ThaiPublica > เกาะกระแส > IMF ลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีลงเหลือ 2.7% เตือนสถานการณ์เลวร้ายยังมาไม่ถึง

IMF ลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีลงเหลือ 2.7% เตือนสถานการณ์เลวร้ายยังมาไม่ถึง

12 ตุลาคม 2022


ที่มาภาพ: https://www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2022/10/11/world-economic-outlook-october-2022

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund:IMF) เผยแพร่รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลก World Economic Outlook ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ปั่นป่วนอย่างมาก อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าที่เห็นในหลายทศวรรษที่ผ่านมา สภาวะทางการเงินตึงตัวในแทบทุกภูมิภาค การรุกรานยูเครนของรัสเซีย และการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ ล้วนส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอย่างมาก

การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติ(Normalization) จากที่ให้การสนับสนุนแบบไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงการระบาดใหญ่ กำลังมีผลให้ความต้องการลดลง เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายตั้งเป้าที่จะดึงอัตราเงินเฟ้อให้กลับไปสู่กรอบเป้าหมาย แต่เศรษฐกิจกลับไปในทางที่ชะลอตัวมากขึ้นหรือหดตัว สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในอนาคตขึ้นอยู่กับความสำเร็จของนโยบายการเงิน สงครามในยูเครน และความเป็นไปได้ที่อุปทานจะชะงักงันอันเนื่องจากการระบาดใหญ่ เช่น ในประเทศจีน

การเติบโตทั่วโลกคาดว่าจะชะลอตัวจาก 6.0% ในปี 2564 เป็น 3.2% ในปี 2022 และ 2.7% ในปี 2023 ซึ่งเป็นการเติบโตที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 ยกเว้นช่วงวิกฤติการเงินโลกและช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวที่มีนัยของประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด โดย GDP สหรัฐหดตัวในครึ่งแรกของปี 2022 ส่วนยูโรโซนหดตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 และการระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและการล็อกดาวน์ในจีน ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ประสบกับวิกฤติมากขึ้น

ในรายงาน World Economic Outlook เดือนกรกฎาคม IMF คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกไว้ที่ 2.9% สำหรับปี 2023 และคาดว่าปี 2023 จะเป็นปีที่รู้สึกเหมือนกับ เศรษฐกิจถดถอยสำหรับผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก

“สิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง และสำหรับคนจำนวนมากในปี 2023 จะรู้สึกเหมือนเข้าสู่ภาวะถดถอย” รายงานระบุ ซึ่งสอดคล้องกับคำเตือนจากสหประชาชาติ ธนาคารโลก และซีอีโอระดับโลกจำนวนมาก

รายงานระบุว่า หนึ่งในสามของเศรษฐกิจโลกเผชิญกับการเติบโตติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.7% ในปี 2021 เป็น 8.8% ในปี 2023 แต่จะลดลงเป็น 6.5% ในปี 2023 และเพิ่มขึ้นเป็น 4.1% ภายในปี 2024 เงินเฟ้อที่สูงขึ้นกระจายไปมากในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว โดยมีความแปรปรวนมากขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา

“ปีหน้าจะรู้สึกถึงความเจ็บปวด” ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวกับ CNBC เมื่อวันอังคารหลังการเผยแพร่รายงาน “จะมีการชะลอตัวและความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจอย่างมาก”

ในรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ระบุ 3 เหตุการณ์หลักที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต ได้แก่ การรุกรานยูเครนของรัสเซีย วิกฤติค่าครองชีพ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ทั้งสามปัจจัยจะทำให้เกิดช่วงเวลาที่ “ผันผวน” ทางเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และนิเวศวิทยา

รายงานระบุว่า สงครามในยูเครนยังคง “ทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลกอย่างมาก” จากผลกระทบที่ก่อให้เกิดวิกฤติพลังงานที่ “รุนแรง” ในยุโรป รวมไปถึงการทำลายล้างในยูเครนเองด้วย

กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะสูงสุดในช่วงปลายปี 2022 โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.7% ในปี 2021 เป็น 8.8% และจะ “อยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้”

อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงเป็น 6.5% ในปี 2023 และ 4.1% ภายในปี 2024 ตามการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟ และชี้ว่า นโยบายการเงินทั่วโลกเข้มงวดขึ้นเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อและ “การแข็งค่าอย่างแข็งแกร่ง” ของเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ

“นโยบายปลอดโควิด” ของจีนและการล็อกดาวน์ ยังคงเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจของจีน อสังหาริมทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของระบบเศรษฐกิจจีน และในขณะที่ตลาดกำลังเผชิญปัญหาหนัก ผลกระทบได้ขยายไปทั่วโลก

สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ผลกระทบจากปี 2022 จะ “เปิดบาดแผลทางเศรษฐกิจอีกครั้งจากที่หายดีเพียงบางส่วนหลังการระบาดใหญ่” รายงานระบุ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศยังระบุถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่ “แย่ลง” ในรายงานเสถียรภาพการเงินโลกซึ่งเผยแพร่เมื่อวันอังคารต่อจากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก “สภาพแวดล้อมของโลกเปราะบางด้วยปัญหาใหญ่ที่ก่อตัวในอนาคต”

ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกกำลังเผชิญกับ “ความท้าทายที่ไม่เหมือนเดิมของสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงทางการเงิน” ซึ่งหากมี shock เกิดขึ้นอีกก็“อาจทำให้ตลาดขาดสภาพคล่อง การเทขายอย่างรุนแรง หรือความตึงเครียด” รายงานระบุ

ที่มาภาพ: https://www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2022/10/11/world-economic-outlook-october-2022

กองทุนการเงินระหว่างประเทศยังเน้นย้ำว่า ความเสี่ยงของการ”ประเมินผลการดำเนินการพลาด” ของนโยบายการเงิน การคลัง หรือเครื่องมือทางการเงินได้ “เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” ในขณะที่เศรษฐกิจโลก “ยังคงเปราะบางสุดเป็นประวัติการณ์” และตลาดการเงิน “มีสัญญาณของความตึงเครียด”

กูรินชาส กล่าวว่า การดำเนินนโยบายที่น้อยเกินไปอันตรายกว่าต้นทุนในการดำเนินนโยบายมากเกินไป แต่ธนาคารกลางยังคงต้องระมัดระวัง “ความเสี่ยงที่ตึงเครียดมากเกินไปส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรงโดยไม่จำเป็น”

ความสมดุลของความเสี่ยงค่อนไปทางขาลงอย่างชัดเจน โดยมีโอกาสประมาณ 25% ที่การเติบโตทั่วโลกในอีกหนึ่งปีข้างหน้าจะลดลงต่ำกว่า 2.0%