ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกจัดอันดับประเทศน่าลงทุน ปี 2013 ไทยหล่น – สิงคโปร์แชมป์ 7 ปีซ้อน

ธนาคารโลกจัดอันดับประเทศน่าลงทุน ปี 2013 ไทยหล่น – สิงคโปร์แชมป์ 7 ปีซ้อน

25 ตุลาคม 2012


รายงานผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ พ.ศ. 2555: กฎข้อบังคับที่ดีกว่า สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Doing Business 2013: Smarter Regulations for Small and Medium-Size Enterprises)
รายงานผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ พ.ศ. 2555: กฎข้อบังคับที่ดีกว่า สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Doing Business 2013: Smarter Regulations for Small and Medium-Size Enterprises)

ธนาคารโลกเผย ประเทศไทยอันดับตก ผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี 2013 จากอันดับที่ 17 ในปีที่แล้วมาอยู่ที่ 18 ในปีนี้ พบหลายประเทศทั่วโลกพัฒนาก้าวกระโดด สิงคโปร์ยังครองแชมป์ประเทศน่าลงทุนทำธุรกิจ 7 ปีซ้อน ตามมาด้วยฮ่องกงและนิวซีแลนด์ ชี้ 10 ปัจจัยการให้คะแนน ไทยโดนประเทศอื่นแซงหน้า

Doing Business 2013 ของธนาคารโลกคืออะไร

บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศและธนาคารโลกได้ร่วมกันจัดทำรายงานประจำปีเรื่อง รายงานผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดพิมพ์รายงาน Doing Business ประจำปี 2547 เป็นฉบับแรก และฉบับปัจจุบันเป็นฉบับที่ 10

ดัชนีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจจะจัดอันดับประเทศจาก 1 ถึง 185 โดยการจัดอันดับของแต่ละประเทศจะถูกคำนวณจากค่าเฉลี่ยโดยปรกติของอันดับร้อยละของแต่ละหัวข้อ 10 หัวข้อ ได้แก่ ความยากง่ายในการเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุน การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง การปิดกิจการ และสุดท้ายคือความยากง่ายในการขอใช้ไฟฟ้า

หัวข้อเหล่านี้อยู่ภายใต้ตัวชี้วัดสองประเภท ประเภทแรก คือ ตัวชี้วัดที่ตรวจสอบเวลาและการเคลื่อนไหว ซึ่งจะประเมินความมีประสิทธิภาพที่ผู้ประกอบการในประเทศที่สามารถดำเนินธุรกรรมให้แล้วเสร็จ โดยปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดตั้งบริษัทและการเชื่อมต่อขอใช้ไฟฟ้า

ตัวชี้วัดประเภทที่สองจะประเมินคุณสมบัติเฉพาะเจาะจงของกฎหมายทางธุรกิจ ซึ่งนำมาบังคับใช้กับกรณีที่ถูกกำหนดเป็นมาตรฐาน เช่น ตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับการคุ้มครองนักลงทุน และการขอสินเชื่อ ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ ประเทศจะได้รับคะแนนสูงขึ้นหากมีกฎหมายการคุ้มครองนักลงทุนและการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

โดยการจัดอันดับ ได้ให้ความสำคัญกับกฎหรือระเบียบที่บังคับใช้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศ ใน 11 ขั้นตอนสำคัญของวัฏจักรธุรกิจ เริ่มตั้งแต่การก่อตั้งบริษัท การขออนุญาตก่อสร้าง การเชื่อมต่อไฟฟ้า การจดทะเบียนสินทรัพย์ การขอสินเชื่อ การคุ้มครองนักลงทุน การชำระภาษี การค้าข้ามพรมแดน การบังคับใช้สัญญา การจัดการกับการล้มละลาย ไปจนถึงการจ้างงาน

ในการจะทำให้ข้อมูลระหว่างประเทศต่างๆ สามารถเปรียบเทียบกันได้ ตัวชี้วัดจะต้องกำหนดให้มีมาตรฐานและมีข้อสมมติที่มีความจำเพาะเจาะจง เช่น ชนิดของธุรกิจ ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นบริษัทจำกัด และดำเนินการอยู่ในเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ ซึ่งแม้ว่าวิธีนี้จะช่วยให้สามารถเปรียบเทียบประเทศต่างๆ ได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัด

นอกจากนี้ แม้ว่ารายงาน Doing Business จะช่วยประเมินโครงสร้างทางกฎหมายที่บังคับใช้กับธุรกิจในประเทศในหลายๆ มิติที่สำคัญ แต่ก็ไม่สามารถประเมินสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความสำคัญต่อธุรกิจและนักลงทุนหรือที่มีผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้ทุกแง่มุม ตัวอย่างเช่น รายงาน Doing Business ไม่ได้มีมาตรวัดด้านความมั่นคง เสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค การทุจริต ทักษะแรงงานของประชากร ความเข้มแข็งขององค์กรหรือสถาบัน หรือคุณภาพของการให้บริการด้านสาธารณูปโภค (ที่นอกเหนือไปจากการให้บริการด้านการค้าข้ามพรมแดนและการขอใช้ไฟฟ้า) ตลอดจนไม่ได้มุ่งเน้นในด้านกฎระเบียบซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนจากต่างประเทศ

การจัดอันดับของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในรายงาน Doing Business 2013 – ที่มา: World Bank
การจัดอันดับของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในรายงาน Doing Business 2013 – ที่มา: World Bank

ไทยอันดับหล่น จากที่ 17 มาเป็น 18 ในปีนี้

รายงานผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ พ.ศ. 2555: กฎข้อบังคับที่ดีกว่า สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Doing Business 2013: Smarter Regulations for Small and Medium-Size Enterprises) จากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศและธนาคารโลก ซึ่งครอบคลุมผลการศึกษาระหว่างเดือนมิถุนายน 2554 ถึงเดือนมิถุนายน 2555 ระบุว่า ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎข้อบังคับที่เป็นมิตร และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากที่สุดประเทศหนึ่ง ติดอยู่ใน 20 ลำดับแรกของการจัดอันดับ แต่ลำดับของประเทศไทยลดต่ำลงกว่าปีที่แล้ว 1 อันดับ คือจากลำดับที่ 17 ในปี 2012 มาอยู่ที่ลำดับ 18 ในปี 2013

เมื่อพิจารณาตามปัจจัยการให้คะแนนทั้ง 10 ด้าน พบว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาไปอยู่ดันดับที่ดีขึ้นเพียง 2 ด้าน คือ ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน และการบังคับข้อตกลงให้เป็นไปตามสัญญา ขณะที่ด้านการการคุ้มครองผู้ลงทุนและการค้าระหว่างประเทศยังคงอยู่ในอันดับเดิม ส่วนปัจจัยด้านอื่นๆ มีอันดับที่ลดลงจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยไม่ได้มีการพัฒนามากขึ้นกว่าปีก่อน แต่อาจเป็นเพราะมีประเทศอื่นที่มีการพัฒนามากกว่าประเทศไทยในปีนี้

จากรายงานผลการจัดอันดับในปีนี้ระบุว่า ประเทศไทยได้ทำให้ต้นทุนด้านภาษีลดลงโดยการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

“หน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยได้ร่วมมือกัน เพื่อเอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการประกอบธุรกิจ” นางแอนเนต ดิกสัน ผู้อำนวยการธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าว “ปัจจัยดังกล่าว และปัจจัยอื่นๆ เช่น การปรับปรุงการศึกษาและการสนับสนุนด้านนวัตกรรมจะช่วยให้ประเทศไทยดึงดูดนักลงทุนและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน”

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ช่วยทำให้การจัดตั้งธุรกิจใหม่ง่ายขึ้น โดยอนุญาตให้นายทะเบียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นผู้รับข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท ซึ่งช่วยลดขั้นตอนที่ใช้ในการจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทย

“ประเทศไทยยังคงความพยายามที่จะลดต้นทุนและเวลาการประกอบธุรกิจ ซึ่งแนวทางนี้ ได้ดำเนินการควบคู่กับการปฏิรูป โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะและส่งเสริมให้มีการแข่งขันสูงขึ้นในภาคบริการ จะช่วยเพิ่มการลงทุนและปรับปรุงการดำเนินงานทางธุรกิจ” นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารโลก กล่าว

สิงคโปร์ครองแชมป์อันดับหนึ่ง 7 ปีซ้อน

ผลการศึกษาในปีนี้พบว่า สิงคโปร์ยังคงรั้งอันดับหนึ่งต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 7 ในขณะที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงตามมาเป็นลำดับที่ 2 โดยประเทศอื่นๆ ที่ติดอันดับ 10 ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) จอร์เจีย และออสเตรเลีย ตามลำดับ

โดยประเทศที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดที่สุดจากปีที่ผ่านมา คือ ประเทศโปแลนด์ ที่ขึ้นมาจากอันดับที่ 74 ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 55 ในปีนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน จ่ายภาษี การบังคับใช้สัญญา และการแก้ไขกฎหมายล้มละลาย ขณะที่ศรีลังกาเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านอันดับมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียประจำปีนี้

รายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจพบว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก 23 ประเทศ ได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกฎข้อบังคับให้เป็นมิตรต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้นตั้งแต่ปี 2548 โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศจีนมีความรุดหน้ามากที่สุดในการปรับปรุงกฎข้อบังคับทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการในประเทศ

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกถึง 11 ประเทศ จาก 24 ประเทศ มีการปรับปรุงข้อบังคับทางธุรกิจในปีที่ผ่านมา

ข้อมูลเพิ่มเติม
เว็บไซต์ Doing Business, ข้อมูลประเทศไทย
รายงานฉบับสมบูรณ์ Doing Business 2013
รายงานฉบับสมบูรณ์ Doing Business 2013 Economy Profile : Thailand