ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดคำพิพากษา ศาลปกครองยกฟ้องคดีแก้ TOR ประมูล ‘รถไฟฟ้า สายสีส้ม’

เปิดคำพิพากษา ศาลปกครองยกฟ้องคดีแก้ TOR ประมูล ‘รถไฟฟ้า สายสีส้ม’

9 กุมภาพันธ์ 2022


ศาลปกครองกลางพิพากษา ยกฟ้องคดี BTSC เรียกค่าเสียหาย รฟม. 500,000 บาท ปมแก้หลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังประกาศเชิญชวน-ขายซองข้อเสนอไปแล้ว ชี้เป็น “คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 , คดีหมายเลขแดงที่ 192/2565 ระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “BTSC” ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีเปลี่ยนแปลง แก้ไขเพิ่มเติมเอกสารคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-สุวินทวงศ์) หรือที่เรียกว่า “Request For Proposal : RFP” ภายหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกประกาศเชิญชวน และขายเอกสารข้อเสนอการร่วมทุน (RFP) ไปแล้ว ถือเป็นการละเมิด จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี

คดีนี้มีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยว่า กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของผู้ถูกฟ้องคดีนั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เพียงใด ประเด็นนี้ศาลวินิจฉัยว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนดังกล่าว (REP) ถือเป็น “คำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” โดยให้เหตุผลว่า ถึงแม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจที่จะสามารถกระทำได้ แต่ก็ต้องไม่เกินขอบอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ดังกล่าว เป็นการแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ และมีผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน จึงต้องดำเนินการเช่นเดียวกันกับการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐฉบับแรกก่อนที่จะมีการแก้ไข กล่าวคือ ต้องรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนผู้เกี่ยวข้องตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐเละเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563 ซึ่งในส่วนนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้ข้อเท็จจริงว่า การปรับปรุงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่จำเป็นต้องนำกลับไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นใหม่แต่อย่างใด

ต่อมาปรากฏว่า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่า ไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวมที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้ โดยพิจารณาถึงปัจจัยและผลประโยชน์ด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาปรับปรุงการประเมินข้อเสนอ เพื่อหาผู้ชนะการคัดเลือกให้มีความเหมาะสมชัดเจน ครบถ้วน และถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหนังสือฉบับนี้ได้ส่งต่อไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในวันที่ 13 สิงหาคม 2563 เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมของผู้ฟ้องคดีที่ 1 จนกระทั่งมีการการแก้ไขหัวข้อการประเมินซองข้อเสนอในวันที่ 22 สิงหาคม 2563 โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้เวลาพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพียง 9 วัน โดยไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะดำเนินการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563 กรณีนี้จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน ตามประกาคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ

ศาลจึงวินิจฉัยว่าเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมจากครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกัน โดยแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนนนั้นเป็น “คำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

จากนั้นเมื่อศาลวินิจฉัยว่า เป็นการออกคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองนั้นถือเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นนี้ศาลวินัจฉัยว่า ตามมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” ซึ่งค่าสินไหมทดแทนที่จะกำหนดให้แก่ผู้ฟ้องคดีเพื่อทดแทนความเสียหายตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ย่อมต้องเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการบริหาร , จัดการในการเตรียมงานตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการประกวดราคา , การยื่นซองประกวดราคา

แต่ค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอตามคำห้องเพิ่มเติมนั้น ได้แก่ ค่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค และที่ปรึกษาทางกฎหมาย ซึ่งศาลมีความเห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายอันเป็นการดำเนินกิจการค้าตามปกติของผู้พ้องคดี และผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงให้ศาลเห็นว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการแก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ดังกล่าว โดยเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีเอกสารหลักฐานระบุว่า ได้มีการลงทุนใช้จ่ายไปจริงแต่อย่างใด

อีกทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุน รวมกัน โดยแบ่งสัดส่วนเป็น คะแนนซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนนนั้น ก็มิได้เป็นผลโดยตรง หรือ เป็นเหตุที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง เป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีต้องดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค และที่ปรึกษาทางกฎหมาย เพื่อยื่นข้อเสนอโครงการพิพาทเป็นเงินจำนวน 500,000 บาทนั้น จึง “ไม่อาจรับฟังได้” และเมื่อค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค และที่ปรึกษาทางกฎหมายของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว มิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่ใช้ในการประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนรวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน แทนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนเดิม จึง “ไม่อาจถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำละเมิด” ต่อผู้ฟ้องคดี ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่ผู้พ้องคดีได้

ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดี ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าธรรมเนียมศาลและค่าทนายความในอัตราอย่างสูงแทนผู้พ้องคดีนั้น ศาลมีความเห็นว่า โดยที่มาตรา 72/1 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติให้ศาลปกครองมีคำสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด หรือ แต่บางส่วนตามส่วนของการชนะคดีเท่านั้น ไม่มีบทกฎหมายใด บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจสั่งให้คู่กรณีชดใช้ค่าธรรมเนียมศาล หรือ ค่าทนายความแทนคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ คำขอของผู้ฟ้องคดีในส่วนนี้ ศาลจึงไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว “พิพากษายกฟ้อง”

  • ไทม์ไลน์ข้อเท็จจริง กรณีพิพาทประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”