กว่า 30 ปี ของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Sea board Development Program (ESB)
ทำให้พื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มากด้วยนิคมอุตสาหกรรม
เหรียญด้านหนึ่งของการพัฒนาคือการสร้างงาน การเพิ่มขึ้นของเงินตราที่ไหลเข้าประเทศจนทำให้ตัวเลขจีดีพีของไทยเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น
รายได้ต่อหัวของประชากรจังหวัดระยองสูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งของหลายนิคมอุตสาหกรรม
ขณะที่เหรียญอีกด้านหนึ่ง การพัฒนานำมาซึ่งการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต จนไปเบียดบังสิทธิของชาวจังหวัดระยองที่อยู่มาก่อนนิคมอุตสาหกรรม ทำให้ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินต้องสั่นคลอนในเรื่องของความปลอดภัย
สำนักงานอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง ระบุว่า โรงงานในพื้นที่จังหวัดระยอง ในปี 2551 มีจำนวน 1,771 โรงงาน จากเดิมที่มีเพียง 126 โรงงาน เพิ่มขึ้นกว่า 14 เท่า เมื่อเทียบกับจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมก่อนที่จะมีโครงการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ในปี 2520
ทว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของโรงงานในพื้นที่จังหวัดระยอง มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มของอุบัติภัยในจังหวัดระยองเช่นกัน
ข้อมูลในเว็บไซต์ MAPTAPHUT WATCH ได้รายงานสถิติการเกิดอุบัติภัยจากวัตถุเคมี ในจังหวัดระยองตั้งแต่ปี 2530-2552 ว่ามีทั้งสิ้น 37 ครั้ง
เมื่อแบ่งตามประเภทของสารเคมี พบว่าสารเคมีอื่นๆ เกิดอุบัติภัยมากที่สุดถึง 12 ครั้ง เช่น ท่อส่งก๊าซคาร์บอนิลคลอไรด์เกิดการแตกรั่ว เรือบรรทุกแอมโมเนียมไนเตรทล่ม รถบรรทุกสารเคมีซีโฟร์พลิกคว่ำ ไฟไหม้โรงงานพลาสติก เกิดการรั่วไหลของสารระเหยอินทรีย์
รองลงมาคือสารเคมีประเภทก๊าซไวไฟ น้ำมัน และประเภทกรด ก๊าซพิษจากกรด ประเภทละ 8 ครั้ง เช่น เพลิงไหม้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล น้ำมันเตารั่วไหลลงทะเล ไฟไหม้ถังเก็บสารเอทิลีน รถบรรทุกกรดไฮโดรคลอริก 35 เปอร์เซ็นต์ ขนาด 11 ตัน ระเบิดและรั่วไหล เหตุระเบิดที่โรงงานบรรจุก๊าซ และท่อส่งคิวมีนรั่วไหล
ขณะที่การลักลอบทิ้งกากของเสียที่ปรากฏเป็นข่าวนั้นมีจำนวน 4 ครั้ง
อุบัติภัยประเภทแอมโมเนียด่างเข้มข้น ไนโตรเจน มีจำนวน 3 ครั้ง เช่น รถขนโซดาไฟพลิกค่ำในลำคลอง แอมโมเนียรั่วไหลออกจากท่อส่งที่ผุกร่อน และสารเคมีประเภทวัตถุระเบิด 1 ครั้ง
ล่าสุด เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานของบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด ในเครือบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
อุบัติภัยที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 ราย ได้รับบาดเจ็บ 347 คน ยังไม่นับรวมชาวจังหวัดระยองที่ได้รับความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว
กว่าจะมาเป็นอีสเทิร์นซีบอร์ด
ด้วยเพราะ “ทำเล” ของพื้นที่ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงของประเทศ สามารถเชื่อมต่อกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นแหล่งงานและวัตถุดิบ รวมไปถึงการติดกับอ่าวไทย ซึ่งเป็นช่องทางเข้าออกสำคัญในการส่งสินค้าทางทะเล
ทำให้ “ภาคตะวันออก” เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในเรื่องของความเหมาะสมที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม
โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard Development Program (ESB) เกิดขึ้นในรัฐบาลของ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ในพ.ศ. 2525 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529)
เพื่อให้เป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดพื้นที่ 8.3 ล้านไร่ ที่ทันสมัยในระดับนานาชาติ โดยมีพื้นที่เป้าหมายดังนี้
1. บริเวณแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
จะพัฒนาให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมขยาดย่อมและขนาดกลาง ที่ไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้พัฒนาบริเวณแหลมฉบังให้เป็นเมืองท่าที่ทันสมัย ประกอบด้วย
1.1 ท่าเรือพาณิชย์ เป็นท่าเรือน้ำลึกสำหรับขนถ่ายสินค้าประเภทบรรจุตู้เป็นหลัก ซึ่งประกอบไปด้วยท่าเรือสิ้นค้าประเภทตู้ 4 ท่า ท่าเรือสินค้าเกษตร 2 ท่า ท่าเทียบเรือชายฝั่ง 1 ท่า มีการสร้างเขื่อนกันคลื่น ขุดร่องน้ำลึก ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงพักสินค้า พื้นที่ลานสินค้ากลางแจ้ง อาคารที่ทำการ ถนน ทางรถไฟ เป็นต้น และสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เป็นต้น
1.2 นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ที่จะมีพื้นที่สำหรับเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป เขตอุตสาหกรรมส่งออก และเขตพาณิชยกรรม ซึ่งจะมีโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่าง
2. บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง
พัฒนาให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลัก และพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย
2.1 ท่าเรืออุตสาหกรรมน้ำลึกที่รับเรือขนาดระวางขับน้ำ 60,000 ตัน เพื่อขนถ่ายสินค้านำเข้าและส่งออก ประกอบด้วยท่าเรือสินค้าทั่วไป 1 ท่า และท่าเรือสินค้าเฉพาะ 2 ท่า
2.2 นิคมอุตสาหกรรม มีพื้นที่เป้าหมาย 8,000 ไร่ เป็นเขตอุตสาหกรรม 6,000 ไร่ มีอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายชนิด มีโครงสร้างพื้นฐาน คือ ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ และจะมีเขตชุมชนใหญ่ในพื้นที่ 2,000 ไร่ อุตสาหกรรมในมาบตาพุดจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น การผลิตน้ำมัน สารเคมี เม็ดพลาสติก ซึ่งต้องใช้ช่างวิศวกร และช่างฝีมือที่มีความรู้สูง มีการลงทุนสูง แต่ใช้แรงงานน้อย
นอกจากนั้น สำนักผังเมืองจะได้จัดทำผังเมืองรวมชุมชนเมืองใหม่แหลมฉบังและชุมชนเมืองใหม่มาบตาพุด เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดแหล่งชุมชนแออัดขึ้นในอนาคต
3. พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
พัฒนาให้เป็นพื้นที่เกษตรเพื่ออุตสาหกรรม จะมีการปรับใช้เทคโนโลยีทางการผลิต เพื่อให้เป็นเขตเกษตรก้าวหน้า ใช้ทุนสูง จะมีการจ้างแรงงานที่มีฝีมือ และผู้เชี่ยวชาญชำนาญการ เพื่อให้เป็นเขตเกษตรขนาดใหญ่ครบวงจร
ผนวกกับการที่รัฐบาลได้ออกนโยบายการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการสร้างโรงงานในพื้นที่เขตส่งเสริมการลงทุน เช่น ให้สิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากร
ทำให้พื้นที่อุตสาหกรรมใหม่แห่งนี้สามารถ “จูงใจ” นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมาสร้างโรงงานในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมจำนวนมาก
จนทำให้วันนี้พื้นที่ในชายฝั่งทะเลตะวันออก กลายเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลักของประเทศ
(อ่านต่อตอนต่อไป)