ThaiPublica > เกาะกระแส > จาก “ปลาป่นถึงข้าวโพด”ห่วงโซ่อุปทานไม่ยั่งยืน พื้นที่ป่าหาย ระบบนิเวศเสียสมดุล ธ.ก.ส.-ผู้บริโภคมีส่วนสำคัญ

จาก “ปลาป่นถึงข้าวโพด”ห่วงโซ่อุปทานไม่ยั่งยืน พื้นที่ป่าหาย ระบบนิเวศเสียสมดุล ธ.ก.ส.-ผู้บริโภคมีส่วนสำคัญ

27 กุมภาพันธ์ 2015


เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ป่าสาละ มูลนิธิโลกสีเขียว และ Ma:D จัดเสวนา “ทำไมเราควรใส่ใจห่วงโซ่อุปทานอาหารยั่งยืน” ในประเด็นปลาป่นจากทะเลไทยและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากภูเขาสูงในภาคเหนือส่งผลกระทบอะไรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดย ศศิวิมล คล่องอักขระ และกรณิศ ตันอังสนากุล เจ้าของงานวิจัย ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิตปลาป่นใน จ.สงขลา และ ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.น่าน

ห่วงโซ่อุปทานเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคอย่างไร

IMG_3037
ศศิวิมล คล่องอักขระ และกรณิศ ตันอังสนากุล

ศศิวิมล คล่องอักขระ กล่าวถึงระบบห่วงโซ่อุปทานว่า ห่วงโซ่อุปทานมีความยาวและซับซ้อนมาก คำว่า “ห่วงโซ่อุปทาน” คือ การจัดการวัตถุดิบ แปรสภาพหรือแปรรูป เพิ่มมูลค่า และส่งมอบให้กับผู้บริโภค อาหารที่กินไปในแต่ละวันจะมีหน้าตาห่วงโซ่อุปทานเป็นอย่างไร เช่น ไก่ทอด ก่อนที่จะมาเป็นไก่ทอดนั้นเป็นอะไรมาก่อน แน่นอนว่า คือ ไก่สด ก่อนหน้านั้นเป็นไก่ในฟาร์ม เป็นลูกเจี๊ยบ ดูเหมือนว่าห่วงโซ่อุปทานของไก่จะไม่ซับซ้อน สั้นๆ ง่ายๆ แต่นี่เป็นอาหารเพียงอย่างเดียว ลองนึกถึงวัตถุดิบจากอาหารอื่นๆ ที่กินไป แต่ละอย่างจะมีใครหรือกิจกรรมอะไรอยู่ในห่วงโซ่บ้าง นี่ยังไม่รวมถึงอาหารเลี้ยงสัตว์ ส่วนประกอบของอาหารเลี้ยงสัตว์มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง

อาหารเลี้ยงสัตว์จะถูกนำมาเลี้ยง หมู ไก่ กุ้ง ปลา โดยหลักแล้วจะประกอบไปด้วย 4 อย่างด้วยกัน คือ อาหารที่ให้พลังงาน โปรตีน พืช และอาหารที่ให้แร่ธาตุ แต่ว่าส่วนประกอบที่สำคัญคือส่วนที่เป็นพลังงานและโปรตีน อาหารที่ให้พลังงาน เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ปลายข้าว ส่วนโปรตีน เช่น กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง ปลาป่น เนื้อป่น กระดูกป่น เป็นต้น

ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ป่าหาย 900 ตร.กม. เกิดภูเขาหัวโล้น แม่น้ำตื้นเขิน

ด้าน กรณิศ ตันอังสนากุล ระบุว่า จากสถิติ คนไทยบริโภคไก่เฉลี่ยปีละ 14.9 กิโลกรัม การที่เราบริโภคไก่มากเท่านี้ แปลว่าต้องใช้อาหารเลี้ยงสัตว์จำนวนมากเช่นกัน จากสถิติของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ในปี 2555 วัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตอาหารประกอบไปด้วยข้าวโพด 53% รวมแล้วประมาณ 6.2 ล้านตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่มหาศาล

นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่ไปจัดทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทานที่ จ.น่าน ได้คุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่นี้ ว่ามีการทำกิจกรรมอะไรบ้าง และกิจกรรมที่ทำส่งผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร ตลอดจนดูแรงจูงใจเพื่อเอาข้อมูลมาจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป

IMG_3038
ปริมาณการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทย ปี 2555

กรณิศกล่าวว่า ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งแม่น้ำน่าน ซึ่งมีต้นกำเนิดอยู่ที่เทือกเขาหลวงพระบาง ชายแดนประเทศลาว เป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญไม่ใช่เฉพาะแค่ภาคเหนือเท่านั้น อย่างที่รู้กันว่าเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญของภาคกลาง น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา 45% มาจากแม่น้ำน่าน หากเกิดเหตุการณ์อะไรกับต้นน้ำ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนปลายน้ำแน่นอน จากสถิติช่วงปี 2543-2552 พบว่าพื้นที่ป่าของ จ.น่านลดลง รวมแล้วประมาณ 900 ตารางกิโลเมตร ขณะเดียวกัน จ.น่านเป็นจังหวัดลำดับที่ 5 ของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงสุดทั่วประเทศ จ.เพชรบูรณ์ ปลูกมากที่สุด รองลงมาเป็น จ.นครราชสีมา จ.เลย จ.ตาก เมื่อดูปริมาณการผลิตแล้ว ในปี 2555 จ.น่าน ปลูกข้าวโพดรวมแล้ว 4 แสนตัน

ในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขายาว-อวน-มวบ จ.น่าน พื้นที่ศึกษาประกอบด้วย 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลพงษ์ ตำบลดู่พงษ์ และตำบลป่าแลวหลวง ใน อ. สันติสุข และตำบลอวน อ. ปัว ซึ่งในอำเภอสันติสุขจะเห็นว่าพื้นที่สูงชันมาก ไม่เหมาะสำหรับการเพาะปลูก ควรจะสงวนเอาไว้ ปริมาณผลผลิตต่อไร่ก็ไม่ได้สูงมาก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ แต่เหตุที่ปลูกข้าวโพดเพราะปลูกง่าย ขึ้นง่าย และเกษตรกรไม่มีทางเลือกจะทำอะไรมากนัก

กว่า 61% ของพื้นที่เพาะปลูกเคยเป็นป่ามาก่อน การที่พื้นที่ป่าหายไปส่งผลต่อสภาพแวดล้อม ด้วยความที่เป็นต้นน้ำ เมื่อภูเขาไม่มีต้นไม้ ก็ไม่สามารถชะลอน้ำ กักเก็บความชุ่มชื้นได้ จะเห็นได้ว่าแม่น้ำลำธารที่อยู่ในพื้นที่ แม่น้ำเปลี่ยนสี ตื้นเขินมากขึ้น

ภูโกร๋น บ้านเปียงซ้อ อ.เฉลิมพระเกียรติ
ภูโกร๋น บ้านเปียงซ้อ อ.เฉลิมพระเกียรติ

ทั้งนี้ ข้าวโพดจะปลูกเป็นรอบ เมื่อสิ้นฤดูกาลปลูกจะมีซังข้าวโพด เกษตรกรก็ต้องกำจัดซากนั้นออกไปก่อนจะปลูกรอบใหม่ วิธีที่ทำคือการเผา เป็นสาเหตุของปัญหาหมอก ควัน และฝุ่น ในภาคเหนือ ถามว่าเกษตรสามารถเตรียมพื้นที่ด้วยวิธีอื่นได้ไหม ได้ แต่ว่ายุ่งยากและมีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ มีการใช้สารเคมีกันมากถึง 3-4 รอบ ในการผลิต 1 ครั้ง มากไปกว่านั้นเกษตรกรไม่ได้ทำตามฉลากข้างผลิตภัณฑ์ แต่ผสมแรงกว่าฉลากเพราะกลัวหญ้าไม่ตาย ซ้ำยังไม่ได้ป้องกันตัวเองจากสารเคมี อาจจะมีแค่ผ้าปิดจมูก ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ และสารเคมีก็จะตกค้างอยู่ในดินและแม่น้ำลำธาร เกษตรกรเองบอกว่าเมื่อก่อนกล้าเก็บผักมากิน เดี๋ยวนี้ไม่กล้าแล้ว

ปลาเล็กปลาน้อยถูกลากขึ้นมาทำอาหารสัตว์ราคาถูก เสียสมดุลนิเวศ กระทบประมงพื้นบ้าน

ศศิวิมล เล่าถึงห่วงโซ่อุปทานของปลาป่น ที่ จ.สงขลาว่า ห่วงโซ่อุปทานปลาป่นมีความซับซ้อนกว่าห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดที่ จ.น่านเล็กน้อย เมื่อเรือประมงจับ “ปลาเป็ด” ขึ้นมาแล้ว ก็จะถูกขายให้กับโรงงานแปรรูปเป็นปลาป่น แล้วถึงจะส่งต่อไปยังโรงงานอาหารสัตว์อีกทีหนึ่ง

Screen Shot 2558-02-26 at 2.13.25 PM
ปลาเป็ด ที่ถูกบีบ อัด อยู่ในเรือจนเละ (http://www.salforest.com/knowledge/trashfish-research-aug)

“ปลาเป็ด” คือ ปลาที่คนสมัยก่อนไม่นิยมกินกัน เมื่อติดอวนขึ้นมาก็จะนำไปเลี้ยงเป็ดและไก่ จึงถูกเรียกว่า ปลาเป็ด ปลาไก่ ซึ่งคนไม่นิยมกินเพราะว่าสภาพไม่ดี หัวขาด ไส้แตก หรือไม่สดแล้ว ซึ่งวัตถุดิบที่จะใช้ผลิตปลาป่นมีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน คือ

  • หนึ่ง ปลาเป็ดแท้ เป็นปลาที่มีขนาดเล็ก เช่น ปลาหลังเขียว ปกติแล้วปลาเป็ดส่วนใหญ่ที่ได้จากเรือจะถูกบีบอัดอยู่ในน้ำเป็นเวลานานจึงมีสภาพเละ ทั้งกุ้ง ปู หมึก อัดมาด้วยกัน อีกชนิดหนึ่ง คือ ปลาเป็ดไม่แท้ เป็นลูกปลาตัวเล็กๆ ที่ติดอวนมา
  • สอง ปลาโรงงาน หรือเศษซากปลาที่ได้มาจากโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำอีกทีหนึ่ง เช่น โรงงานลูกชิ้น โรงงานปลาทูน่า โรงงานปลากระป๋อง ซึ่งได้ตัวส่วนหัว หาง ก้าง ไส้ ที่ไม่ใช้แล้วส่งไปที่โรงงานปลาป่น

“ปลาป่น” ได้วัตถุดิบเป็นปลาเป็ดจากเรือเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นเศษซากที่มาจากโรงงาน ถึงแม้ว่าจะใช้ปลาเป็ดน้อย แต่วิธีได้มาซึ่งวัตถุดิบเป็นวิธีการที่ได้มาอย่างไม่ยั่งยืน ตาอวนที่ใช้มีขนาด 10-25 มิลลิเมตร มีโอกาสสูงที่จะจับลูกปลาหรือสัตว์ทะเลวัยอ่อน ซึ่งเมื่อจับมามากๆ ก็จะทำให้เสียสมดุลระบบนิเวศทางทะเล เพราะไม่มีปลาใหญ่คอยควบคุมสัตว์ชนิดอื่นๆ อย่างหมึก เรือประมงก็จะได้หมึกติดมาเต็มไปหมด แต่มันคือการเสียสมดุลแล้ว เพราะไม่มีปลาคอยกินไข่หมึก และถ้าปล่อยให้ปลาโต จะทำให้ขายได้มากกว่าที่เป็นปลาเป็ดอีกด้วย

นอกจากนี้ การใช้เรืออวนลาก จะลากเอาสัตว์น้ำที่อยู่หน้าดินมาหมด รวมถึงโคนหอยซึ่งเป็นที่อยู่หลบภัยของพวกลูกปลา เมื่อมีปลาน้ำตื้นน้อยลง เครื่องมือหาปลาของชาวประมงรายย่อยก็ใช้ไม่ได้ หน้าบ้านไม่มีปลาให้จับ ออกไปไกลมากก็ไม่ได้ รายได้น้อยลง แม่บ้านก็ต้องออกทำงาน และพ่อบ้านต้องออกเรือไกลขึ้น นานขึ้น พักผ่อนน้อยลง

ข้าวโพด-ปลาป่น ใครได้ ใครเสีย

กรณิศกล่าวถึงผู้เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานข้าวโพด เริ่มต้นตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ผลผลิตจะถูกรวบรวมสินค้าจากเกษตรกรไปขายให้กับพ่อค้าคนกลาง (หัวสีและไซโล) ก่อนที่จะขายให้กับผู้ผลิตอาหารสัตว์ และไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์อีกทอดหนึ่ง ซึ่งผู้บริโภคก็อยู่ในห่วงโซ่นี้ด้วย และยังปฏิเสธไม่ได้ว่าเกษตรกรเป็นผู้ที่สร้างผลกระทบโดยตรง เช่น บุกรุกป่า ใช้สารเคมี และเผาป่า แต่ไม่มีอำนาจในการต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น แถมยังต้องแบกรับความเสี่ยงในการเพาะปลูกพืชทั้งหมดด้วย เช่น ภัยธรรมชาติ และศัตรูพืช

พ่อค้าคนกลาง เป็นผู้ที่อยู่ใกล้กับเกษตรมากที่สุด พ่อค้าคนกลางหลายๆ คนเป็นผู้ปล่อยกู้แก่เกษตรกร หรือให้สินเชื่อในรูปของปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา และเมล็ดพันธุ์ พ่อค้าคนกลางดูเหมือนไม่ได้สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมาก แต่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะมีอำนาจในการต่อรองราคา สุดท้าย ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เรียกว่าเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล และก็มีอำนาจต่อรองสูงสุด ราคาที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ประกาศก็เป็นราคาที่พ่อค้าคนกลางใช้อ้างอิงในการซื้อจากเกษตรกร อาจจะดูว่าไม่ใช่คนเผาป่าเอง แต่ว่าในฐานะที่เป็นคนรับซื้อก็มีส่วนเช่นกัน

อีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน แต่เป็นผู้มีส่วน เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ นั่นคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เกษตรกรแทบจะทั้งหมดกู้จาก ธ.ก.ส. ซึ่งตามหลักแล้วต้องมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินถึงจะกู้ได้ แต่ในทางปฏิบัติพบว่าไม่ต้องใช้ เพราะรวมกลุ่มกันค้ำประกันก็จะได้เงินมาแล้ว

ด้านห่วงโซ่อุปทานของปลาป่น ศศิวิมลระบุว่า มีผู้เล่นอยู่ 3 กลุ่ม คือ หนึ่ง เรือประมง เป็นผู้จับปลาเป็ด สอง โรงงานปลาป่น สาม โรงงานอาหารสัตว์ ผู้สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นเรือก็จริง แต่เรือก็มีแรงจูงใจมาจากโรงงานปลาป่น โรงงานปลาป่นก็ได้รับแรงจูงใจจากโรงงานอาหารสัตว์อีกทอดหนึ่ง หากโรงงานปลาป่นหรือโรงงานอาหารสัตว์ไม่มีเกณฑ์รับซื้อและตรวจสอบย้อนกลับไปว่าได้วัตถุดิบนี้มาอย่างไร ก็จะมีแรงจูงใจที่จะจัดหาวัตถุดิบมาอย่างไม่ยั่งยืน ขณะนี้มีหลายโรงงานเริ่มใช้เกณฑ์ที่ต้องมีเอกสารมายืนยันว่าเป็นปลาเป็ดที่ได้มาจากเรือที่ไม่ผิดกฎหมาย และแน่นอนว่าแรงจูงใจต้องมาจากผู้บริโภคด้วย

ผู้บริโภคต้องรู้ปัญหาและตระหนักว่ามีส่วนในปัญหานั้น

กรณิศกล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้บริโภคมีความสำคัญมากที่จะสร้างความกดดัน ต้องรู้ก่อนว่าขณะนี้มีปัญหาอะไรบ้าง เมื่อรู้แล้วจะทำอะไรได้บ้าง ต้องตรวจสอบย้อนกลับ แต่ก็คงลำบากที่ผู้บริโภคจะไปเดินตามรอย จึงเป็นที่มาของฉลากสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะได้ เมื่อผู้บริโภคมีทางเลือก ผู้บริโภคก็จะเลือกบริโภคสินค้าธรรมดาหรือสินค้าที่ผลิตอย่างยั่งยืน โดยสังเกตจากตราที่กำกับอยู่บนสินค้า นี่ก็เป็นหนทางหนึ่งในการสร้างแรงกดดันให้ผู้ผลิตต้องใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่มาที่มีความยั่งยืนนั่นเอง