shareholder activist กับการขับเคลื่อน ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG เพื่อแสดงให้เห็นถึง “พลัง” ในการเป็นผู้ถือหุ้น ผลักดันให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้
เมื่อบุคคลใดก็ตามเมื่อได้เข้า “ลงทุน” หรือ “ซื้อหุ้น” ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะมีสถานะเป็น “ผู้ถือหุ้น” หรือเป็น “เจ้าของบริษัท” มีส่วนได้ส่วนเสียจากการดำเนินงานของบริษัท มีสิทธิมีเสียงในบริษัท สามารถตรวจสอบการบริหารงานของฝ่ายบริหารได้
สิทธิของผู้ถือหุ้นเมื่อเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว[1] ประกอบด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ถือหุ้นจะมีสิทธิได้รับเงินปันผล ได้รับข้อมูลข่าวสารของกิจการอย่างต่อเนื่อง ได้เข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนน ได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นออกใหม่ และสิทธิในการบริหารบริษัท เช่น เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น เสนอเพิ่มวาระการประชุม เพิกถอนมติที่ประชุม ติดตามและตรวจสอบการทำงานของกรรมการ
สิทธิในการร้องเรียนและฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายและผลประโยชน์คืนให้กับบริษัท หากกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัททำหน้าที่ไม่เหมาะสม เช่น ขาดความระมัดระวัง หรือไม่ซื่อสัตย์สุจริตจนส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย หากพบเบาะแสการกระทำผิดหรือปัญหาอื่นใดเกี่ยวกับการลงทุนธุรกิจหลักทรัพย์ หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ที่ผ่านมาการตรวจสอบการบริหารงานของฝ่ายบริหาร หรือการเสนอให้บริษัทดำเนินการหรืองดดำเนินการในเรื่องใดๆ ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่จะใช้สิทธิผ่านการประชุมผู้ถือหุ้น เช่น การแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท การไม่เห็นชอบให้บุคคลใดเข้ามาเป็นกรรมการ การเห็นชอบการจ่ายเงินปันผล การเพิ่มทุน เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นบางกลุ่มอาจจะขอเข้าเยี่ยมกิจการ
ในช่วง 2-3 ปีนี้เราได้เห็นการเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้น shareholder action ในการใช้สิทธิผู้ถือหุ้นยื่นข้อเสนอให้บริษัทดำเนินธุรกิจบนหลัก ESG เป็นการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และการกำกับกิจการที่ดี (governance) ผ่านการประชุมผู้ถือหุ้นมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศฝั่งตะวันตก
แต่สำหรับ ClientEarth ซึ่งเป็นองค์กรกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่แข็งขัน กลับใช้สิทธิในการร้องเรียนและฟ้องร้องของผู้ถือหุ้น มากดดันให้บริษัทมีการดำเนินงานด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีการวางแผนและวางเป้าหมายอย่างจริงจัง
ClientEarth[2] บอกว่า ผู้ถือหุ้นต้อง take action เพราะผู้ถือหุ้นที่ใช้เงินลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่งย่อมมีส่วนได้เสียในความสำเร็จของบริษัทนั้น และมีพลังที่จะ take action เมื่อผลประโยชน์มีความเสี่ยง พลังเหล่านี้มีการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อบังคับให้บริษัทต่างๆ ดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อธุรกิจ และลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้คนและโลกให้เหลือน้อยที่สุด
ClientEarth บอกว่า ผู้ลงทุนสามารถ take action ได้หลายวิธี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีกระแสของการดำเนินการผ่านมติของผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถส่งข้อเสนอเพื่อลงคะแนนเสียงในการประชุมสามัญประจำปีของบริษัท เช่น เรียกร้องให้บริษัทกำหนดเป้าหมายสภาพอากาศที่เข้มงวดขึ้น
อีก action หนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ Shareholder Litigation การ take action ผ่านการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายของผู้ถือหุ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ ClientEarth เป็นผู้ถือหุ้นรายแรกของโลกที่เริ่มฟ้องร้องคณะกรรมการบริหารของเชลล์ (Shell) เนื่องจากไม่ได้เตรียมการเพียงพอสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ กรรมการมีหน้าที่ตามกฎหมาย (fiduciary duties) ในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท ผู้ถือหุ้นสามารถ take action เพื่อปกป้องบริษัทเมื่อกรรมการอาจไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ได้
เรามาดูกันว่า ClientEarth ฟ้องบริษัทใดบ้าง…
ฟ้อง Enea บริษัทไฟฟ้าถ่านหินโปแลนด์รายแรก
ClientEarth ซึ่งถือหุ้นใน Enea SA บริษัทพลังงานของโปแลนด์ได้ยื่นฟ้องบริษัทภายใต้กฎหมาย Commercial Companies Code ของโปแลนด์ ต่อ Regional Court เมือง Poznan ในวันที่ 25 ตุลาคมปี 2018 [3] ซึ่งนับเป็นการท้าทายทางกฎหมายของผู้ถือหุ้นเป็นครั้งแรกของโลก เพื่อให้ระงับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน Ostroleka C ด้วยความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ClientEarth ระบุว่า การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่บริษัทต้องปกป้องตัวเองในศาล เนื่องจากล้มเหลวในการจัดการความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเมื่อทำการตัดสินใจลงทุนครั้งสำคัญ
โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายของโปแลนด์ มีกำลังการผลิต 1 จิกะวัตต์ มูลค่า 1.2 พันล้านยูโร และเป็นประเด็นถกเถียงอย่างดุเดือดในสื่อของโปแลนด์มานานหลายปี เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดพลังงานของโปแลนด์พยายามทำความเข้าใจว่าโครงการนี้มีความเป็นไปได้ทางการเงินอย่างไร ClientEarth ได้ฟ้องร้อง Enea เจ้าของร่วมของโครงการ บนพื้นฐานที่ว่าการลงทุนก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเงินที่สำคัญต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น[4]
โครงการนี้ยังขาดเงินทุนกว่า 3 พันล้าน PLN (สกุลเงินโปแลนด์) แต่ Enea และหุ้นส่วนร่วมทุน Energa ก็ยังดึงดันที่จะผลักดัน ถึงขั้นที่กำหนดวันวางศิลาฤกษ์เพื่อการก่อสร้างไว้ล่วงหน้า

ผู้ถือหุ้นของ Enea และ Energa ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเงินและสิ่งแวดล้อมของโครงการมาเป็นเวลานาน ผู้จัดการสินทรัพย์ระดับโลกมูลค่า 1 ล้านล้านยูโร Legal & General Investment Management ซึ่งลงทุนในทั้ง Enea และ Energa แสดง “ความกังวลอย่างมาก” เกี่ยวกับ Ostroleka C และได้เขียนจดหมายถึงทั้งสองบริษัทพร้อมกับนักลงทุนสถาบันรายใหญ่อีก 4 รายเมื่อปี 2018
ก่อนที่ศาลจะตัดสิน Energa มีการประชุมสามัญในเดือนมิถุนายนปี 2019 และผู้ถือหุ้นได้สอบถามอีกครั้งเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลที่จะสร้างโรงไฟฟ้าจากมุมมองทางการเงิน ซึ่ง Energa ยอมรับว่า “ขนาดของการลงทุนเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการจัดหาเงินทุน” แต่ก็ยังยืนยันว่ามีความเป็นไปได้ทางการเงิน
Enea และ Energa คว้าสัญญาการจำหน่ายกระแสไฟให้กับ Ostroleka C และเป็นแหล่งรายได้หลักของโครงการ แต่โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะเผชิญกับบทลงโทษทางการเงินอย่างน้อย 8 เดือนหากไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้ทันตามกำหนด ขณะที่ผู้เล่นหลักรายอื่นๆ ในภาคพลังงานของโปแลนด์ ต่างหันไปหาพลังงานทางเลือกที่ถูกกว่า เช่น พลังงานลม
Marcin Stoczkiewicz หัวหน้าสำนักงานในโปแลนด์ของ ClientEarth กล่าวว่า “นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนและเป็นโอกาสสำคัญสำหรับบริษัทต่างๆ และสำหรับอุตสาหกรรมโดยรวม การดำเนินโครงการนี้สร้างภาระที่ไม่จำเป็นต่อรัฐและผู้เสียภาษี และไม่มีความจำเป็นสำหรับความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
“Enea และ Energa ต้องมองไปที่อนาคตของพลังงานในโปแลนด์ มีศักยภาพมากมายในพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่มีราคาถูกกว่า”
ClientEarth ท้าทายมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2018 ของบริษัทเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าด้วยเหตุผลหลายข้อ ซึ่งสองในข้อฟ้องร้องนั้นคือ (1) เป็นคำสั่งที่ไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการบริหารของบริษัท ดังนั้นจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และ (2) จะสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของบริษัท จึงควรถูกยกเลิก
วันที่ 1 สิงหาคม 2019 ศาลได้ตัดสินให้ ClientEarth เป็นฝ่ายชนะในข้อฟ้องร้องแรก คือ มติที่เห็นชอบให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่จำเป็นที่จะต้องพิจารณาต่อว่าจะมีผลเสียหายต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของบริษัทจากความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศหรือไม่
ปีเตอร์ บาร์เนตต์ ทนายความของ ClientEarth ซึ่งรับผิดชอบคดีนี้กล่าวว่า “นับว่าเป็นผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้ถือหุ้นของ Enea และสำหรับสภาพอากาศ โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นทรัพย์สินด้อยค่า ที่มีเอกสารความเสี่ยงทางการเงินที่ชัดเจนและครบถ้วน
“บริษัทและกรรมการมีหน้าที่รับผิดชอบทางกฎหมาย ในการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ และต้องรับผิดชอบหากพวกเขาไม่ดำเนินการ
… Enea และ Energa ควรยุติโครงการนี้ก่อนที่บริษัทและผู้ถือหุ้นต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น”
ClientEarth ระบุว่า ชัยชนะในศาลทำให้ Enea ระงับการระดมทุนและการก่อสร้าง Ostroleka C เนื่องจากความกังวลทางเศรษฐกิจ นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่รวมถึง Legal and General Investment Management สนับสนุนการฟ้องร้องครั้งนี้
ฟ้องบอร์ด Shell ล้มเหลวในการนำธุรกิจสู่ Net Zero

ClientEarth ในฐานะผู้ถือหุ้น ได้แจ้งให้เชลล์ทราบถึงการฟ้องร้อง ต่อผู้บริหารและกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารของบริษัทรวม 13 คน ซึ่งนับเป็นกรณีแรกที่ต้องการให้กรรมการบริษัทต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว จากการที่ไม่เตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน
ClientEarth ชี้ว่า การที่คณะกรรมการไม่ได้จัดทำและดำเนินกลยุทธ์ด้านสภาพอากาศที่สอดคล้องกับข้อตกลงปารีสอย่างแท้จริงนั้นเป็นการละเมิดหน้าที่ของพวกเขาภายใต้ UK Companies Act ซึ่งภายใต้กฎหมายฉบับนี้ คณะกรรมการของ Shell มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ (1) จะต้องดำเนินการในลักษณะที่ส่งเสริมความสำเร็จของบริษัท และ (2) ใช้ความระมัดระวัง ทักษะ และการดูแลใส่ใจอย่างเหมาะสม
พอล เบนสัน ทนายความของ ClientEarth กล่าวว่า “เราเชื่อว่ามีเหตุผลเพียงพอในการยืนยันว่า คณะกรรมการของ Shell ผิดพลาดในการบริหารจัดการกับความเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่คาดการณ์ได้และมีผลชัดซึ่งบริษัทกำลังเผชิญอยู่
“แม้ Shell จะมีกำไรในปัจจุบัน แต่ความล้มเหลวในการเตรียมบริษัทอย่างเหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ มีแต่จะเพิ่มความเปราะบางของบริษัทจากความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ด้อยค่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้สินทรัพย์เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลงอย่างมาก”
ClientEarth กล่าวว่า การดำเนินการฟ้องร้องของผู้ถือหุ้นครั้งนี้เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของ Shell เพื่อให้แน่ใจว่าผลกำไรในระยะสั้นไม่ได้แลกกับความยั่งยืนทางธุรกิจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของบริษัท รวมถึงผู้ถือหุ้นและพนักงาน
“โลกธุรกิจมีตัวอย่างของบริษัทที่ล้มเหลวในการปรับตัวเต็มไปหมด Shell เสี่ยงที่จะเป็นเหมือน Kodak และ Blockbuster เว้นเสียแต่ว่าคณะกรรมการจะปรับเปลี่ยนแนวทาง คุณค่าในระยะยาวจะถูกกัดกร่อนและถูกทำลายในที่สุด”
เบนสันกล่าวว่า “ยิ่งคณะกรรมการล่าช้ามากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่บริษัทจะต้องดำเนินการอย่างฉับพลัน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันเชิงพาณิชย์และเผชิญกับความท้าทายของการพัฒนาด้านกฎระเบียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ผู้ถือหุ้นของ Shell ต้องการความมั่นใจว่าบริษัทกำลังใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพในการก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก และดำเนินการตามเป้าหมายด้านสภาพอากาศอย่างแท้จริงตามที่กล่าวไว้”
ในช่วงการประกาศผลประกอบการทั้งปีในเดือนกุมภาพันธ์ คณะกรรมการของ Shell ได้ประกาศเพิ่มการจ่ายเงินปันผลของบริษัทและแผนการซื้อหุ้นคืนหลังจากรายงานผลกำไร 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ การประกาศดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ครัวเรือนกำลังเผชิญกับปัญหาค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสงครามในยูเครนทำให้ตลาดพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลปั่นป่วน
“การเพิ่มการจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนอาจทำให้นักลงทุนสงบลงได้ชั่วคราว แต่วิธีการดังกล่าวเป็นการมองในระยะสั้น หากเป็นไปตามที่คณะกรรมการบอกไว้ เงินมีความสำคัญอย่างมากในการเตรียมบริษัทให้พร้อมสำหรับ net zero”
“สัดส่วนการลงทุนในปัจจุบันเพื่อการเปลี่ยนผ่านของเชลล์นั้นค่อนข้างน้อย จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับระยะยาวมากขึ้นและลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อหลุดพ้นจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและความผันผวน”
บทบาทกรรมการกับ ESG
แต่ก่อนที่ ClientEarth จะดำเนินการฟ้องร้องได้ จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลสูงก่อนจึงจะดำเนินคดีกับกรรมการในนามของบริษัท (derivative action)[6]ได้ ศาลจะไม่อนุญาตให้ดำเนินการหากคณะกรรมการพิสูจน์ได้ว่า (1) กรรมการที่ทำหน้าที่ตามหน้าที่ทั่วไปในการส่งเสริมความสำเร็จของบริษัทไม่ได้พยายามดำเนินการให้ฟ้องร้องคดีตามสิทธิของผู้ถือหุ้นฝ่ายข้างน้อย (Derivative Claim) หรือ (2) การดำเนินการที่เสนอนั้นเป็นการฟ้องคดีแทนบริษัท (derivative action)ที่ได้รับอนุญาตจากบริษัท ซึ่งกรณีนี้น่าจะเข้าข่ายข้อแรกมากกว่า ส่วนข้อหลังสันนิษฐานว่ากลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านพลังงานของเชลล์(Energy Transition Strategy)มีการลงนามโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในนามของบริษัท
อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง ClientEarth ในอังกฤษในฐานะผู้ถือหุ้น ถือว่าเป็นครั้งแรกที่เรียกร้องกรรมการรับผิดเป็นการส่วนตัว และยังเป็นความพยายามครั้งแรกที่จะให้กรรมการของบริษัทรับผิดชอบต่อการไม่เตรียมพร้อมอย่างเหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และเพื่อให้คำนึงถึงหน้าที่ของกรรมการในด้านการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ
อย่างไรก็ตาม กรณีของ ClientEarth ก็ไม่ใช่ตัวอย่างแรกของการดำเนินการของผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเราได้เห็นการดำเนินการด้วยกลไกอื่นๆ มาแล้ว รวมถึงข้อเสนอของผู้ถือหุ้นที่ขอให้บริษัทจัดทำแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเสนอให้ผู้ถือหุ้นลงคะแนนเสียง
ตัวอย่างของแคมเปญที่ประสบความสำเร็จ คือ Exxon ในเดือนพฤษภาคม 2021 ที่ต้องแต่งตั้งกรรมการใหม่ที่มีความรู้ด้านสภาพอากาศ ซึ่งเป็นตัวแทนของ Engine No.1 ซึ่งชี้ว่า การที่บริษัทไม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงทางการเงินที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะส่งผลให้มูลค่าลดลง และในเดือนเดียวกัน ผู้ถือหุ้นของ Chevron ลงมติเห็นชอบให้บริษัทกำหนดเป้าหมายที่เข้มงวดเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในขอบเขตที่ 3
สิ่งที่ ClientEarth แสดงให้เห็น คือ ผู้ถือหุ้นจะยังคงเรียกร้องให้ธุรกิจต่างๆ มีแผนที่เชื่อถือได้ในการจัดการกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และอาจเริ่มเห็นความท้าทายมากขึ้น เพราะมีบริษัทจำนวนมากขึ้นที่เริ่มเผยแพร่แผนงาน
แต่การฟ้องร้องอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง จากการลงคะแนนเสียงเรื่องสภาพภูมิอากาศของผู้ถือหุ้น ไปสู่การที่ผู้ถือหุ้นที่มองมากขึ้นว่า คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพอากาศอย่างไร และอาจจะฟ้องกรรมการหากเห็นว่าจัดการความเสี่ยงด้านสภาพอากาศผิดพลาด
บริษัทควรมีส่วนร่วมเชิงรุกกับผู้ถือหุ้นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ถือหุ้นเข้าใจแผน ESG ของบริษัทอย่างถ่องแท้[7] และแนวทางที่ผู้ถือหุ้นจะส่งเสริมความสำเร็จในระยะยาวของบริษัท
แหล่งข้อมูล
[1] ความรู้ผู้ลงทุน. https://www.sec.or.th/th/pages/investors/rightshareholder.aspx
[2] ClientEarth.2022. Five leading shareholder actions.
https://www.clientearth.org/latest/latest-updates/stories/5-leading-shareholder-actions/
[3] Climatecasechart.2018.ClientEarth v Enea.
http://climatecasechart.com/non-us-case/clientearth-v-enea/
[4] ClientEarth.2019.Major court win shows power of corporate law to fight climate change.
https://www.clientearth.org/latest/latest-updates/news/major-court-win-shows-power-of-corporate-law-to-fight-climate-change/
[5] ClientEarth.2022. ClientEarth starts legal action against Shell’s Board over mismanagement of climate risk.
https://www.clientearth.org/latest/press-office/press/clientearth-starts-legal-action-against-shell-s-board-over-mismanagement-of-climate-risk/
[6] Lexology.2022.ClientEarth v Shell: Is the Climate Changing for Directors?https://www.lexology.com/library/detail.aspx?g=d019514b-2c4f-466d-9079-6ecd26724c6d
[7]Simmons+Simmons.2022. Shareholder argues directors have a duty to manage climate risks.
https://www.simmons-simmons.com/en/publications/cl13q5v9e2axb0a75y3y4ciox/shareholder-argues-directors-have-a-duty-to-manage-climate-risks