ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ นำ ครม. ยืนไว้อาลัยโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู-มติ ครม. ทุ่ม 5,116 ล้าน สร้าง “ศูนย์สุขภาพฯ อันดามัน”

นายกฯ นำ ครม. ยืนไว้อาลัยโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู-มติ ครม. ทุ่ม 5,116 ล้าน สร้าง “ศูนย์สุขภาพฯ อันดามัน”

11 ตุลาคม 2022


ภายหลังประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดราษฎร์สามัคคี ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นายกฯนำ ครม. ยืนไว้อาลัยโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู-ตั้งบอร์ดปราบยาเสพติด-รื้อเกณฑ์ขอรับพระราชทานอภัยโทษคดียาเสพติด-มติ ครม. ทุ่ม 5,116 ล้าน สร้าง “ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน” ภูเก็ต-เวนคืนที่ดิน “บางแค –หนองแขม” ทำถนนเชื่อม “ทวีวัฒนา-บางบอน 3”-จัดงบฯ 6,077 ล้าน ก่อสร้างระบบน้ำประปา 19 โครงการ-ตั้ง “เทพสุ บวรโชติดารา” ขึ้นเลขาธิการ ปปง.

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ และตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรี

นำ ครม. ยืนไว้อาลัยโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู

นายอนุชา กล่าวว่า ก่อนเริ่มการประชุม ครม. วันนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระราชทานกำลังใจ และพระราชทานความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ จากเหตุสลดใจที่เกิดขึ้นที่ศูนย์เด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สร้างความสะเทือนใจแก่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญคณะรัฐมนตรีร่วมยืนไว้อาลัยประมาณ 1 นาที

นายกรัฐมนตรีนำ ครม. ยืนไว้อาลัยโศกนาฎกรรมที่จังหวัดหนองบัวลำภู
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

กำหนดให้ยาเสพติดเป็น ‘วาระแห่งชาติ’

เนื่องจากผู้ก่อเหตุจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ดังนั้น รัฐบาลจึงเน้นย้ำเรื่องการปราบปราบยาเสพติดและกำหนดให้ ‘ยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ’ โดย นายอนุชา เสริมว่า รัฐบาลต้องเร่งบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในการป้องกัน ปราบปราบยาเสพติดให้เข้มงวดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ครอบคลุมทั้งการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับพิษภัยยาเสพติดในทุกช่องทาง เปิดช่องทางเพิ่มเติม ให้ประชาชนช่วยสอดส่องเป็นหูเป็นตา มีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสและแชร์ข้อมูล อีกทั้งทบทวนมาตรการนำเสนอ หรือเผยแพร่ภาพ เสียง หรือบทสัมภาษณ์ หรือข่าวสารรวมทั้งการนำเข้าข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อเคารพสิทธิ์ของผู้เสียหายและป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

ตั้งบอร์ดปราบยาเสพติด

นายอนุชา กล่าวต่อว่า พลประยุทธ์ มีข้อสั่งการให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรีทุกท่าน และรัฐมนตรีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้เข้มงวด และบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จัดทำระเบียบหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป

รื้อเกณฑ์ขอรับพระราชทานอภัยโทษคดียาเสพติด

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้เร่งรัดจับกุม ดำเนินคดี และลงโทษผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นการผลิตการนำเข้าการนำผ่านและการลักลอบจำหน่ายยาเสพติด และสารตั้งต้นต่างๆ ยึดทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด การทำลายยาเสพติดที่ได้จากการยึดโดยเร็ว รวมถึงการทบทวนหลักเกณฑ์การเสนอขอรับพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุน รวมทั้งการประสาน และให้ความช่วยเหลือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกำจัดแหล่งผลิตยาเสพติด และส่งเสริมอาชีพทดแทน อีกทั้งให้มีมาตรการลงโทษข้าราชการ พนักงานรัฐลูกจ้างรัฐและวิสาหกิจ ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

นายอนุชา เสริมว่า รัฐบาลยังต้องเร่งบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด เยียวยา ฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้เสพ ให้กลับมาเป็นคนดีและพลังบวกของสังคม ไม่หวนกลับไปติดยาเสพติดอีก การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัวอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญของสังคม รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพและหางานให้ รวมถึงการเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้เสียหาย ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม รวมทั้งการเข้าถึงจิตแพทย์ของประชาชนทั่วไปเพื่อบำบัดรักษา

คุมเข้มพกพาอาวุธปืน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ-ปชช.

นายอนุชา กล่าวต่อว่า รัฐบาลกำหนดมาตรการเข้มงวดในการควบคุม และพกพาอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน และนายกฯ สั่งการให้มีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวกับยาเสพติดที่บังคับใช้อยู่ และที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและมาตรการในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่เข็มข้นนี้ด้วย

จัดงบกลาง 2.3 หมื่นล้าน ฟื้นฟู-เยียวยาน้ำท่วม

ดร.รัชดา กล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า พลเอกประยุทธ์เน้นย้ำเรื่องการฟื้นฟู-เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม และเมื่อสถานการณ์บรรเทาลง ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสำรวจความเสียหาย เพื่อทำเรื่องเบิกจ่ายงบประมาณ และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ ดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตของเกษตรกร ตลอดจนเตรียมงบประมาณซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน ทางหลวงชนบท ฯลฯ คาดว่าจะใช้งบประมาณอย่างน้อย 2.3 หมื่นล้านบาทจากงบกลาง

“คาดว่าเบื้องต้นการฟื้นฟูเยียวยาครั้งนี้จะใช้งบประมาณอย่างน้อย 2.3 หมื่นล้านบาท ตามระเบียบข้อกฎหมาย อะไรเพิ่มเติมก็ยินดีดูแล เพื่อให้การดูแลทั่วถึงและครบถ้วนตามความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ส่วนความเสียหายทั้งหมดยังไม่ได้พูดใน ครม. ปัญหาที่เกิดขึ้น ชาวบ้านอยากได้การดูแลเยียวยาเงินทองไปใช้จ่ายซ่อมแซม และฟื้นฟูความเสียหาย” ดร.รัชดา กล่าว

ชูแผนพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ รับมือน้ำท่วมระยะยาว

ดร.รัชดา ตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องมาตรการการดูแลและป้องกันน้ำท่วมในระยะยาวว่า “ระยะยาวมี สทนช. กองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่บูรณาการการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง แต่เราต้องยอมรับในปัจจัยสภาพภูมิอากาศว่าในช่วงที่ผ่านมาฝนตกหนักมาก ส่วนแผนการระบายน้ำและการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ ก็มีอยู่ แต่บางส่วนยังเป็นไปไม่ได้ตามเป้า เพราะการก่อสร้างต่างๆ ต้องมีการยอมรับจากประชาชน บางจุดต้องใช้เวลาพูดคุยเจรจา ถ้ายังทำความเข้าใจกันไม่ได้ ก็ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ ฉะนั้นโครงการก่อสร้างบางอย่าง ก็ยังขับเคลื่อนได้ช้ากว่าแผน แต่สิ่งใดที่รัฐบาลทำได้ ก็ทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มช่องเส้นทางระบายน้ำ การขุดลอกท่อต่างๆ ที่จะรับสถานการณ์ฝนตกหนัก”

มติ ครม. มีดังนี้

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษก, และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล(ซ้ายไปขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เวนคืนที่ดิน “บางแค –หนองแขม” ทำถนนเชื่อม “ทวีวัฒนา-บางบอน 3”

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงบางแคเหนือ แขวงหลักสอง เขตบางแค และแขวงหนองค้างพลู แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. เพื่อก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนทวีวัฒนากับถนนบางบอน 3 ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกในการจราจรขนส่งบริเวณถนนทวีวัฒนาถึงถนนบางบอน 3 และพื้นที่โดยรอบ

ร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ มีกำหนดใช้บังคับ 4 ปี โดยให้เจ้าหน้าที่เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 120 วัน นับแต่ วันที่ พ.ร.ฎ. นี้ใช้บังคับ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากพระราชกฤษฎีกาฉบับเดิม พ.ศ.2561 ที่จะสิ้นสุดวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 เนื่องจากการสำรวจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนยังไม่แล้วเสร็จ เพราะมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเวนคืนจำนวนมาก โดยมีที่ดินที่ต้องเวนคืนประมาณ 172 แปลง โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างประมาณ 130 รายการ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการสำรวจที่ดินได้ 26 แปลง และโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง 20 รายการ ยังคงเหลือที่ดินประมาณ 146 แปลง โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างประมาณ 110 รายการ

ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า โครงการก่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนทวีวัฒนากับถนนบางบอน 3 มีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ช่วงที่ 1 ถนนทวีวัฒนาถึงซอยเพชรเกษม 69 เป็นการก่อสร้างทางยกระดับ (แนวเหนือ – ใต้) ข้ามซอยเพชรเกษม ตามแนวถนนทวีวัฒนาและซอยเพชรเกษม 69 และช่วงที่ 2 ซอยเพชรเกษม 69 ถึงถนนบางบอน 3 โดยดำเนินการ 1) ขยายช่องทางจราจรบริเวณสะพานข้ามคลองภาษีเจริญ จากเดิม 2 ช่องทางจราจร ขยายเป็น 4 ช่องทางจราจร 2) ขยายช่องจราจรบริเวณซอยเพชรเกษม 69 และถนนบางบอน 3 จากเดิมขนาด 2 ช่องจราจร เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4 ช่องทางจราจร 3) ขยายเส้นทางจราจรบริเวณแยกจุดตัดของถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือและฝั่งใต้เป็น 5 ช่องทางจราจร เพื่อให้รถสามารถเลี้ยงซ้ายผ่านตลอดบริเวณแยกจุดตัดทั้ง 2 ได้

เห็นชอบกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สิงคโปร์ ครั้งที่ 6

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบท่าทีไทย สำหรับการประชุมกรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship: STEER) ครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อให้คณะผู้แทนไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย ใช้เป็นกรอบในการหารือกับฝ่ายสิงคโปร์

การประชุม STEER ครั้งที่ 6 นี้ มีการเพิ่มเติมประเด็นความร่วมมือในเรื่องใหม่ เช่น การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในธุรกิจ BCG การส่งเสริมความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งไทยได้กำหนดท่าทีในการประชุมไว้ดังนี้

1. ด้านสินค้าเกษตร แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกในการส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ในครั้งนี้ ไทยต้องการส่งออกไข่ออร์แกนิคและไข่นกระทาเพิ่มเติม จากสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกอยู่แล้ว เช่น สัตว์ปีกสดแช่แข็ง สัตว์ปีกปรุงสุก เนื้อหมูสดแช่แข็งและแช่เย็น ไข่ไก่ รังนกตากแห้ง ข้าว สินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

2. ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล หารือแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน

3. ด้านการลงทุน ส่งเสริมและเชิญชวนนักลงทุนสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย เช่น การพัฒนาโครงข่ายทางถนน ท่าเรือสำราญ พื้นที่อุตสาหกรรมการบิน และการซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยาน รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในธุรกิจ BCG

4. ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า พัฒนาความร่วมมือของกรมศุลกากรไทยและสิงคโปร์

5. ด้านการท่องเที่ยว หารือความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวทางเรือสำราญ

6. ด้านการบิน ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศและบันทึกความร่วมมือด้านการบิน ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น การเพิ่มสิทธิการบิน ปรับปรุงใบพิกัดเส้นทางบิน เป็นต้น

7. ด้านทรัพย์สินทางปัญญา พิจารณาจัดทำบันทึกความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยและ Intellectual Property Office of Singapore (IPOS) ฉบับใหม่ รวมถึงแผนการดำเนินงานในปี 2566 – 2567

8. ความร่วมมือสาขาใหม่ จะหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานและด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ประโยชน์ที่ได้รับจากการประชุม STEER ครั้งนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ไทยได้ผลักดันความร่วมมือเพื่อขยายโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ รวมถึงเชิญชวนให้สิงคโปร์ขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งปัจจุบันสิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทย และเป็นอันดับที่ 4 ของไทยในกลุ่มอาเซียน รองจากมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ในโอกาสเดียวกันนี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจคู่ขนานกับการประชุมดังกล่าวด้วย เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและสิงคโปร์” ดร.รัชดากล่าว

ส่งเสริมบทบาทสตรี-เยาวชน ผ่านเวทีคณะมนตรีฯอาเซียน ครั้งที่ 28

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 28 (Joint Statement of the Twenty – Eighth ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council) ซึ่งจะมีการรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ณ กรุงพนมเปญ โดยประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ ร่างถ้อยแถลงร่วมฉบับนี้ มีสาระสำคัญ เช่น

1. สนับสนุนในเรื่องต่างๆ เช่น 1) การฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 2) ความพยายามด้านการจัดการภัยพิบัติในภูมิภาค 3) ข้อเสนอในการจัดตั้งกลไก เพื่อดำเนินบทบาทนำในด้านการคิดเชิงกลยุทธ์ของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

2. เน้นย้ำถึงบทบาทเชิงรุกที่สำคัญของเยาวชนในการพัฒนาชุมชน และการจัดการกับความท้าทายที่ภูมิภาคจะเผชิญในอนาคต และสนับสนุนให้มีการจัดการเสวนาระหว่างเยาวชนและรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ

3. ให้ความสำคัญกับบทบาทของสตรีในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม มั่นคง และยั่งยืน

4. ยกระดับการดำเนินการด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และการคุ้มครองทางสังคมสำหรับประชาชนอาเซียน เช่น การเชื่อมโยงสิทธิประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติในอาเซียน การเสริมสร้างบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์และผู้ให้บริการทางสังคมในบริบทที่กว้างขึ้น การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการให้อาหารเสริม รวมทั้งสนับสนุนความพยายามอย่างต่อเนื่องของอาเซียนในการขจัดความยากจนและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางต่างๆ

5. ให้ความสำคัญกับบทบาทของกีฬาในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับค่านิยม การตระหนักรู้ และอัตลักษณ์ของอาเซียน

6. แสดงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค ผ่านการจัดตั้งศูนย์อาเซียนสำหรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และยกระดับความพยายามในการควบคุมมลพิษหมอกควันข้ามแดนให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิผลมากขึ้น

ผ่านกฎกระทรวง ติดตั้ง VMS ติดตามเรือประมง

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าของเรือประมงที่ใช้สนับสนุนเรือที่ใช้ทำการประมง หรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการแก้ไขร่างกฎกระทรวงฉบับเดิมที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เนื่องจากมีบทบัญญัติบางประการ ยังไม่สอดคล้องกับสภาพการทำการประมงและการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันไม่ให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติเพิ่มเติม ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระให้แก่เจ้าของเรือประมงแต่อย่างใด เนื่องจากมาตรการในการควบคุมเป็นไปตามหลักปฏิบัติเดิมที่เจ้าของเรือต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมายอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความคล่องตัวให้กับเจ้าของเรือสามารถปฏิบัติได้โดยไม่กระทบการขนส่งน้ำมันของเรือ และกรมประมงสามารถติดตามเรือได้ สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง เช่น

1. เรือที่ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) เป็นเรือที่จดทะเบียนเป็นเรือกลเดินทะเลที่มีขนาดตั้งแต่ 30 กรอสขึ้นไป ที่มีประเภทการใช้เรือดังต่อไปนี้ เป็นเรือสนับสนุน (1) เรือบรรทุกสินค้าห้องเย็น (2) เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง (3) เรือบรรทุกน้ำจืด (4) เรือบรรทุกน้ำจืดเพื่อการประมง (5) เรือบรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีจุดวาบไฟต่ากว่า 60 องศาเซลเซียส และ (6) เรือบรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีจุดวาบไฟสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส

2. ระยะเวลาการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง โดยเรือสนับสนุนต้องติดตั้งระบบติดตามให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ส่วนเรือสนับสนุนที่จดทะเบียนใหม่หรือเปลี่ยนประเภทการใช้เรือเป็นเรือสนับสนุน ต้องติดตั้งระบบติดตามให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่จดทะเบียนใหม่หรือเปลี่ยนประเภทการใช้เรือ

3. เมื่อมีการติดตั้งระบบติดตามเรือประมงแล้ว ต้องดำเนินการดังนี้ 1) แจ้งการติดตั้งระบบติดตามและตำแหน่งจุดจอดเรือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการภายใน 7 วันนับแต่วันที่ติดตั้งระบบแล้วเสร็จ 2) แจ้งการเข้าออกท่าเทียบเรือทุกครั้ง 3) ส่งข้อมูลระบบติดตามเรือประมงตามที่กำหนดไว้ทุก 1 ชั่วโมง ไม่ว่าจะนำเรือสนับสนุนออกจากท่าเทียบเรือหรือขณะจอดเทียบท่า

หากงดใช้เรือชั่วคราว สามารถยื่นคำร้องขอปรับลดจำนวนครั้งในการส่งข้อมูลระบบติดตามได้ กรณีปิดระบบติดตามเนื่องจากเรือชำรุดหรืออุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือชำรุด ให้ยื่นคำร้องขอปิดสัญญาณอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือประมงชั่วคราว กรณีระบบติดตามเรือประมงขัดข้อง ให้เจ้าของเรือดำเนินการแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่สามารถแก้ไขได้ให้นำเรือสนับสนุนกลับเข้าเขตท่าเทียบเรือทันที

4. เรือสนับสนุนที่ได้ติดตั้งระบบติดตามเรือประมง ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับให้สามารถยังคงใช้ระบบติดตามเรือประมงดังกล่าวต่อไปได้

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งเพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว

สปน.เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบและเห็นชอบการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กับหน่วยงานเครือข่าย (สปน.) ดังนี้

1. พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์

    1.1 ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาแพลตฟอร์มของระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ เช่น ระบบติดตามผลเรื่องร้องทุกข์ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามผลความคืบหน้า ได้ด้วยตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา และระบบการประเมินติดตามผลความพึงพอใจ โดยประชาชนสามารถประเมินให้กับหน่วยงานได้ทันที

    1.2 ด้านกระบวนการและฐานข้อมูลขับเคลื่อนการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน แบบเบ็ดเสร็จ โดยบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเรื่องร้องทุกข์ของหน่วยงานราชการ กับระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111

2. ด้านกลไกและวิธีการจัดการเรื่องร้องทุกข์ เช่น

    2.1 จัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องทุกข์ เช่น จุดบริการประชาชน 1111 ตู้ ป.ณ.1111 สายด่วนของรัฐบาล 1111 เว็บไซต์ www.1111.go.th และ โมบายแอปพลิเคชัน PSC 1111

    2.2 บูรณาการความร่วมมือในการดำเนินการในระดับกระทรวง/กรม จังหวัด รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอิสระ 330 หน่วยงาน

    2.3 ปรับเปลี่ยนแนวทางการประสานงานเรื่องร้องทุกข์กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยส่งเรื่องร้องทุกข์ที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ สตช.ให้สำนักงานจเรตำรวจพิจารณาดำเนินการ โดยส่งเรื่องต่อให้กองบัญชาการ/ตำรวจภูธรภาคดำเนินการและติดตาม เรืองร้องทุกข์เพื่อรายงานผลให้ทราบ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา “ระบบบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนของสำนักงานจเรตำรวจออนไลน์” โดย สปน. ได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางการประสานงานเรื่องร้องทุกข์ร่วมกัน และเสนอ นายกรัฐมนตรีเห็นชอบตามแนวทางดังกล่าว

    2.4 กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน โดยหากมีกฎหมาย ระเบียบกำหนดไว้ เป็นการเฉพาะให้หน่วยงานพิจารณาการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นล าดับแรก ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่แจ้งข้อมูลระยะเวลาแล้วเสร็จ 18 หน่วยงาน ได้แก่ (1) กรณีเรื่องร้องเรียนทั่วไป กาหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในเบื้องต้น 15วันทำการ (2) กรณีเรื่องร้องเรียนที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ชัดเจน และ (3) กรณีการกหนดระยะเวลาเป็นภาพรวม เช่น 30 วันทำการ เป็นต้น

พร้อมกันนี้ยังมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/ การปฏิบัติงานเรื่องร้องทุกข์ดังนี้ 1. ขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จ ในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงระยะเวลา ในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะช่วยให้ลดเวลารอคอยและลดการติดตามเรื่อง กับผู้ปฏิบัติงาน 2. ผลักดันให้เกิดการขยายผลและเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการจัดการเรื่องร้องทุกข์ ไปยังระดับภูมิภาคและท้องถิ่น เพื่อให้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้รับการดูแลแก้ไขอย่างครอบคลุมและเป็นธรรม นางสาว ทิพานัน กล่าว

จัดงบฯ 6,077 ล้าน ก่อสร้างระบบน้ำประปา 19 โครงการ

นางสาวทิพานัน กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 6,077.808 ล้านบาท ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2564 ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิตน้ำระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปา ให้สามารถบริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างพอเพียง รวมทั้งเพื่อบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียในระบบผลิต – จ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสิ้น 19 โครงการประกอบด้วย (1) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย และการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย จำนวน 16 โครงการ และ (2) โครงการ ก่อสร้างปรับปรุงกิจการประปาองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 3 โครงการ

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาระบบน้ำดิบ เช่น แหล่งน้ำดิบในบางพื้นที่ไม่มีคุณภาพ ปัญหาระบบผลิตน้ำ เช่น ประชากรและครัวเรือนในแต่ละพื้นที่ มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกำลังการผลิตน้ำที่มีอยู่ ไม่สามารถรองรับความต้องการใช้น้ำใน 10 ปีข้างหน้าได้ โดยอยู่ระหว่างการจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานีสูบน้ำดิบ สถานีผลิตน้ำ และสถานีจ่ายน้ำแห่งใหม่จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ สาขาทุ่งสง/ เชียงราย/ นครพนม /ปักธงชัย – โชคชัย/ แพร่ – เด่นชัย (สูงเม่น) /โพนทอง/บ้าเหน็จณรงค์/ปากพนัง/ ชัยบาดาล – (สระโบสถ์) /ศรีเชียงใหม่/เกาะพงัน/มหาชนะชัย และก่อสร้างบนที่ดินเดิมทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่สาขาเชียงคาน/กบินทร์บุรี/บ้านดุง – (เพ็ญ-บ้านธาตุ) – (บ้านม่วง) /บ้านผือ – (กลางใหญ่) – (น้ำโสม) – (กุดจับ) / ชุมพร/บ้านฉาง/พนมสารคาม

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มอีก 104,800 ราย ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนในเขตพื้นที่จำหน่ายน้ำของโครงการได้รับบริการน้ำสะอาดที่มีคุณภาพและปริมาณ เพียงพอสำหรับใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค ในส่วนของงบประมาณที่ประชุม ครม. ได้เสนอให้ กปภ.พิจารณาใช้จ่ายเงินลงทุนจากเงินรายได้เป็นลำดับแรก และหากมีความจำเป็นต้องกู้เงินให้ กปภ. ดำเนินการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีข้อสั่งการให้ดำเนินโครงการด้วยความสุจริต โปร่งใสเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

ทุ่ม 5,116 ล้าน สร้าง “ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน” ภูเก็ต

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน โดยมีสถานที่ตั้งโครงการอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,116 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี2566 – 2570) โดยขอผูกพันงบประมาณ ดังนี้คือ ปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 1,291 ล้านบาท ปี 2567 วงเงิน 1,656 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 1,476 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 498 ล้านบาท ปี 2570 วงเงิน 193 ล้านบาท

สำหรับโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน จะเป็นสถานที่ผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ แพทย์ทางเลือก และอื่นๆ และเป็นสถานที่ทำการวิจัย พัฒนาด้านวิชาการด้านสาธารณสุข เป็นสถานพยาบาลขั้นตติยภูมิและเฉพาะทางเป็นหลัก โดยสามารถรักษาโรคระดับต้นและโรคซับซ้อน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในการเข้ามาท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดอันดามันและประเทศไทย

โดยการพัฒนาทั้งด้านบุคลากร การวิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์จากศูนย์สุขภาพนานาชาติฯ จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) และศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนาคต สร้างรายได้แก่ประเทศสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอีกด้วย

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ คือ มีศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ขนาด 300 เตียง,ให้บริการผู้ป่วยโรคซับซ้อนชาวไทยไม่น้อยกว่า 12,500 คน/ปี, ผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 300,000 คน/ปี, มีรายได้จากการรักษาชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 1,600 ล้านบาท/ปี, มีศูนย์ทันตกรรมที่ทันสมัยแห่งแรกในภาคใต้และมีรายได้จากการให้บริการชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท/ปี สามารถผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่สำเร็จตามหลักสูตรปีละ 110 คน, อบรมทักษะต่างๆ ตามความต้องการของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 คน/ปี, ลดการไปรักษาโรคซับซ้อนในพื้นที่อื่นของคนในพื้นที่อันดามันไม่น้อยกว่า 13,500 ครั้ง/ปี ทำให้ประหยัดเงินไม่น้อยกว่า 135 ล้านบาท/ปี และ เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 62,000 ล้านบาท/ปี

เยียวยาชาวบ้านโครงการ‘ฝายหัวนา’ รอบ 3 อีก 52 ล้าน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติให้มีการจ่ายค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าขนย้ายสำหรับที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ตามผลการตรวจสอบของคณะทำงานแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาระดับอำเภอ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบและลงนามรับรองจากคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนาระดับจังหวัดศรีสะเกษแล้วจำนวน 433 แปลง เนื้อที่ 765 ไร่ วงเงินจำนวน 52.34 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม. ได้เคยมีมติอนุมัติการจ่ายเงินค่าทดแทนโครงการฝายหัวนามาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 จำนวน 104 แปลง เนื้อที่ 628 ไร่ วงเงิน 62 ล้านบาท และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 350 แปลง เนื้อที่ 770 ไร่ วงเงิน 34 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากราษฎร ครม. จึงเห็นสมควรอนุมัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงินเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการจ่ายเงินและจำนวนเงินค่าทดแทน โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาตรวจสอบบุคคลที่มีสิทธิและควบคุมการโอนจ่ายเงินให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษเป็นประธานกรรมการ ซึ่งวิธีการจ่ายเงินจะจ่ายโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร(จ่ายตรง) ตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิหรือทายาทของบุคคลดังกล่าว โดยให้ระบุในหลักฐานการรับเงินด้วยว่า “ข้าพเจ้ายินยอมรับเงินค่าทดแทนในครั้งนี้ และจะไม่เรียกร้องหรือขอรับความช่วยเหลือใดๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการฝายหัวนาจากทางราชการอีก”

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า รายละเอียดของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าขนย้ายจำนวน 433 แปลง เนื้อที่ 765 ไร่ วงเงิน 52.34 ล้านบาทมีดังนี้ เป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ อัตราไร่ละ 125,000 บาท อยู่ในอำเภอกันทรารมย์ 61 แปลง เนื้อที่ 223 ไร่ จำนวนเงิน 27.93 ล้านบาท และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ อัตราไร่ละ 45,000 บาท อยู่ในอำเภอกันทรารมย์ 111 แปลง เนื้อที่ 245 ไร่ จำนวนเงิน 11 ล้านบาท, อำเภออุทุมพรพิสัย 69 แปลง เนื้อที่ 108 ไร่ จำนวนเงิน 4.88 ล้านบาท, อำเภอราษีไศล 73 แปลง เนื้อที่ 126 ไร่ จำนวนเงิน 5.7 ล้านบาท, อำเภอเมืองศรีสะเกษ 8 แปลง เนื้อที่ 7 ไร่ จำนวนเงิน 350,550 บาท และอำเภอยางชุมน้อย 111 แปลง เนื้อที่ 53 ไร่ จำนวนเงิน 2.42 ล้านบาท โดยปัจจุบันยังเหลือที่ดินที่ราษฎรได้ยื่นคำร้องและคำขออีกจำนวน 548 แปลง ซึ่งทางกรมชลประทานอยู่ระหว่างดำเนินการรังวัดที่ดิน และจะนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับการจ่ายเงินค่าทดแทนแก่ราษฎรกลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาความขัดแย้งระหว่างภาคราชการกับราษฎรและสร้างความเชื่อมั่นต่อกลุ่มราษฎรว่า ภาคราชการไม่ได้เพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินการ ทางกรมชลประทานจะปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีมาดำเนินการในเรื่องนี้

เปิดประชุมสภาฯสามัญครั้งที่ 2 เริ่ม 1 พ.ย.นี้

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ. …. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย สมัยหนึ่งให้มีกำหนดเวลา 120 วัน

เห็นชอบหลักสูตรพัฒนาจริยธรรมข้าราชการ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคล องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม และหน่วยงานของรัฐใช้เป็นกรอบแนวทางในการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม และส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีการรักษาจริยธรรมตามมาตรฐานทางจริยธรรม ประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรม และยึดถือแนวทางปฏิบัติตนตามประมวลจริยธรรมอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมและวัฒนธรรมทางจริยธรรมของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคนดี มีความสามารถ และมีคุณธรรม พร้อมเป็นกลไกการปฏิรูปประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทยที่บริหารประเทศ โดยยึดหลักซื่อสัตย์สุจริต เป็นคุณธรรมสูงสุด เพื่อการมุ่งไปสู่การเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบข้อเสนอแนวทางดำเนินการ เพื่อให้การส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเห็นควรให้นำหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐไปใช้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานธุรการของรัฐสภา องค์กรอิสระ ศาลและองค์กรอัยการ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทมีมาตรฐานทางจริยธรรมในระดับเดียวกัน มีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญเช่น หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องประพฤติปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรมเป็นประจำจนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับควรมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้าน Skillsets และ Mindsets อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข เป็นต้น

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กรอบหลักสูตรการพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าที่ของรัฐ มีหลักการเพื่อยกระดับการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมตามมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงสร้างวัฒนธรรมค่านิยมการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส กล้ายืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม มีกลุ่มเป้าหมาย 5 ระดับ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐแรกบรรจุ, เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีประสบการณ์ที่ผ่านการปฏิบัติงานมาแล้วเกิน 1 ปี, เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่หัวหน้างาน, เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่ผู้อำนวยการหรือเทียบเท่า และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารงานในฐานะหัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือรองหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ

ทั้งนี้การพัฒนาจริยธรรมสำหรับเจ้าที่ของรัฐ จะประกอบด้วย 5 หลักสูตร ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 5 ระดับ โดยได้พัฒนาและออกแบบการดำเนินการจัดอบรมที่มีความหลากหลายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ และมุ่งเน้นให้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบ Classroom เป็นหัวข้อวิชาที่ต้องให้ผู้เรียนทุกคนได้มาพบปะกัน สร้างความสัมพันธ์อันก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายต่อไป เรียนรู้ร่วมกันโดยมีผู้สอนในห้องเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ส่วนวิชาที่สามารถใช้รูปแบบ Online ให้เป็นหัวข้อวิชาที่ผู้สอนสามารถสอบถามผ่าน Online ตามสถานการณ์ หรืออาจมอบหมายให้ค้นคว้าเพิ่มเติมและใช้เวลาเรียนแบบ E – learning

สร้างเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกงานประชุม APEC ครั้งที่ 29

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 พ.ศ…. โดยการจัดทำเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวนี้มีขึ้น เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน ให้แผ่ไพศาลไปทั้งภายในประเทศและนานาประเทศ และเพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 พ.ศ. 2565 พร้อมกับเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวต่างชาติ ทั้งในส่วนของผู้เข้าร่วมประชุมและนักท่องเที่ยวทั่วไป

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกครั้งนี้ เป็นไปตามมติของคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคปี พ.ศ. 2565 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน และสำนักนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว ด้วยรูปแบบที่ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกฯ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้จัดทำเป็นเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท ประเภทธรรมดา จำนวนไม่เกิน 1 ล้านเหรียญ โดยเหรียญมีลักษณะกลม วงขอบนอกมีเฟืองจักร แต่ละเหรียญจะมีส่วนผสมของนิกเกิลร้อยละ 25 ทองแดงร้อยละ 75 น้ำหนักเหรียญ 15 กรัม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร

ในส่วนของลวดลายนั้น รูปแบบด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

รูปแบบด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 เบื้องซ้ายมีเลขบอกราคา “๒๐” เบื้องขวามีข้อความว่า “บาท” ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๙ พ.ศ. ๒๕๖๕” เบื้องล่างมีข้อความว่า “ประเทศไทย”

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า หลัง ครม. ได้เห็นชอบกฎกระทรวงฯ ครั้งนี้แล้ว ลำดับต่อไปจะดำเนินการส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา และกรมธนารักษ์จะดำเนินการจำหน่ายจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกต่อไป

ดู แบบเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกงานประชุม APEC ที่นี่

ตั้ง “เทพสุ บวรโชติดารา” ขึ้นเลขาธิการ ปปง.

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง นางสาวซาราห์ บินเย๊าะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. การแต่งตั้งข้าราชพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอแต่งตั้ง นายเทพสุ บวรโชติดารา รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป และส่งให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

3. การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (กระทรวงพลังงาน)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอ การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2566

4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำด้านประสานกิจการภายในประเทศ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2565 เพิ่มเติม