ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์ฯ วิเคราะห์ใช้ดอกเบี้ยต่ำกระตุ้นต่อ ส่วน ธปท. ชี้ควรกลับสู่ภาวะปกติ

สภาพัฒน์ฯ วิเคราะห์ใช้ดอกเบี้ยต่ำกระตุ้นต่อ ส่วน ธปท. ชี้ควรกลับสู่ภาวะปกติ

21 พฤษภาคม 2012


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  เลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ แถลงรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 0.3% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน และปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัว 8.9% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 และขยายตัว 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

โดยปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ 0.3% มาจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต การบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มดีขึ้น นอกจากนี้ สภาพัฒน์ฯ ได้ประกาศประมาณจีดีพี ปี 2555 ไว้เท่าเดิมที่ 5.5-6.5% และประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปเท่าเดิมที่ 3.5-4.0% (รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกและแนวโน้มปี 2555)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ กล่าวในการแถลงข่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัว 0.3% แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังจากวิกฤตน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่การฟื้นตัวยังไม่เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยในบางอุตสาหกรรมการผลิตยังไม่เต็มที่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ของบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเพิ่งเปิดดำเนินการ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่คาดว่าน่าจะเริ่มการผลิตเต็มที่ได้ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

“คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวสู่ภาวะปกติได้ไตรมาสสอง โดยจีดีพีน่าจะโตได้ในอัตรา 4-5% และจีดีพีที่เหลืออีก 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีก็น่าจะขยายตัวได้เฉลี่ยประมาณ 5%” นายอาคมกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายอาคมตั้งข้อสังเกตว่า แม้ปีนี้จะคงประมาณการจีดีพีไว้ที่ 5.5-6.6% หรือค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6% โดยรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการคลังเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงภัยพิบัติน้ำท่วม จากงบประมาณ 2 ส่วน คือ งบกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นฟูหลังน้ำท่วม 120,000 และ งบลงทุนสร้างอนาคตของประเทศอีก 350,000 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจะมีส่วนทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจดีขึ้น และสามารถฟื้นฟูภาคการผลิตกลับมาได้ รวมทั้งการส่งออกที่สามารถแข่งขันได้ แต่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาจากฐานของจีดีพีที่ต่ำมาก ซึ่งทั้งปี 2554 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0.1%

ดังนั้น ในส่วนของรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการคลังในการไปช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงภัยพิบัติน้ำท่วม เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจสูงขึ้นแล้วอยากจะฝากว่า ในเรื่องนโยบายการเงิน หากคิดว่าจะเพิ่มต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนเพื่อจะชะลอเศรษฐกิจนั้นไม่น่าจะใช่ นโยบายภาคการเงินยังต้องดูแลภาคเศรษฐกิจจริงให้ฟื้นตัวให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ก่อน

“ไม่ได้บอกว่าไม่ให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่พูดว่าขอให้ช่วยดูแลเศรษฐกิจของเราให้ฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างเต็มที่ เพราะปีที่แล้วเราประสบปัญหา 3 เดือนสุดท้าย และไตรมาสแรกปีนี้อัตราการบริโภคยังเพิ่มขึ้นน้อยมากคือ 2.7% ซึ่งไม่ถือว่าเป็นอัตราปกติของการบริโภค เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าบอกว่าเศรษฐกิจฟื้นขึ้นร้อนแรง (over heat) คงไม่ใช่ เพราะปัญหาของเรานั้นจะมาจากต้นทุนการผลิตเสียมากกว่าที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ดังนั้น ต้องดูต้นทุนทางการเงินให้เอกชนสามารถลงทุนได้ ทั้งในด้านการปรับตัว การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน” นายอาคมกล่าว

เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวต่อว่า เงินเฟ้อในช่วงต้นปีเร่งขึ้น เพราะราคาน้ำมันที่นำเข้ามีราคาเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงโดยในเดือนมีนาคมเฉลี่ยอยู่ที่ 122 ดอลลาร์/บาร์เรล อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนเมษายนราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มชะลอลงจากเศรษฐกิจยุโรปบางประเทศขยายตัวไม่เต็มที่ และปัญหาของกรีซส่งผลให้ราคาน้ำมันไม่ขยับตัวสูงมากในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ราคาน้ำมันมีสัดส่วนประมาณ 10% ของตะกร้าเงินเฟ้อ เพราะฉะนั้นเมื่อราคาน้ำมันสูงทำให้เงินเฟ้อขยับเพิ่มขึ้นตาม

“เวลานี้รัฐบาลได้ช่วยภาระในเรื่องบ้านหลังแรก รถคันแรก เป็นสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยให้มีโอกาสใช้จ่ายมากขึ้น อีกด้านหนนึ่งก็ช่วยดูแลค่าใช้จ่าย เช่น มาตรการน้ำฟรี ไฟฟรี รถไฟฟรี รวมทั้งส่วนที่เป็นเรื่องกองทุนน้ำมันรัฐบาลก็ดูแลราคาน้ำมันช่วยลดผลกระทบเงินเฟ้อ”

นายอามคมระบุว่า ทั้ง 3 มาตรการข้างต้นเป็นมาตรการทางด้านการคลังทั้งสิ้น เพื่อช่วยดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตเข้าสู่ภาวะปกติได้ แต่อีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าอัตราการลงทุนของภาคเอกชนไทยนั้นตั้งแต่วิกฤติปี 2540 ไม่เพิ่มขึ้นเลย จึงถึงเวลาที่ภาคเอกชนต้องขยายโรงงาน ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่

ตัวอย่างเช่น เรื่องของการขยายสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่สอง การขยายการขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร เรื่องการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคภายในประเทศโดยรถไฟ หรือเชื่อมโยงระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการค้า สร้างรายได้เข้าประเทศ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ นายอาคมเห็นว่าถึงเวลาจำเป็นต้องทำแล้ว

ดังนั้น ถ้าวิเคราะห์เฉพาะเชิงตัวเลขอาจจะมองว่าสูงมาก แต่อย่าลืมว่าปีที่แล้วฐานต่ำมากแค่ 0.1% ถ้าหากวิเคราะห์แบบนี้แล้วบอกว่าจำเป็นต้องดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งก็เห็นว่าทางการมีมาตรการหลายอย่างช่วยดูแลแล้ว อีกด้านหนึ่งถ้าดอกเบี้ยสูงอาจจะไปทำให้การลงทุนชะลอตัว

เพราะฉะนั้น หากนโยบายการเงินจะปรับอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ ตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า เป็นการดำเนินการที่เร็วเกินไปในแง่ของการดำเนินนโยบาย

พร้อมย้ำว่า“ไม่ได้บอกว่าไม่ให้ขึ้น แต่พูดว่าขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ดำเนินนโยบาย” เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ฯ ดูจะสวนทางกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เพิ่งประเมินเศรษฐกิจออกเป็นรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนพฤษภาคม 2555 โดย กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด และปัจจัยเสี่ยงเงินเฟ้อมีเพิ่มขึ้น

โดย นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ผู้แถลงรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อระบุว่า นโยบายการเงินในขณะนี้เป็นนโยบายผ่อนปรนหรือผ่อนคลายเป็นพิเศษ สะท้อนได้จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงยังติดลบ การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำก็เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพราะฉะนั้น เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ แนวนโยบายการเงินก็ต้องปรับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่มีความเห็นว่า เมื่อเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว การดำเนินนโยบายการเงินการคลังก็ควรลดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ

หากดูด้านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ เครื่องชี้ด้านอุปสงค์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันเงินเฟ้อ จากรายงานข้อมูลผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ปรากฏว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกขยายตัว 13.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน ถือว่าอยู่ระดับสูงเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2554 ที่สินเชื่อทั้งปีขยายตัว 14.9%

โดยแบ่งเป็นสินเชื่อธุรกิจ (คิดเป็นสัดส่วน 71% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 13.2% ชะลอลงจาก 14.8% ทั้งนี้เป็นผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เป็นสำคัญ และสินเชื่อ SME (คิดเป็นสัดส่วน 51.7% ของสินเชื่อธุรกิจ) ขยายตัว 14.8% เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 14.4% ณ สิ้นปี 2554

ส่วนสินเชื่อธุรกิจที่ขยายตัวชะลอลง ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต การพาณิชย์ และสาธารณูปโภค ขณะที่สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ยังคงเร่งตัวต่อเนื่อง ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 29% ของสินเชื่อรวม ขยายตัว 15.7% เพิ่มขึ้นจาก 15.4% ณ สิ้นปี 2554 โดยเพิ่มขึ้นในสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นเป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ชะลอตัวลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เนื่องจากประชาชนยังมีความต้องการใช้จ่ายซ่อมแซมหรือซื้อทรัพย์สินทดแทนที่เสียหายจากอุทกภัย

ทั้งนี้ การประเมินภาวะเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ฯ ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องทั้งด้านนโยบายการเงินและการคลัง โดยเชื่อว่าไม่เป็นแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ ธปท. ประเมินว่าไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะอาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และค่อนข้างเป็นห่วงเงินเฟ้อที่มาจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ คือ จากการใช้จ่่ายภาครัฐและเอกชน การขยายตัวของสินเชื่อที่ค่อนข้างแรง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

นี่คือความเห็นต่างของ 2 หน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศ ถือว่ามีนัยสำคัญที่ตลาดต้องจับตามอง โดยเฉพาะความคิดเห็นต่างของสภาพัฒน์ฯ ซึ่งไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาล และเป็นช่วงเวลาการคัดเลือก ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานบอร์ด ธปท. คนใหม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติไปในการประชุม ครม. สัญจรที่กาญจนบุรีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างเสนอให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง