ThaiPublica > คอลัมน์ > เบื้องหลังองค์กรและผู้นำ : คือเราและผู้อื่น

เบื้องหลังองค์กรและผู้นำ : คือเราและผู้อื่น

26 กันยายน 2022


สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์

OR THE STORY BEHND A BUSINESS TRANSFORMATION เป็นหนังสือที่ผู้คนในวงธุรกิจและนักศึกษาสาขาธุรกิจคงอ่านด้วยความกระหายและใคร่เรียนรู้ เพื่อที่จะมองเห็นเบื้องหลังและวิถีทางแห่งความสำเร็จขององค์กรและผู้นำองค์กรที่สร้างความตื่นเต้นตื่นตัวของประเทศในทศวรรษนี้ และผู้อ่านก็คงไม่ผิดหวัง ด้วยหนังสือมีการจัดวางอย่างประณีตทั้งในด้านรูปเล่ม การแทรกเสริมความรู้ และการกำหนดลำดับเนื้อหาที่น่าจะถูกใจ ถูกรสนิยมของผู้อ่านหนังสือในปัจจุบัน

​ในฐานะของผู้อ่านที่อยู่นอกแวดวงของธุรกิจโดยสิ้นเชิง เมื่อมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็เกิดความสนใจ ตามประสาคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกที่เศรษฐกิจและธุรกิจเป็นตัวควบคุมวิถีชีวิตของคนทั่วไป และยังอยากรู้อยากเห็นว่าองค์กรที่มีส่วนดูแลเรา(?)และสาธารณชน เขาคิดเขาทำกันอย่างไร

​ส่วนต้นของหนังสือเป็นการให้ความรู้เรื่องแนวคิดทางเศรษฐกิจและธุรกิจของผู้บริหารองค์กร ที่กำลังโดดเด่นในศตวรรษที่ 21 โดยยกตัวอย่างบริษัทต่างประเทศที่เป็นผู้นำในการปรับเปลี่ยนความคิดและแนวทางขององค์กร ช่วยให้ผู้ที่ไม่ค่อยมีความรู้ ได้เข้าใจคำสำคัญหลายคำ เช่น การสลายตนเองเพื่อสร้างสรรค์ตัวตนใหม่ (self-disruption) การวางตำแหน่งของตัวเองใหม่ (reposition) การปรับเปลี่ยนตนเอง (transformation) และคำสามัญที่รู้จักกันดีแต่อาจมีน้อยคนที่ทำได้ คือ ความกล้าหาญ (courage)

ถ้อยคำ วลีและประโยคที่แนะนำหรือสรุปรวมแนวคิดต่าง ๆ เหล่านี้ยังสอดแทรกอยู่เป็นระยะเกือบตลอดเล่มหนังสือ วิธีนี้นอกจากจะถูกใจนักอ่านรุ่นปัจจุบันแล้ว ยังพอจะช่วยนักอ่านรุ่นเก่า(แก่) ให้ติดตามและลำดับความเข้าใจของตนเองไปได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อยก “ประโยคอมตะ” ของปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ที่ว่า “The best way to predict the future is to create it” วิธีที่ดีที่สุดในการคาดการณ์อนาคต คือการสร้างมันขึ้นมา อันนำเข้าสู่เนื้อหาหลักของหนังสือที่ว่าด้วยประวัติและการทำงานของคุณ จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (โออาร์)

​ประวัติ แนวคิดและการทำงานของคุณจิราพรที่ถ่ายทอดออกมาในรูปของคำถามคำตอบ ทำให้เกิดความคิดเห็นบางประเด็น แรกที่สุดคือ คุณจิราพรเล่าถึงตนเองอย่างง่าย ๆ เป็นธรรมดา “เดิมเป็นลูกชาวสวน คุณแม่มีสวนส้ม คุณพ่อมีสวนลิ้นจี่ แล้วในช่วงที่เรียนหนังสือ แรงงานก็หายาก ตัวเองและพี่ชายก็ลงไปเป็นแรงงาน” “การศึกษาเราผ่านโรงเรียนวัดมาตลอด โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์” เป็นชีวิตที่มีอยู่และพบเห็นได้ทั่วไป เมื่อเรียนจบก็เข้าทำงานตามสายอาชีพที่เรียนมา ครั้นรู้สึกว่างานที่ทำอยู่เริ่มจำเจก็อยากเปลี่ยนแปลง “…เป็นคนชอบความท้าทาย ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่…” จะว่าเป็นความ “กล้าหาญ” ในการ “ปรับเปลี่ยน” ก็คงได้ ประกอบกับความมั่นใจใน จุดยืน ที่มาจากคำสอนของพ่อที่ว่า ศักดิ์ศรีสำคัญกว่าเงินทองและตำแหน่ง เธอจึงสามารถก้าวต่อไปและก้าวสูงขึ้น ด้วยความคิดและการทำงานในแนว เราคือลูกจ้างองค์กร ความผูกพันกับองค์กรในลักษณะนี้ ดูเหมือนจะหาได้ยากขึ้นในปัจจุบัน แม้จะมีการอบรมเรื่องวัฒนธรรมองค์กรกันอยู่ทั่วไป

​ประเด็นที่สองที่ได้มาจากการบอกเล่าถึงการทำงานของคุณจิราพร คือ แม้จะมีความคิดว่า เราคือลูกจ้างองค์กร แต่เธอไม่ได้ลืมว่าองค์กรย่อมอยู่ในสังคมทั้งสังคมของประเทศและสังคมโลก เมื่อคำนึงถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องพลังงานใหม่ พลังงานสะอาด เมื่อคุณค่าทางสังคมเปลี่ยน ทำให้คุณค่าทางธุรกิจต้องเปลี่ยนตาม เมื่อบริบทข้างนอกเปลี่ยน องค์กรต้องปรับ ปรับเพื่อความอยู่รอด แต่องค์กรจะอยู่รอดไปเพียงลำพังย่อมไม่ได้ เมื่อมองเห็นว่าสังคมไทย

