ThaiPublica > เกาะกระแส > สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กษัตริย์แห่งเครือจักรภพที่ยิ่งใหญ่

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กษัตริย์แห่งเครือจักรภพที่ยิ่งใหญ่

9 กันยายน 2022


ที่มาภาพ:https://twitter.com/RoyalFamily/status/1567928275913121792?ref_src=twsrc%5Egoogle%7Ctwcamp%5Eserp%7Ctwgr%5Etweet
สำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์เย็นวันที่ 8 กันยายน 2565 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสวรรคตแล้ว ขณะพระชนมพรรษา 96 พรรษา

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กษัตริย์ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดของอังกฤษเสด็จสวรรคตอย่างสงบที่ปราสาทบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ หลังจากครองราชย์มา 70 ปี

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 1952 และทรงผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ประมุขอังกฤษพระองค์ใหม่ โดยมีพระนามว่า พระเจ้าชาร์ลสที่ 3 แถลงการณ์ว่า การสิ้นพระชนม์ของพระมารดาอันเป็นที่รักของพระองค์เป็น “ช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าอย่างใหญ่หลวง” สำหรับพระองค์และราชวงศ์ และการสูญเสียพระมารดาจะทำให้โลกอาลัยอย่างยิ่ง

พระองค์ทรงตรัสว่า “เราเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของกษัตริย์ผู้เป็นที่รักและมารดาอันเป็นที่รักยิ่ง”

“ข้าพเจ้าทราบดีว่าการจากไปของพระองค์จะยังความอาลัยทั่วประเทศ อาณาจักรและเครือจักรภพ และผู้คนนับไม่ถ้วนทั่วโลก”

ในช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัยที่จะมาถึง พระเจ้าชาร์ลสที่ 3 ทรงตรัสว่า พระองค์และราชวงศ์จะ “ผ่านพ้นและยืนหยัดได้ด้วยตระหนักถึงความเคารพ ความรักและเทิดทูนที่มีต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวงกว้าง”

สำนักพระราชวังบักกิงแฮมเปิดเผยว่า พระเจ้าชาร์ลสที่ 3 และดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ หรือพระนามเดิม คามิลลา ซึ่งปัจจุบันเป็นสมเด็จพระราชินีจะเสด็จกลับลอนดอนในวันศุกร์ และคาดว่าอาจจะทรงมีพระราชดำรัสในวันเดียวกัน

ในช่วงบ่ายวันที่ 8 กันยายน พระราชโอรส พระราชธิดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และ สมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์อังกฤษได้เสด็จไปยังปราสาทบัลมอรัล หลังจาก คณะแพทย์ได้ถวายการดูแลเนื่องจากกังวลเกี่ยวพระพลานามัยของพระองค์ โดยที่เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแฮร์รี่ ได้เสด็จด้วย จากการรายงานของบีบีซี

การดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ครอบคลุมตั้งแต่ ช่วงรัดเข็มขัดหลังสงคราม การเปลี่ยนผ่านจากจักรวรรดิสู่เครือจักรภพ การสิ้นสุดของสงครามเย็น และการเข้าสู่และถอนตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร

ตลอดรัชสมัยกาลของพระองค์ อังกฤษมีนายกรัฐมนตรี 15 คนโดยเริ่มจากเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลซึ่งเกิดในปี 1874 และรวมถึงนางลิซ ทรัสส์ คนล่าสุด ซึ่งเกิดใน 101 ปีต่อมา คือปี 1975

พระองค์ทรงให้นายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าทุกสัปดาห์ตลอดรัชสมัย

ที่หน้าพระราชวังบักกิงแฮมในลอนดอน ฝูงชนที่รอการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับพระอาการของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เริ่มร้องไห้เมื่อได้ยินถึงการสวรรคตของพระองค์

ธงชาติสหภาพ หรือ union flag ด้านบนของพระราชวังถูกลดระดับลงเหลือครึ่งเสาเมื่อเวลา 18:30 น. ตามเวลาในอังกฤษ และมีการติดประกาศอย่างเป็นทางการถึงการสวรรคตด้านนอก

การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ส่งผลให้จ้าชายวิลเลียมและพระชายา แคทเธอรีน ทรงเป็นทั้งดยุกและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์และดยุกและดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์

ที่มาภาพ: https://www.royal.uk/the-queens-early-life-and-education

ลิลิเบ็ต ทายาทแห่งบัลลังก์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระนามเต็มว่า อเล็กซานดรา แมรี วินด์เซอร์ ประสูติในเมืองเมย์แฟร์ ลอนดอน เมื่อวันที่ 21 เมษายน 1926

มีเพียงไม่กี่คนที่คาดการณ์ว่าพระองค์จะเป็นกษัตริย์ในอนาคต แต่ในเดือนธันวาคม 1936 พระปิตุลาของพระองค์ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 สละราชสมบัติเพื่อแต่งงานกับวอลลิส ซิมป์สัน สามัญชนชาวอเมริกันที่หย่าร้างสองครั้ง

พระบิดาของพระองค์ ทรงเสวยราชสมบัติเป็น พระเจ้าจอร์จที่ 6 และเมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 10 พรรษา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งมีชื่อเรียกภายในราชวงศ์ว่า ลิลิเบ็ต ก็กลายเป็นทายาทแห่งราชบัลลังก์

ภายในสามปีหลังจากนั้น อังกฤษทำสงครามกับนาซีเยอรมนี เจ้าหญิงเอลิซาเบธในขณะนั้นและเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐา ทรงพำนักที่ปราสาทวินด์เซอร์เป็นส่วนใหญ่ในห้วงแห่งสงคราม หลังจากที่พระบิดาและพระมารดาทรงปฏิเสธข้อเสนอแนะให้แปรพระราชฐานไปยังแคนาดา

หลังจากมีพระชนมายุ 18 พรรษา เจ้าหญิงเอลิซาเบธใช้เวลา 5 เดือนกับ Auxiliary Territorial Service และเรียนรู้ทักษะพื้นฐานด้านยานยนต์และทักษะการขับขี่ พระองค์ทรงเล่าให้ฟังภายหลังว่า “ข้าพเจ้าเริ่มเข้าใจถึงความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะที่ยังคงอยู่เมื่อเผชิญกับความทุกข์ยาก”

ในระหว่างสงคราม พระองค์ได้ทรงมีจดหมายติดต่อกับพระญาติคือ เจ้าชายฟิลิป เจ้าชายแห่งกรีซ ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพเรือ ความรักของทั้งสองพระองค์เบ่งบานและเข้าสู่พระราชพิธีเสกสมรสที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ หรือ เวสต์มินเตอร์ แอบบีย์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1947 โดยที่เจ้าชายฟิลิปได้พระราชทานพระอิสริยยศ เป็น ดยุคแห่งเอดินบะระ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงตรัสว่า ดยุคแห่งเอดินบะระ เป็น “กำลังใจและเป็นที่พักพิงของข้าพเจ้า” ตลอด 74 ปีของการครองชีวิตคู่ ก่อนที่ดยุคแห่งเอดินบะระจะสิ้นพระชนม์ในปี 2021 พระชนมายุ 99 พรรษา

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระราชโอรสองค์แรกประสูติเกิดในปี 1948 ตามด้วยเจ้าหญิงแอนน์ในปี 1950 เจ้าชายแอนดรูว์ในปี 1960 และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดในปี 1964 และมีพระราชนัดดา 8 พระองค์ พระราชปนัดดา 12 พระองค์ จากพระราชโอรสและพระธิดา

เจ้าหญิงเอลิซาเบธอยู่ในเคนยาในปี 1952 เพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระเจ้าจอร์จที่ 6 ที่ประชวร เมื่อเจ้าชายฟิลิปรายงานว่าพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ จึงเสด็จกลับลอนดอนทันทีในฐานะสมเด็จพระราชินีองค์ใหม่

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้รับการสวมมงกุฎลงบนพระเศียรในพระราชพิธีราชาภิเษก ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 1953 ขณะมีพระชนมายุ 27 พรรษา ซึ่งมีการถ่ายทอดสดและมีผู้ชมผ่านโทรทัศน์ด้วยสถิติสูงสุดในขณะนั้น 27 ล้านคนมีคนฟังรายการวิทยุอีก 11 ล้านคน จากจำนวนประชากรอังกฤษขณะนั้นราว 36 ล้านคน

ที่มาภาพ: https://www.royal.uk/the-queens-accession-and-coronation

ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ในทศวรรษต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีการสิ้นสุดของจักรวรรดิอังกฤษในต่างประเทศและการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของหนุ่มสาวอังกฤษช่วงกลางยุค 60 ที่ล้างบรรทัดฐานทางสังคมในประเทศ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สำหรับยุคที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสถาบันนี้ โดยมีส่วนร่วมกับสาธารณชนผ่านการเดินท่ามกลางฝูงชน การเสด็จเยือนของราชวงศ์ และการเข้าร่วมงานสาธารณะต่างๆ

ความมุ่งมั่นของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่มีต่อเครือจักรภพนั้นสม่ำเสมอ ทรงเสด็จไปเยือนทุกประเทศในเครือจักรภพอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

แต่มีช่วงเวลาของความเจ็บปวดในเรื่องส่วนพระองค์และสาธารณะ

ในปี 1992 “เป็นที่เลวร้าย” ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เกิดไฟไหม้ปราสาทวินด์เซอร์ ซึ่งเป็นที่พำนักส่วนพระองค์และพระราชวังที่ยังทรงใช้งานอยู่ และชีวิตการแต่งงานของพระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์ก็ล่มสลาย

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ในอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กรุงปารีสในปี 1997 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทรงไม่เต็มใจที่จะตอบสนองต่อสาธารณชน

มีคำถามเกี่ยวกับความคงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมสมัยใหม่

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยอมรับว่า “ไม่มีสถาบันใด… ควรคาดหวังว่าจะเป็นอิสระจากการตรวจสอบจากผู้ที่มอบความภักดีและการสนับสนุน ไม่ต้องพูดถึงผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้”

ในขณะที่มีพระชนมายุ 21 พรรษา และยังเป็นเจ้าหญิง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงให้คำสัตย์ว่าจะอุทิศชีวิตเพื่อรับใช้ประเทศ

เมื่อย้อนนึกถึงคำปฏิญานนั้นในหลายทศวรรษต่อมา ในช่วงแห่งการเฉลิมการครองราชย์ครบ 25 ปีในปี 1977 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประกาศว่า “แม้ว่าคำปฏิญาณนั้นมีขึ้นในช่วงที่ข้าพเจ้ายังเยาว์วัย ยังเดียงสา แต่ข้าพเจ้าไม่เสียใจหรือถอนคำพูดแม้แต่คำเดียว”

ความมุ่งมั่นเดียวกันก็ยังมีให้เห็นใน 45 ปีต่อมา ในจดหมายขอบคุณไปยังประชาชน ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของการฉลองการครองราชย์ครบ 70 ปีในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่มีการเฉลิมฉลอง ทั้งพิธีการของรัฐ และเป็นเทศกาลที่มีสีสันในอังกฤษ รวมถึงปาร์ตี้อันรื่นเริงริมถนน

แม้ว่าพระพลานามัยของพระองค์จะทำให้ไม่สามารถทรงเข้าร่วมงานบางส่วนได้ แต่พระองค์ทรงตรัสว่า “ข้าพเจ้าขอส่งความรักมายังทุกคน”

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จออกสีหบัญชรของพระราชวังบักกิงแฮมร่วมกับสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์ทั้ง 3 รุ่น ในช่วงท้ายของพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี โดยได้รับเสียงชื่นชมจากฝูงชนจำนวนมาก

ที่มาภาพ: https://www.royal.uk/the-queen-and-commonwealth

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระประมุขใหม่

พระเจ้าชาร์ลส์ ทรงมีพระชนมายุ 73 พรรษา ทรงขึ้นเป็นประมุของค์ใหม่ใน 14 อาณาจักรเครือจักรภพ

พระเจ้าชาร์ลส์ และคามิลลา ทรงประทับที่ปราสาทบัลมอรัลพร้อมกับพระอนุชา พระขนิษฐา เจ้าหญิงแอนน์ และเจ้าชายแอนดรูว์และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด รวมทั้ง เคาน์เตสแห่งเวสเซกซ์ หรือ โซฟี พระชายาเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด และเจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี่

ด้านเคท ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ พระชายาเจ้าชายวิลเลียมยังคงอยู่ที่พระราชวังวินด์เซอร์พร้อมกับพระโอรสและพระธิดา เจ้าชายจอร์จ เจ้าหญิงชาร์ล็อตต์ และเจ้าชายหลุยส์ เนื่องจากเป็นวันแรกที่เสด็จไปโรงเรียนใหม่

สมเด็จพระบรมวงศานุวงศ์ และสมาชิกราชวงศ์ เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัยในอีกไม่กี่วันข้างหน้า กิจกรรมส่วนใหญ่ของประเทศจะถูกระงับ

กำหนดการอย่างเป็นทางการจะถูกยกเลิกและธงสหภาพจะลดลงครึ่งเสาบนที่ประทับของราชวงศ์ อาคารราชการ ทั่วทั้งกองทัพ และหน่วยงานของสหราชอาณาจักรในต่างประเทศ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะไว้อาลัยต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2และถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระเจ้าชาร์ลส์

นอกจากนี้จะมีการตีระฆังในโบสถ์และยิงปืนสดุดี ในขณะที่องค์กรในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งองค์กรการกุศลทั้งในประเทศและนานา ชาติ ต่างเตรียมการถวายความเคารพ ด้วยกิจกรรมที่ระลึกและหนังสือลงนามถวายความอาลัย

คาดว่างานพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะจัดขึ้นในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า

ที่มาภาพ: https://www.royal.uk/platinum-jubilee-weekend

ฐานแห่งการสร้างอังกฤษยุคใหม่

นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชินีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา กล่าว ถ้อยแถลงถึงการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ถนนดาวนิ่ง มีใจความว่า

“เราทุกคนเสียใจกับข่าวที่เราเพิ่งได้ยินจากบัลมอรัล การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีฯ สร้างความตกตะลึงอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและต่อโลก

“ควีนอลิซาเบธที่ 2 เป็นฐานแห่งการสร้างอังกฤษในยุคปัจจุบัน ประเทศของเราเติบโตและรุ่งเรืองภายใต้รัชสมัยของพระองค์

“สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ได้ในทุกวันนี้เพราะพระองค์”

“พระองค์ทรงขึ้นครองบัลลังก์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงสนับสนุนการพัฒนาของเครือจักรภพ จากกลุ่มเล็กๆ 7 ประเทศจนกลายเป็น 56 ประเทศซึ่งครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก”

“ตอนนี้เราเป็นประเทศที่ทันสมัย ​​เจริญรุ่งเรือง และมีพลัง”

“ควีนอลิซาเบธที่ 2 ทรงผ่านร้อนผ่านหนาว ทำให้เรามีความมั่นคงและความแข็งแกร่งตามที่เราต้องการ พระองค์เป็นจิตวิญญาณของสหราอาณาจักรและจะคงอยู่ตลอดไป

นางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่มาภาพ:https://www.gov.uk/government/speeches/prime-minister-liz-trusss-statement-6-september-2022

“พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของเรา นับเป็นความสำเร็จที่ไม่ธรรมดาแห่งการเป็นพระประมุขด้วยศักดิ์ศรีและความสง่างามเช่นนี้มาเป็นเวลา 70 ปีแล้ว

สำหรับพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ นางทรัสส์กล่าวว่า “เราถวายความภักดีและอุทิศตนต่อพระองค์ เช่นเดียวกับที่พระมารดาของพระองค์อุทิศตนอย่างมาก ให้กับคนมากมายเป็นเวลานาน

“และเมื่อยุคเอลิซาเบธที่ 2 ล่วงเลยไป เราเข้าสู่ศักราชใหม่ในประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของประเทศอันยิ่งใหญ่ของเรา ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสงค์ ด้วยการกล่าวคำว่า ‘God save the King’ขอให้พระเจ้าทรงคุ้มครองพระราชา

ทั่วโลกอาลัย

ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์ และผู้นำทั่วโลกได้ แสดงความอาลัย ต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน และสตรีหมายเลขหนึ่ง จิล ไบเดน แถลงผ่าน เฟซบุ๊ค President Joe Biden ว่า “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นมากกว่ากษัตริย์ พระองค์กำหนดยุค”

ในโลกของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พระองค์เป็น “การคงอยู่ที่มั่นคงและเป็นหลักแห่งความอุ่นใจและความภาคภูมิใจสำหรับคนอังกฤษหลายชั่วอายุคน รวมถึงหลายคนที่อาจจะไม่รู้จักประเทศของตนหากไม่มีพระองค์”

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงนำทางด้วยความสง่างาม ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างแน่วแน่ และเป็นแบบอย่างของพลังอันหาที่เปรียบมิได้ของพระองค์ พระองค์ทรง “ทรงยืนหยัดต่ออันตรายและภาวะของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งควบคู่ไปกับชาวอังกฤษ และทรงอยู่ร่วมกับพวกเขาในช่วงที่ทั่วโลกล่มสลายจากโรคระบาดใหญ่ เพื่อวันที่ดีกว่าในอนาคต”

พระองค์สนับสนุนงานที่ยกระดับผู้คนและขยายโอกาส ผ่านการอุทิศตนให้กับสิ่งที่อยู่ภายใต้พระบรมราชินูปถัมภ์อุปถัมภ์และการกุศล พระองค์ยังมอบมิตรภาพและเคารพต่อประเทศอิสระใหม่ๆ ทั่วโลก พระองค์ทรงยกระดับเสรีภาพและส่งเสริมสายสัมพันธ์ที่ยั่งยืนที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือจักรภพที่พระองค์รักอย่างสุดซึ้ง ให้เป็นประชาคมเพื่อส่งเสริมสันติภาพและค่านิยมร่วมกัน

ประธานาธิบดีไบเดนและสตรีหมายเลขหนึ่งยังกล่าวอีกว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็น “รัฐสตรีผู้มีศักดิ์ศรีและความมั่นคงที่ไม่มีใครเทียบได้” ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาลึกซึ้งยิ่งขึ้น พระองค์ทรงทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายมีความพิเศษ

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/POTUS

ไม่กี่นาทีหลังจากการสิ้นพระชนม์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสนายเอ็มมานูเอล มาครง ได้โพสต์ภาพของพระองค์ผ่านบัญชี Twitter ของเขาโดยไม่มีคำพูดใดๆ

ในข้อความต่อมา ได้โพสต์ว่า “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งความต่อเนื่องยืนยาวและความเป็นหนึ่งเดียวของอังกฤษมาเป็นเวลากว่า 70 ปี ผมระลึกถึงพระองค์ในฐานะเพื่อนของฝรั่งเศส สมเด็จพระราชินีผู้ใจดีที่ทิ้งความประทับใจไม่รู้ลืมให้กับประเทศและศตวรรษของพระองค์”

“ไม่มีกษัตริย์ต่างประเทศพระองค์ปีนบันไดของพระราชวังเอลีเซ่บ่อยไปกว่าพระองค์ ซึ่งให้เกียรติฝรั่งเศสด้วยการมาเยือนอย่างเป็นทางการถึง 6 ครั้งและได้พบปะกับประธานาธิบดีแต่ละคน สำหรับพระองค์แล้ว ภาษาฝรั่งเศสไม่ได้เป็นเพียงมรดกตกทอดของบรรพบุรุษนอร์มันที่คงอยู่ในขนบธรรมเนียมมากมาย แต่เป็นภาษาที่ใกล้ชิดและชื่นชอบ สมเด็จพระราชินีฯแห่ง 16 อาณาจักรรักฝรั่งเศส ซึ่งรักพระองค์ตอบ”

ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูตินแสดงความเสียใจต่อพระเจ้าชาร์ลส์สำหรับ “ความสูญเสียที่ไม่อาจกลับคืนมา” ของพระมารดาของพระองค์ โดยกล่าวว่าสมเด็จพระราชินีฯ ทรง “ได้รับความรักและความเคารพจากราษฎรของพระองค์โดยชอบธรรม เช่นเดียวกับอำนาจในเวทีโลก”

ประธานาธิบดีรัสเซียปูตินกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอส่งแรงใจมาให้พระองค์ให้ยืนหยัดและเผชิญกับการสูญเสียจากการล่วงลับที่ไม่กลับคืนและขอส่งความเสียใจอย่างจริงใจและแรงใจให้กับสมาชิกของราชวงศ์และประชาชนทั้งหมดของสหราชอาณาจักร”

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนแสดง “ความเห็นอกเห็นใจอย่างจริงใจต่อรัฐบาลอังกฤษและประชาชน” ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ผ่านสื่อของรัฐ

แถลงการณ์ระบุว่า “สี จิ้นผิง ในนามตัวแทนของรัฐบาลจีนและประชาชนจีน รวมถึงตัวเขาเอง ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง” “การจากไปของพระองค์ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของชาวอังกฤษ”

นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง สิงคโปร์โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ค Lee Hsien Loongว่า เสียใจอย่างสุดซึ้งกับการจากไปของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระองค์ทรงเป็นจิตใจและจิตวิญญาณของสหราชอาณาจักร

รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นช่วงเวลาแห่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองที่ยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร ตลอดชีวิตของพระองค์ ปกครองสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพอย่างแน่วแน่ พระองค์ทรงทำหน้าที่ของพระองค์ด้วยความภักดี ความสง่างามและความอ่อนน้อมถ่อมตน ผลงานของพระองค์ในสหราชอาณาจักร เครือจักรภพ และโลกจะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ และพระองค์จะถูกจดจำด้วยความรักในฐานะผู้นำระดับโลกที่ยิ่งใหญ่

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์และความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่มีมายาวนานของสิงคโปร์กับสหราชอาณาจักร

“การจากไปของพระองค์ทำให้ทุกคนในสิงคโปร์เสียใจอย่างมาก ในนามของรัฐบาลสิงคโปร์ ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อพระเจ้าชาร์ลที่ 3 และพระบรมวงศานุวงศ์ นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์และประชาชนชาวอังกฤษทุกคน”

ในโพสต์นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงยังแชร์ภาพที่ได้รับเสด็จสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยระบุว่า ได้รับเสด็จสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หลายโอกาสด้วยกัน และล่าสุดคือปี 2018 ระหว่างการประชุมผู้นำรัฐบาลในเครือจักรภพ(Commonwealth Heads of Government Meeting)ที่กรุงลอนดอน

ที่มาภาพ: //www.facebook.com/leehsienloong

นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดา ยกย่องสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ว่า “ทรงสถิตอยู่ในชีวิตของเรา” และกล่าวว่าเพื่อนร่วมชาติของพระองค์จะ “จดจำและทะนุถนอมพระปรีชาญาณ ความเห็นอกเห็นใจ และความอบอุ่นของพระองค์”

นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย กล่าวว่า พระองค์จะเป็นที่จดจำว่าเป็น “ผู้แข็งแกร่งในยุคของเรา” ที่เป็น “ต้นแบบการมีศักดิ์ศรีและความถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของบุคคลสาธารณะ”