ดร.วิรไท สันติประภพ
Email: [email protected]
ท่านผู้อ่านเห็นชื่อบทความนี้แล้วคงสงสัยว่าผมกำลังจะเล่าให้ท่านฟังถึงเทือกเขาเทือกไหนในประเทศไทย ภูโกร๋นไม่ใช่ชื่อเทือกเขาที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นกัน แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว และมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นในหลายถิ่นที่ราบสูง ภูโกร๋นที่ผมเพิ่งไปสัมผัสมาเมื่อเดือนที่แล้วอยู่ในเขตป่าสงวนของจังหวัดน่าน โดยเฉพาะในอำเภอเฉลิมพระเกียรติซึ่งเป็นอำเภอไกลปืนเที่ยง ติดชายแดนลาว
น่านเป็นจังหวัดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศมากขึ้นในช่วงสามสี่ปีหลัง แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไปไม่ถึงอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
อำเภอเฉลิมพระเกียรติเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ เป็นเขตต้นน้ำของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นเขตต้นน้ำที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ คนลุ่มน้ำเจ้าพระยาใช้ประโยชน์จากน้ำที่มาจากแม่น้ำน่านในหลายรูปแบบ และเมื่อสองปีที่แล้วน้ำจากแม่น้ำน่านได้ทำให้หลายบ้านในกรุงเทพฯ และเขตภาคกลางกลายเป็นเกาะกลางทะเลสาบอยู่หลายเดือน ในอดีต ป่าต้นน้ำน่านเป็นป่าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นที่ตั้งฐานกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สหายคนสำคัญบางคนเคยหลบซ่อนในบริเวณนี้ แต่ตั้งแต่สหายส่วนใหญ่ได้ออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และสหายบางคนได้กลายเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง ป่าที่เคยรกทึบเริ่มหายไป ถูกบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยต่อเนื่องมาหลายสิบปี
ใครที่เห็นสภาพภูโกร๋นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติจะไม่เชื่อว่าบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติ และคงงงว่าเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำได้อย่างไร
สภาพภูโกร๋นที่ผมเพิ่งสัมผัสมาเป็นภูเขาดินแดง มีต้นไม้เป็นสิ่งแปลกปลอมอยู่ประปราย ไม่มีแม้แต่ต้นหญ้า อาจเหลือต้นไม้อยู่บ้างเป็นหย่อมเล็กๆ บริเวณรอบที่ทำการของสำนักงานป่าไม้ บริเวณป่าช้าของหมู่บ้าน และบริเวณที่มีต้นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจหลงเหลืออยู่ พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกเผา หลายพื้นที่ยังมีรอยการเผาใหม่ๆ ผมมีโอกาสขึ้นไปน่านทุกปีเพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ได้รับรู้ถึงปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกอยู่เป็นประจำ แต่ไม่เคยเห็นสภาพเทือกเขาดินแดงเรียงซ้อนกันไปมาสุดลูกหูลูกตาเหมือนกับที่ได้เห็นในรอบนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าครั้งนี้ไปในช่วงฤดูเผาป่าเตรียมดินก่อนที่ชาวบ้านจะเริ่มปลูกข้าวโพด นอกจากจะเห็นร่องรอยการเผาป่าใหม่ๆ แล้ว ยังเห็นชาวบ้านลงแขกร่วมกันกำจัดหญ้าโดยใช้ยาฆ่าหญ้า ซึ่งเป็นสารเคมีรุนแรง เป็นที่รู้กันว่าถ้าฝนตก โรงพยาบาลจะเต็มไปด้วยชาวบ้านที่ได้รับสารพิษจากยาฆ่าหญ้าที่ไหลลงไปสู่ระบบน้ำใต้ดิน
ภูโกร๋นไม่ได้ซับซ้อนแต่เพียงวิวเทือกเขาที่มองเห็นได้ด้วยตาเท่านั้น เหตุผลที่ทำให้ภูเขาในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติแถบนี้กลายเป็นภูโกร๋นก็ซับซ้อนไม่น้อยไปกว่ากัน ตลอดช่วง 2-3 วันที่อยู่ในพื้นที่ ผมได้คุยกับชาวบ้าน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาต่างๆ ถึงสาเหตุที่ทำให้ภูเขาแถบนี้โกร๋นขึ้นอย่างรวดเร็ว พบว่ามีหลายปัจจัยและหลายมิติที่ทับถมกันอยู่ และที่น่ากังวลคือปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เป็นระบบ
ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า เหตุผลหลักมาจากเรื่องรายได้ที่ไม่พอเพียง สาเหตุที่ต้องเผาป่าและใช้ยาฆ่าหญ้าเพื่อปลูกข้าวโพดเป็นเพราะว่าการปลูกข้าวโพดมีรายได้สูง และมีความแน่นอนด้านรายได้ดีกว่าพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น การปลูกข้าวโพดในบริเวณนี้ส่วนใหญ่ปลูกในระบบพันธะสัญญา (contract farming) กับนายทุนซึ่งมีหลายระดับตั้งแต่บริษัทผลิตอาหารสัตว์ใหญ่ระดับประเทศไปจนถึงนายทุนท้องถิ่น นายทุนเหล่านี้มีเครือข่ายให้บริการชาวบ้านตั้งแต่จัดหาเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า ไปจนถึงรับซื้อผลผลิตข้าวโพด ราคาข้าวโพดในตลาดโลกค่อนข้างดี เพราะความต้องการอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับแรงจูงใจแบบใหม่ๆ จากนายทุนทุกปี ได้รับโบนัสเป็นขั้นบันไดตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว หลายคนลุ้นว่าสิ้นปีนี้แล้วคงได้รับรถเครื่องคันใหม่เป็นโบนัส เพราะผลิตได้มากกว่าปีที่แล้วพอสมควร แต่ในข้อเท็จจริง ประสิทธิภาพการผลิตของชาวบ้านไม่ได้เพิ่มขึ้น (หรืออาจจะลดลงด้วยซ้ำจากหน้าดินที่ถูกทำลายลง) จึงหนีไม่พ้นว่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้นต้องมาจากการขยายพื้นที่เพาะปลูก บุกรุกป่า และเผาป่าเพิ่มขึ้นทุกปี
แม้ว่าในอดีตชาวบ้านจะเคยผิดหวังที่ราคาข้าวโพดบางปีต่ำกว่าที่คาดไว้มากและต้องติดหนี้สินเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่เสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะสารเคมีจากยาฆ่าหญ้าตกค้างในร่างกาย แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเห็นว่าการปลูกข้าวโพดเป็นช่องทางเดียวที่มีโอกาสมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าเล่าเรียนของลูกหลานที่คาดหวังให้เรียนจนจบปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยนอกพื้นที่ ค่าอุปกรณ์การเรียนของลูกหลานที่ต้องไม่น้อยหน้าเพื่อน ค่าดอกเบี้ยชำระหนี้ทั้งในและนอกระบบ ค่าผ่อนรถ ค่าโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายชนิดที่ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตชนบท ภูมิคุ้มกันด้านจิตใจของชาวบ้านไม่สามารถต่อสู้กับกระแสบริโภคนิยมและกลยุทธ์การตลาดที่เข้าถึงพื้นที่ชนบทห่างไกลได้
นโยบายของภาครัฐก็มีผลให้เกิดสภาพภูโกร๋นขึ้น บทบาทของนายทุนที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยวสอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก ต้องการเพิ่มรายได้จากการส่งออกให้ได้ตามเป้า โดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
บางรัฐบาลในอดีตหวังดีต้องการเพิ่มรายได้ของชาวบ้านด้วยการประกันรายได้เกษตรกร แต่ขาดฐานข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านและขาดการควบคุมอย่างเป็นระบบ ผลที่เกิดขึ้นคือชาวบ้านเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อนำไปจดทะเบียนขอรับเงินประกันรายได้จากภาครัฐ ซึ่งหนีไม่พ้นว่าต้องเร่งขยายพื้นที่ด้วยการเผาป่าและอัดยาฆ่าหญ้า
ชาวบ้านบางคนเล่าให้ฟังด้วยว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรก็มีส่วนทำให้เกิดสภาพภูโกร๋นเพิ่มขึ้น เพราะสถาบันการเงินแห่งนี้มีเป้าหมายต้องขยายสินเชื่อทุกปี เมื่อชาวบ้านรายใดผ่อนเงินต้นได้จนหนี้สินเริ่มลดลง เจ้าหน้าที่สินเชื่อ (ซึ่งทำงานตามเป้า) จะจูงใจให้ขอสินเชื่อเพิ่มเติมด้วยสารพัดเหตุผล ทั้งเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก ซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร หรือทดลองปลูกพืชเชิงเดี่ยวประเภทใหม่ๆ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหลายคนยังช่วยนายทุนกระจายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาฆ่าหญ้า ให้แก่ชาวบ้านมาโดยต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนที่ชาวบ้านจะมีบัตรเครดิตเกษตรกร
ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ประจำอยู่ในพื้นที่ทุกหน่วยงานขาดกำลังคน ทั้งคนที่คอยควบคุมไม่ให้ชาวบ้านเผาป่า บุกรุกป่าเพิ่มเติม และคนที่จะไปช่วยเหลือชาวบ้านให้เกิดความมั่นคงด้านรายได้ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ระบบราชการควบคุมจำนวนข้าราชการ ส่งผลให้ตำแหน่งข้าราชการเล็กๆ ในพื้นที่ถูกยุบรวมกันเพื่อไปเปิดตำแหน่งให้แก่ข้าราชการระดับสูงในส่วนกลาง แม้ว่าอำเภอเฉลิมพระเกียรติเป็นอำเภอติดชายแดนขนาดใหญ่ มีประเด็นด้านความมั่นคง แต่ในวันนี้มีปลัดอำเภอเพียงสองคน และไม่มีเจ้าหน้าที่เป็นลูกมือเลยสักคน นายอำเภอและปลัดอำเภอต้องรับผิดชอบงานที่ต้องการข้าราชการจำนวนมากกว่านี้หลายเท่านัก นอกจากปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรแล้ว ยังต้องเผชิญข้อจำกัดด้านงบประมาณ และงานแฝงที่ไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นงานรับแขกผู้ใหญ่ที่มาเยือนจังหวัด หรืองานเก็บข้อมูลสารพัดประเภทเพื่อส่งให้หน่วยงานส่วนกลาง เมื่อปริมาณงานมากกว่ากำลังคนและอำเภออยู่ห่างไกลผู้ใหญ่ที่มักให้ความสำคัญกับความชอบมากกว่าความดี จึงไม่น่าแปลกใจที่ข้าราชการในอำเภอห่างไกลเช่นนี้จะอยู่ไม่ทน งานต่างๆ ที่ทำไว้เดินหน้าไม่ได้ ขาดความต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ปัญหาของชาวบ้านในเขตพื้นที่สูงยังไม่ค่อยได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานส่วนกลาง เกษตรอำเภอเล่าให้ฟังว่าในวันนี้ยังไม่มีพืชเกษตรชนิดอื่นที่จะให้ผลตอบแทนแก่ชาวบ้านในเขตพื้นที่สูงได้ดีเหมือนข้าวโพด การพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อทดแทนข้าวโพด รวมทั้งการเพิ่มผลิตภาพของการทำการเกษตรในพื้นที่สูงไม่ใช่เรื่องหลักที่ส่วนกลางสนใจ เราต้องไม่ลืมว่าในขณะที่หน่วยงานราชการหย่อนยาน เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและยาฆ่าหญ้าของนายทุนได้รับการพัฒนาตลอดเวลา
สภาพภูโกร๋นเป็นปัญหาที่คนไทยส่วนใหญ่นึกไม่ถึงเพราะไม่มีโอกาสเห็นด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่คนไทยจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากสภาพภูโกร๋นโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมน้ำแล้งรุนแรง ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสารตกค้างในอาหาร หรือปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาป่า ถ้าเราเกิดโชคดีหยุดไม่ให้มีการบุกรุกและเผาป่าเพิ่มเติม เริ่มกระบวนการปลูกป่าอย่างจริงจัง และมีมาตรการรักษาป่าที่ปลูกใหม่ไว้ได้อย่างยั่งยืน ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 20 ปี ก่อนที่ภูโกร๋นเหล่านี้จะกลับมาเป็นป่าสีเขียวใหม่
แม้ว่าสภาพภูโกร๋นจะเกิดจากการกระทำของชาวบ้านในพื้นที่เป็นหลัก แต่ชาวบ้านมีทางเลือกไม่มากด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและความอยู่รอดของชีวิต ดังนั้นผมคิดว่านายทุนที่เกี่ยวข้อง (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ต้องมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวโพด หรือใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ ต้องแสดงให้เห็นว่าการทำธุรกิจของตนไม่มีส่วนส่งเสริม (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ให้ชาวบ้านบุกรุกป่า เผาป่าเพื่อปลูกข้าวโพด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าบริษัทเหล่านี้นิ่งดูดายไม่ทำอะไรแล้ว ผู้ถือหุ้น ผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเรียกร้องให้บริษัทเหล่านี้เปิดเผยวิธีการทำธุรกิจในเขตพื้นที่สูงอย่างเป็นระบบ รวมทั้งออกมาตรการป้องกันไม่ให้พนักงานหรือคู่ค้าของตนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย ถ้าบริษัทต่างๆ สามารถทำธุรกิจหลักของตนโดยไม่สร้างปัญหาให้สังคมแล้ว จึงจะเรียกได้ว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง จะยั่งยืนกว่าการทำกิจกรรม CSR เพื่อการกุศล หรือประชาสัมพันธ์อย่างที่นิยมทำกัน
สภาพภูโกร๋นที่น่านกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาในระบบที่นายทุนเป็นใหญ่ ชาวบ้านเป็นเหยื่อ และระบบราชการหย่อนยาน จะทำให้ภูโกร๋นระบาดไปอีกหลายพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาพภูโกร๋นซับซ้อนนัก ใครทำอะไรได้ต้องช่วยกันครับ ห้ามนิ่งดูดาย
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร ฉบับวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2556