ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > L’Oréal ประกาศเป้าหมายความยั่งยืนใหม่ พลิกธุรกิจรับ “ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก”

L’Oréal ประกาศเป้าหมายความยั่งยืนใหม่ พลิกธุรกิจรับ “ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก”

8 กรกฎาคม 2020


ที่มาภาพ: https://www.loreal.com/en/commitments-and-responsibilities/for-the-planet/

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2020 ลอรีอัล ผู้ผลิตเครื่องสำอางระดับโลกได้เปิดตัวแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนใหม่ “ลอรีอัลเพื่ออนาคต” “L’Oréal for the future” วางรากฐานความมุ่งหวังของกลุ่มภายในปี 2030 ในบริบทของความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เพิ่มมากขึ้น โดยเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบที่ให้ความสำคัญกับขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก (planetary boundaries) และตอกย้ำพันธสัญญาต่อความยั่งยืนและรวมถึงการดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้

พลิกโฉมธุรกิจลอรีอัลสอดคล้องขีดจำกัดของโลก

  • ภายในปี 2025 ทุกพื้นที่ดำเนินการของลอรีอัลจะบรรลุการปล่อยค่าคาร์บอนที่เป็นกลาง (carbon neutrality) ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและใช้พลังงานหมุนเวียน 100%
  • ภายในปี 2030 พลาสติกที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ลอรีอัลจะมาจากการรีไซเคิลหรือมาจากแหล่งชีวภาพ 100%
  • ภายในปี 2030 ลอรีอัลจะลดการปล่อยก๊าซต่อผลิตภัณฑ์ที่พร้อมจำหน่ายลง 50% เทียบกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดของปี 2016

    “การปฏิวัติความยั่งยืนของลอรีอัลกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ โลกกำลังเผชิญความท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และจำเป็นที่จะต้องเร่งความพยายามของเราในการอนุรักษ์พื้นที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยให้กับมนุษยชาติ ซึ่งเป็นสิ่งเราทำในการดำเนินธุรกิจของเราเองและเพื่อมีส่วนช่วยเหลือสังคมส่วนรวม เรารู้ว่าความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดยังไม่เกิดขึ้นและลอรีอัลจะยังคงยึดมั่นในความมุ่งหวังของเรา คือ ดำเนินธุรกิจภายใต้ขีดจำกัดของโลก” นายฌอง-พอล แอกง ประธานและซีอีโอลอรีอัลกล่าว

    “ขีดความปลอดภัยของโลก” มีจำกัด ซึ่งหากเทียบกันให้เห็นชัดแล้ว ความสามารถของโลกคือการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำหรับการพัฒนามนุษย์ นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่า การให้ความเคารพต่อพื้นที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยของมนุษยชาติเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในอีกหลายทศวรรษหน้า จึงเป็นที่มาของความต้องการที่จะพลิกโฉมธุรกิจไปในสู่แนวทางที่การดำเนินงานทั้งหมดอยู่ภายใต้ขีดจำกัดของโลก

    ดังนั้นลอรีอัล กรุ๊ป จึงวางเป้าหมายที่วัดได้ซึ่งใหญ่กว่าเดิมสำหรับปี 2030 เพื่อแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ climate change ด้วยการสนับสนุนของ Science Based Targets Initiative (SBTi คือ องค์กรอิสระระหว่างประเทศชั้นนำที่ส่งเสริมให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการกำหนดเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) และยังได้ดำเนินการมากกว่านั้นด้วยการมุ่งเน้นไปที่สิ่งแวดล้อม 3 ประเด็น คือ 1) อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 2) การบริหารน้ำอย่างยั่งยืน และ 3) การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน

    เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจของบริษัทให้ความเคารพต่อโลกที่มีทรัพยากรจำกัด เป็นธรรมสำหรับชุมชน ลอรีอัลจึงไม่เพียงเดินหน้าลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ยังลดผลกระทบจากกิจกรรมของบริษัททั้งหมดรวมไปถึงคู่ค้าและลูกค้าอีกด้วย

    “ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เปลี่ยมโฉมบริษัทอย่างชัดเจน ผสมผสานความยั่งยืนเข้าไว้ในทุกๆ แกนหลักของรูปแแบบธุรกิจ ด้วยความมุ่งมั่นใหม่ของเรา เรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของการเร่งเปลี่ยนโฉม ดำเนินการให้มากกว่าผลกระทบโดยตรงที่เกิดจากเรา ช่วยลูกค้าให้มีทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้น รวมไปถึงมีส่วนร่วมในทางสร้างสรรค์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรม เรามองว่าเป็นหน้าที่เราที่ต้องมีส่วนในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืน” นางอเล็กซานดรา พัลต์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความรับผิดชอบขององค์กร ลอรีอัล กรุ๊ป กล่าว

    ตัวอย่างเป้าหมายที่ลอรีอัลต้องการที่จะประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน คือ

    ภายในปี 2025 ทุกหน่วยการผลิต การบริหารและหน่วยงานวิจัยของกลุ่ม จะต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ซึ่งลอรีอัลหวังว่าแนวทางนี้จะมีส่วนในการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานในแต่ละประเทศที่ลอรีอัลเข้าไปดำเนินธุรกิจ

    เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคได้บริโภคอย่างยั่งยืน

    ลอรีอัลมองว่า การให้ความสำคัญกับระบบนิเวศทางธุรกิจ ที่ครอบคลุมทั้งลูกค้า คู่ค้า และผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบ

    เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับผู้บริโภค 1.5 พันล้านคนให้มีทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้น ลอรีอัลได้พัฒนากลไกการบ่งบอกถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์ของลอรีอัล (Product Environmental & Social Impact Labelling) โดยใช้สัญญลักษณ์และคะแนน ตั้งแต่ระดับ A ถึง E ซึ่งได้รับการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านวิทยาศาสตร์และผ่านการตรวจสอบของผู้ตรวจสอบอิสระ โดยที่กลไกนี้จะนำไปใช้กับทุกแบรนด์และทุกประเภทผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้นตามลำดับ

    โดย A หมายถึงผลิตภัณฑ์นั้นอยู่ในระดับยอดเยี่มม ในเชิงการมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบสัญญลักษณ์และคะแนนได้จากเว็บเพจของผลิตภัณฑ์ โดยแบรนด์แรกที่จะใช้แนวทางนี้ในปี 2020 คือ การ์นิเย่ ในผลิตภัณฑ์สำหรับการดูแลเส้นผม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ติดอันดับสามของโลกและเป็นผู้นำตลาดในฝรั่งเศส

    การติดป้ายบ่งชี้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์นี้จะเร่งขยายไปยังประเทศอื่นๆ แบรนด์ลอรีอัล และประเภทผลิตภัณฑ์

    แผนใหม่แก้ปัญหาความท้าทายของโลก

    ในเดือนพฤษภาคม 2021 ลอรีอัลได้ประกาศว่าจะจัดสรรเงินจำนวน 150 ล้านเพื่อช่วยแก้ไขประเด็นเร่งด่วนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยที่ลอรีอัลจะใช้เงิน 100 ล้านยูโรสำหรับการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ (impact investing หรือการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก) เป็นการดำเนินการด้านความท้าทายของสิ่งแวดล้อม โดยที่ 50 ล้านยูโรจะใช้สนับสนุนโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าและทรัพยากรทางทะเลที่เสื่อมโทรม ผ่านกองทุนที่ชื่อว่า L’Oréal Fund for Nature Regeneration บริหารโดย Mirova บริษัทในเครือของ Natixis Investment Managers เน้นลงทุนแบบ impact investing ส่วนอีก 50 ล้านยูโรจะสนับสนุนเงินโดยตรงแก่โครงการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน

    เพื่อช่วยเหลือกลุ่มสตรีเปราะบาง ลอรีอัลจะใช้เงินอีก 50 ล้านยูโร เพื่อประเดิมตั้งกองทุนเพื่อการกุศล โดยจะสนับสนุนองค์กรที่ลงพื้นที่และองค์กรการกุศลที่ดำเนินการเกี่ยวกับการขจัดความยากจน การช่วยเหลือสตรีให้บรรลุเป้าหมายการหลอมรวมระหว่างความเป็นนักบริหารมืออาชีพกับสังคม จัดให้การช่วยเหลือแบบฉุกเฉินสำหรับผู้อพยพและสตรีพิการ ป้องกันการใช้กำลังกับสตรี และช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อ

    เส้นทางความมุ่งมั่นเพื่อความยั่งยืนที่ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์

    ลอรีอัลตระหนักดีถึงการจัดการกับความท้าทายของสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว และในฐานะที่เป็นหนึ่งในบริษัทอุตสาหกรรม ลอรีอัลได้ตัดสินใจดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโรงงานและศูนย์จำหน่ายเป็นอย่างแรก ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญ เพื่อเริ่มกระบวนการปรับเปลี่ยน โดยการดำเนินการระยะแรกใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว

  • นับตั้งแต่ปี 2005 ลอรีอัลกรุ๊ปได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากโรงงานและศูนย์จำหน่ายสินค้าไปแล้ว 78% สูงกว่าเป้าหมายเบื้องต้น 60% ของปี 2020 ที่วางไว้ ขณะที่ผลิตสินค้าได้มากขึ้น 37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ณ สิ้นปี 2019 ลอรีอัลมีพื้นที่ดำเนินการที่บรรลุการปล่อยค่าคาร์บอนที่เป็นกลาง (carbon neutrality) 35 แห่ง (หมายความว่ามีการใช้พลังงานหมุนเวียน 100%) ซึ่งรวมโรงงาน 14 แห่ง

    ในปี 2013 ลอรีอัลตัดสินใจดำเนินการกับธุรกิจหลัก ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อความงามเครื่องสำอาง โดยโครงการความยั่งยืนทั่วโลกที่มีชื่อว่า Sharing Beauty With All ได้ประกาศเป้าหมายความยั่งยืนของปี 2020 ที่เป็นรูปธรรม บนนวัตกรรมที่ใช้ชื่อว่า SPOT หรือ Sustainable Product Optimization Tool ที่พัฒนาขึ้นเพื่อประเมินและปรับปรุงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ในทุกแบรนด์ หลักความยั่งยืนนี้ได้ผนวกเข้ากับกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ของกรุ๊ปเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ตั้งแต่ระยะแรก

  • 85% ของผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาหรือสร้างสรรค์ขึ้นในปี 2019 มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
  • ณ สิ้นปี 2019 ลอรีอัลได้มีส่วนช่วยคนจำนวน 90,635 คนจากชุมชนด้อยโอกาสให้มีงานทำผ่านโครงการจัดซื้อและความเท่าเทียม

    ลอรีอัลเป็นบริษัทเดียวในโลกที่ได้อันดับ A จากการจัดอันดับของ CDP ทั้ง 3 ประเภท คือ การปกป้องสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการน้ำ และการอนุรักษ์ป่าติดต่อกัน 4 ปี

    โครงการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอน (Carbon Disclosure Project — CDP) ส่งเสริมให้องค์กรและรัฐบาล ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รักษาแหล่งน้ำ และปกป้องป่าไม้