ThaiPublica > คอลัมน์ > มุมมองที่แตกต่าง สู่พิมพ์เขียวการปฏิรูปภาครัฐ เพื่อรับมือพลวัตโลก

มุมมองที่แตกต่าง สู่พิมพ์เขียวการปฏิรูปภาครัฐ เพื่อรับมือพลวัตโลก

29 สิงหาคม 2022


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

“การทวนกระแสโลกาภิวัตน์” และการอุบัติขึ้นของ “โลกหลายขั้ว” ตลอดจนการเผชิญกับ “วิกฤติเชิงซ้อนโลก” ที่ถาโถมเข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่า จากการระบาดของโควิด-19 สู่วิกฤตซัพพลายเชน วิกฤติพลังงานโลก วิกฤติอาหารโลก ไล่ไปจนถึงวิกฤติเงินเฟ้อโลก ที่อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในปีหน้า

ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ท้าทายขีดความสามารถภาครัฐของแต่ละประเทศ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างโลกและวิกฤติเชิงซ้อนดังกล่าว

รัฐบาลบางประเทศที่มีประเด็นเรื่องการบริหารบ้านเมืองที่ดี ก็อาจนำพาประเทศไปสู่ความยากลำบาก ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างศรีลังกา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ

สำหรับประเทศไทย อาจถึงเวลาที่ต้องยกเครื่องภาครัฐขนานใหญ่ อย่างเป็นระบบและจริงจัง เพื่อหวังที่จะพลิก “วิกฤติโลก” เป็น “โอกาสประเทศไทย” อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้พลวัตโลกที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

โจทย์คือ ก่อนที่จะยกเครื่อง ต้องถามว่าภาครัฐไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร มีจุดแข็ง จุดอ่อน อยู่ตรงไหน ผมได้ตั้งไว้ 6 ประเด็นดังต่อไปนี้

1. รัฐไทยเป็นรัฐที่ดีหรือไม่ดี เป็นรัฐที่เข้มแข็งหรืออ่อนแอ?

2. รัฐไทยมีความบกพร่องในสถาบันการเมืองหรือไม่?

3. ประเทศไทยมีประเด็นท้าทายความเป็นนิติรัฐหรือไม่?

4. อำนาจรัฐในปัจจุบันมีมากเกินไปหรือไม่?

5. ประเทศไทยมีระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางจริงหรือไม่?

6. รัฐไทยสามารถตอบโจทย์พลวัตใน VUCA World ได้มากน้อยเพียงใด?

ผมได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นข้าราชการระดับกลางถึงสูงใน “หลักสูตร นบส.1” (สำนักงาน กพ.) จำนวน 96 ท่าน และกลุ่มที่สองเป็นผู้บริหารจาก “หลักสูตร วตท. รุ่น 32” (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) จำนวน 70 ท่าน เมื่อวันอังคารที่ 23 และวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2565 ตามลำดับ ด้วยคำถามทั้งหมด 11 ข้อ เพื่อครอบคลุม 6 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น ผลการสำรวจพบประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ

1. รัฐไทยเป็นรัฐที่ดีหรือไม่ดี เป็นรัฐที่เข้มแข็งหรืออ่อนแอ

เราสามารถแบ่งประเทศต่าง ๆ ออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ ประเทศที่ล้ำหน้า ประเทศที่ตามหลัง ประเทศที่กำลังล้มเหลว และประเทศที่ล้มเหลว หากเรามีรัฐบาลที่ดี และรัฐบาลที่เข้มแข็ง ก็จะมีโอกาสนำพาประเทศไปสู่ “ประเทศที่ล้ำหน้า” ไปสู่โลกที่พัฒนาแล้วในโลกหลังโควิด-19 ในทางกลับกันหากเรามีรัฐบาลที่ไม่ดี และรัฐบาลที่อ่อนแอ ก็มีโอกาสจะนำพาไปสู่ “ประเทศที่ล้มเหลว” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากการสำรวจความคิดเห็นใน 2 กลุ่มตัวอย่างดังกล่าว ใน 3 ประเด็นคำถาม ในประเด็นคำถามแรก “ท่านคิดว่าไทยถูกจัดเป็นประเทศแบบใดในประชาคมโลก?”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก วตท. มี 7% คิดว่าเป็น “ประเทศที่ล้มเหลว” 24% คิดว่าเป็น “ประเทศที่กำลังล้มเหลว” 68% คิดว่าเป็น “ประเทศที่ตามหลัง” มีเพียง 1% คิดว่าเป็น “ประเทศที่ล้ำหน้า”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก นบส.1 มี 0% คิดว่าเป็น “ประเทศที่ล้มเหลว” 15% คิดว่าเป็น “ประเทศที่กำลังล้มเหลว” 83% คิดว่าเป็น “ประเทศที่ตามหลัง” มีเพียง 2% คิดว่าเป็น “ประเทศที่ล้ำหน้า”

อาจพอสรุปได้ว่า คนส่วนใหญ่ของทั้งสองกลุ่ม เห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่ตามหลัง (Following State) นั่นคือ หากมีผู้นำที่สามารถพลิกวิกฤตโลก มาเป็นโอกาสไทยได้ ไทยก็มีสิทธิที่จะพลิกจาก “ประเทศที่ตามหลัง” สู่ “ประเทศที่ล้ำหน้า” (Forefront State)ได้ในอนาคต

ในประเด็นคำถามที่สอง “ท่านคิดว่า รัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลที่ดี หรือรัฐบาลที่ไม่ดี?”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก วตท. 27% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ไม่ดี” 39% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ค่อนข้างไม่ดี” 27% คิดว่าเป็นรัฐบาล “กลางๆ” 7% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ค่อนข้างดี” มี 0% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ดี”

ความคิดเห็นค่อนข้างต่างจากในกลุ่มผู้บริหารจาก นบส.1 ที่มีเพียง 1% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ไม่ดี” 25% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ค่อนข้างไม่ดี” 52% คิดว่าเป็นรัฐบาล “กลางๆ” 21% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ค่อนข้างดี” มี 1% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ดี”

ในประเด็นคำถามที่สาม “ท่านคิดว่า รัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งหรืออ่อนแอ?”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก วตท. 27% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่อ่อนแอ” 42% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ค่อนข้างอ่อนแอ” 21% คิดว่าเป็นรัฐบาล “กลางๆ” 7% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ค่อนข้างเข้มแข็ง” มี 3% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่เข้มแข็ง”

ความคิดเห็นค่อนข้างต่างจากในกลุ่มผู้บริหารจาก นบส.1 ที่มีเพียง 3% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่อ่อนแอ” 39% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ค่อนข้างอ่อนแอ” 35% คิดว่าเป็นรัฐบาล “กลางๆ” มีกว่า 22% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่ค่อนข้างเข้มแข็ง” แต่มีเพียง 1% คิดว่าเป็น “รัฐบาลที่เข้มแข็ง”

จากคำถามข้อที่สองและสาม พอสรุปได้ว่า กลุ่มผู้บริหารจาก วตท. มองรัฐบาลในปัจจุบันไปทางค่อนข้างไม่ดีและอ่อนแอ ตรงข้ามกับกลุ่มข้าราชการจากนบส. ที่มองรัฐบาลชุดนี้ค่อนข้างไม่ดีไปจนถึงค่อนข้างดี และค่อนข้างอ่อนแอไปจนถึงค่อนข้างเข้มแข็ง

2. รัฐไทยมีความบกพร่องในสถาบันการเมืองหรือไม่

องค์ประกอบในการขับเคลื่อนประเทศอยู่ที่สถาบันการเมือง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักดังนี้ กลุ่มสถาบันที่คอยออกกฎ อาทิ รัฐสภากลุ่มสถาบันที่คอยนำกฎไปปฏิบัติ อาทิ รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม กลุ่มสถาบันที่คอยวินิจฉัยกฎ อาทิ ระบบยุติธรรม ระบบศาล ศาลรัฐธรรมนูญ และกลุ่มสถาบันที่คอยบังคับใช้กฎอาทิ ตำรวจ หากทั้ง 4 กลุ่มสถาบันนี้อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล มีการถ่วงดุลอำนาจกัน มีอิสระ และมีเป้าหมายที่สอดรับกัน ก็จะนำพาประเทศไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองแบบ “Inclusive Political Economy” ในทางกลับกัน หากสถาบันการเมืองบกพร่อง ก็จะยิ่งทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองแบบ “Extractive Political Economy” ที่เป็นอยู่เข้มข้นมากขึ้น

จากการสำรวจความคิดเห็นใน 2 กลุ่มตัวอย่างดังกล่าว ในประเด็นคำถาม “ท่านคิดว่า ในภาพรวมสถาบันการเมืองของประเทศไทยเป็นอย่างไร?”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก วตท. 46% คิดว่า “มีความบกพร่องสูง” 40% เห็นว่า “ค่อนข้างบกพร่อง” 14% คิดว่า “กลาง ๆ” มี 0% คิดว่า “ค่อนข้างสมบูรณ์” หรือ “มีความสมบูรณ์มาก”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก นบส.1 มี 25% คิดว่า “มีความบกพร่องสูง” 52% เห็นว่า “ค่อนข้างบกพร่อง” 18% คิดว่า “กลาง ๆ” มีเพียง 5% คิดว่า “ค่อนข้างสมบูรณ์” และ 0% ที่เชื่อว่า “มีความสมบูรณ์มาก”

ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า หนึ่งในโอกาสของการปฏิรูปภาครัฐ คือการยกเครื่องสถาบันการเมืองทั้งระบบ ครอบคลุมทั้ง 4 กลุ่มหลักดังกล่าว

3. ประเทศไทยมีประเด็นท้าทายความเป็นนิติรัฐหรือไม่

ประเทศที่มีสถาบันการเมืองบกพร่อง มักจะนำมาซึ่งประเด็นท้าทายว่าด้วย “ความเป็นนิติรัฐ” อาทิ ยอมให้มีการเลือกตั้งเพื่อชุบตัวจากระบอบเผด็จการสู่ระบอบประชาธิปไตย ทหารเข้ามาแทรกแซงและแทรกซึมทางเศรษฐกิจและการเมือง การโกงการเลือกตั้งในหลายรูปแบบคณาธิปไตยระหว่างทหาร นายทุน และนักการเมือง การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นเครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบ และกำจัดฝ่ายตรงข้าม การคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ คอร์รัปชันเชิงนโยบาย การปฏิวัติรัฐประหาร โดยอ้างความชอบธรรมเชิงศีลธรรม หรือการร่างหรือแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ

ความเป็นนิติรัฐถือเป็นหนึ่งใน Soft Power สำคัญของประเทศ ประเทศที่บกพร่องในความเป็นนิติรัฐ ย่อมขาดความน่าเชื่อถือ ระดับความน่าสนใจในการลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ ในประชาคมโลกก็จะมีค่อนข้างต่ำ

จากการสำรวจความคิดเห็นใน 2 กลุ่มตัวอย่างดังกล่าว ในประเด็นคำถาม “ท่านคิดว่า ในภาพรวมความเป็นนิติรัฐของประเทศไทยเป็นอย่างไร?”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก วตท. 36% คิดว่า “มีความบกพร่องสูง” 40% คิดว่า “ค่อนข้างบกพร่อง” 19% คิดว่า “กลาง ๆ” มีเพียง 1% คิดว่า “ค่อนข้างสมบูรณ์” และ 3% คิดว่า “มีความสมบูรณ์มาก”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก นบส.1 มีเพียง 11% คิดว่า “มีความบกพร่องสูง” 50% คิดว่า “ค่อนข้างบกพร่อง” 27% คิดว่า “กลาง ๆ” มีถึง 10% คิดว่า “ค่อนข้างสมบูรณ์” แต่มีเพียง 1% คิดว่า “มีความสมบูรณ์มาก”

จะเห็นได้ว่า ความคิดเห็นของทั้งกลุ่มมีทั้งเหมือนและแตกต่าง อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า อีกหนึ่งโอกาสของการปฏิรูปภาครัฐ คือ การยกเครื่องประเทศไทยให้มีความเป็นนิติรัฐอย่างแท้จริง

4. อำนาจรัฐในปัจจุบันมีมากเกินไปหรือไม่

เนื่องจากรัฐที่มีอำนาจที่มากเกินไป มีโอกาสจะนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิด เหมือนคำกล่าวที่ว่า “Absolute power corrupts absolutely” ยิ่งรัฐมีอำนาจมาก โอกาสจะมีประเด็นปัญหาเรื่องนิติรัฐก็จะยิ่งสูง ดังนั้นเราต้องมาพิจารณากันว่า อำนาจของรัฐบาลควรจะมีมากน้อยเพียงใด เป็นรัฐแบบ “Unlimited Government” หรือ “Limited Government”

จากการสำรวจความคิดเห็นใน 2 กลุ่มตัวอย่างดังกล่าว ในประเด็นคำถาม “ท่านคิดว่า รัฐในปัจจุบันมีอำนาจมากหรือน้อยเพียงใด?”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก วตท. 0% คิดว่า “น้อยเกินไป” 4% คิดว่า “ค่อนข้างน้อย” 18% คิดว่า “พอดี ๆ” 41% คิดว่า “ค่อนข้างมาก” และ 38% คิดว่า “มากเกินไป”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก นบส.1 มี 1% คิดว่า “น้อยเกินไป” 11% คิดว่า “ค่อนข้างน้อย” 25% คิดว่า “พอดี ๆ” 49% คิดว่า “ค่อนข้างมาก” และ 14% คิดว่า “มากเกินไป”

จะเห็นได้ว่า ทั้ง 2 กลุ่มมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน อีกหนึ่งในโอกาสของการปฏิรูปภาครัฐ จึงเป็นเรื่องของการจำกัดหรือลดทอนอำนาจรัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน

5. ประเทศไทยมีระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางจริงหรือไม่

ในปัจจุบันแนวคิดว่าด้วย “ระบบราชการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” กำลังต่อสู้กับแนวคิด “ระบบราชการที่มีข้าราชการเป็นศูนย์กลาง” และแนวคิด “ระบบราชการที่มีนักการเมืองเป็นศูนย์กลาง” การจับมือกันเชิงผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองและราชการยังเห็นกันอยู่ดาษดื่น แทนที่จะยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง

“ภารกิจพื้นฐาน 3 ประการ” ที่รัฐพึงดำเนินการเพื่อตอบโจทย์การมีระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประกอบด้วย

1) การลดทอนความเสี่ยงที่ประชาชนต้องเผชิญ อาทิ สุขภาพ การจ้างงาน และรายได้ ด้วยระบบประกันสังคมภาคบังคับ

2) การจัดหาบริการสาธารณะอย่างกว้างขวาง อาทิ การศึกษาขั้นพื้นฐาน/อาชีวะศึกษา/อุดมศึกษา การพัฒนาทักษะอาชีพ การบริการขนส่งสาธารณะ กิจกรรมทางวัฒนธรรม ตลอดจนการวิจัยและพัฒนา

และ 3) การจัดการกับผลกระทบเชิงลบจากภายนอก อาทิ การจัดการมลพิษ การควบคุมพฤติกรรมขจัดคู่แข่งขันในตลาด การจัดการกับความผันผวนของตลาดสินทรัพย์ (Erik Olin Wright)

จากการสำรวจความคิดเห็นใน 2 กลุ่มตัวอย่างดังกล่าว ในประเด็นคำถาม “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า ระบบราชการในปัจจุบันเป็นระบบราชการที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก วตท. 46% “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” 36% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 11% “เฉยๆ” 4% “ค่อนข้างเห็นด้วย” มีเพียง 3% “เห็นด้วยอย่างยิ่ง”

ความคิดเห็นค่อนข้างต่างจากในกลุ่มผู้บริหารจาก นบส.1 ที่มีเพียง 5% “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” 43% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 13% “เฉยๆ” 34% “ค่อนข้างเห็นด้วย” มีเพียง 5% “เห็นด้วยอย่างยิ่ง”

ความคิดเห็นที่แตกต่างอาจสะท้อนถึงบทบาทที่แตกต่างของทั้งสองกลุ่ม วตท.ที่ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชน อาจมองจากบทบาทของการเป็น End User ในขณะที่กลุ่มข้าราชการ อาจมองจากบทบาทของการเป็น Service Provider

6. รัฐไทยสามารถตอบโจทย์พลวัตใน VUCA World ได้มากน้อยเพียงใด

การที่จะตอบโจทย์ VUCA World ได้นั้น รัฐต้องมีการจำกัดอำนาจส่วนกลาง พร้อม ๆ กับกระจายอำนาจไปยังพื้นที่และภาคส่วนอื่น ใช้การประสานร่วมมือแทนการควบคุมสั่งการ เน้นผลสัมฤทธิ์แทนการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เห็นคุณค่าของความหลากหลายและให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม

จากการสำรวจความคิดเห็นใน 2 กลุ่มตัวอย่างดังกล่าว ในประเด็นคำถาม “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่สามารถตอบโจทย์พลวัตใน VUCA World ได้?”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก วตท. 48% “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” 34% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 11% “เฉย ๆ” มีเพียง 7% “ค่อนข้างเห็นด้วย” และ 0% “เห็นด้วยอย่างยิ่ง”

ค่อนข้างต่างจากในกลุ่มผู้บริหารจาก นบส.1 ที่มีเพียง 5% “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” 46% “ค่อนข้างไม่เห็นด้วย” 26% “เฉย ๆ” มีถึง 23% ที่ “ค่อนข้างเห็นด้วย” และมี 0% ที่ “เห็นด้วยอย่างยิ่ง”

จะเห็นได้ว่า กลุ่ม วตท. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารภาคเอกชน มองว่ารัฐไทยไม่สามารถตอบโจทย์พลวัตใน VUCA World ได้ ประเด็นนี้สะท้อนความเสี่ยง ภัยคุกคาม และการรับมือกับวิกฤตโลก ดังนั้น การยกเครื่องขีดความสามารถของภาครัฐในการรับมือกับ VUCA World จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการปฏิรูปภาครัฐ ครอบคลุมทั้งภาวะการนำ นโยบายและยุทธศาสตร์ ตลอดจนกลไกการขับเคลื่อนประเทศ

ต่อประเด็นคำถามที่ว่า “ท่านคิดว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ หรือ กระจายอำนาจ?”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก วตท. 22% เห็นว่ารัฐไทยมีการ “รวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้น” 53% คิดว่าเป็นรัฐที่ “ค่อนข้างรวมศูนย์อำนาจ” 15% คิดว่า “กลาง ๆ” 8% คิดว่า “ค่อนข้างกระจายอำนาจ” มีเพียง 1% คิดว่า “กระจายอำนาจอย่างกว้างขวาง”

ความคิดเห็นค่อนข้างต่างจากในกลุ่มผู้บริหารจาก นบส.1 ที่มีเพียง 5% เห็นว่ารัฐไทยมีการ “รวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้น” 43% คิดว่าเป็นรัฐที่ “ค่อนข้างรวมศูนย์อำนาจ” 17% คิดว่า “กลาง ๆ” กว่า 29% คิดว่า “ค่อนข้างกระจายอำนาจ” และมี 6% คิดว่า “กระจายอำนาจอย่างกว้างขวาง”

คำถามว่าด้วยการรวมศูนย์หรือกระจายอำนาจนี้ จำเป็นต้องพิจารณาควบคู่ไปกับคำถามว่าด้วยการขยายหรือจำกัดอำนาจรัฐ เพื่อให้เห็นแนวทางในการปฏิรูปภาครัฐได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ต่อประเด็นคำถามที่ว่า “ท่านคิดว่า โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินและความสัมพันธ์กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันดีพอหรือไม่?”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก วตท. 0% ที่คิดว่า “มีความสมบูรณ์แบบ” และ “ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ” 11% คิดว่า “กลาง ๆ” 37% คิดว่า “ต้องมีการปรับเปลี่ยน” มีถึง 52% คิดว่า “ต้องทำการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่”

ความคิดเห็นค่อนข้างไปในทางเดียวกันกับกลุ่มผู้บริหารจาก นบส.1 ที่มี 1% คิดว่า “มีความสมบูรณ์แบบ” 4% คิดว่า “ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ” 16% คิดว่า “กลาง ๆ” มีกว่า 65% คิดว่า “ต้องมีการปรับเปลี่ยน” และ 15% คิดว่า “ต้องทำการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่”

ความใส่ใจและการยกระดับ Stakeholder Engagement ของภาครัฐ จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการปฏิรูปภาครัฐ เพื่อตอบรับกับพลวัตที่เกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

ต่อประเด็นคำถามที่ว่า “ท่านคิดว่า การปฏิรูประบบราชการในปัจจุบันประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด?”

ในกลุ่มผู้บริหารจาก วตท. 49% เห็นว่า “ไม่มีความคืบหน้า” 33% เห็นว่า “ค่อนข้างไม่มีความคืบหน้า” 16% มีความคิดเห็น “กลางๆ” มีเพียง 1 % คิดว่า “ค่อนข้างประสบความสำเร็จ” และ 0% คิดว่า “ประสบความสำเร็จอย่างสูง”

ความคิดเห็นค่อนข้างต่างจากในกลุ่มผู้บริหารจาก นบส.1 ที่มีเพียง 14% ที่เห็นว่า “ไม่มีความคืบหน้า” 41% เห็นว่า “ค่อนข้างไม่มีความคืบหน้า” 33% มีความคิดเห็น “กลางๆ” มีถึง 13 % คิดว่า “ค่อนข้างประสบความสำเร็จ” และ 0% คิดว่า “ประสบความสำเร็จอย่างสูง”

ตรงนี้อาจสะท้อนมุมมองที่แตกต่าง ระหว่างมองจาก Demand side (กลุ่มผู้บริหารจากวตท.) และมองจาก Supply Side (กลุ่มข้าราชการจากนบส.) การปฏิรูปภาครัฐ จึงต้องยึดการวิเคราะห์และสังเคราะห์ในองค์รวม เป็นสำคัญ

กล่าวโดยสรุป ผลการสำรวจความคิดเห็นทั้ง 2 ชุดนี้เป็นเพียงผลสำรวจเบื้องต้น ที่ชี้โอกาสในการ “ซ่อม เสริม สร้าง” ภาครัฐไทยในบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเชิงระบบ (System Based Research)

ด้วยการวิเคราะห์สังเคราะห์ระบบนิเวศของภาครัฐ ที่จะนำพาไปสู่ “พิมพ์เขียวการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาครัฐ” เพื่อยกขีดความสามารถภาครัฐไทยให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และสอดรับกับพลวัตโลกได้อย่างสมบูรณ์