ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบีเปิดเผยในรายงานล่าสุดวันนี้ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียคาดจะหดตัวที่ร้อยละ -0.4 ในปีนี้ ก่อนจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 6.8 ในปีหน้า เนื่องจากภูมิภาคเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อโคโรนาไวรัส (COVID- 19)
รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียฉบับเพิ่มเติม(supplement) จากฉบับล่าสุด (Asian Development Outlook (ADO) 2020 Update) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศเอเชียกำลังพัฒนาจะกระเตื้องขึ้นในปีนี้จากที่เคยหดตัวถึงร้อยละ -0.7 ซึ่งเป็นการคาดการณ์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในขณะที่แนวโน้มการเติบโตในปี 2564 คาดว่าจะยังคงเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตในภูมิภาคมีความหลากหลาย โดยเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกคาดว่าจะเติบโตในขณะที่เศรษฐกิจในหลายอนุภูมิภาคยังคงหดตัว
“แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียส่งสัญญาณที่ดีขึ้น โดยมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นสองเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ในทิศทางที่ดีขึ้น” นายยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบีกล่าว “การแพร่ระบาดใหญ่ของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก อย่างไรก็ตาม การพัฒนาวัคซีน COVID-19 ล่าสุดนี้ ทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดลดน้อยลง ทั้งนี้ วัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีการส่งมอบที่ตรงเวลา จะเป็นแรงหนุนที่สำคัญในเปิดและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาให้กลับมาเติบโตอีกครั้งในภูมิภาค”
มาตรการปิดเมืองและข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้รับการผ่อนปรนในหลายๆ ระดับในภูมิภาค รวมถึงการส่งออกสินค้าที่กระเตื้องขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากอยู่ในภาวะตกต่ำในไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างกว้างขวาง อีกทั้งมีมาตราการควบคุมอย่างต่อเนื่องมาหลายเดือนนั้น กำลังกลับมาเคลื่อนไหวในระดับเดียวกับก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยวนั้น คาดว่าจะล่าช้าออกไปอีก
เศรษฐกิจในอนุภูมิภาคต่างๆ ในเอเชียคาดว่าจะหดตัวในปีนี้ ยกเว้นในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งมีการปรับประมาณการขึ้นโดยคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 1.6 ในปีนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและไต้หวันเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกยังคงที่อยู่ที่ร้อยละ 7.0 ในปี 2564
เศรษฐกิจเอเชียใต้คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -6.1ใน 2563 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -6.8 เมื่อเดือนกันยายน การเติบโตของเอเชียใต้คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวที่ร้อยละ 7.2 ในปี 2564 โดยเศรษฐกิจอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศในอนุภูมิภาคที่มีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด คาดว่าว่าจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -8.0 ซึ่งลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกันยายนที่ร้อยละ -9.0 ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2564 ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 8.0
เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงอยู่ในภาวะตึงเครียดจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 รวมทั้งมาตราการการควบคุมของรัฐที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่องในอินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ สำหรับการเติบโตของอนุภูมิภาคนี้คาดว่าจะหดตัวเพิ่มมากขึ้นที่ร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับการหดตัวซึ่งคาดการณ์ไว้ในเดือนกันยายนที่ร้อยละ -3.8 สำหรับแนวโน้มการเติบโตของอนุภูมิภาคในปี 2564 คาดว่าจะเติบโตลดลงที่ร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.5 เมื่อเดือนกันยายน
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยหดตัวลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกันยายนที่ร้อยละ -8 มาอยู่ที่ร้อยละ -7.8 เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ติดลบน้อยลงเกือบครึ่งหนึ่งจากร้อยละ -12.1 ในไตรมาส 2 มาอยู่ที่ร้อยละ -6.4 ในไตรมาส 3 ในขณะที่การค้า การลงทุน และการบริโภคภาคเอกชนค่อยๆ กระเตื้องขึ้นอันเป็นผลจากมาตรการที่ผ่อนปรนทั้งจากภายในและคู่ค้าต่างๆ นอกจากนั้น การบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องยังเป็นแรงสนับสนุนเพิ่มเติมให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น ส่วนการคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 4.5 ไปอยู่ที่ร้อยละ 4
แนวโน้มเศรษฐกิจในแปซิฟิกยังคงเดิมในปีนี้และปีหน้า โดยเติบโตติดลบที่ร้อยละ -6.1 และร้อยละ 1.3 ในปีนี้และปีหน้า ตามลำดับ ส่วนเศรษฐกิจของเอเชียกลางคาดว่ายังคงหดตัวที่ร้อยละ -2.1 อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจเอเชียกลางในปี 2564 คาดว่าจะลดต่ำลงจากร้อยละ 3.9 ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนกันยายน มาอยู่ที่ร้อยละ 3.8
เงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียคาดว่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.9 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันและอุปสงค์ที่ที่ลดต่ำลง เงินเฟ้อในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ลดลงจากร้อยละ 2.3 ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนกันยายน ราคาน้ำมันจะยังตรึงราคาไว้ที่ 42.50 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ก่อนที่จะปรับขึ้นไปที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในปี 2564
ADO เป็นรายงานการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจประจำปีของ ADB โดยเผยแพร่ในเดือนเมษายน ของทุกปี และจะมีการปรับปรุงข้อมูลในทันสมัยอีกครั้งเพื่ออกเผยแพร่ในเดือนกันยายน นอกจากนั้น ยังมีฉบับเพิ่มเติม (supplement) ซึ่งเผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม และเดือนธันวาคมของทุกปีอีกด้วย อนึ่ง ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหมายถึง 46 ประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนาของ ADB
เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค