ThaiPublica > เกาะกระแส > “เมอร์เซอร์” เผยนายจ้างในไทยมีแนวโน้มปรับขึ้น “เงินเดือน” 4.5% ในปี 2566

“เมอร์เซอร์” เผยนายจ้างในไทยมีแนวโน้มปรับขึ้น “เงินเดือน” 4.5% ในปี 2566

5 พฤศจิกายน 2022


เมอร์เซอร์ เปิดผลสำรวจเทรนด์เงินเดือน-ย้ายงาน ประจำปี 2565-2566 คาดการณ์อัตราการขึ้นค่าตอบแทนในปี 2566 เพิ่ม 4.5% เผยสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวใกล้ระดับก่อนหน้าวิกฤติ ชี้การขึ้น ‘ค่าตอบแทน’ อย่างเดียวไม่ใช่กลยุทธ์ที่ยั่งยืน แต่ควรจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้พนักงาน

เมลลา ดาราแคน หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ ของบริษัทเมอร์เซอร์ ประจําประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่นายจ้างส่วนใหญ่ยังระวังเรื่อง ‘อัตราเงินเฟ้อ’ ที่ปรับตัวสูงขึ้นถึง 6.3% ในปี 2656 แต่คาดว่าในปี 2566 อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลง 2.6% เนื่องจากการปรับตัวเลขในปี 2565 ในระดับที่สูง อย่างไรก็ตาม แนวโน้ม ‘เงินเดือน’ ในปี 2566 จะยังคงใกล้เคียงกับปี 2565 และมีการปรับขึ้นเงินเดือนเพียงเล็กน้อย

ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาตลาดแรงงานในมิติต่างๆ คือ ‘เงินเฟ้อ’ และ ‘ภาวะเศรษฐกิจ’

เมอร์เซอร์ได้จัดทำผลสำรวจ Total Remuneration Survey (TRS) ผ่านการสำรวจองค์กร 636 แห่งใน 15 อุตสาหกรรมในประเทศไทย ในจำนวนนี้ 86% เป็นบริษัทข้ามชาติ โดยสำรวจระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2565 พบว่า การปรับค่าตอบแทนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยที่คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 3.8% ในปี 2566 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ แนวโน้มการปรับขึ้นค่าตอบแทนของไทยที่ 4.5% นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกเล็กน้อย (ไม่รวมอินเดีย ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565) ที่มีอัตราการปรับขึ้นเฉลี่ย 4.4% 

เมลลา ให้ข้อมูลว่า อัตราค่ากลางของค่าตอบแทนที่ปรับสูงขึ้นขึ้นในภูมิภาคเอเชีย สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของค่าตอบแทนในตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีการประมาณการอัตราค่าตอบแทนที่ปรับตัวสูงถึงระดับ 7.1% ในประเทศเวียดนาม เทียบกับ 2.2% ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต่ำที่สุดในภูมิภาค 

จากการสำรวจพบว่า ไม่มีอุตสาหกรรมใดปรับลดอัตราการขึ้นเงินเดือน โดยคาดว่าอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ จะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 4.9%, 4.8% และ 4.8% ตามลำดับ ยกเว้นอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมประกันชีวิต ซึ่งการคาดการณ์การปรับอัตราการขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 4.5% และ 4.0% ตามลำดับ

“การปรับอัตราการขึ้นเงินเดือนนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราเงินเฟ้อ และการที่ค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยปรับขึ้นในช่วงกลางปีที่ผ่านมา แม้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะทำให้มีเงินหมุนเวียนในมือประชาชนมากขึ้นและเพิ่มแรงกดดันให้ภาคธุรกิจ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังคงสดใสเมื่อเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา” เมลลา กล่าว

นายจักรชัย บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “เราเห็นแนวโน้มการโยกย้ายงานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากธุรกิจต่างๆ กลับมาจ้างงานและเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด”

นายจักรชัย กล่าวต่อว่า ธุรกิจไทยอยู่ในช่วงที่มีการแข่งขันที่สูงมาก และมีการแย่งชิงบุคลากรที่มีทักษะความสามารถสูง โดยมีการเสนอรายได้และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเพื่อดึงดูดบุคลากร ประกอบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พนักงานประสบกับภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงานและต้องการความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการขึ้นค่าจ้างเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่ยั่งยืน นายจ้างควรเสนอผลประโยชน์ในด้านอื่นๆ ให้พนักงาน เช่น ความโปร่งใสของค่าจ้าง เส้นทางสู่ความก้าวหน้าในองค์กรที่ชัดเจน สวัสดิการด้านสุขภาพ ตลอดจนแนวทางการทำงานรูปแบบใหม่ เช่น ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น

จากผลสำรวจ ระบุว่า กลุ่มงานและทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานและภายในองค์กรมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ (1) เซลล์หรือฝ่ายขาย (2) วิศวกร และงานด้านวิทยาศาสตร์ (3) ไอที นอกจากนี้ยังมีกลุ่มงาน-ทักษะที่หลายองค์กรบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ารักษายากที่สุด คือ (1) เซลล์หรือฝ่ายขาย (2) วิศวกร และงานด้านวิทยาศาสตร์ และ (3) การเงิน และไอที

ในแง่ของค่าตอบแทนผันแปร ผลสำรวจคาดการณ์การจ่ายโบนัสที่ 1.3 ถึง 2.5 เดือน โดยการจ่ายโบนัสสูงสุดอยู่ที่ 2.4 เดือนจากอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์

นายจักรชัย กล่าวถึงนโยบายในการปรับเปลี่ยนกรอบอัตรากำลังพนักงาน 2566 ว่า มากกว่าครึ่ง (53%) ของบริษัทผู้ตอบแบบสํารวจในประเทศไทย กล่าวว่าจะไม่มีนโยบายในการปรับเปลี่ยนกรอบอัตรากำลังพนักงาน ปี 2566 และ 1 ใน 5 หรือราว 22% ของนายจ้างที่ร่วมการสำรวจกล่าวว่าจะเพิ่มจำนวนพนักงาน ในขณะที่มีเพียง 4% ของนายจ้างระบุว่าจะลดจำนวนพนักงานลง 

ขณะเดียวกัน อัตราการลาออกของพนักงานในปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด ซึ่งมีอัตราสูงกว่า 11.9% เมื่อเทียบกับ 9.4% ในปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยที่อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ คาดว่าจะมีอัตราการลาออกของพนักงานสูงที่สุด