที่ทำให้เกษตรกรติดกับดักวังวนความยากจนและการทำลายป่า

หากถามว่าแล้วถ้าไม่ปลูกข้าวโพด ให้เกษตรกรไปปลูกพืชเกษตรอื่นๆ สามารถทำได้ครบวงจรแบบนี้หรือไม่ แล้วใครจะเป็นคนทำ

โจทย์ปัญหาไม่ได้ง่ายแค่นั้น

กว่า 3 ปีที่บัณฑูรมาเป็นผู้เล่นอีกราย ลงพื้นที่เก็บข้อมูล รวบรวมต้นตอของปัญหา เพื่อหาคำตอบที่ใช่สำหรับโจทย์เมืองน่าน บัณฑูรเห็นว่าชุดข้อมูลที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาต้องเป็นชุดเดียวกันก่อน โดยใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้มาตอบ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายแต่ละปี และ ณ ปัจจุบันเหลืออยู่เท่าไหร่

กว่า 3 ปีที่เทียวไปเทียวมากรุงเทพฯ-น่าน บัณฑูรได้สรุปผลของการวิเคราะห์และสังเคราะห์โจทย์และทางออกของปัญหาป่าต้นน้ำน่าน โดยหวังว่าน่าจะเป็นแนวทางที่อยู่ในวิสัยที่จะทำกันได้และมีผลที่ยั่งยืน ในงานสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ 3 ว่า

“บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

4 ปีที่ต้องทำโจทย์”น่าน”ให้แจ้ง

การสัมมนารักษ์ป่าน่านครั้งแรกในปี 2556 เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนนั้นปัญหาของการสูญเสียป่าของจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทย ที่กลั่นกรองเป็นมวลน้ำ 40% ของแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มมีกระแสตื่นตัวว่าเป็นปัญหาที่หนักหนาพอสมควร ระยะแรกเป็นการทำความเข้าใจขอบเขต ต้นเหตุของการสูญเสียป่าสงวน ตอนนั้นเป็นการยกเอาเรื่องทำโจทย์ให้แจ้ง และเป็นครั้งแรกที่เอาผลของการวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชตของรัฐบาลไทยมาแจงว่าป่าสงวนที่ควรจะเป็นนั้นได้สูญเสียป่าให้กับการปลูกพืชไร่และทำเรื่องอื่นๆ ไปเท่าไหร่แล้ว

ผลคือจังหวัดน่านมีพื้นที่ป่า 85% ของพื้นที่ทั้งหมดของน่าน หรือคิดเป็นพื้นที่ป่า 6.4 ล้านไร่ และส่วนใหญ่เป็นภูเขา เป็นป่าต้นน้ำที่มีนัยยะสำคัญต่อระบบนิเวศน์วิทยาของที่ราบภาคกลางที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านลงไปรวมถึงกรุงเทพมหานคร

“ป่า” ที่เข้าใจทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นป่าต้นน้ำดีๆ อย่างจังหวัดน่าน มีความสามารถที่ยึดผิวดินและน้ำเอาไว้ให้ประเทศได้ใช้ ประชาชนได้ใช้ตลอดปี ดังนั้น การที่เราสูญเสียป่าไปเรื่อยๆ จะมีผลในทางลบมากขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อความเป็นอยู่ของประเทศ

จากตัวเลขที่สะท้อนออกมา พื้นที่ป่าที่สูญเสียไป ตอนนี้หายไปประมาณเกือบจะ 30% ของพื้นที่ป่าสงวน และส่วนใหญ่เป็นความสูญเสียในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อันสืบเนื่องมาจากความเป็นไปของโลกทุนนิยมมีความต้องการเกิดขึ้น เมื่อมีความต้องการเชิงตลาด ก็มีคนสนองความต้องการ ในกรณีของน่านก็คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนใหญ่ กระแสทุนนิยม โดยระบบธุรกิจไล่ลงมาผู้ผลิต คือเกษตรกรชาวน่าน จากจังหวัดที่ไม่มีใครรู้จัก กลายเป็นที่ที่มีความตื่นตัวในการทำมาหากินด้วยการปลูกข้าวโพด

เป็นรูปแบบที่ดึงให้ทุกคนให้อยู่ในวังวนอันนั้นเพราะมีระบบรองรับชัดเจน มีเครดิตให้ มีปุ๋ย มีเมล็ดพันธุ์ ที่สำคัญปลูกเสร็จมีคนรับซื้อไป น่านถึงหนีจากข้าวโพดไม่ได้ เพราะเป็นระบบที่เบ็ดเสร็จ ทำให้คนรู้สึกปลอดภัยในการทำมาหากิน จะแนะนำให้ปลูกอย่างอื่นก็เกิดความกลัวว่าใครจะมารับซื้อ นี่คือวังวนของการปลูกข้าวโพดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำให้รายได้ดีขึ้นกว่าเดิมที่อยู่กับป่า เกษตรกรต้องการตามสมัยนิยม ตามโลกทุนนิยม มีรถกระบะ มอเตอร์ไซค์ มือถือ และอื่นๆ จึงต้องหารายได้มากขึ้น โดยการปลูกข้าวโพดเป็นส่วนใหญ่ ยางพารามีบ้าง

แต่ปัญหาคือ พื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายสำหรับปลูกมีนิดเดียว ประมาณ 15% ของพื้นที่ทั้งหมดของน่าน ส่วนใหญ่เป็นที่ราบริมแม่น้ำต่างๆ ของน่าน เมื่อเกษตรกรบริโภคสิ่งเหล่านั้นไปแล้วก็หยุดไม่ได้ และปากท้องที่ต้องเลี้ยงมีมากขึ้น ฉะนั้น ความกดดันนี้นำไปสู่การหาพื้นที่ในการปลูกข้าวโพด ซึ่งจริงๆ ไม่มี เพราะพื้นที่ที่มีคือป่าสงวนซึ่งผิดกฎหมาย และเป็นกฎหมายออกมาทีหลัง จริงๆ ประชาชนอยู่ในป่าน่านมาก่อนแล้ว

เมื่อ 40-50 ปีก่อนมีการประกาศพระราชบัญญัติป่าไม้ กำหนดพื้นที่ป่าสงวนครอบลงมาในพื้นที่ที่ประชาชน ชุมชนที่อยู่มาเป็น 100 ปี แต่นั่นก็ไม่สามารถหยุดยั้งความต้องการของมนุษย์ที่ต้องบริโภคมากขึ้น ทำให้ขยายพื้นที่ไปยังป่าสงวนของชาติ มีการตัดมาเรื่อยๆ เมื่อ 10 ปีก่อนยังไม่เท่าไหร่ เมื่อความต้องการของตลาดโลกซื้อข้าวโพดมากขึ้น อีกทั้งเครื่องมือก็ดีขึ้น การตัดต้นไม้ทำได้ง่ายขึ้น การขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดก็ทำได้ง่ายขึ้น

เพราะฉะนั้น ตัวเลขป่าไม้ฟ้องโดยดาวเทียมไทยโชตว่า การสูญเสียป่าสงวนทวีความเร็วมากขึ้นๆ จนล่าสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาหายไปกว่า 250,000 ไร่ และการตัดไม้ยังมีอยู่ เพราะปัจจัยที่ทำให้ต้องตัดยังไม่ได้แก้ นั่นคือความจำเป็นของมนุษย์ที่ต้องมาหากิน

ปัจจัยนั้นทำให้มนุษย์ ต่อให้อยากทำดี ต่อให้มีความตั้งใจดี ซึ่งจริงๆ ชุมชนจังหวัดน่าน 99 ตำบล มีผู้นำชุมชนที่มีความสามารถและมีความตั้งใจดีที่จะยื้อเอาไว้ไม่ให้ประชาชนไปพึ่งการตัดป่า ด้วยการหาทำมาหากินอื่นๆ มาเสริม เช่น การปลูกกาแฟ การเพิ่มแหล่งน้ำ เพราะน่านไม่มีระบบชลประทานที่ครบถ้วน น้ำที่ไหลมาจากฟ้า ลงมาก็ไหลลงไปเลย ได้ใช้อย่างมากก็ครึ่งปี อีกครึ่งปีก็แห้ง ก็พยายามสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝายเล็กฝายน้อย ประทังไปได้ขั้นหนึ่ง แต่ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ที่เกษตรกรต้องมาหากิน น้ำจึงเป็นปัจจัยทำให้พื้นที่เพาะปลูกที่มีจำกัดอยู่แล้ว ยิ่งใช้ไม่ได้ผลเต็มกำลังที่มันควรจะใช้ได้ คือจริงๆ ควรใช้ได้ทั้งปีแต่น้ำไม่มี ยังเป็นความเพียรพยายามอย่างต่อเนื่องที่น่าชื่นชมของผู้นำชุมชนทั้งหลายของจังหวัดน่าน

ทั้งนี้ มีองค์ประกอบของศาสนามาเกี่ยวข้องด้วย พระครูในอำเภอ ตำบลต่างๆ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของชุมชน ที่จะยื้อเอาไว้ไม่ให้ลูกบ้านหาทางออกง่ายๆ ไปตัดไม้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะสู้ชนะหรือไม่ เพราะความกดดันของการทำมาหากินนั้นเหนืออื่นใด ความเย้ายวนของทุนนิมมีมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่อย่างน้อยในวันนี้เรายังมีโอกาส ที่มานั่งในที่นี่ที่ถกปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ว่าจะมีวิธีอื่นที่ชะงัดกว่าวิธีในปัจจุบันไหม ที่ทำให้เราไม่ต้องสูญเสียป่าอีก

ภูโกร๋น จ.น่าน

ก็ยังดีที่ว่ามีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ที่ยังให้เราสามารถทำอย่างนี้อยู่ได้ สมัยก่อนจังหวัดน่านไม่ได้เป็นจังหวัดน่าน เป็นอาณาจักรล้านนาตะวันออก มีอายุ 600-700 ปี เป็นอาณาจักรอิสระ แต่มีช่วงหนึ่งที่ไปขึ้นกับพม่าหลายร้อยปีเหมือนกัน

แต่เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นและมีนัยยะต่อโอกาสที่เรายังมีอยู่ในวันนี้ที่จะแก้ปัญหาต้นน้ำน่าน คือเมื่อ 230 ปีที่แล้ว เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ได้ตัดสินใจทางยุทธศาสตร์สำคัญคือนำอาณาจักรน่าน หรือนันทบุรีแห่งนี้เข้ามาขอสวามิภักดิ์ เป็นข้าขอบขันธสีมาของกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่าง 2 ราชวงศ์มา 230 ปีที่แล้ว ทำให้น่านเป็นส่วนหนึ่งของไทย ทำให้เรามานั่งแก้ปัญหาได้ ถ้าเหตุการณ์นี้ไม่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ตรงนี้เป็นประเทศอะไรไม่รู้ และมีการตัดไม้กันอย่างมหาศาล เราที่อยู่ข้างล่างประเทศไทยก็นั่งทำตาปริบๆ ไม่สามารถที่จะหาทางแก้ไขปัญหาได้ แต่ผลเสียของการทำลายป่าจะเกิดขึ้นกับที่ราบภาคกลางและกรุงเทพมหานครเป็นแน่แท้

วันนี้เรายังมีโอกาส และมีโอกาสมาโดยตลอด เพราะความสัมพันธ์ของพื้นที่อาณาจักรนันทบุรีมีมาอย่างต่อเนื่อง ได้รับความร่วมมือระหว่างราชวงศ์กับราชวงศ์ด้วยกันที่แนบแน่น ได้รับความสนใจ ได้รับทรัพยากรด้านต่างๆ ในการทำให้มีความอยู่ดีกินดี เป็นประวัติศาสตร์ที่น้อยคนจะศึกษา นี่คือความเป็นมาของน่าน ที่ครั้งหนึ่งเป็นแผ่นดินที่มีการจัดการที่ดี

ปัจจุบัน พอเปลี่ยนการปกครองปี 2475 ไม่มีนันทบุรี เป็นจังหวัดน่าน ในระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีค่อยมีการพัฒนาเท่าไหร่ ถูกจัดสรรให้อยู่ปลายแถวของระบบการบริหารท้องถิ่น คำว่าเป็นจังหวัดปลายแถวคือไม่ได้งบประมาณอะไรมากมาย ไม่ได้รับความสนใจมากมาย มียังไงก็อยู่กันไปอย่างนั้น ไม่มีใครอยากมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน หากมาเป็นแล้วก็ไม่อยากอยู่ยาว

เพราะฉะนั้น การทำมาหากิน ความเป็นอยู่ของพื้นที่น่าน ไม่ได้มีการพัฒนาอะไรมากมาย เคยขายสินค้าเกษตรยังไง ปัจจุบันก็เหมือนเดิม ไม่ได้พัฒนาไปไหน แบกะดิน ผลผลิต มูลค่าที่ได้ตกกับคนในท้องถิ่นมีน้อยมาก สู้กระแสทุนนิยมไม่ได้

ความกระอักกระอ่วนจนท.รัฐ-ประชาชน

จากตัวเลขแสดงความสูญเสียที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเสียพื้นที่ป่าสงวนไปเกือบจะ 30% แล้ว มันเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่ฟ้าได้ประทานให้ประเทศไทย ป่าต้นน้ำน่าน เป็นเครื่องมืออันวิเศษที่กลั่นและกรองมวลน้ำ 40% ของแม่น้ำเจ้าพระยา และเราปล่อยให้เสียหายในดีกรีอย่างนี้เพื่อแลกกับพืชไร่ต่ำๆ ที่ให้สัตว์กิน คนข้างนอกที่ดูเข้ามาเขาจะบอกว่าประเทศไทยฉลาดไหมเนี่ยที่ปล่อยใหเป็นอย่างนี้ได้

80 ปีที่จังหวัดน่านเข้ามาอยู่ในระบบการบริหารราชการท้องถิ่น ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งของไทยเคยเหยียบมาที่นี่เพื่อปฎิบัติราชการเลย ไม่มีเคยมองเห็นเลย ไม่มีใครเสนอให้โผล่มา เพราะตรงนี้ไม่สำคัญ จนกระทั่งประวัติศาสตร์เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้วเกิดขึ้น ก็โผล่มาเป็นคนแรก นี่คือเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2559 ที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา (มีภาพประกอบ) อยู่ระหว่างที่เคลิ้มไปกับมนตราแห่งสิเน่หาของปู่ม่านย่าม่าน ที่บรรยายโดยมัคคุเทศก์น้อยของวัดภูมินทร์ นี่เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เป็นจังหวัดน่านมาเกือบ 80 ปี ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีโผล่มาเลยสักคนเดียว ไม่สำคัญหรืออย่างไร

ถ้าเป็นระบบมหาดไทยถือว่าไม่สำคัญ แต่ถ้าเป็นระบบนิเวศวิทยาที่เราวิเคราะห์กันวันนี้ มันสำคัญอย่างยิ่ง ไม่สามารถจัดอยู่ปลายแถวได้ นั่นคือเหตุการณ์ที่นายกรัฐมนตรีมา 1 วันเต็มๆ เพื่อมาฟังการบรรยายของชุมชน ผู้นำชุมชน เกี่ยวกับการเกษตร การพัฒนา รวมทั้งได้สนทนากับผู้นำชุมชน 99 ตำบล ที่มาชุมชนกันในวันนั้น ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการบอกเล่าให้นายกฯ รับทราบว่าปัญหาที่นี่มีอะไรบ้าง ทำไมยากเย็นแสนเข็ญขนาดนี้

นอกจากนี้ ได้ให้ผมได้โม้ให้ฟัง วิเคราะห์โจทย์จังหวัดน่านอย่างไร ที่โต๊ะอาหารแล้ว นอกจากท่านนายกฯ แล้วมีรองนายกฯ วิษณุ(เครืองาม) และรัฐมนตรี 4-5 กระทรวง รมต.เกษตร รมต.มหาดไทย รมต.ทรัพยากรธรรมชาติ รมต.ท่องเที่ยว นั่งโต๊ะเดียวกัน อย่างที่ผมบรรยายในวันนี้ว่า เราวิเคราะห์กันมาว่าโจทย์เป็นอย่างนี้และเสนอทางออกให้ท่านนายกฯ กลับไปคิดว่าจะแก้อย่างไรหรือจะลองทำหรือไม่

สาระจริงมี 2 อันในการจะแก้ปัญหา ก่อนอื่น มีพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงในปี 2516 ในวันรพีที่มีนัยยะเกี่ยวกับการจัดสรรพื้นที่ของป่าอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าต้นน้ำของจังหวัดน่าน ตอนที่ประกาศเป็นพระราชบัญญัติป่าสงวนนั้น ความที่ครอบคลุมพื้นที่มาก ซึ่งอาจจะจำเป็นเพราะเป็นต้นไม้ชั้นหนึ่งเป็นภูเขาชั้นหนึ่งทั้งนั้นว่าตรงนี้ให้เป็นป่าสงวน 85% ของพื้นที่จังหวัดน่าน แต่ไม่ได้คำนึงว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อชุมชนที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในป่า และเขาอยู่อยู่แล้ว เมื่อประกาศว่าเป็นป่าสงวน ก็กลายเป็นว่าเขาอยู่ในป่าสงวนโดยปริยาย

ในสมัยแรกๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร อยู่กันไป ทำมาหากินง่ายๆ อยู่กับป่า ไม่มีประเด็นว่าใครทำถูกทำผิดกฎหมาย ไม่ใช่ประเด็นในสมัยนั้น จนมาช่วงหลังที่เรื่องนี้เป็นประเด็น เพราะมีการเปลี่ยนวิธีการทำมาหากิน ไปปลูกข้าวโพดแล้วต้องตัดต้นไม้ กลายเป็นว่ามีการทำผิดกฎหมายโดยปริยาย จริงๆ ไม่ได้รุกป่า แต่ป่าครอบลงมาบนบ้านเขาเป็นส่วนใหญ่

ก็เกิดความกระอักกระอ่วนด้วยกันทั้งภาครัฐ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชน ประชาชนกระดิกตัวทำอะไรก็ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ลุกขึ้นมาจับ ก็ถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ก็ผิดอีกแบบ แต่น่าสนใจที่พระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเห็นความกระอักกระอ่วนมาก่อนแล้ว และได้ทรงเตือนไว้ในพระบรมราโชวาทนี้ว่า กฎหมายไม่ระวัง เขียนลงมาก็จะมีผลในทางลบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งระบบการบริหารราชการแผ่นดินของไทยไม่มีความคล่องตัวที่จะไหวทัน พระราชกระแสเตือนอันนี้ที่รับสั่งมา 40 ปีแล้ว มันเพิ่งจะมาเห็นวันนี้ว่าใช่เลย นี่คือปัญหาที่หลังชนฝากันด้วยกันทุกฝ่าย

แต่มาถึงวันนี้แล้ว ประกาศเป็นพระราชบัญญัติแล้ว อยู่ดีๆ จะให้ยกเลิกพระราชบัญญัตินั้นทำไม่ได้ ในสิ่งที่ไม่แนะนำให้ทำ เพราะถ้าทำที่หนึ่ง ทุกจังหวัดจะขอแบบนี้หมด ทางออกแบบนี้ไม่ได้ที่จะไปแก้พระราชบัญญัติ บอกตรงนี้ไม่ให้เป็นป่าสงวนไม่ได้ พูดตรงๆ ก็คือรุกป่าด้วยหมดทั้งนั้น ไม่เฉพาะที่จังหวัดน่าน แต่บังเอิญน่านมันหนักหนาที่สุด เพราะพื้นที่ที่นี่มันยากกว่าที่อื่น (เป็นภูเขา) ต้องมีทางออกทางอื่น

ประเด็นนี้เป็นประเด็นแรกที่ผมเสนอท่านนายกฯ มันต้องจัดสรรสิทธิในการใช้พื้นที่ให้จบก่อน คนถึงจะรู้สึกสบายใจ ขณะนี้คนไม่รู้สึกสบายใจ เพราะโดยการปฏิบัติมันผิดกฎหมายเกือบทั้งจังหวัด มิหนำซ้ำยังมีทางออกบอกว่าให้ซื้อข้าวโพดจากพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่รุกป่าสงวน ก็มันที่ไหนในจังหวัดน่าน พูดไปก็เท่านั้น ที่ปลูกกัน ตามตัวบทกฎหมายก็ผิดทั้งนั้น หากไม่ให้ซื้อ คนปลูกจะไปทำมาหากินอย่างอื่นได้อย่างไร ทำข้าวโพดมานานเป็น 10 ปี อย่างอื่นทำไม่เป็น

4 ปี กว่าจะได้ข้อมูลชุดเดียวกัน

เพราะฉะนั้น นี่คือความกระอักกระอ่วนมีด้วยกันทั้งนั้น จะทำอย่างไร อย่างน้อยให้มีความสบายใจ แล้วได้ความถูกต้องตามกฏหมายด้วย มันมีสมการ 2 สมการที่จะต้องแก้ไปพร้อมๆ กัน

สมการที่หนึ่งทำอย่างไรให้ประชาชนมีกินพอ ปัจจุบันไม่พอ ก็ต้องให้มีการทำมาหากินได้ แต่มีสมการที่สองคานเข้ามา ทำอย่างไรให้ป่ากลับคืนมาได้ด้วย ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลยที่ตัดไปแล้วเกือบ 30% มีใครให้อนุญาตให้ทำอย่างนั้นได้ มันต้องพูดในเชิงนิเวศวิทยาด้วยว่า มันมีเหตุผลว่าทำไมต้องเป็นป่าสงวน ถ้าตรงนี้ไม่เป็นป่า ที่ราบภาคกลางและกรุงเทพมหานครจะเสียหายไปด้วยในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน และหากปล่อยให้ป่าถูกทำลายไปเรื่อยๆ จาก 30 เป็น 40 เป็น 50 ซึ่งเป็นไปได้อยู่แล้ว เพราะปัจจัยที่ทำให้มีการตัดอยู่อย่างครบถ้วน ความต้องการมนุษย์มีมากขึ้น วันหนึ่งผลนั้นจะปรากฏออกมาในอนาคต ที่ความเสียหายกู่กลับไม่ได้ง่ายๆ เช่น น้ำทะเลดันเข้ามาจากอ่าวไทย เพราะน้ำจากข้างบนแห้ง ที่ราบภาคกลางปลูกข้าวปลูกพืชไม่ได้ จะเสียหาย จะมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ด้านล่างของประเทศไทย และจะมีผลกระทบทางด้านสังคมและการเมืองตามมาด้วย และคนในยุคต่อไปจะถามคำถามคนยุคปัจจุบันว่าทำไมไม่แก้ปัญหานี้ คนในยุคปัจจับันไม่ต้องตอบ เพราะตายไปแล้ว

นี่คือหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องมองเผื่ออนาคต หากปัญหานี้ไม่แก้ในวันนี้ จะไปแก้ในวันไหน ก็ไหลลื่นมาเป็น 10 ปี ป่าหายไปเกือบ 30% ของป่าต้นน้ำแล้ว เป็นตัวเลขที่เป็นครั้งแรกที่ตรงกันทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ผมเสนอตัวเลขชุดนี้กับท่านนายกฯ จากตัวเลขดาวเทียมไทยโชตออกมาเป็นอย่างนี้ ราชการเห็นตรงกันไหม ท่านรัฐมนตรีมหาดไทยยืนยันว่าตัวเลขนี้ตรงกัน อย่างน้อยเป็นจุดเริ่มต้นของการเห็นพ้องต้องกัน แต่ก่อนนี้พูดกันคนละตัวเอามาจากไหนไม่รู้ วันนี้ ตาจากฟ้า คือดาวเทียมฟ้อง มีตัวเลขชุดเดียว การแก้ปัญหานี้ อย่ามีตัวเลขสองชุด ชุดเดียวยังแก้ไม่ค่อยตก

ดังนั้น ไม่ต้องเถียงกันเรื่องตัวเลขว่าโจทย์คืออะไร ความหนักหนาของโจทย์คืออะไร การมีตัวเลขชุดเดียวกันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ก็จะทำให้โอกาสที่จะหาทางออกมีมากขึ้น

ในวงกลมแดง เหลือง เขียว เป็นภาพในหลักการ (ดูภาพประกอบ) กรอบของโจทย์คร่าวๆ เพื่อเป็นเป้าที่จะต้องไปถึง สมมติป่า 100% ปัจจุบันเหลือ 72% ที่หายไป 28% คือ 18+10 คือโล้นแล้ว อย่างอำเภอสันติสุข โล้นไปกว่า 50% ของป่าสงวนตรงอำเภอสันติสุข ป่าหายไป ทุกคนยืนมองหน้าทำตาปริบๆ ถ้างั้นตั้งเป้าว่าจะได้คืนมาเท่าไหร่ หรือ 72% ไม่เสียไปมากกว่านี้ หยุดตัด ไม่แน่ใจว่าทำได้ทันหรือไม่ หากตกลงกันได้ระหว่างรัฐและประชาชน มาร่วมมือกัน ว่า 72% ป่าต้นไม้ชั้นหนึ่งหยุดตัดทุกอย่าง อีก 28% แบ่งเป็นสองส่วน บนสมมติฐานว่าหาทางทำมาหากินได้ดีกว่าเดิม ที่ทำให้ได้รายได้มากกว่าเดิม ในที่สุดจะคืนมาได้ 18% ได้ไหม (สีเหลือง) กลับไปปลูกเป็นต้นไม้สูงๆ ที่จะหยั่งรากลึกที่จะยึดผิวดิน น้ำเอาไว้ตามที่ป่าต้นน้ำควรจะเป็น โดยค่อยๆ พยายามทำให้ 18% เป็นป่าที่ประชาชนเข้าไปทำมาหากินได้ ไม่ได้ยกโฉนดให้ แต่ให้สิทธิในการทำกินได้ ปลูกอะไรอย่างอื่นที่อยู่ใต้ต้นไม้ เช่น กาแฟ เห็ด สมุนไพร ที่มีมากมายที่ยังไม่ได้ศึกษาที่คาดว่าจะทำได้แทนข้าวโพด โดยมีข้อตกลงกันก่อน

