ThaiPublica > เกาะกระแส > “ก่อการครู” ก่อการใหญ่ จุดไฟเปลี่ยนโลกการเรียนรู้ “หลุมดำ”การศึกษาไทย (2)

“ก่อการครู” ก่อการใหญ่ จุดไฟเปลี่ยนโลกการเรียนรู้ “หลุมดำ”การศึกษาไทย (2)

14 พฤษภาคม 2022


ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมสร้างโครงการก่อการครู

ต่อจากตอนที่ 1 ไทยพับลิก้าได้นำไปทำความรู้จักกับโครงการก่อการครู ที่มีแนวคิดหลักในการพัฒนาครูเพื่อให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในการปฏิรูประบบการศึกษา ในครั้งนี้ จะพาไปพบ ดร.อดิศร จันทรสุข ผู้สังเคราะห์องค์ความรู้สู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมสร้างโครงการก่อการครู

ดร.อดิศร เล่าว่า เริ่มแรกตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ หนึ่งในความตั้งใจของผู้เกี่ยวข้องนอกเหนือจากการเรียน การสอน คือ อยากขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการศึกษา และการเรียนรู้ การพัฒนาของมนุษย์ด้วย ทำให้เกิดโครงการผู้นำแห่งอนาคต ที่มีการทำงานกับหลายกลุ่ม จนมาได้ข้อสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงการศึกษาต้องเริ่มต้นที่ครูก่อน จึงกลายมาเป็น “ก่อการครู” ในปัจจุบัน

มิติสำคัญของ”ก่อการครู” คือ พาครูให้กลับมา “ตั้งแกน” ก่อน เพราะครูหลายคนทำงานไปพักหนึ่งเกิดอาการหมดไฟ หรือถูกระบบกลืน ระบบที่ว่าคือระบบอำนาจ ครูก็เรียนรู้ที่จะใช้อำนาจในการจัดการ แล้วถ่ายทอดสู่ห้องเรียน

รวมทั้งครูจะเจอกับมายาคติที่ดูเหมือนจะเชิดชูครู อย่างครูเป็นเรือจ้าง เป็นแม่พิมพ์พ่อพิมพ์ของชาติ เป็นพ่อแม่คนที่สองของเด็ก เป็นความพยายามที่จะผลักครูให้ถูกยกย่องว่าเป็นผู้เสียสละ และนำไปสู่ความคาดหวังว่าครูต้องทำหน้าที่มากกว่าครูในแง่การเสียสละ มองครูในแบบที่ขาดความเป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาไป ทั้งที่ครูไม่ใช่มนุษย์ที่สมบูรณ์ ยังต้องมีการเรียนรู้ มีความไม่พอใจ เสียใจได้ แต่ไม่มีการพูดถึง

“ถ้าดูโฆษณาทุกปีในช่วงวันครู จะไม่เคยเห็นภาพครูสอนเด็ก แต่เป็นภาพการเสียสละ ออกไปช่วยนักเรียนนอกโรงเรียน ฯลฯ ไม่เคยมีการประเมินตัดสินว่า เป็นครูที่มีคุณภาพเพราะความสามารถ จากการสอน นี่เป็นปัญหา เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่สามารถวัดการเรียนการสอนจากความสามารถอย่างแท้จริง แต่ไปวัดเรื่องอื่นๆ การเสียสละ เรื่องต่างๆ นอกห้องเรียน ก็กลายเป็นว่าต้องเอาครูไปนอกห้องเรียนทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้รับการขึ้นเงินเดือน ซึ่งเป็นการทำร้ายทั้งวงการครู เราไม่ได้บอกให้ครูไม่เสียสละ แต่นอกจากความเสียสละแล้ว ต้องปฎิบัติต่อครูอย่างมืออาชีพคนหนึ่ง มืออาชีพคือ ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน สามารถในการสร้างความสัมพันธ์ในชั้นเรียนที่มีความปลอดภัย ให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น เป็นตัวของตัวเองได้ เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพในสังคม แต่พอไม่มีมิติเหล่านี้ ครูก็แค่มาใช้อำนาจในห้องเรียน เพราะง่ายที่สุด และครูก็ขาดเครื่องมือ ขาดทักษะที่จะอยู่กับนักเรียนที่สร้างให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้อย่างแท้จริง

ดร.อดิศร ระบุว่า ทักษะในการอยู่กับนักเรียนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเด็กยุคนี้แตกต่างจากเดิมมาก โดยเฉพาะยุคสมัยปัจจุบัน ที่มีเรื่องเทคโนโลยี โซเชียลมีเดียต่างๆ แพลตฟอร์มในมือถือ ที่ทำให้เด็กยุคนี้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารบางอย่างได้ และแชร์บางอย่างร่วมกัน ขณะเดียวกันเด็กรุ่นใหม่เติบโตมาในโลกที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เพราะในโลกออนไลน์เขารู้ว่ามันไม่มีขีดจำกัด เด็กส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเขาสามารถแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกได้ ทำให้ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ใหญ่ในห้องเรียนหรือที่อื่นๆ พยายามปิดกั้นการแสดงออกทางความคิด ความรู้สึกของเขา

เด็กรุ่นนี้จึงเติบโตมาพร้อมกับคำถาม พร้อมกับความรู้สึกว่า เขาไม่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือวัฒนธรรมอะไรบางอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับเขา หรือเขาไม่เห็นคุณค่า เขาจะมีคำถามกับสิ่งเหล่านี้เยอะ

ครูจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่า เขาต่างจากคนรุ่นเราที่เติบโตมาและถูกสอนให้เชื่ออะไรที่ไม่เคยมีการตรวจสอบว่าจริงหรือไม่จริง อะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือความเชื่อ

ดร.อดิศร กล่าวว่า รูปแบบและวิถีชีวิตของเด็กรุ่นใหม่ยังนำไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง คือ อาการซึมเศร้า ที่เป็นปัญหาสำคัญมาก และพูดกันค่อนข้างน้อย ทั้งที่วิกฤติมาก เด็กอย่างน้อย 1 ใน 10 คนที่ไม่ถึงขั้นเป็นโรค แต่มีอาการซึมเศร้า มีอาการที่รู้สึกว่าไม่รู้ว่าจะมีชีวิตต่อไปทำไม เพราะมองไม่เห็นอนาคต รู้สึกว่าถูกคาดหวัง ถูกคาดคั้นจากสังคม

เป็นความคาดหวัง 2 ขั้วที่ทำร้ายเด็กทั้งคู่ ขั้วแรกมาจากสังคมที่คาดหวังว่าเขาจะต้องเป็นคนดี เป็นเด็กเรียนดี ทำตามกฎเกณฑ์ตามขนบเดิม ขณะเดียวกัน ก็มีความคาดหวังของสังคมที่มาจากยุคสมัย เช่น ต้องประสบความสำเร็จในตอนอายุยังน้อยนะ ต้องหาตัวเองให้เจอ มีแรงผลักดัน แรงปรารถนา (passion) อะไร เจอหรือยัง

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างจากสื่อ เห็นคนประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี แล้วตัวเขากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งในความเป็นจริง เด็กที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยมากมีสักกี่คน ขณะที่คนอีก 90% กว่า ที่เป็นคนกลางๆ เรียนก็ไม่ได้ดีมาก ยังหาตัวเองไม่เจอ ยังไม่สามารถจะเป็นอายุน้อยร้อยล้านได้ นี่คือวิธีคิดของสังคมรุ่นใหม่ ที่เร่งให้ประสบความสำเร็จให้เร็วที่สุด ทำให้เด็กส่วนใหญ่ในสังคมที่อยู่ตรงกลางเจอกับอาการซึมเศร้า อาการผิดหวัง เป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมที่ต้องช่วยกันมอง ช่วยกันจัดการอะไรบางอย่าง

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/korkankru

‘สิ่งที่ครูทำได้คือต้องฟังก่อน ต้องเข้าใจก่อนว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแบบนี้ รวมถึงเด็กเกเร เด็กไม่ตั้งใจเรียน ทุกอย่างที่ท้าทาย ล้วนมีที่มาที่ไปของมัน ถ้าไปมองว่า ฉันถูกเด็กท้าทาย จะกลายเป็นว่าเรากำลังหมกมุ่นกับตัวเราเอง แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เปิดพื้นที่ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ ลองฟังให้ได้ยิน ความคิด คุณค่า ความเชื่อ ความรู้สึกของเขา โดยไม่รีบตัดสิน ลองฟังให้เห็นถึงความผิดหวัง เห็นถึงความกลัว เห็นถึงโลกที่มันไม่มั่นคงสำหรับเขา เห็นโลกที่มันเปราะบางมากๆ สำหรับเขา”

เมื่อไหร่ที่ฟังกันและกัน มากขึ้น สร้างพื้นที่ปลอดภัยในชั้นเรียนมากขึ้น เราจะพบว่าเด็กกล้าสื่อสารกับเรา กล้าสื่อสารความคิดความเชื่อบางอย่าง ซึ่งที่บ้านอาจไม่ปลอดภัยพอสำหรับเขา

“เมื่อไหร่ที่เขารู้สึกปลอดภัยกับครู ก็จะสร้างความเป็นไปได้ สร้างพื้นที่ที่เราจะหล่อหลอม จะโอบอุ้มคนรุ่นใหม่ เพราะต้องยอมรับว่า เขาเผชิญกับโลกที่มีความคาดหวังกับเขา และเขาเปราะบางมากขึ้นกว่ายุคก่อนๆ ครูจะเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญมากในการสร้างพื้นที่นี้ทั้งในและนอกชั้นเรียน”

ดร.อดิศร กล่าวว่า การที่ครูจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้ ต้องมีทักษะในการฟังนักเรียน การเคารพความหลากหลายของผู้เรียน ทักษะนี้ไม่มีการสอนเท่าไหร่ ทั้งที่มีความสำคัญ เพราะคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมา มีวิธีการเรียนรู้ การใช้ชีวิตที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนเยอะจากโซเชียล ออนไลน์ แพลตฟอร์มเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้มีวิธีคิดเฉพาะตัวบางอย่าง และมีวิธีการมองโลกในอีกแบบที่เราไม่คุ้นชิน ถ้ามองว่านี่คือปัญหา ต้องดัดเขาให้มาเป็นนักเรียนที่ดีแบบที่เราเคยรับรู้ ก็จะกิดความท้าทาย เกิดปัญหา เกิดความตึงเครียดระหว่างกัน ถามว่าทำไมครูต้องเป็นฝ่ายปรับตัว ก็เพราะครูผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน มีประสบการณ์มากกว่า จึงจำเป็นที่ต้องแสดงให้เด็กเห็นว่า เราใช้ความสามารถในการฟังเพื่อจะเข้าใจเขา เป็นประเด็นสำคัญว่า ครูต้องปรับตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเด็กมีวุฒิภาวะน้อยกว่า ความสามารถในการฟังน้อยกว่า

“โครงการก่อการครูจึงจับเอาประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา ให้ครูกลับมาตั้งแกนตัวเองใหม่ เริ่มต้นด้วยการมองว่าตัวเองเป็นมนุษย์ที่ยังสามารถเรียนรู้ได้อยู่ ยังมีความตั้งใจจะเป็นครูอยู่ อะไรคือความฝัน อะไรคือแรงบันดาลใจที่อยากเป็นครู แล้วหลงลืมสิ่งเหล่านี้ไปหรือเปล่าเวลาอยู่ในระบบ พอกลับมารื้อฟื้นคุณค่าหรือความเป็นครูในตัวเขาแล้ว ก็เติมเครื่องมือที่จะช่วยให้ครูจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพต่อไป”

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/korkankru
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/korkankru

ทั้งนี้ โครงการก่อการครูทำงานใน 3 ระดับไปพร้อมๆ กัน ระดับแรกเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล คือการพัฒนาศัยภาพในตัวครู ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเวทีเครือข่ายให้ครูได้มาพบกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ได้มาฟื้นฟูพลัง ได้เห็นคุณค่าในตัวครูเอง ได้ติดอาวุธทางปัญญา เครื่องมือการเรียนรู้ต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ในห้องเรียนเขาได้

ระดับต่อมา คือ ความเป็นเครือข่าย คือพยายามสร้างความเชื่อมโยงคนในพื้นที่ใกล้เคียงกัน หรือทำงานในประเด็นที่คล้ายๆ กัน เช่น มี node คนที่ทำก่อการสิทธิเด็ก ที่สนใจเรื่องสิทธิเด็กในห้องเรียนในชั้นเรียน หรือครูที่ทำงาน 3 สายวิชา คือ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ คณิตศาสตร์ มารวมตัวกัน จากปัจจุบันที่แต่ละสายแยกขาดจากกัน และยังมีเครือข่ายที่เป็น node แต่ละพื้นที่ ที่รวมตัวกันเองแล้วโครงการเข้าไปช่วยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพให้ขับเคลื่อนไปได้ และสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ในบริบทของตัวเอง

อีกระดับ คือ การเปลี่ยนแปลงระดับสังคม โดยพยายามสร้างเรื่องราวของครูเองที่มีแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงให้ลงไปสร้างการเปลี่ยนแปลง มีการสร้างพื้นที่ในสื่อ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างการถกเถียงอภิปราย พูดคุย แลกเปลี่ยน เรื่องของการศึกษาในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ครูที่ไม่สามารถมาร่วมโครงการได้ แต่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ทั้งการเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือในบริบทของโรงเรียนตนเอง ได้เห็นเรื่องราวจากสื่อ สร้างแรงบันดาลใจและลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เล็กๆ น้อยๆ ก็ยังดี หลายคนเรียกยุทธวิธีนี้ว่า ป่าล้อมเมือง คือ ดึงคนนอกระบบออกไปสร้างสายสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายให้เข้มแข็ง แล้วค่อยโอบล้อมเข้ามาสู่ใจกลาง คือตัวระบบเอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/korkankru
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/korkankru

“ที่เห็นคือ สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เริ่มเข้ามาติดต่อ เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเกิดขึ้น ทั้งจากพื้นที่ของสื่อ จากการไปดูงานแล้วมีการพูดถึงจากนักคิด นักการศึกษาคนสำคัญของประเทศ ที่พูดถึงโครงการก่อการครู ทำให้มีการทำงานกับ สพฐ. มากขึ้น โครงการยังได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงเทพ กลุ่มธุรกิจTCP ที่ช่วยสนับสนุนให้สามารถไปทำงานกับโรงเรียนในเครือข่ายผ่านโครงการต่างๆ

ดร.อดิศร กล่าวว่า ในการทำงานกับภาครัฐ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่อย่างน้อยเป็นการเปิดโอกาสให้ “ก่อการครู” ได้ทำงานกับครูในโรงเรียน และทุกครั้งที่ลงไปทำงานในโรงเรียน จะเจอครูหลายคนที่รอคอยให้มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงบางอย่าง และครูเหล่านี้กลายมาเป็นแกนนำในการทำงานร่วมกันต่อไป

“สำหรับผม การทำงานใน 1 โรงเรียน แล้วมีคนคลิกต้องการการเปลี่ยนแปลง 1-2% แล้ว ถือว่าได้มีการหย่อนเมล็ดพันธุ์อะไรบางอย่าง คุณค่าอะไรบางอย่าง ไว้ในโรงเรียน และสิ่งสำคัญคือ ถ้าทำแล้วทิ้งไป ครูจะฝ่อ แต่โครงการนี้จะการสร้างเครือข่ายไว้ ทำให้ครูเหล่านี้กลายเป็นแหล่งน้ำที่ช่วยชโลมใจซึ่งกันและกัน เติมพลังงานให้แก่กัน และยังทำงานต่อไป เพราะรู้แล้วว่าเขาไม่ได้ทำเฉพาะเพื่อตัวเอง เพื่อนักเรียนในชั้นเรียนของเขา แต่จะเป็นตัวอย่างให้ครูที่อื่นๆ ได้เห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น กลายเป็นแรงบันดาลใจ เป็นกำลังใจให้ครูไม่หยุดทำ เพราะรู้ว่า ความเชื่อของเขาไม่ใช่ความเชื่อเดียวอีกต่อไปแล้ว มันเป็นความเชื่อกลุ่มที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไปได้ต่อไป

พร้อมย้ำว่า “แต่ผมก็เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระบบต้องใช้เวลาอีกยาวนานมาก เพราะระบบการศึกษาไทยค่อนข้างแข็งตัว และดูดกลืนทุกอย่างเข้ามาเหมือนเป็นหลุมดำ ต่อให้คุณมีตัวอย่าง มีโมเดลที่มีความน่าสนใจ มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน แต่พอมันถูกดูดเข้ามาในระบบ ระบบมันมีความสามารถในการทำลายทุกอย่างให้มันกลายเป็นความล้มเหลวได้ เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากในสังคมไทย ที่เราพยายามมากที่จะใส่นวัตกรรมใหม่ๆ เข้าไปในระบบ แล้วมันถูกดูดกลืนไปหมด แต่ผมก็ยังมีความหวังอยู่”