เอดีบีปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเอเชียกำลังพัฒนาตามความเสี่ยงของโลกที่เพิ่มขึ้น
มะนิลา ฟิลิปปินส์ (21 กันยายน 2565) — ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank:ADB) หรือเอดีบี ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกอีกครั้ง ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงความเข้มงวดทางการเงินของธนาคารกลางที่เพิ่มมากขึ้น ผลกระทบจากการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียที่ยืดเยื้อ และการล็อกดาวน์ COVID-19 ซ้ำแล้วซ้ำอีกในจีน
รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียประจำปี 2565 ฉบับล่าสุด Asian Development Outlook 2022 Update ซึ่งเผยแพร่วันนี้ ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ในปีนี้ เมื่อเทียบกับร้อยละ 5.2 ที่เอดีบีเคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำหรับแนวโน้มการเติบโตในปีหน้านั้นลดลงอยู่ที่ร้อยละ 4.9 จากร้อยละ 5.3 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของภูมิภาคคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากไม่รวมจีนแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอื่นๆ คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ทั้งในปี 2565 และปี 2566
การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนในประเทศเป็นปัจจัยหลักช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ จากการระบาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนและจำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การรุกรานยูเครนโดยรัสเซียที่ยืดเยื้อได้เพิ่มความไม่แน่นอนให้กับทั่วโลก ทำให้อุปทานหยุดชะงักมากขึ้น และตลาดพลังงานและอาหารมีความไม่แน่นอน นอกจากนั้น นโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางยุโรปกำลังส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ทั่วโลกและทำให้ตลาดการเงินต่างๆ สั่นสะเทือนด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกัน การระบาดของ COVID-19 เป็นระยะๆ อีกทั้งการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ ยังได้ชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีกด้วย
“ประเทศกำลังพัฒนาในเชียฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่มากมาย” นาย อัลเบิร์ต พาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าว “เศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำครั้งใหญ่จะบ่อนทำลายความต้องการในการส่งออกของภูมิภาคอย่างรุนแรง อีกทั้งนโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินคาดในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจนำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเงิน ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากการล็อกดาวน์ซ้ำๆ รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนแอ ดังนั้น รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะต้องระมัดระวังต่อความเสี่ยงเหล่านี้ และดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยที่ไม่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจหยุดชะงัก”
สำหรับเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วของโลกคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ในปี 2565 และร้อยละ 1.0 ในปี 2566 ซึ่งเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีนี้ อัตราเงินเฟ้อที่สูงทำให้สหรัฐอเมริกาและประเทศแถบยุโรปต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมาขึ้น ส่งผลต่ออุปสงค์ที่แผ่วลงมากกว่าเดิมจากที่เคยได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานที่ชะงักงันและความไม่แน่นอนจากการรุกรานยูเครน
สำหรับเงินเฟ้อ เอดีบีคาดว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียปีนี้จะปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 3.7 สำหรับปีหน้า คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 4.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคโดยรวมยังคงต่ำกว่าที่อื่น การชะงักงันของอุปทานยังคงผลักดันราคาอาหารและเชื้อเพลิงให้สูงขึ้น
แนวโน้มการเติบโตของจีนในปีนี้ถูกปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.0 ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปีแรกในรอบกว่า 3 ทศวรรษที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่เหลือจะเติบโตเร็วกว่าจีน ส่วนเศรษฐกิจอินเดียคาดว่าจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 7.0 จากร้อยละ 7.5 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินคาดและการตึงตัวของเงิน
อุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์นมีส่วนทำให้แนวโน้มการเติบโตในภมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.1 ในปีนี้ แม้ว่าแนวโน้มอุปสงค์ทั่วโลกที่ลดลงส่งผลให้การคาดการณ์สำหรับปีหน้าลดต่ำลงไปด้วย สำหรับแนวโน้มการเติบโตของคอเคซัสและเอเชียกลางในปี 2565 นี้ ถูกปรับให้ดีขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ในปีนี้ และสำหรับเศรษฐกิจในแปซิฟิกนั้น คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังการระบาดใหญ่
สำหรับเศรษฐกิจไทย แม้จะฟื้นตัวดีในครึ่งแรกของปี 2565 แต่เอดีบีได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.9 จากร้อยละ 3.0 ที่เคยคาดการณ์ไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.2 จากร้อยละ 4.5 สำหรับปี 2566
เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นภายหลังเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัวลง การลงทุนในประเทศที่ลดต่ำลง และอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงที่คาดว่าจะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 2565 คาดว่าจะปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.3 จากร้อยละ 3.3 ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนในปี 2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ร้อยละ 2.7 ปรับขึ้นจากร้อยละ 2.2 ที่เคยประมาณการไว้ก่อนหน้า เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานคาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการหลากหลายเพื่อลดผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น เงินอุดหนุนค่าก๊าซหุงต้ม และการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยการส่งผ่านต้นทุนไปยังสินค้าต่างๆ คาดว่าจะเป็นวงกว้างมากขึ้น
ไทยยังมีความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้ม โดยความเสี่ยงที่สำคัญคืออุปสงค์ของผู้บริโภคในประเทศที่อาจอ่อนตัวลงจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกที่เกิดจากสงครามที่ยืดเยื้อในยูเครน การนำเข้าสินค้าทุนและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นอาจทำให้กระทบต่อการผลิต และความต้องการทั่วโลกที่ชะลอตัวอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงภายในประเทศที่สำคัญ
รายงานฉบับล่าสุดนี้ยังมีบทความพิเศษเรื่อง Entrepreneurship in the Digital Age ซึ่งได้สำรวจว่าผู้ประกอบการด้านดิจิทัลสามารถเป็นผู้นำในการสร้างความเติบโตและนวัตกรรมให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร และรัฐบาลในภูมิภาคจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับผู้ประกอบการดิจิทัลประสบผลสำเร็จได้อย่างไร
เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค