ThaiPublica > เกาะกระแส > ตามไปดู “ภูโกร๋น” ที่น่าน กับโครงการปิดทองหลังพระ (จบ)

ตามไปดู “ภูโกร๋น” ที่น่าน กับโครงการปิดทองหลังพระ (จบ)

9 มิถุนายน 2013


โครงการนำร่องปิดทองหลังพระ

ในตอนที่แล้วได้จบไว้ที่ว่า ต้องปลูกคน ก่อนปลูกป่า

นั่นคือการทำให้คนรอดก่อน เมื่อคนรอด “ใจ” เขาพร้อม อะไรก็ทำได้

หากจะถามว่า ทำไมน่านเป็น “ภูโกร๋น”

ข้อมูลที่ได้จากนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์ว่า การปลูกข้าวโพดที่นี่เป็นวงจรอุบาทว์ สิ่งที่ทำให้เกษตรกรติดอยู่ในวงจรนี้พบว่า ด้วยภูมิสังคมของพื้นที่ทำให้เกษตรกรตัดสินใจปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในวงจรนี้แล้ว ก็พบกับปัญหาดินเสื่อมโทรม ต้นทุนที่สูง ต้องกู้เงิน และข้าวโพดเป็นพืชที่มีการต่อรอง เพราะมีกระบวนการที่อาศัยตัวกลางทั้งหัวสีและไซโล รวมถึงแรงจูงใจจากภาครัฐ (การประกันราคา)

ขณะเดียวกันจากการลงพื้นที่กับโครงการปิดทองหลังพระ ได้ข้อมูลว่าทั้งนายทุนและบริษัทเอกชน ที่ขายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า มีกลยุทธ์การตลาดที่จูงใจชาวบ้าน อาทิ ยิ่งขยายพื้นที่เพาะปลูกมากยิ่งได้ของแถม เช่น หมู 1 ตัว รถมอเตอร์ไซด์หนึ่งคัน จึงทำให้เขาตัดสินใจเพิ่มผลผลิตเพื่อรักษาระดับผลผลิตตามแรงจูงใจและเพื่อเพิ่มรายได้

รายงานวิจัยระบุว่าถ้าไม่เพิ่มผลผลิต รายได้ลดลง เขาก็เจอความยากจน แต่ถ้าเพิ่มผลผลิต ก็เจอต้นทุนสูงขึ้นจากค่ายา ค่าปุ๋ย รายจ่ายมากขึ้น คุณภาพชีวิตและสุขภาพแย่ลง จากการตรวจสารพิษในเลือดก็พบว่ามีปัญหา มีการกู้นอกระบบ ด้วยภาระหนี้เช่นนี้ทำให้เขาไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้ ต้องทำงานที่ได้เงินแน่ๆ เรื่อยไป ก็คือการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะมีสัญญาณจากภาครัฐตลอดเวลาว่า “ข้าวโพด” ได้เงินแน่ๆ มันก็วนไปยังจุดเริ่มต้นใหม่อีก ทำให้คนมาติดอยู่ในวงจรนี้แน่นมากขึ้น วงจรอุบาทว์นี้จึงหมุนเร็วขึ้น คนปลูกมากขึ้น ซื้อปุ๋ยเคมี-ยาฆ่าแมลง และกู้นอกระบบ พ่อค้ารวยขึ้น แถมมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น

ถ้าดูจากข้อมูลของโครงการปิดทองหลังพระ ที่เก็บข้อมูลพื้นฐานทุกอย่างตั้งแต่เริ่มโครงการ ทั้งเรื่องรายได้ รายจ่าย ภาระหนี้ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุดในเบื้องต้นคือ “น้ำ”

“ข้อมูล” คือหัวใจของการ “เข้าใจ-เข้าถึง” ในทุกๆ เรื่อง ไม่เฉพาะที่นี่เท่านั้น

แต่บางครั้งข้อมูลที่เก็บไปก็ “เก็บ” จริงๆ ไม่ได้เอาออกมาใช้

ความต้องการของชุมชน

ข้อมูลเศรษฐกิจครัวเรือน

ข้อมูลรายได้ รายจ่าย หนี้สิน

ข้อมูลที่ต้องเข้าใจ

ขณะที่เสียงสะท้อนจากพื้นที่บอกว่า “ทุกคนบอกว่าต้องบูรณาการ “ข้อมูล” มี หน่วยราชการต่างๆ ต่างคนต่างเก็บ ไม่เคยเอาขึ้นมูลมาคลี่มาดู เก็บกี่ปี่กี่ชาติไม่เห็นเอามาใช้ อาทิ หน่วยงานสถิติจังหวัดมาเก็บข้อมูล สาธารณสุขมาเก็บข้อมูล ถามว่าเคยเอาข้อมูลเชื่อมกันไหม หากข้อมูลมีไม่เพียงพอก็ลงไปเก็บใหม่ กลับเข้าไปหาปัญหาใหม่ คุณต้องเข้าใจ เข้าถึง จึงพัฒนาได้ หากพัฒนาแล้ว ไม่เข้าถึงก็เข้าถึงใหม่ กลับมาเข้าใจใหม่ (เก็บข้อมูลใหม่) ก็ทำแบบนี้จนกว่าจะเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาได้”

โครงการดอยตุงใช้หลักการนี้ และโครงการปิดทองหลังพระ ก็ใช้หลักการเดียวกัน คือเก็บข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อตอบโจทย์ปัญหาและเพื่อการประเมินผลที่เป็นรูปธรรม

ขั้นตอนการจูงใจ

ทำนาขั้นบันได

โครงการปิดทองหลังพระไม่ได้ “ให้” ทุกอย่าง แต่พัฒนาตามพื้นที่ โดยมีแผนจากชาวบ้านจริงๆ ที่สำคัญไม่ต้องการให้มีการจ้างเหมา แต่ให้ชาวบ้านทำเอง หากมีปัญหาไม่ต้องรองบประมาณ แก้ปัญหาเองได้ มีหลายจังหวัดที่มาเรียนรู้ขบวนการนี้ที่นี่

ชาวบ้านคิดเอง ตอบโจทย์ความต้องการของเขาเอง และร่วมกันทำในสิ่งที่เขาต้องการ อาทิ ฝายกั้นน้ำ บ่อพวงสันเขา การทำคันดินบนภูเขาเพื่อทำนาขั้นบันได การรวมกลุ่มแต่ละกลุ่มเพื่อกำกับดูแลกันเอง เป็นต้น หลักการนี้ชาวบ้านเป็นเจ้าของโครงการ เพราะเป็นสิ่งเขาต้องการ เป็นสิ่งที่เขาต้องดูแล มีกติกาในชุมชนของเขา ถ้ามีอะไรขัดข้อง เขาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หากรอหน่วยงานราชการมาแก้ไข ช้าและต้องรองบประมาณ

จากการพูดคุยกับชาวบ้านที่มาร่วมวงเสวนา เขาบอกว่าเขาต้องการองค์ความรู้ มาจูงมือเขาเดิน จากนั้นเขาจะต่อยอดเองได้ ดังนั้นเมื่อเขามีส่วนร่วม มีส่วนในความเป็นเจ้าของ อย่างกรณี “น้ำ” ที่กว่าจะได้มาต้องมีการสำรวจ การก่อสร้าง การลงทุนทั้งกำลังกาย กำลังเงิน เมื่อมีน้ำ ก็ทำนาได้ ปลูกพืชหลังนาได้ เลี้ยงสัตว์ได้ ทำให้เกิดกองทุนเมล็ดพันธุ์ กองทุนแม่บ้านศึกษาดูงาน กองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าว กองทุนเมล็ดพันธุ์ผัก กองทุนสุกร กองทุนปุ๋ย ฯลฯ ทุกกองทุนต่างมีกรรมการบริหารจัดการกันเอง ตั้งกติกากำกับกันเอง

หน่อไม้ฝรั่ง ผลผลิตของโครงการ

มีน้ำก็มีผัก

ลูกหม่อนหรือ mulberry
ลูกหม่อนหรือ mulberry

อาสาสมัครพัฒนาชุมชน หรือ อสพ.บ้านเปียงซ้อเล่าให้ฟังว่า ตนได้รื้อสวนลำไยมาทำนาและปลูกพืชหลังนาและเลี้ยงหมู ทำให้มีรายได้ทั้งปี เพราะผลจากการมีการทำฝายลุงก่ำ ทำบ่อพวงกระจายน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีน้ำใช้ทั้งปี ปัญหาดินโคลนถล่มน้อยลง ชาวบ้านป้องกันความเสียหายจากภัยธรรมชาติได้ดีขึ้น และการเกิดภัยพิบัติก็น้อยลงผลจากการทำฝายต่างๆ

นี่คือการเรียนรู้วินัย จริยธรรม ความโปร่งใส ผ่านการอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาที่พวกเขาเป็นคนกำหนด เป็นข้อตกลงร่วมที่ทุกคนต่างมีความเท่าเทียมกัน มีความเป็นธรรม ที่หยิบยื่นให้กันได้ โดยที่ไม่ต้องเรียกร้องจากใคร

โครงการปิดทองหลังพระใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะทำให้ชาวบ้าน “รอด” และลดการบุกรุกป่า ชาวบ้านลดการขยายพื้นที่ทำกิน ได้ผืนดินคืนมาเพื่อนำมาปลูกป่า 3 แบบ คือป่าใช้สอย ป่าเศรษฐกิจและป่าอนุรักษ์

ภูเขาไม่ใช่ปลูกข้าวโพดอย่างเดียวอีกต่อไป เมื่อมีน้ำก็สามารถทำนาขั้นบันไดได้ ตามพระราชดำริ “ลดการใช้พื้นที่ป่า ปลูกนาขั้นบันได” ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภค ควบคู่กับการลดพื้นที่แผ้วถางป่าเพื่อปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด

หลังจากทำโครงการมา 4 ปี ได้ผืนดินคืนมากว่า 1.1 แสนไร่ จึงเป็นที่มาของโครงการปลูกป่า 1.8 ล้านกล้า ทั้งป่าใช้สอย ป่าเศรษฐกิจและป่าอนุรักษ์ ที่จะให้ชาวบ้านเป็นคนปลูก คนดูแล และเป็นเจ้าของในผลประโยชน์จากป่าที่เขาดูแล

ภูโกร๋น

แปลงเพาะกล้าไม้

ปัจจุบันโครงการได้เตรียมเพาะกล้าไม้พันธุ์ต่างๆ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ที่สามารถนำมาปลูกได้ เพื่อให้ป่าของน่านเป็นเป็นต้นน้ำที่สำคัญต่อไป

แม้วันนี้โครงการปิดทองหลังพระที่น่านยังไม่จบ แต่มาได้เกือบครึ่งทางแล้ว อีกไม่นาน ภูโกร๋นที่เคยร่ำลือก็จะกลายเป็นภูเขียวให้เราได้เห็นกัน โดยขบวนการสร้างป่าใช้สอย ป่าเศรษฐกิจ และป่าอนุรักษ์ ซึ่งคงมีโอกาสได้มาเล่าสู่กันอ่านต่อไป