ThaiPublica > เกาะกระแส > เอดีบีชี้การปฏิรูปภาษีคือหัวใจของการเติบโต อย่างยั่งยืนในเอเชียและแปซิฟิก

เอดีบีชี้การปฏิรูปภาษีคือหัวใจของการเติบโต อย่างยั่งยืนในเอเชียและแปซิฟิก

6 เมษายน 2022


มะนิลา ฟิลิปปินส์ (6 เมษายน 2565) – ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบีระบุว่าการขึ้นราคามลพิษ การทำให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถลงทะเบียนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งการเก็บภาษีสินค้าและบริการดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จะเป็นวิธีที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกสามารถเพิ่มรายได้จากภาษีที่จำเป็นเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนได้

การปฏิรูปภาษีจะทำให้เอเชียและแปซิฟิกสามารถเพิ่มรายได้ที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนสาขาที่มีความสำคัญ ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้

รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียประจำปี 2565 Asian Development Outlook 2022 : ADO 2022ของ เอดีบี ซึ่งเผยแพร่วันนี้ ยังระบุว่าภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประสบปัญหาการขาดแคลนเงินทุนสาธารณะในการสนับสนุนสาขาที่มีความสำคัญ ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการฟื้นตัวจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส (COVID-19) ซึ่งการปฏิรูปนโยบายที่มีอยู่แล้วและนำไปใช้อย่างมีกลยุทธ์นั้น จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย สามารถเพิ่มรายได้จากภาษีได้มากถึงร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยเฉลี่ย

ประชากรผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียทำให้มีค่าใช้จ่ายสำหรับเงินบำนาญและการดูแลสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น และการลงทุนมหาศาลด้านพลังงานสะอาดยังมีความจำเป็นในการรับมือกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มความหวังในการมีสินค้าและบริการสาธารณะที่ดียิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน และเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้รวมถึงด้านอื่นๆ ประเทศต่างๆ ควรจะต้องใช้ทรัพยากรทางการเงินของภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งแนวทางแก้ไขที่รัฐบาลจะต้องพิจารณา ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การปฏิรูปสิทธิประโยชน์ทางภาษี การนำธุรกิจหลากหลายเข้าสู่ระบบ รวมถึงการปรับปรุงภาษีเงินได้ส่วนบุคคลและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ดียิ่งขึ้น

“เศรษฐกิจของเอเชียและแปซิฟิกจะมีความต้องการใช้จ่ายสาธารณะที่มีประสิทธิภาพในด้านต่างๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม เพิ่มมากขึ้น” กล่าวโดยนายอัลเบิร์ต พาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอดีบี “การปฏิรูปนโยบายที่พัฒนาการจัดเก็บภาษีและเพิ่มรายได้นั้น จะช่วยให้ภูมิภาคสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งการปฏิรูปดังกล่าวจะต้องดำเนินการเป็นรายกรณีไป และในลักษณะที่ไม่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือสร้างภาระที่เกินควรแก่ผู้เสียภาษี”

แม้กระทั่งก่อนเกิดการแพร่ระบาด คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติเพื่อเอเชียและแปซิฟิกได้คาดการณ์ไว้ว่า ภูมิภาคนี้จะต้องเพิ่มการใช้จ่ายประจำปีอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 5 ของ GDP เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 จากการคาดการณ์ของเอดีบี การปฏิรูปภาษีจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียสามารถจัดเก็บรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 3-4 จุด จากค่าเฉลี่ยก่อนเกิดการแพร่ระบาดที่ประมาณร้อยละ 16 ของ GDP

ตัวอย่างเช่น การลงทะเบียนธุรกิจที่ทำได้ง่ายขึ้นและลดต้นทุนในการทำธุรกรรมจะสามารถนำธุรกิจขนาดเล็กเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีแบบแผนได้มากขึ้น และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บภาษีได้อีกด้วย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบไปด้วยธุรกิจขนาดเล็กจิ๋ว ขนาดเล็ก และขนาดกลาง โดยคิดเป็นร้อยละ 98 ของวิสาหกิจทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 41 ของ GDP ณ ปี 2563 ทั้งนี้ รัฐบาลยังสามารถพัฒนาการจัดเก็บภาษีการค้าและบริการทางดิจิทัลที่กำลังขยายตัวในเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าตั้งแต่ปี 2548 มาอยู่ที่ยอดรวม 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 ได้อีกด้วย

รายงานของ ADO 2565 ยังระบุอีกว่า ภาษีด้านอื่นๆ สามารถเพิ่มรายได้เช่นเดียวกัน ในขณะที่ยังคงส่งเสริมการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขโดยตรง ตัวอย่างเช่น เครื่องมือกำหนดราคาคาร์บอนและภาษีเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าลดมลพิษได้ อีกทั้งภาษีแอลกอฮอล์ ยาสูบ และอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพนั้น สามารถเพิ่มรายได้ได้ถึงร้อยละ 0.6 ของ GDP ในขณะที่การดำเนินการดังกล่าวจะนำไปสู่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นและช่วยลดค่ารักษาพยาบาล

การรณรงค์ในการใช้ข้อมูลสาธารณะซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรมและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ดีขึ้นจะช่วยพัฒนาการจัดเก็บภาษีให้ดียิ่งขึ้นได้อีกด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาคุณภาพในการใช้จ่ายของรัฐบาลจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างแรงจูงใจและเต็มใจของประชาชนในการจ่ายภาษี

เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค