ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(EIC) รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2017 ชะลอลงมาที่ 0.76 % YOY จาก 1.44%YOY ในเดือนก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 0.62% YOY จาก 0.59% YOY (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
เงินเฟ้อทั่วไปที่ชะลอเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยได้แก่ 1) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง ทำให้ดัชนีพลังงานขยายตัวได้ 4.0%YOY จาก 9.1%YOY ในเดือนก่อน และ 2) ราคาอาหารสดลดลงที่-0.6%YOY ปัจจัยหลักมาจากราคาผักสดที่ลดลงตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาไข่และผลิตภัณฑ์นม ราคาข้าวและผลิตภัณฑ์จากแป้งที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้น จากราคาหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าที่กลับมาขยายตัว หลังจากติดลบในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาหมวดเคหสถานที่มีสัดส่วนกว่า 23%YOY ของดัชนีราคาทั้งหมด ยังคงหดตัวที่ -1.2%YOY จากอัตราค่าไฟฟ้าและราคาของใช้ในบ้านที่ลดลง
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคมจะลดลง จากราคาน้ำมันดิบที่ชะลอลงกว่าที่คาดและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงต้นปี อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าอุปสงค์ในประเทศจะทยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งราคาน้ำมันดิบก็ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน คาดว่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (เบรนท์) ถือเป็นการเพิ่มขึ้น 28%YOY จากปีก่อน และค่าเงินบาทก็ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปที่ประมาณ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2017 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยเร่งตัวขึ้นเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.9%YOY
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็มีแนวโน้มฟื้นตัว ตามกำลังซื้อของภาคครัวเรือนในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตรที่ขยายตัวได้กว่า 16%YOY ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2017 นำโดยราคายางพาราและราคาอ้อยที่ปรับสูงขึ้น และยังมีแนวโน้มได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตช้าและไม่แน่นอนซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน และความผันผวนในตลาดการเงินที่อาจทำให้เงินบาทแข็งค่ากว่าที่คาดและกดอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศได้
อีไอซีมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2017 จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำและยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 2.5% ± 1.5% และยังต้องคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงต่อไป