ThaiPublica > คอลัมน์ > โรคระบาดและวิกฤติเศรษฐกิจ

โรคระบาดและวิกฤติเศรษฐกิจ

4 กุมภาพันธ์ 2021


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

โลกกำลังตื่นเต้นกับวัคซีน ที่ค่ายยายักษ์ใหญ่หลายแห่งเริ่มทยอยส่งมอบให้กับลูกค้าประเทศร่ำรวย สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมาว่า มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 71.3 ล้านโดส ใน 57 ประเทศ และมีการคาดการณ์จากนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกที่ทะลุร้อยล้านคนไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้ว และโลกกำลังปรับเข้าสู่โหมดฟื้นตัว

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวราว 5.5% (เดิมคาดการณ์ไว้ 5.2%) โดยระบุว่าการมาของวัคซีนเพิ่มความหวังให้ชาวโลกว่าการระบาดอาจสิ้นสุดลงเร็วๆ นี้ และปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 2.7% (เดิม 4%) ส่วนประเทศไทยหลายสำนักเริ่มออกมาปรับคาดการณ์เศรษฐกิจใหม่จากเดิมคาดกันว่าจะขยายตัวราว 3% เศษ ลดลงเหลือราว 2% เศษๆ

ความจริงโรคระบาดที่เป็นต้นตอของวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของมนุษย์ ในรอบ 64 ปีผ่านมา มีการระบาดของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมาแล้ว 5 ครั้ง เริ่มจาก หนึ่ง ไข้หวัดใหญ่เอเชียในปี 2499 สอง ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงปี 2511 สาม ซาร์ส (โรคทางเดินหายใจอักเสบเฉียบพลัน) ปี 2546 สี่ ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 หรือ “ไข้หวัดใหญ่ 2009” ปี 2552 และห้า เมอร์ส (โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง) ปี 2555 และล่าสุดคือ โรคโควิด-19 ปี 2563 เฉลี่ยแล้วโรคระบาดที่ทำลายระบบทางเดินหายใจจะเวียนกลับมาเยือนมนุษย์ทุกๆ 10 ปีเศษ

แต่การระบาดที่เกิดขึ้นทั้งหมด มี 2 ครั้งเข้าข่ายระบาดใหญ่ คือ การระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ในปี 2552 กับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน ไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดไป 136 ประเทศทั่วโลก ส่วนโรคโควิด-19 ระบาดไป 219 ประเทศกับ 2 เขตบริหารพิเศษ

เมื่อนำมาเปรียบเทียบลักษณะอาการของโรคทั้ง ไข้หวัดใหญ่ 2009 กับโควิด-19 มีความคล้ายกันในหลายแง่มุม เช่น ผู้ป่วยรับเชื้อจะไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติ และทำให้การระบาดสามารถกระจายในวงกว้างเมื่อเทียบกับโรคระบบทางเดินหายใจประเภทอื่น การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ติดเชื้อจากการถูกละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย หรือรับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของต่างๆ ผ้าเช็ดหน้า ลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ โรคโควิด-19 ก็ติดเชื้อในช่องทางไม่ต่างกันนี้

ไข้หวัดใหญ่ 2009 ผู้ป่วยจะมีอาการหลังรับเชื้อ 1-3 วัน สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรกแพร่เชื้อได้มากที่สุด ระยะแพร่เชื้อไม่เกิน 7 วัน ส่วนโรคโควิด-19 เริ่มแพร่เชื้อในเวลา 5-6 วันหลังติดเชื้อ โดยผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการสามารถแพร่เชื้อได้ 12 วัน ส่วนผู้ป่วยที่แสดงอาการสามารถแพร่เชื้อได้นานถึง 24 วัน และผู้ป่วยของทั้ง 2 โรคมีอาการไม่รุนแรงเช่นเดียวกัน โดยผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 90-95% อาการไม่รุนแรง ส่วนโควิด-19 ประมาณ 80% อาการไม่รุนแรง กลุ่มเสี่ยง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ หลอดเลือด เบาหวานฯลฯ

หากจุดที่ต่างกันคือ โรคโควิด-19 มีความเสี่ยงต่อชีวิตมากกว่า ไข้หวัดใหญ่ 2009 ไข้หวัดใหญ่ 2009 อัตราป่วยตายประมาณ 0.45% ส่วนโรคโควิด-19 อัตราป่วยตายอยู่ 3% ประมาณว่าไข้หวัด 2009 ที่ระบาดระหว่างปี 2552-2553 มีคนไทยเสียชีวิต 200 คน ส่วนโรคโควิด-19 ระบาดมา 12 เดือนเศษ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 76 ราย (ณ 27 ม.ค. 2564)

ในมุมเศรษฐกิจ การระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 และโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน ตอนไข้หวัดใหญ่ 2009 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหายไป 6 หมื่นล้านบาท และจีดีพีหายไปประมาณ 0.6% (ไข้หวัดใหญ่ 2009 กระทบจีดีพีไม่ต่ำกว่า 0.6% : โจทย์ที่รัฐต้องเร่งแก้ไข 27 กรกฎาคม 2552)

ส่วนโรคโควิด-19 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่ในสภาพใกล้ล่มสลาย เมื่อโลกล็อกดาวน์และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นอุปสรรคในการเดินทาง 9 เดือนแรกของปี 2563 มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยเพียง 6.69 ล้านคน ลดลง 22.79 ล้านคนเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หรือลดลง 77.29% รายได้เข้าประเทศอยู่ที่ 6.55 แสนล้านบาทหายไปประมาณ 1.57 ล้านล้านบาทหรือลดลง 70.57%

การท่องเที่ยวทำท่าจะฟื้นตัวในช่วงคลายล็อกดาวน์ ต้นๆ ไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน (2563) พอเกิดระบาดรอบใหม่ทุกอย่างกลับไปตั้งต้นใหม่ คือนักท่องเที่ยวเหลือเกือบศูนย์คน

ตอนที่ไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาด วงการสาธารณสุขซีเรียสน้อยกว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ในเวลานี้มาก ไม่มีการรณรงค์ให้สวมหน้ากากอนามัยอย่างจริงจัง ไม่มีการเว้นระยะห่าง ทั้งที่มีผู้เสียชีวิตถึง 200 คนโดยประมาณ แพทย์ผู้รู้ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ต่ำ ประกอบกับปีเดียวกันนั้นมียาต้านไวรัสมาช่วย เนื่องจากพัฒนาจากวัคซีนไข้หวัดที่มีอยู่เดิมเพียงแต่เปลี่ยนสายพันธุ์เท่านั้น

ความเหมือน-ต่าง ข้อสุดท้าย ระหว่างโรคระบาด 2 ชนิดนี้ ที่ยังต้องรอการพิสูจน์ คือ เมื่อไวรัสโควิด-19 เจอกับวัคซีนแล้ว การระบาดจะจางหายเปลี่ยนไปเป็นโรคประจำฤดูกาลแต่โดยดีเหมือนไข้หวัด 2009 หรือไม่ บทสรุปที่ว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวบนความไม่แน่นอน ใช้ได้ดีกับกรณีนี้