“รวยกระจุก จนกระจาย แล้วที่รวย ๆ กันอยู่ ก็เหมือนกับว่าจะทำธุรกิจทุกด้านด้วยตัวเอง ไม่มีช่องทางให้คนอื่นหายใจ”

แนวคิดการทำงานที่เดิมเน้นเรื่ององค์กรกับพนักงานส่วนรวม จึงต้องผนวกความสำคัญ“ในการให้โอกาสกับคนตัวเล็ก ๆ เช่น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) หรือ สตาร์ทอัพ (start-up) … เพราะมองว่าบริษัทใหญ่ไม่ได้มีเฉพาะเงิน บริษัทใหญ่มีศักยภาพที่จะช่วยคนได้ ด้วยการร่วมมือกันและเติบโตไปด้วยกัน(inclusive growth)”

​ในฐานะผู้บริโภคสามัญ ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการใด ๆ ไม่ได้มีแนวคิดสตาร์ทอัพแบบคนรุ่นใหม่ (และไม่ได้มีหุ้นใหญ่หุ้นย่อยในองค์กรใด ๆ รวมทั้ง โออาร์) เมื่อได้อ่านคำบอกเล่าของผู้บริหาร จึงรู้สึกยินดีไปด้วยกับคนตัวเล็ก ๆ ทั้งหลาย ที่จะได้เติบโตไปกับบริษัทใหญ่ที่มีใจเอื้อต่อสังคมส่วนรวม มีความหวังว่าความพยายามของคนตัวเล็ก ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนจะมีโอกาสได้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลาน จับทิศจับทางธุรกิจไม่ถูกหรือไม่เป็น มายาวนาน

​ประเด็นเล็ก ๆ อีกประเด็น ในมุมมองของชาวมนุษยศาสตร์ คือการที่ผู้บริหาร มองเห็นคน เมื่ออธิบายถึงการร่วมมือกับธุรกิจรายย่อยเช่นโอทอป ว่า

“ถ้าเราช่วยเขาเพิ่มยอดขาย เราลดอัตรากำไรลง แต่มันได้จำนวน … เมื่อเขาได้จำนวนเพิ่มขึ้น เขาต้องไปตามครัวเรือน ไปชวนคนมาทำ … ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น มีโอกาสส่งลูกเรียน ได้สร้างอนาคตให้ผู้คนมากมาย”

ขอพระราชทานพระราชานุญาต กล่าวถึงพระราชดำรัสองค์หนึ่ง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า ขาดทุนคือกำไร Our Loss is Our Gain อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม ที่ทรงคิดถึงประชาชนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด สมควรที่บรรดาองค์กรทั้งหลายไม่ว่าของรัฐหรือเอกชนจะยึดถือเป็นหลักการ เพื่อ มองเห็นคน แม้ไม่ต้องไปถึงขั้นยอมขาดทุน ก็ตาม

​ภาคท้ายสุดของหนังสือเล่าถึง “การแตกตัวออกจากยานแม่” ของ โออาร์ และกระบวนการสร้างตัวของคาเฟ่ อเมซอนตามแนวคิด วิธีดีที่สุดในการคาดการณ์อนาคต คือ ต้องสร้างอนาคตขึ้นมาเอง ซึ่งนักศึกษาและผู้อ่านในแวดวงธุรกิจคงจะสนใจ และได้รับความรู้จากองค์กรและผู้บริหารที่ลงมือทำจริงและทำได้จริง ด้วยการอ่านอย่างเอาใจใส่ และมองเห็นว่าความสำเร็จนั้นมิใช่ได้มาโดยง่ายดาย

ด้วยการเป็นผู้อ่านสามัญดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว จึงได้รับ ความเจริญใจ และ ประเทืองปัญญา ในแง่ที่ได้รับรู้และยินดีกับความเจริญเติบโตรุ่งเรืองขององค์กร โดยเฉพาะกับคุณจิราพร ขาวสวัสดิ์ ผู้ซึ่งยังคงได้ทำประโยชน์ต่อสังคมตามแนวทาง ศักดิ์ศรีสำคัญกว่าเงินทองและตำแหน่ง ไปอีกยาวนาน ​

……

เกี่ยวกับผู้เขียน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์

อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาภาษาไทย ศาสตราจารย์รับเชิญของมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น และผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มีผลงานเขียนทั้งตำราการใช้ภาษาไทย วรรณคดีไทย บทวิจารณ์หนังสือ ผลงานวิจัยสาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรมเกี่ยวกับชาติพันธุ์ บทความวิชาการต่างๆ และงานบรรณาธิการหนังสือ รวมทั้งผลงานเขียนนิทานซึ่งได้รับรางวัลหนังสือสำหรับเด็กจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือฯ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ รวม 3 ครั้ง

อาจารย์สุวรรณา ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี 2538-2540 เป็นกรรมการคัดเลือกและกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน กรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติและศิลปาธร เป็นกรรมการในคณะกรรมการสาขาวรรณกรรมและมานุษยวิทยาของราชบัณฑิตยสถาน กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญา วิทยากรพิเศษของสถาบันภาษาไทยสิรินธร แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับยกย่องเป็นครูภาษาไทยดีเด่น ระดับอุดมศึกษา จากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นและปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จากกระทรวงวัฒนธรรม และเป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี 2556