หากไม่มีข้อตกลงจะไม่สบายใจ ทำไมคนนั้นได้ ทำไมคนนี้ได้ ท่านนายกฯ ลงพื้นที่มามอบสิทธิการทำกินในป่า ก็ทำไปโดยที่มีคนอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้ คนที่ยืนดูนายกฯ มอบโดยที่เขาไม่ได้เขาจะรู้สึกดีไหม ดังนั้น การมีการตกลงกัน ต้องตกลงพร้อมกันทั้งจังหวัด เพราะน้อยคนที่จะอยู่ในพื้นที่ที่ถูกต้อง ได้มาสมัยไหนไม่รู้ แต่คนที่ไม่เคยได้ก็ไม่มีวันได้ เพราะที่ที่ถูกต้องก็มีคนเอาไปหมดแล้ว มีทางเดียวคือไปอยู่ในป่า หรืออยู่ในป่าอยู่แล้ว แต่ต้องตัดไม้เพื่อปลูกยาง ปลูกข้าวโพด

ดังนั้น ต้องตกลงร่วมกันทั้งจังหวัด เจรจาจัดสรรพื้นที่ดินทำกิน ปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ของจังหวัดน่าน เพื่อจัดสรรสิทธิกันใหม่ในกติกาทั้ง 99 ตำบล ความรู้สึกที่เป็นธรรมจำเป็นจะต้องมี คนได้ คนไม่ได้ รู้สึกไม่เหมือนกัน จะตกลงกันไม่ได้ ต้องให้ทุกคนรู้สึกว่าได้มีสิทธิทำกินพอๆ กัน ไม่ได้เป็นโฉนดก็อย่างน้อยมีสิทธิทำกิน จะทำทีละชิ้นไม่ได้ ต้องทำพร้อมกันทั้งจังหวัด

2โจทย์ประชาชนมีกินพอ-ได้ป่าคืนมา

ผมถามท่านนายกฯ และท่า รมต.มหาดไทยว่าตัวเลขนี้รับได้ไหม ถามว่าตัวเลขนี้เอามาจากไหน ผมเขียนเอง 28% ที่ป่าหายไป ขอ 18% คืนเป็นต้นไม้ อีก 10% ที่เตียนๆ ไปแล้ว แต่ว่าปลูกอะไรที่เข้าท่ากว่าข้าวโพดดีไหม เป็นโฉนดไม่ได้ เป็นสิทธิทำกินไป เป็นป่าสงวนที่ทำพืชไร่ดีๆ ผลผลิตสูงๆ หน่อย จะได้อยู่ได้ และมีกติกากำกับชัดเจน

ซึ่งทั้งสองท่านบอกว่ารับได้ แต่ไม่แน่ใจว่าทำหรือเปล่า ยังไม่ได้รับแจ้งกลับมา หากรับได้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องไปให้ถึง คือ 1. ให้คนมีกิน บนพื้นฐานว่าจะต้องมีที่ทำกินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม 2. ได้ป่าคืนมา สมการทั้งสองตัวต้องได้ไปพร้อมๆ กัน

การจัดสรรที่ดินก็เป็นโจทย์ที่หนักหนา เพราะประชาชนเข้าไปอยู่ในป่าแล้ว ใครจะยอมสละตรงไหน ถ้าวันนั้นมาถึง หากรัฐบาลยอมที่จะทำอย่างนั้น ต้องเอาผู้นำชุมชนมาคุยกัน เอาแผนที่กางบนโต๊ะ สถานการณ์ปัจจุบันแต่ละตำบลเป็นอย่างไร จัดกันใหม่ได้ไหม อันนี้ที่จะต้องพึ่งพาชุมชน ความเป็นปึกแผ่นของการบริหารในระดับชุมชน ตำบล หมู่บ้าน ผมคิดว่าผู้นำชุมชนที่นี่มีศักยภาพสูงที่จะทำได้ แต่ก็เป็นโจทย์หนักหนามากสำหรับเขาทั้งหลาย เอาแผนที่มากางกันและจัดสรรให้ลงตัว ก็หวังว่าจะเป็นจุดที่พอจะรอมชอมตกลงกันได้เบื้องต้น

นายบัณฑูร ล่ำซำ

เสร็จแล้วมาถึงโจทย์ที่ยากไปอีกขั้นว่า พื้นที่ที่ได้มา จะทำอย่างไรให้มีการทำมาหากินที่เพียงพอไม่กลับไปทำแบบเดิมอีก คือที่ใหม่ที่จำกัด ทำให้มีผลผลิต รายได้ต่อไร่ต่อคนสูงพอที่จะเลี้ยงชีวิตของเขาได้ หากทำได้ด้วยองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะดึงมาใช้ มันถึงจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืน คือจัดสรรพื้นที่ใหม่ในการทำกินและทำกินสำเร็จ ได้รายได้ ได้ผลประโยชน์ที่เพียงพอ ไม่ตัดป่าอีก ถึงจะเรียกว่าได้แก้ปัญหาอย่างชะงัดและอย่างยั่งยืนต่อไปถึงคนรุ่นหน้า โดยได้ป่าสงวนกลับคืนมา 90% เป็นป่าต้นน้ำน่าน และประชาชนอยู่ได้อย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนเกษตร ท่องเที่ยว

เรื่องการท่องเที่ยวถูกยกขึ้นมาที่สร้างรายได้ แต่กระจุกตัวในอำเภอเมือง ร้านอาหาร โรงแรมมีคนมาใช้แต่ไม่ได้ลงไปยังชุมชนเกษตร ในชนบท ในอำเภอข้างนอก ดังนั้น พวกเขาต้องทำเกษตรกรรมที่ได้ผลจริงๆ ต้องสนองความจำเป็นในการดำรงชีวิตได้

ดังนั้น หากตกลงพื้นที่ได้ จากนั้นมาดูว่าจะปลูกอะไรบ้าง ตลาดมีไหม การแปรรูปเพื่อตอบสนองความต้องของตลาด

โจทย์เรื่องการเลือกพืชผล ความรู้ในโลกนี้มี ประเทศไทยมีความรู้เยอะแต่ไม่ได้เอามาใช้ การศึกษาการวิจัยเยอะ ยังไม่ได้เอามาใช้ นอกจากนี้ประสิทธิภาพในการผลิตเพราะพื้นที่มีจำกัด ต้องมีระบบการกักเก็บน้ำ กระจายน้ำที่มีประสิทธิภาพ ที่เพียงพอใช้ได้ทั้งปี ปัจจุบันมีแต่ไม่เพียงพอ ส่วนหนึ่งสร้างไปก็ผิดกฎหมาย เช่น สร้างประปาตำบล หรืออ่างเก็บน้ำใหญ่ๆ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยาน หรือป่าสงวนทั้งนั้นก็ไม่อนุญาตกันง่ายๆ หรือต่อให้อนุญาตก็ต้องใช้เวลาอีก 500-600 วัน ที่ต้องผ่านการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ยังไม่ต้องพูดถึงงบประมาณจะได้หรือเปล่า ก็ต้องทำเพื่อให้พื้นที่ใช้ประโยชน์จากที่ดิน 100% มีมาก

นอกจากนี้ก็มีเรื่องพันธุศาสตร์ การใช้สารเคมี เพราะน่านสั่งสารเคมีจำนวนมาก ฝนตกลงมาก็ชะสารเคมีลงแม่น้ำ เป็นเรื่องที่ต้องแก้ด้วยองค์ความรู้สมัยใหม่ โดยเฉพาะที่ที่มีจำกัด เขาจะต้องดิ้นรนทำเรื่องพวกนี้ เช่น ญี่ปุ่น อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ ฮอลแลนด์ มันมีการศึกษาวิเคราะห์ว่าจะเล่นกลอย่างไรกับพันธุกรรม กับแบคทีเรียประเภทต่างๆ จะหลอกแบคทีเรียอย่างไรให้มันผลิตปุ๋ยธรรมชาติออกมา มันมีองค์ความรู้อยู่แล้ว

อันที่สำคัญที่สุดคือตอนขายของ ก็หวังว่าสินค้าที่ผลิตจากนี้ได้ราคาที่ดีถึงจะพอกิน ระหว่างทางมีคนแบ่งไปเยอะเลย คนที่เป็นเจ้าของเส้นทางการค้า ห้างต่างๆ เพราะระบบทุนนิยมสร้างไว้อย่างนั้น คนที่อยู่ปลายแถวคือเกษตรกรได้น้อยที่สุด ดังนั้น ทำอย่างไรให้เขายกระดับขึ้นให้เขามีอำนาจต่อรอง ขายของเองได้บ้าง เป็นการจัดการที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่ต้องช่วยต้นทางของพืชผลเกษตร

น่านต้องออกจาก”ปลัก”ให้ได้

ดังนั้น ต้องมีการผลิตที่ได้ประสิทธิภาพดีในพื้นที่มีจำกัด โดยไม่ใช้สารเคมี น่ากินน่าใช้ ยี่ห้อที่มาเป็นศาสตร์ของโลกทุนนิยม เป็นความจริงของโลกมนุษย์ในปัจจุบัน เราต้องเล่นให้เป็นในโลกทุนนิยม แต่น่านเล่นไม่เป็น เล่นแพ้ หากจะดูหน้าตาของคนที่เล่นแพ้ ต้องดูที่จังหวัดน่าน ได้น้อยทุกอย่าง แบกับดินทุกอย่าง เพราะเล่นไม่เป็น สู้ไม่ได้ เพราะไม่มีใครมาช่วย ทำได้แค่ปลูกพืชชั้นต่ำๆ เพราะฉะนั้นเราต้องเล่นให้เป็น

พอพูดตัวเลข ทุกคนก็เบือนหน้าหนี เพราะทุกคนกลัวตัวเองต้องรับผิดชอบ บอกได้เลยว่าถ้าในที่สุด รายได้ต่อคนต่อไร่ไม่พอกับการดำรงชีพ เราจะต้องเสียป่าน่านนี้ไปแน่นอนที่สุด

เพราะฉะนั้น ดีกว่าที่จะเผชิญหน้ากับตัวเลขการสูญเสียป่า กับความจำเป็นของความท้าทายของตัวเลขในการดำรงชีพ ถามว่าทำได้ไหม ทำได้ หากมนุษย์ฉลาดพอที่จะตกลงกันได้ว่ากติกาคืออะไร กรอบคืออะไร และเส้นทางออกอยู่ตรงไหน ก็ทำให้เป็นจริงขึ้นมาได้

ดังนั้น เราประชุมกี่รอบก็ตามในเรื่องโจทย์ของป่าน่าน ก็จะมาจบตรงนี้แหละ 1. ที่ดินมันจัดสรรกันได้หรือเปล่า ตกลงกันได้ไหม 2. ถ้าตกลงกันได้ ทำมาหากินที่ดินจัดสรรได้หรือเปล่า และปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นมากจากไหน ถ้าทำได้ เราจะได้ก้าวไปจาก “ปลัก” ที่เราติดปลักอยู่ตรงนี้ เพราะเราวนอยู่ตรงนี้

ครั้งหน้าที่จะประชุม หากยังไม่มีความคืบหน้าในสองประเด็นนั้นก็ไม่ต้องประชุม เพราะจะมาพูดกันอย่างเดิม

นี่คือโจทย์ที่รัฐบาลรับไปแล้วขั้นหนึ่ง ผมดีใจที่ท่านนายกฯ กล้ารับคำเชิญ มาประวัติศาสตร์น่านคนแรก ใน 80 ปีในการมีนายกรัฐมนตรี ก็หวังว่าคณะรัฐบาลคณะนี้และคณะอื่นๆ ที่จะตามมากล้าตัดสินใจทำอะไรที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

ในตอนท้ายนายบัณฑูรได้สรุปอีกครั้งว่า 1. ภาครัฐต้องเข้าใจโจทย์ ว่าทำไมสถานการณ์ถึงมาหลุดมาถึงขนาดนี้ได้ 2. ต้องมีความกล้าในภาครัฐในการทดลองรูปแบบการจัดการที่แตกต่างไปจากเดิม เพราะที่ทำแบบเดิมมันใช้ไม่ได้ผล หากดันทุรังทำแบบเดิมๆ ก็เหมือนหลอกตัวเองว่าพรุ่งนี้จะดีขึ้น ทั้งๆ ที่ผ่านมามันไม่เคยดีขึ้น เพราะมันเป็นโครงสร้างรูปแบบการจัดการที่ไม่เข้าถึงสมมติฐานของโรคจริงๆ 3. เกิดความสามารถในการเรียนรู้อย่างมหาศาลโดยเร็วของทุกๆ คนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้พื้นที่ที่จำกัดของน่าน มีผลผลิตที่สูงพอที่สามารถเลี้ยงชีวิตของคนจังหวัดนี้ได้ และไม่เกิดความกดดันที่จะทำลายป่าเหมือนที่ผ่านมา นี่คือ 3 ข้อที่จะขอจากเทพเทวาทั้งหลาย ว่าถ้าทำได้จะเป็นโอกาสที่จะแก้ปัญหามีสูงมาก

และถ้าขอเทพเทวาไม่ได้ผลก็ต้องทูลขอเทพพระรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินทร

นายกฯตอบโจทย์น่าน เห็นชอบแก้ไขร่างกม.อุทยาน – คุ้มครองสัตว์ป่าใหม่

อย่างไรก็ตามหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เมื่อเดือนธันวาคม 2559 แล้ว โจทย์ของน่านได้รับการตอบสนอง โดยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560) มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ….ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย รวมทั้งให้พิจารณาความเชื่อมโยงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติกับคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. เป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษาฟื้นฟู การจัดการ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศตามพันธกรณี ที่ไทยเป็นภาคีสมาชิก ตลอดจนเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินในป่าอนุรักษ์ที่ไม่เหมาะสม

โดยที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่าง พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. เพื่อให้รับกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน โดย พ.ร.บ. ทั้งสองมีบทเฉพาะกาลกำหนดข้อยกเว้นสำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่มาก่อน โดยให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยอธิบดีกรมอุทยานฯ มีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้บุคคลได้อยู่อาศัยหรือทำกินต่อไป ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครอบครัว ระยะเวลาคราวละไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี โดยไม่ถือเป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ เช่น การกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตรวจสอบแนวเขต การกำหนดเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้ผู้ใดผู้หนึ่ง ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติได้ ส่วนร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ เช่น การกำหนดให้พื้นที่ที่ยังไม่มีบุคคลได้กรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า