ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประวิตร” สั่งพลังงาน หาแนวทางหนุนครัวเรือนติดโซลาร์ – มติ ครม.จ่ายค่าตอบแทน อสม.-อสส. คนละ 2 พันบาท

“ประวิตร” สั่งพลังงาน หาแนวทางหนุนครัวเรือนติดโซลาร์ – มติ ครม.จ่ายค่าตอบแทน อสม.-อสส. คนละ 2 พันบาท

27 กันยายน 2022


พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

“ประวิตร” สั่งพลังงาน หาแนวทางหนุนครัวเรือนติดโซลาร์ –ตั้งศูนย์คัดกรองผู้ติดยา 1,032 แห่ง – สถานฟื้นฟูสมรรถภาพฯ 142 แห่ง – มติ ครม.จ่ายค่าตอบแทน อสม.-อสส. 4 เดือน คนละ 2 พันบาท – ขยายเวลาลดค่าไฟฟ้า-ประปาอีก 7 เดือน – บรรจุแผนกู้เงินเสริมสภาพคล่อง กฟผ.-กองทุนน้ำมัน 1.15 แสนล้าน-อนุมัติ 3.8 พันล้าน พัฒนาสถานีศิริราชเป็นอาคารรักษาพยาบาล

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม พลเอก ประวิตร ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานและตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรี

เซ็น MOU ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศต่อต้านการค้ามนุษย์

นายอนุชา กล่าวว่า ก่อนการประชุมครม.วันนี้ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้เข้าพบและหารือกับพลเอกประวิตร เรื่องการรับมือโรคระบาด ตามความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเปค (APEC) โดยมีการพูดคุยเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์

นายอนุชา กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า พลเอกประวิตรได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งผลักดันให้มีการลงนามและบันทึกความร่วมมือร่วมกันกับประเทศออสเตรเลีย พร้อมกับการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์

ตั้งศูนย์คัดกรองผู้ติดยา 1,032 แห่ง – สถานฟื้นฟูสมรรถภาพฯ 142 แห่ง

นายอนุชา กล่าวต่อว่า พลเอกประวิตรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหายาเสพติด การบำบัด และการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตที่มีความเสี่ยงในการก่อเหตุรุนแรง โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งศูนย์คัดกรองสถานพยาบาลยาเสพติดและสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้ว ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และปัจจุบันได้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาศูนย์คัดกรองสถานพยาบาลยาเสพติดจำนวน 1,032 แห่ง และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอีก 142 แห่ง

สั่งพลังงาน หาแนวทางหนุนครัวเรือนติดโซลาร์

นายอนุชา กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีแนวทางให้ทุกครัวเรือนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า อีกทั้งระบบโซลาร์ยังสามารถส่งไฟฟ้าเพื่อนำไฟฟ้าไปหักกลบหน่วยในเดือนถัดไปได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างงาน-สร้างรายได้ เช่น การติดตั้งและให้บริการระบบ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงลดการพึ่งพานำเข้าเชื้อเพลิงต่างประเทศที่มีราคาผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า พลเอกประวิตรสั่งการให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง กระทรวงมหาดไทย รับแนวทางไปพิจารณา และให้กระทรวงพลังงานสนับสนุนแนวทางดังกล่าว

ก่อนการประชุมครม. นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะผู้บริหาร เข้าพบ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดแสดงนิทรรศการ APEC 2022 สัญจร “APEC พร้อม ไทยพร้อม” วันที่ 27 กันยายน 2565 ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

มติ ครม.มีดังนี้

ขยายเวลาลดค่าไฟฟ้า-ประปาอีก 7 เดือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – เมษายน 2566 (7 เดือน) จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 65 โดยใช้งบประมาณจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จํานวน 1,933.05 ล้านบาท แบ่งเป็นสนับสนุนค่าไฟฟ้า 1,786.05 ล้านบาท ช่วยเหลือประมาณ 810,000 ครัวเรือน และงบประมาณสนับสนุนค่าน้ําประปา 147 ล้านบาท ช่วยเหลือประมาณ 210,000 ครัวเรือน

มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา มีรายละเอียดดังนี้

ค่าไฟฟ้า

  • กรณีใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน ติดต่อกัน 3 เดือน ให้ใช้สิทธิ์ค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน
  • กรณีใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย/เดือน ให้ใช้สิทธิ์ตามมาตรการน้ี ในวงเงิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน
  • กรณีที่ใช้เกินวงเงินที่กําหนด ผู้มีบัตรฯ เป็นผู้รับภาระ ค่าไฟฟ้าทั้งหมด

ค่าน้ำประปา

  • กรณีที่ใช้น้ําประปา ไม่เกิน 315 บาท จะได้เงินสนับสนุน ค่าน้ําประปาในวงเงิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน
  • กรณีที่ใช้น้ําประปาเกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ จะเป็นผู้รับภาระในการชําระค่าน้ําประปาท้ังหมด

จ่ายค่าตอบแทน อสม.-อสส. รวม 4 เดือน คนละ 2,000 บาท

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติวงเงิน 2,100 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) 1,039,729 คน และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) 10,577 คน รวมทั้งหมด 1,050,036 คน โดยจ่าย 500 บาทต่อคนต่อเดือน รวมเป็นเงิน 2,000 บาท ภายในระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่มิถุนายนถึงเดือนกันยายน 2565

นายอนุชา กล่าวต่อว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ยังไม่ยุติและยังจำเป็นต้องสนับสนุนบทบาทของอสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่ระยะ Post – Pandemic จึงได้มีการเสนอค่าตอบแทน อสม. ตามช่วงระยะเวลาจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2565

ทั้งนี้ การอนุมัติรายการค่าใช้จ่ายให้ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ในชุมชนตั้งแต่ ตุลาคม 2564 ถึงกันยายน 2565 (ระยะเวลา 12 เดือน) รัฐบาลอนุมัติงบเป็นค่าตอบแทน อสม. และ อสส. รวมท้ังส้ิน 6,301.83 ล้านบาท หรือ คิดเป็นการให้ค่าเสี่ยงภัยเฉลี่ยรวม 6,000 บาท/คน

ไฟเขียวขยาย Smart Visa รวม 18 อุตสาหกรรม

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย ในการการปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับให้คนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูงและผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น มีสิทธิขออนุญาตเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) จากเดิม 13 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็น 18 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น ได้รับการยกเว้นการขอใบอนุญาตทำงาน รายงานตัวทุก 1 ปี (จากเดิมทุก 90 วัน) สามารถเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Re-entry permit) คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะได้รับสิทธิในการพำนัก/การทำงานได้ โดยมีระยะเวลาเท่ากับผู้ที่ได้รับสิทธิบัตร

ทั้งนี้ โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เพิ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ (National Defense Industry) อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยตรงและมีนัยยะสำคัญ เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น (Industries that facilitate the Circular Economy directly and significantly e.g. fuel production from waste,water resources management, etc) อุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ (Aviation and Aerospace Industry) การบริหารเทคโนโลยี นวัตกรรมและ Startup Ecosystem (Technology Innovation and Startup Ecosystem Management) การพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย (Targeted Technology Development ) ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center -IBC)

บรรจุแผนกู้เงินเสริมสภาพคล่อง กฟผ.-กองทุนน้ำมัน 1.15 แสนล้าน

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย

  1. แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,052,785.47 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 695,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องคงค้างให้เพียงพอกับการเบิกจ่าย วงเงิน 45,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ กฟผ. วงเงิน 85,000 ล้านบาท กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วงเงิน 30,000 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกวงเงิน 16,210.90 ล้านบาท โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าระยะที่ 2 (กฟภ.) วงเงิน 13,438.31 ล้านบาท โครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตอน สถาบันวิจัยแสงซินโครตอน วงเงิน 9,352.89 ล้านบาท เป็นต้น
  2. แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างหนี้และบริหารความเสี่ยงหนี้เดิม เช่น การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ แบ่งเป็นการบริหารหนี้ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 854,354.16 ล้านบาท และที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ 2567-2570 วงเงิน 225,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยความเสียหายให้กองทุน FIDF วงเงิน 202,663 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 วงเงิน 195,490.01 ล้านบาทเป็นต้น
  3. แผนการชำระหนี้วงเงิน 360,179.68 ล้านบาท ประกอบด้วย แผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบปี 66 วงเงิน 306,617.96 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้จากและเงินอื่นๆ วงเงิน 53,561.72 ล้านบาท

นายอนุชา กล่าวต่อว่า การจัดทำแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปี 2566 ในครั้งนี้ อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้ พ.ศ.2561

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง คาดว่า ประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นปีงบ ฯ 2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 60.43 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 70 ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะ

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารหนี้ฯ จัดทำแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี สำหรับปีงบฯ 2566-2570 เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารที่สาธารณะได้ระยะเวลา 5 ปี โดยมีโครงการลงทุนรวม 175 โครงการวงเงินลงทุนรวม 898,224.94 ล้านบาท

(ซ้ายไปขวา) นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษก, และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

แจงผลการเบิกจ่ายงบฯปี’65

นายอนุชา บูรพชัยศรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ได้รับทราบรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ รายละเอียด ดังนี้

  1. ภาพรวมการเบิกจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 1 ตุลาคม 2564 -16 กันยายน 2565 มีการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 2,798,308 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 90.27 ของวงเงินงบ ฯ ปีงบประมาณ 2565 โดยมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มูลค่าโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท ขึ้นไปรวม 103 โครงการ มูลค่าโครงการทั้งหมด 2.53 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 134,630 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70.54 ของแผนการใช้จ่ายเงิน (ข้อมูล ณ 9 กันยายน 65)
  2. ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายที่สำคัญ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 1 ตุลาคม 2564 -16 กันยายน 2565 ได้แก่ รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 2,415,491 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 96.47) รายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายแล้ว 382,817 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 64.21) และ งบฯ ที่กันไว้เบิกเลื่อมปี (ปีงบฯ 2564) เบิกจ่ายแล้ว 193,822 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 81.82) โดยกระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงคมนาคมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  3. การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐวิสากิจมีกรอบลงทุน ปี 2565 ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 จำนวน 349,767 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายสะสม 236,044 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97 ของการของแผนเบิกจ่ายสะสม
  4. การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เป็นโครงการที่รัฐดำเนินการเองจำนวน 82 โครงการมูลค่า 2.1 ล้านล้านบาท ลงนามในสัญญาแล้ว 36 โครงการ มูลค่า 848,604 ล้านบาทและโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนจำนวน 21 โครงการมูลค่า 424,339 ล้านบาท ลงนามในสัญญาแล้ว 4 โครงการ มูลค่า 125,390 ล้านบาท
  5. การเบิกจ่ายโครงการภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ฯ พ.ศ. 2563 กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ณ 9 กันยายน 65 จำนวน 1,094 โครงการ เบิกจ่ายแล้ว 950,043 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 97 ของวงเงินอนุมัติ
  6. การเบิกจ่ายโครงการภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ฯ เพิ่มเติมพ.ศ. 2564 กรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาท ณ 9 กันยายน 2565 จำนวน 2,532 โครงการ เบิกจ่ายแล้ว 391,732 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 80 ของวงเงินอนุมัติ

ทั้งนี้ มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบ ฯ และการเบิกจ่ายภาครัฐ ประจำปีงบ ฯ 2566 ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบฯ รายจ่ายภาพรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 93 รายจ่ายประจำไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 และรายจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ขณะที่ เป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจกำหนดไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน และเร่งรัดการลงทุนที่ผูกพันสัญญาไว้แล้ว

นอกจากนี้ ยังให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่ดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่มีโครงการลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จัดทำมาตรการ/แนวทางในการแก้ไขปัญหาและกำหนดเวลาแล้วเสร็จของโครงการและเวลาเปิดให้บริการที่ชัดเจน

อนุมัติ 3.8 พันล้าน พัฒนาสถานีศิริราชเป็นอาคารรักษาผู้ป่วย

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณ 3,851.27 ล้านบาท เพื่อพัฒนาสถานีศิริราชเป็นอาคารรักษาพยาบาลและสถานีรถไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศ เชื่อมรถไฟสายสีแดงอ่อน-รถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยแบ่งเป็นงบลงทุนค่าก่อสร้าง 2,338.27 ล้านบาท ครุภัณฑ์การแพทย์ 1,400 ล้านบาท และงบบุคลากร (หมวดเงินเดือน) 113.01 ล้านบาท โดยขออนุมัติงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 – 2569 จำนวน 2,552.50 ล้านบาท และเงินสมทบจากเงินนอกงบประมาณ จำนวน 1,298.77 ล้านบาท ในลักษณะเป็นเงินอุดหนุน

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งต่อเนื่องกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี – ศิริราช ช่วงเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน เลียบคลองบางกอกน้อย โดยเป็นการเช่าที่ดินของ รฟท. บนพื้นที่ 4.67 ไร่ (7,456 ตารางเมตร) ระยะเวลาเช่า 30 ปี อีกทั้งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช เพื่อให้เป็นสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย

ดร.รัชดา ให้ข้อมูลว่า สถานีศิริราชเป็นอาคารรักษาพยาบาลและสถานีรถไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศเป็นการก่อสร้างอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น รวมความสูงของอาคารเท่ากับ 81 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 51,853 ตารางเมตร แบ่งเป็น 1.พื้นที่โรงพยาบาล 47,537 ตารางเมตร 2.พื้นที่รถไฟสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และ 3.พื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร พร้อมพื้นที่จอดรถ 79 คัน ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 32 เดือน รวมระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี

จัดงบฯ 1 พันล้าน จ่ายคืนกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติการจัดสรรงบประมาณปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายคืนแก่กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากในปี 2559 กระทรวงการคลังได้ออกคำสั่งให้กองทุนที่มีทุนหมุนเวียนที่มีสภาพคล่องเกินความจำเป็นนำเงินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน รวมถึงกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้นำเงินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน 2,000 ล้านบาท ต่อมากองทุนได้ยื่นศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง โดยให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนำเงินส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินไม่เกินจำนวน 1,000 ล้านบาท และกระทรวงการคลังต้องจ่ายคืนให้กับกองทุน จำนวน 1,000 ล้านบาท

เพิ่มค่าเสี่ยงภัยให้ลูกจ้าง กยท.ในพิ้นที่ภาคใต้ คนละ 5,000 บาทต่อเดือน

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จ่ายเงินสวัสดิการพิเศษให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 5 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ สะเดา เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย รวม 248 คน ในอัตราคนละ 5,000 บาทต่อเดือน โดยใช้จ่ายจากเงินรายได้ของ กยท. เอง เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า การจ่ายเงินสวัสดิการพิเศษครั้งนี้เป็นการปรับเพิ่มเงินให้ลูกจ้างที่มาจากการควบรวม 3 หน่วยงาน ในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ (1) สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เดิมได้รับ 3,500 บาทต่อเดือน ปรับเพิ่มเป็น 5,000 บาทต่อเดือน (2) สถาบันวิจัยยาง (สวย.) เดิมได้รับ 2,500 บาทต่อเดือน ปรับเพิ่มเป็น 5,000 บาทต่อเดือน และ (3) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เดิมไม่ได้รับ เนื่องจากไม่มีภารกิจเสี่ยงภัยในพื้นที่ ปรับเพิ่มเป็น 5,000 บาทต่อเดือน

ดร.รัชดา อธิบายว่า การปรับเพิ่มสวัสดิการพิเศษทำให้ กยท. มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 376,000 บาท หรือปีละ 4,512,000 บาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างความเท่าเทียมให้กับพนักงานและลูกจ้างของ กยท. โดยได้รับเงินสวัสดิการพิเศษในอัตราเดียวกัน

“บิ๊กตู่”สั่งทุกเหล่าทัพช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม 24 ชม.

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานบรรเทาสาธารณภัยและช่วยเหลือประชาชนของกระทรวงกลาโหมระหว่างวันที่ 1 ถึง 26 กันยายน 2565 จากสถานการณ์ฝนตกหนักและฝนตกสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 26 กันยายน 2565 ในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกองทัพไทยและเหล่าทัพ ได้จัดกำลังพล 6,000 กว่านาย และยุทโธปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย เช่น รถยนต์บรรทุกขนาดต่างๆ จำนวน 610 คัน เรือชนิดต่างๆ กว่า 120 ลำ เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยกระทรวงกลาโหม

นางสาวรัชดา กล่าวถึงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพกระจายกำลังพล เครื่องมือช่าง ยานพาหนะ ทั้งรถและเรือ อากาศยานไร้คนขับ เครื่องสูบน้ำและเรือดันน้ำ รวมทั้งชุดกู้ภัยและชุดแพทย์เคลื่อนที่ เข้าไปเสริมการทำงานร่วมกับฝ่ายปกครองของแต่ละจังหวัดและจิตอาสาในพื้นที่

นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ยังสั่งการให้ทุกเหล่าทัพเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและสภาพลมฟ้าอากาศ โดยได้เตรียมการสนับสนุนกรุงเทพมหานคร ได้แก่ การเร่งลอกขยะและวัชพืชจำนวนมากที่อุดตันทางน้ำ ทั้งช่องและห่อระบายน้ำตามถนน รวมถึงเศษสวะพี่ขวางคคลองและประตูระบายน้ำ และการเข้าไปช่วยดูแลศาสนสถานและโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนได้สั่งการให้หน่วยทหารติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 อย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนจากอุทกภัยตลอด 24 ชั่วโมง

จัดงบกลาง 796 ล้าน ให้กรมชลฯ แก้ภัยแล้ง-ซื้อเครื่องสูบน้ำ

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และโครงการจัดหาเครื่องสูบน้ำแบบชนิดเคลื่อนที่เร็วของกรมชลประทานงบประมาณ 796.95 ล้านบาท จากงบกลางของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช) เสนอ รายละเอียด ดังนี้

  1. โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพื่อการอุปโภคบริโภค ด้วยระบบ Water Treatment System เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นการสร้างระบบผลิตน้ำประปาที่สามารถบำบัดค่าความเป็นกรด-ด่าง ความขุ่นและสีที่ปรากฏของน้ำ ตลอดจนสารในน้ำให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน เพื่อผลิตน้ำประปาสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชน โดยกำหนดให้ดำเนินการในบริเวณที่มีความพร้อมในการดำเนินการใน 6 อำเภอของ จ.สุพรรณบุรี ได้แก่ อ.สามชุก อ.บางปลาม้า อ.สองพี่น้อง อ.หนองหญ้าไซ อ.เดิมบางนางบวช และ อ.ศรีประจันต์
  2. โครงการจัดหาเครื่องสูบน้ำแบบชนิดเคลื่อนที่เร็ว ขับเคลื่อนด้วยระบบ ไฮดรอลิค ขนาดท่อส่งไม่น้อยกว่า 42 นิ้ว จำนวน 30 เครื่อง โดยกรมชลประทานจะบริหารจัดการให้มีการหมุนเวียนไปในพื้นที่ที่มีความจำเป็นต่อไป

นางสาวทิพานัน กล่าวต่อว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติคาดว่าจะมีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ ประมาณ 6,364 ครัวเรือน รวมถึงสามารถสนับสนุนการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอุทกภัย ภัยแล้ง หรือภัยอื่นๆ อันเกิดจากน้ำได้ทันต่อสถานการณ์

ตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย หาแนวทางสร้างสังคมสงบสุข

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ 3 มาตรการหลัก เพื่อเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางสังคม ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ และเป็นกรอบการดำเนินงานในการสร้างสังคมที่สงบสุข ประชาชนอยู่ร่วมกันโดยเคารพความแตกต่างหลากหลายและสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ รวมถึงแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์และจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี รายละเอียด ดังนี้

  1. การป้องกัน (Prevention) มุ่งเฝ้าระวังความขัดแย้งและการกลั่นแกล้งกันทางออนไลน์ สร้างภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์และการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย ส่งเสริมการใช้สื่ออย่างเหมาะสมและรู้เท่าทัน เช่น มีระบบป้องกันการรังแกกันในโรงเรียน Application Buddy ให้เด็กสามารถเรียนรู้เรื่องอารมณ์ตนเอง การจัดการอารมณ์ตนเอง การจัดการสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งรังแกกัน
  2. การยับยั้ง (Deterring/Restraint) มุ่งลดปัจจัยและขจัดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การมีแนวคิดที่นิยมความรุนแรง ส่งเสริมการใช้การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ และ
  3. การฟื้นฟูเยียวยา (Rehabilitation) ที่จะเป็นกระบวนการนำผู้ที่มีแนวคิดที่นิยมความรุนแรงหรือสุดโต่งกลับสู่ทางสายกลางและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข โดยสร้างมาตรฐานในการดูแลกลุ่มเสี่ยง

นางสาวทิพานัน กล่าวต่อว่า มาตรการดังกล่าวทำให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติที่จะขับเคลื่อนระดับนโยบาย หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจรับผิดชอบในระดับปฏิบัติ และภาควิชาการ ภาคประชาสังคม องค์กรศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ ในฐานะหุ้นส่วนความร่วมมือ

จัดงบฯ 986 ล้าน ซื้อยารักษาโควิด-19

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลางตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ 2 รายการ ประกอบด้วย

งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น วงเงิน 986.452 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ถึงมิถุนายน 2565 และได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2565 วงเงิน 12,123.109 ล้านบาท แต่ไม่เพียงพอ จึงได้จัดสรรงบกลาง เพิ่มเติมในครั้งนี้

สำหรับโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ และได้รับการจัดสรรงบเพิ่มเติมในครั้งนี้มี 5 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่: กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-19 ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (2) โครงการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ของกรมการแพทย์ (3) โครงการจ่ายค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานบริการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (4) โครงการจ่ายค่าตอบแทนการเสี่ยงภัยในการปฏิบัติงานบริการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด19 ของกรมสุขภาพจิต และ (5) โครงการสนับสนุนการจัดบริหารทางการแพทย์และสาธารณสุขรองรับการระบาดของโควิด-19 ของกรมอนามัย

งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-19 วงเงิน 365.681 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 สำหรับหน่วยบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2565

ทั้งนี้ได้มีการจัดทำโครงการจัดหายารักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 สำหรับหน่วยบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พศ. 2565 งบประมาณ 365.681 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดซื้อยารักษาโควิดประกอบด้วย การจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ 25.739 ล้านเม็ด วงเงินรวม 355.031 ล้านบาท ยาโมลนูพิราเวียร์ 1.03 ล้านเม็ด วงเงิน 10.493 ล้านบาท และยาเรมเดซิเวียร์ 1,220 ขวด วงเงิน 156.648 บาท

เคาะไทยเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งที่ 33-อาเซียนพาราเกมส์ ปี’68 วงเงิน 2,055 ล้าน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในปี 2568 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ปี 2568 กรอบวงเงินงบประมาณ 2,055 ล้านบาท แบ่งเป็น ขอรับสนับสนุนจากงบประมาณ 1,683 ล้านบาท รายรับจากฝ่ายสิทธิประโยชน์ 200 ล้านบาท ค่าจำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขัน 20 ล้านบาท, ค่าลงทะเบียนเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ 134 ล้านบาท และค่าลงทะเบียนเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ 16 ล้านบาท

นางสาวไตรศุลี กล่าวต่อว่า ประเทศไทยจะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยสู่สายตาประชาคมอาเซียน สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนนานาชาติ สร้างรายได้ให้กับประเทศเกิดการหมุนเวียนในระบบจากนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ผู้แทนองค์กรกีฬาต่างๆ และผู้สังเกตการณ์ ประมาณ 12,000 คน

ปรับสิทธิ UCEP ผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีแดง เริ่ม 1 ต.ค.นี้

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ฉบับที่ 2 ซึ่งจะมีผลให้การใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. จะครอบคลุมเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีแดง

โดยสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งใช้สิทธิ UCEP ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป ได้มีการปรับปรุงในหลายส่วน อาทิ การกำหนดให้ยกเลิกค่าจ่ายบางรายการในหมวดค่าห้องและค่าอาหาร ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา รวมถึงกำหนดให้ กรณียา Molnupiravir Remdesivir และ Nirmatrelvir/ritonavir ให้เบิกยาหรือค่าใช้จ่ายจากกองทุนของผู้มีสิทธิ ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม ส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ตามอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กองทุนของผู้มีสิทธิกำหนด

แก้ปมส่งมอบพื้นที่โรงงานมักกะสันสร้างรถไฟความเร็วสูง

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการแก้ไขปัญหาส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินบริเวณพื้นที่โรงงานมักกะสัน โดยให้กรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการแก้ไข ทบทวน หรือปรับปรุงระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2543 ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการขอใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต และการห้ามไม่ให้ขุดพื้นดินลึกจากพื้นดินทั่วไปเกินกว่า 5 เมตร เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน สามารถดำเนินการขออนุญาตการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และขออนุญาตก่อสร้างได้ ในระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนการขอถอนสภาพ

นางสาวไตรศุลี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการส่งมอบพื้นที่ดำเนินโครงการ และให้เอกชนคู่สัญญาตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ทั้งนี้ พื้นที่ที่ต้องส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการเริ่มต้นดำเนินโครงการ ในสัญญาร่วมลงทุน ประกอบด้วยพื้นที่ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเกี่ยวกับรถไฟ และพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการของรถไฟ โดย รฟท. ได้ดำเนินการจนมีความพร้อมแล้ว แต่ยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขให้ได้ข้อยุติดังกล่าว

ตั้ง “จำเริญ โพธิยอด” ขึ้นอธิบดีธนารักษ์

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติในเรื่องแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

  1. นางปิยรัชต์ สันตะรัตติวงศ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชกรรม) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชกรรม) กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564
  2. นางชินมนัส เลขวัต นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาตจวิทยา) กลุ่มงานพยาธิวิทยาคลินิกและเทคนิคการแพทย์ ภารกิจด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาตจวิทยา) สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. ปรับปรุงองค์ประกอบในคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ เสนอปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ โดยแต่งตั้งนายสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามกุล ผู้แทนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แทนนางสาวณัฐภัทร ถวัลยโพธิ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ขอลาออก ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงวัฒนธรรม)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

  1. นายกฤษฎา คงคะจันทร์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
  2. นางโชติกา อัครกิจโสภากุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

4. การแต่งตั้งผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอการแต่งตั้ง นายก้องศักด ยอดมณี ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ตามมติคณะกรรมการ กกท. ครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2569

5. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายไชยยศ จิรเมธากร ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

6. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายนราพัฒน์ แก้วทอง เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

7. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำลังพลสำรอง

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำลังพลสำรอง ดังนี้

  1. พลเอก วรภพ ถาวรแก้ว
  2. พลเอก วัลลภ รักเสนาะ
  3. พลเอก วิจารณ์ จดแตง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

8. แต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน รวม 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้

  1. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ
  2. นางวารุณี สกุลรัตนธารา กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน
  3. นายสังคม เจริญทรัพย์ กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน
  4. นางสาวจรรยา กลัดล้อม กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน
  5. นางวิภาภรณ์ ชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
  6. นายปรนนท์ ฐิตะวรรโณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

9. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

  1. นายจำเริญ โพธิยอด รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมธนารักษ์
  2. นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
  3. นางวรนุช ภู่อิ่ม ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
  4. นายเอด วิบูลย์เจริญ ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
  5. นายชาญวิทย์ นาคบุรี ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ (นักวิเคราะห์รัฐวิสาหกิจทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

10. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 6 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ สับเปลี่ยนหมุนเวียน และตำแหน่งที่จะว่าง ดังนี้

  1. นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมปศุสัตว์
  2. นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน
  3. นายประกอบ เผ่าพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมหม่อนไหม
  4. นายอภัย สุทธิสังข์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
  5. นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
  6. นายสุรเดช สมิเปรม ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 27 กันยายน 2565 เพิ่มเติม