ThaiPublica > คอลัมน์ > ผลจากเศรษฐกิจแปรปรวน

ผลจากเศรษฐกิจแปรปรวน

4 สิงหาคม 2022


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

วิกฤติโควิดที่เริ่มต้นในปี 2563 ตามด้วย วิกฤติยูเครนในอีก 2 ปีเศษถัดมา ได้ควบรวมเข้าด้วยกัน เพิ่มอำนาจในการป่วนเศรษฐกิจ มากกว่าวิกฤติหลายๆครั้งในอดีต สภาพของเศรษฐกิจโลกและไทยภายใต้เงาวิกฤติดังกล่าว ไม่ได้ต่างไปจากท้องฟ้าที่อากาศแปรปรวนตลอดเวลา เมฆครึ้ม พายุ ฝนซัดกระหน่ำ และมีแสงเสียงจากฟ้าคะนองเป็นระยะๆ ต่างกันตรงที่ว่าพายุเศรษฐกิจที่กระหน่ำโลกอยู่ในเวลานี้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะอ่อนกำลังกลับคืนสู่สภาพฟ้าเปิดแต่อย่างใด

มาตรการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ ที่ทั่วโลกนำมาใช้สกัดการระบาดของไวรัส โควิด-19 ในช่วงแรกๆ ทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะชะงักงันอย่างฉับพลัน ผลลัพธ์คือ เศรษฐกิจโลกหดตัว ประเทศไทยไตรมาส 2 ปี 2563 หลัง การล็อกดาวน์เต็มรูปแบบใน เดือนเมษายน จีดีพี ติดลบ 12.2 % ต่ำสุดในรอบ 22 ปี เป็นรองแค่ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเท่านั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผสมกับ การกลายพันธุ์ไปสู่เจนใหม่ๆของ ไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายประเทศ ไม่สามารถสับเปลี่ยนเข้าสู่โหมดฟื้นฟูเสียที

ในขณะที่วิกฤติยูเครนที่ไล่ตามหลัง วิกฤติโควิดมา ทำให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในสภาพ คาดเดายากหนักยิ่งขึ้นไปอีก ราคาน้ำมันและก๊าซที่ทำนิวไฮสูงสุดในรอบกว่า 13 ปี ฉุดโลกเข้าสู่สภาวะกดดัน จากวิกฤติเงินเฟ้อที่บางประเทศเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี จนผู้ว่าแบงก์ชาติทั่วโลกพลิกตำราหามาตรการรับมือแทบไม่ทัน

วิกฤติโควิด มาพร้อมกับหนี้ก้อนใหม่และใหญ่ทั้งของรัฐบาลและครัวเรือนทั่วโลก รายได้ในอนาคตที่ถูกล้วงมาใช้ผ่านการกู้เพื่อประคองเศรษฐกิจ ทำโลกกลายเป็นคนอมหนี้ๆท่วมระบบเศรษฐกิจ ปลายปีก่อน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่า ปี 2020 (พ.ศ. 2563) ที่ผ่านมาปริมาณหนี้สินทั่วโลกรวมกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 226 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับการเพิ่มต่อปีสูงที่สุดนับตั้งแต่ สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 256 เปอร์เซนต์ ของจีดีพีโลก ไอเอ็มเอฟ ระบุว่าสัดส่วนหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ (มติชน 17 ธ.ค. 64 )

รัฐบาลประยุทธ์ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 2 ฉบับๆแรก 1 ล้านล้านบาท ฉบับหลัง 5 แสนล้านบาท เพื่อรับมือกับวิกฤติโควิด การก่อหนี้ก้อนมหึมาตามมาด้วยการ “ขยายพื้นที่การคลัง” ด้วยการยกระดับเพดานก่อหนี้สาธารณะจากเดิมที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 60 % ของจีดีพีเป็น 70 % เพื่อดำเนินมาตรการด้านการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังไม่เคยทำมาก่อน ล่าสุดหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 10,115,928.75 ล้านบาท หรือราว 60.87 % ต่อ จีดีพี

ส่วนภาคการเงินแบงก์ชาติประกาศนโยบายการเงินผ่อนตลายเป็นพิเศษเช่นเดียวกับ แบงก์ชาติประเทศอื่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5 % ถูกนำมาใช้ตั้งแต่พฤษภาคม ปี 2563 เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ

เดิมนักบริหารเศรษฐกิจเชื่อกันว่าหลังเศรษฐกิจลงถึงจุดต่ำสุดในช่วงปลายปี 2564 เศรษฐกิจจะเข้าสู่โหมดฟื้นตัวปีนี้ ( 2565 ) และกลับสู่ช่วงก่อนวิกฤติโควิดในปี 2566 หรือปีถัดไป แต่เมื่อรัสเซียรุกรานยูเครน นักวิเคราะห์ทุกสำนักต่างพากันโยนฉากทัศน์ ดังกล่าวทิ้ง เพราะ สงครามยูเครน ทำให้ราคาพลังงาน ก็าซกับน้ำมัน พุ่งกระฉูด รัสเสียเป็นผู้ส่งออก ก๊าซอันดับหนึ่งของโลก ส่วนน้ำมัน เบอร์สอง (ของโลกเช่นกัน )ลูกค้าก๊าซรายใหญ่ของรัสเซียคือ สหภาพบุโรป ( อียู ) จับมือกับ สหรัฐฯ อังกฤษ ฯลฯ คว่ำบาตรทุกมิติรัสเซียๆตอบโต้โดยใช้ ก๊าซกับน้ำมันเป็นอาวุธ

ราคาก๊าซกับน้ำมันที่พุ่งกระฉูด ส่งผลให้เงินเฟ้อที่เริ่มขยับตั้งแต่ช่วงปลายปี หลังประเทศต่างๆเปิดเมืองเตรียมต้อนรับการมาถึงของยุคหลังโควิดเร่งตัวยิ่งขึ้นนับจากต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายๆประเทศเริ่มเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินจากผ่อนคลายสุดๆ มาเป็นเพิ่มความเข้มขึ้นด้วยการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรับมือกับภาวะป่วนจากคลื่นเงินเฟ้อ อาทิ ธนาคารกลางอังกฤษ บราซิล เม็กซิโก ฯลฯ

การประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ถี่ขึ้นเมื่อเฟดหรือระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร่งรีบ นับจาก เดือน มีนาคม พฤษภาคม มิถุนายน และล่าสุดเมื่อ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.75 % สู่ระดับ 2.25 -2.5 % สื่อระบุว่าเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในรอบ 28 ปี

ธนาคากลางหลายแห่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไล่หลังเฟดติด ๆ อาทิ อังกฤษ ฮ่องกง อินเดีย เกาหลี ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กลุ่มธนาคารกลางรอบอ่าวอาหรับ ธนาคารกลางยุโรป ฯลฯ เกือบทั้งหมดปรับขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้ง เช่น ธนาคารกลางอังกฤษปรับมาแล้ว 6 ครั้ง (นับจากปลายปี 2564) ธนาคารกลางเกาหลีขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ 6 ครั้ง ธนาคารออสเตรเลีย ฯลฯ ทั้งหมดด้วยเหตุผลเดียวกันคือหยุดเงินเฟ้อ

ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาของทุกประเทศ เป็นสถิติใหม่ในรอบหลายทศวรรษทั้งสิ้น เช่น สหรัฐฯอยู่ที่ 9.1 % สูงสุดในรอบเกือบ 41 ปี อังกฤษ 9.4 % สูงสุดในรอบ 40 ปี ญี่ปุ่น 2.2 % สูงสุดในรอบ 7 ปี ลาว 23.6 % ส่วนประเทศไทยเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 7.66 % สูงสุดในรอบ 13 ปี

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ได้กล่าวระหว่างพบปะสื่อครั้งล่าสุด เหมือนเป็นการประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไม่เป็นทางการ หลังตรึงอัตรา 0.50 % มาตั้งแต่ต้นปี 2563

ตอนหนึ่งว่า “มองไปข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูง ซึ่งบริบทเศรษฐกิจเปลี่ยนไปมากเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตโควิด ทำให้การดำเนินนโยบายการเงิน และมาตรการทางการเงินต้องปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินและสมดุลความเสี่ยงใหม่ที่ให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อมากขึ้น”
“……หากเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น แต่ไทยไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงลดลง กลายเป็นเหยียบคันเร่งให้เศรษฐกิจ และนโยบายการเงินยิ่งผ่อนคลายมากขึ้น …… การขึ้นดอกเบี้ยที่จะไม่ทำให้เศรษฐกิจสะดุดควรทำแต่เนิ่นๆ เมื่อเห็นสัญญาณ เพราะการส่งผ่านนโยบายการเงินต้องใช้เวลา หากช้าเกินไปอาจทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด และต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นเพื่อดูแลภายหลังจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจและประชาชนมากขึ้น ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยจึงยังไม่ช้าไป”
นายเศรษฐพุฒิกล่าว (มติชนออนไลน์ 22 ก.ค. 65)

แบงก์ชาติโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อัตราเท่าไหร่ และมากกว่าหนึ่งครั้งตามที่นักวิเคราะห์คาดเดาภายในปีนี้หรือไม่ วันที่ 10 สิงหาคม นี้คงทราบกัน

นอกจากปรากฎการณ์เงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายแห่งในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ การก่อหนี้เพิ่มขึ้น อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ความกังวลว่าผลจากเงินเฟ้อจะนำเศรษฐกิจโลก และไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย ตามที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่ออย่างหมดใจ แล้วความแปรปรวนทางเศรษฐกิจรอบนี้ยังได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ๆ อาทิ ค่าเงินยูโรอ่อนลงเท่ากับดอลลาร์สหรัฐฯเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี เงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปี เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 7 ปี ราคาทองคำน้ำหนักหนึ่งบาททะลุ 30,000 บาทเป็นครั้งแรก (ตั้งแต่ปี 2563)

ผลจากความแปรปรวนทางเศรษฐกิจที่ปรากฎตามที่กล่าวมาข้างต้น ผนวกกับ ความพยายามของรัสเซียที่จะปั้นขั้วอำนาจเศรษฐกิจใหม่ผ่าน กลุ่มประเทศเป็นมิตร โดยอาศัยช่องทางกลุ่มบริกส์ (กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพ) ที่มีสมาชิก 5 ประเทศ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และ แอฟริกาใต้ จับมือค้าขายผ่านสกุลเงินของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมแทน ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ยูโร ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ชำระเงินผ่านระบบโอนเงินของรัสเซีย SPFS ไม่ว่าแผนสุดทะเยอทะยานนี้จะสำเร็จระดับไหน คงส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ หลังความแปรปรวนทางเศรษฐกิจสิ้นสุดลง ไม่มาก ก็น้อย