ThaiPublica > คอลัมน์ > 7 วาระประเทศไทยในโลกหลังโควิด : 1|7 สร้างสังคมที่เป็นธรรม

7 วาระประเทศไทยในโลกหลังโควิด : 1|7 สร้างสังคมที่เป็นธรรม

14 มกราคม 2021


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ความขัดแย้ง ความรุนแรง และความแตกแยก ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน ได้ส่งผลให้สังคมไทยกลายเป็น “สังคมสองขั้ว” (bi-polar society)

ภายใต้สังคมสองขั้ว กลุ่มหนึ่งมองความคิดเห็นที่แตกต่างของอีกกลุ่มหนึ่งเป็นความขัดแย้งไปหมด จนก่อเกิดเป็น “สังคมที่ไม่ไว้วางใจกัน” (society with distrust) ทั้งๆ ที่สังคมไทยเป็นสังคมเมืองพุทธ ที่สอนให้ผู้คนมีเหตุมีผล เดินสายกลาง เอื้ออาทรต่อกัน… กลับกลายเป็นสังคมที่สุดโต่ง เป็นความแตกแยกที่ร้าวลึก ใช้อารมณ์ และไร้สติ

เงื่อนไขสำคัญที่จะขจัดปัญหาความขัดแย้ง ความแตกแยก และความรุนแรงที่เกิดขึ้น คือ การสร้าง “สังคมที่เป็นธรรม”

เมื่อผู้คนในสังคมไม่ได้รับความเป็นธรรม ความปกติสุขในบ้านเมืองก็เกิดไม่ได้ เหมือนอย่างที่มีผู้กล่าวว่า “If you wish peace, care for justice.”

สังคมที่ไม่เป็นธรรมส่งผลกระทบมากกว่าที่คิด

สังคมที่ไม่เป็นธรรมจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมากและเรื้อรังมานาน ไม่อาจทำให้ผู้คนเชื่อได้ว่า “อนาคต” ของตนและลูกหลานจะดีขึ้น ในสังคมที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในอนาคตของตนเอง จะเป็นสังคมที่เป็นปกติสุขได้อย่างไร

หากไม่ต้องการให้ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้น เราต้องช่วยกันเปลี่ยนสังคมไทยจาก “สังคมที่เหลื่อมล้ำ” เป็น “สังคมที่เท่าเทียม”
และเมื่อสังคมเกิดความเท่าเทียม “สังคมแห่งโอกาส” จึงจะบังเกิดขึ้น และ “สังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน” ก็จะตามมา

ดังนั้น หัวใจสำคัญในการปรับเปลี่ยน “สังคมที่เหลื่อมล้ำ” เป็น “สังคมที่เท่าเทียม” ก็คือ การสร้าง “สังคมที่เป็นธรรม” นั่นเอง

“กุญแจ 4 ดอก” เปิดประตูสู่สังคมที่เป็นธรรม…

1. เปลี่ยนจาก “rule by law” เป็น “rule of law”
2. เปลี่ยนจาก “จำกัดการเข้าถึงด้วยอภิสิทธิ์ชน” เป็น “เปิดกว้างการเข้าถึงด้วยความเท่าเทียม”
3. เปลี่ยนจาก “เพิ่มส่วนแบ่ง” ของพาย เป็น “เพิ่มขนาด” ของพาย
4. เปลี่ยนจาก “แบ่งแยกชนชั้น” เป็น “เลื่อนไหลขยับชั้น” ของคนในสังคม

กุญแจดอกที่ 1|
เปลี่ยนจาก rule by law เป็น rule of law

rule by law เป็นการปกครองประเทศโดยใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือในการ “เอื้อประโยชน์” หรือให้ “แต้มต่อ” กับคนบางกลุ่ม หรือเป็นเครื่องมือที่เป็นอุปสรรคหรือสร้างความเสียเปรียบให้กับคนอีกบางกลุ่ม

ในทางตรงข้าม rule of law เป็นการปกครองโดยกฎหมาย ด้วยการยึดใน “นิติรัฐ” ตั้งมั่นอยู่ใน “นิติธรรม” ที่สมาชิกในสังคมทุกคนจะได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันและในการบังคับใช้กฎหมายก็จะบังคับใช้ให้เสมอเหมือนกัน

กุญแจดอกที่ 2|
เปลี่ยนจาก “จำกัดการเข้าถึงด้วยอภิสิทธิ์ชน” เป็น “เปิดกว้างการเข้าถึงด้วยความเท่าเทียม”

ในสังคมที่ไม่เป็นธรรม การเข้าถึงทรัพยากรและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ถูกจำกัดอยู่จำเพาะกลุ่มเฉพาะราย (limited access/personal privilege) ต่างจากในสังคมที่เป็นธรรม ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงได้รับได้อย่างเท่าเทียม (open access/impersonal rights)

ในสังคมที่เป็นธรรม การปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน เป็นวาระที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ ด้วยการเพิ่มอำนาจต่อรองของส่วนที่ขาด เน้นการกระจายอำนาจการบริหาร การจัดการทรัพยากร และกลไกที่จำเป็นในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและสังคมแห่งโอกาส ด้วยการเปิดกว้างในการเข้าถึง

    – ทรัพยากรธรรมชาติ (เช่น ที่ดินทำกิน ทรัพยากรป่า น้ำ)
    – ทรัพยากรเศรษฐกิจ (เช่น เงินทุน แรงงาน ตลาด พลังงาน)
    – ทรัพยากรสังคม (เช่น การศึกษา การเรียนรู้ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ ระบบสาธารณสุข คุณภาพชีวิต ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน)
    – ทรัพยากรทางการเมือง (เช่น เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดและการพูด การกระจายอำนาจ การกระจายงบประมาณ กระบวนการยุติธรรม การเปิดเผยโดยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร)

กุญแจดอกที่ 3|
เปลี่ยนจาก “เพิ่มส่วนแบ่ง” ของพาย เป็น “เพิ่มขนาด” ของพาย

ในสังคมที่ไม่เป็นธรรม ส่วนเกินปกติทางเศรษฐกิจ (economic rent) ถูกสร้างขึ้น เพื่อเอื้อสิทธิประโยชน์ให้กับกลุ่มอภิสิทธิ์ชน

ต่างจากในสังคมที่เป็นธรรม ส่วนเกินปกติทางเศรษฐกิจ จะถูกลดทอนหรือถูกทำลายลงโดยการเปิดโอกาสให้มีลู่วิ่งสำหรับทุกคน ส่วนใครจะวิ่งได้ไกลแค่ไหนเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของคนๆ นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแต้มต่อจากความเป็นอภิสิทธิ์ชน

โจทย์ที่ท้าทาย คือ “ความกล้าหาญ” ของผู้นำทางการเมือง-ที่มุ่งมั่นที่จะขจัดหรือลดทอนส่วนเกินปกติทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ลงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้-มีมากน้อยเพียงใด

สังคมที่ไม่เป็นธรรม จะเน้นการเพิ่ม “ส่วนแบ่ง” ของพายของคนบางกลุ่ม โดยการผูกขาด เอารัดเอาเปรียบ เบียดบังผู้อื่น บางครั้งก็ใช้ข้ออ้างของกลไกตลาด และกฎเหล็กของความมี “ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ” ที่สะท้อนผ่านกำไร การเติบโต และการสร้างอำนาจควบคุมเหนือตลาด

ผิดกับสังคมที่เป็นธรรม ที่จะเน้นการเพิ่ม “ขนาด” ของพาย เพื่อปันสุขให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม เน้น “ประสิทธิภาพทางสังคม” ที่สะท้อนผ่านการเกื้อกูลและแบ่งปัน ความมีมิตรไมตรี และความรักสามัคคีของผู้คนในสังคมเป็นสำคัญ

กุญแจดอกที่ 4|
เปลี่ยนจาก “แบ่งแยกชนชั้น” เป็น “เลื่อนไหลขยับชั้น” ของคนในสังคม

สังคมที่ไม่เป็นธรรม จะมีการแบ่งแยกชนชั้นในสังคม ตามสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะโดย “นิตินัย” หรือ “พฤตินัย” ก็ตาม

ต่างจากสังคมที่เป็นธรรม ที่จะเอื้อการเปิด “พื้นที่ร่วม” เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้ามากำหนดและบรรลุ “เจตจำนงร่วม” ด้วยกัน

สังคมที่เป็นธรรมจึงส่งเสริมให้เกิดการเลื่อนไหลขยับชั้นของผู้คนในสังคมอย่างเป็นอิสระ โดยการขยับปรับเปลี่ยนสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมจะเป็นไปตามความรู้ความสามารถ ศักยภาพ บนหลักคิดของความเท่าเทียมที่ถ้วนทั่ว พร้อมๆ กับการยอมรับและเคารพความหลากหลายของชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ คุณค่า และความเชื่อที่แตกต่างของผู้คนในสังคม

อยากได้สังคมของพวกกู หรือสังคมของพวกเรา

สังคมที่ไม่เป็นธรรม เป็นปฐมบทของการก่อเกิด “สังคมของพวกกู” (Me Society) — สังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความรุนแรง และความแตกแยก

ต่างจากสังคมที่เป็นธรรม ที่เป็นปฐมบทของการสร้าง “สังคมของพวกเรา” (We Society) — สังคมที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวัง ความสุข และความสมานฉันท์

อยากเผชิญกับความขัดแย้ง ความรุนแรง และความแตกแยกที่เรื้อรัง หรือพานพบกับความหวัง ความสุข และความสมานฉันท์ ที่ยั่งยืน ก็อยู่ที่พวกเราจะยอม “ศิโรราบ” ต่อสังคมที่ไม่เป็นธรรม หรือ จะร่วมกัน “ต่อสู้” เพื่อให้สังคมที่เป็นธรรมบังเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ถึงเวลาต้องมาคิดทบทวน…จากคดีบอส กระทิงแดง ถึงประเด็นสินบนแรงงานผิดกฎหมาย และบ่อนพนัน จนเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่…สังคมไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร