รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 10/2562 เรื่องให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 68/2559 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐ และการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว โดยให้มีกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับรองรับการบรรจุ และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งไม่เป็นข้าราชการ ทั้งนี้ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของงาน และแก้ไขข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ อันจะเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปราชการแผ่นดินนั้น อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 68/2559 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปปฏิบัติหน้าที่ “เจ้าหน้าที่ของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” ตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงได้รับค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์จากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และยังไม่พ้นจากตำแหน่งเดิมจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
สาเหตุการย้ายนายสุชาติไปปฏิบัติหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าน่าจะมาจากเรื่องการเจรจาต่อขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มีความล่าช้า กล่าวคือ หลังจากศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ กทพ. แพ้คดี และต้องจ่ายเงินชดเชยให้ BEM คิดเป็นเงินกว่า 4,000 ล้านบาท ในคดีที่ BEM ฟ้อง กทพ. ให้จ่ายเงินชดเชยรายได้ที่ลดลง เฉพาะในช่วง 2 ปี เท่านั้น (ปี 2542-2543) หาก BEM ดำเนินการฟ้องร้องต่อไปจนถึงปี 2561 อาจส่งผลทำให้ กทพ. ต้องจ่ายเงินชดเชยรายได้อีก 75,000 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว ที่ประชุมครม. จึงมีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ให้กทพ.เจรจากับ BEM ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว ซึ่งต่อมาบอร์ด กทพ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเจรจา กับ BEM ปรากฏว่า จนถึงบัดนี้ กทพ. ยังไม่ส่งสรุปผลการเจรจากับคู่กรณีให้กระทรวงคมนาคม นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติได้