ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกลด GDP จีนเหลือ 2.8% โตตามหลังเอเชียครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990

ธนาคารโลกลด GDP จีนเหลือ 2.8% โตตามหลังเอเชียครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990

27 กันยายน 2022


วันที่ 27 กันยายนธนาคารโลกได้จัดแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์เปิดตัวรายงานอัปเดตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับเดือนตุลาคม 2565 (East Asia and Pacific Economic Update ) โดยอาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลกนำเสนอข้อมูลและตอบคำถามจากสื่อ

รายงาน East Asia and Pacific Economic Update วิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจล่าสุดและแนวโน้มของภูมิภาค รวมทั้งผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และราคาของสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งมีผลต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดความยากจน และความมั่งคั่งของภูมิภาคและข้อมูลเฉพาะด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกด้วย

การเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วในปี 2565 เนื่องจากการชะลอตัวของจีน แต่อัตราการขยายตัวจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งรวมจีน จะชะลอตัวลงเหลือ 3.2% ในปี 2565 ลดลงจาก 5.0% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน และลดลงจาก 7.2% ในปีที่แล้ว

หากไม่รวมจีนเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในปี 2565 จะขยายตัว 5.3% จาก 2.6% ในปี 2564

จีน ซึ่งมีสัดส่วน 86% ของ GDP ของภูมิภาค 23 ประเทศ และเดิมนำการเติบโตในภูมิภาค คาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 2.8% ในปี 2565 จาก 8.1% ในปี 2564

“เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ 1990” อาดิตยากล่าว

สำหรับเศรษฐกิจไทยธนาคารโลกปรับการเติบโตขึ้นเป็น 3.1% จาก 2.9% ในปีนี้ จากการบริโภคและการส่งออก และจะขยายตัว 4.1% ในปีหน้า

ส่วนเวียดนามจะเติบโตโดดเด่น โดยธนาคารโลกปรับคาดการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 7.2% จาก 5.3% ในปีนี้ และขยายตัว 6.7% ในปีหน้า

เศรษฐกิจจีนและเวียดนามกลับมาสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2563 ส่วนเศรษฐกิจอินโดนีเซียและมาเลเซียกลับที่มาระดับก่อนการระบาดแล้วเมื่อปลายปี 2564 ด้านเศรษฐกิจกัมพูชา ฟิลิปปินส์ และไทยคาดว่าจะกลับมาที่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2565

การฟื้นตัวของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้มาจากการบริโภคของภาคเอกชนฟื้นขึ้นมาหลังวิกฤติการระบาดของโควิดในปี 2564 จากการผ่อนคลายข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับโควิด และการเติบโตที่ต่อเนื่องของการส่งออก และนโยบายการเงินหรือการเงินที่เข้มงวดขึ้นก็จำกัด แต่สำหรับจีน การใช้นโยบายปลอดโควิดนำไปสู่การหยุดชะงักในภาคอุตสาหกรรมและบริการ การผลิต การขายในประเทศ และการส่งออก

สำหรับผลจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า อาดิตยากล่าวว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าส่งผลกระทบแบบย้อนแย้ง ในทางหนึ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของการส่งออก แต่อีกด้านหนึ่งเพิ่มแรงกดดันให้ผู้กู้ที่ต้องชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศด้วย

“ถ้ามองในแง่เงินเฟ้อและภาระหนี้ ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นถือเป็นข่าวร้าย แต่จากมุมมองของการส่งออกถือเป็นข่าวดี” อาดิตยากล่าว และว่า ค่าเงินในภูมิภาคที่อ่อนค่าอาจหนุนการท่องเที่ยว

มองไปข้างหน้า ยังมีปัจจัยที่เป็นภัยคุกคามต่อการเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน 3 ด้านได้แก่
1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งผลกระทบต่อความต้องการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าที่ผลิตในภูมิภาค
2) อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในต่างประเทศเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้เงินทุนไหลออกและค่าเงินอ่อนค่าในบางประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ส่งผลให้ภาระในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นและขีดความสามารถทางการคลังลดลง ส่งผลกระทบต่อประเทศประสบกับการระบาดใหญ่ในขณะนี้มีภาระหนี้ที่สูง
3) มาตรการบางด้านเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและหนี้ ยิ่งเพิ่มการบิดเบือนในตลาด ด้านอาหาร เชื้อเพลิง และการเงิน

รายงานชี้ว่า นโยบายปัจจุบันที่ใช้อยู่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อครัวเรือนและบริษัทจาก ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น ก็ยิ่งเป็นการบิดเบือนนโยบายมากขึ้น และจะบั่นทอนแนวโน้มในระยะยาวเว้นแต่จะเป็นนโยบายชั่วคราว

การควบคุมราคาอาหารและอุดหนุนด้านพลังงานนอกจากบิดเบือนทางเลือกของผู้บริโภคและผู้ผลิตแล้ว ยังมีประโยชน์เฉพาะผู้ที่มั่งคั่งและดึงการใช้จ่ายของรัฐบาลออกจากโครงสร้างพื้นฐาน สุขภาพ และการศึกษา

มาตรการในการจัดการกับหนี้ หากไม่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือการระดมทรัพยากรในวงกว้าง อาจนำไปสู่การกดดันในตลาดการเงินและบิดเบือนการออมและการตัดสินใจลงทุนทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ

Manuela V. Ferro รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวว่า “เศรษฐกิจประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการชะลอตัวของการเติบโตทั่วโลก ประเทศต่างๆ ควรจัดการกับนโยบายในประเทศที่บิดเบือนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในระยะยาว”

อาดิตยากล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายเผชิญกับการที่จะต้องแลกว่าจะแก้ปัญหาเงินเฟ้อหรือจะสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การควบคุมและอุดหนุน ส่งผลกระทบต่อผลผลิต การมีนโยบายที่ปรับให้เหมาะสมกับการดูแลด้านอาหาร เชื้อเพลิง และการเงินจะกระตุ้นการเติบโตและช่วยในการคุมเงินเฟ้อ