ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ : การลงทุนอย่างรับผิดชอบ ‘SRI’ สร้างบรรทัดฐาน ยกระดับสังคม-โลก

วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ : การลงทุนอย่างรับผิดชอบ ‘SRI’ สร้างบรรทัดฐาน ยกระดับสังคม-โลก

2 สิงหาคม 2022


    ซีรีส์ข่าว สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” ในส่วน “ESG Investing” พูดคุยกับผู้ลงทุนในประเทศ (สถาบัน/บุคคล) ต่อการลงทุนที่ยึดกรอบ ESG นำเสนอแนวคิด วิธีการ กระบวนการของทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคล ที่นำ ESG มาเป็นกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน รวมทั้งการใช้บทบาทในฐานะผู้ลงทุนร่วมขับเคลื่อนให้กิจการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในกรอบ ESG ซีรีส์นี้จะบอกเล่าแต่ละกรณีตัวอย่าง เพื่อร่วมกันสร้างการลงทุนยั่งยืนด้วย…ESG”

สร้างสังคมฉุกคิดในส่วน ESG Investing ตอนนี้นำเสนอมุมมองของ‘วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ’ นักการเงินหญิงและกูรูการเงินการลงทุนแถวหน้าในแวดวงการเงินเมืองไทย ผู้มากประสบการณ์การเงินการลงทุนทั้งในด้าน supply จากการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงิน และด้าน demand จากการเป็นนักลงทุนส่วนบุคคล

‘วิวรรณ’ ปลุกปั้นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด ขึ้นมาเป็น บลจ.อันดับต้นๆของประเทศ รวมทั้งยังบริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทยให้สินทรัพย์เติบโตในระดับหลายแสนล้านบาท จนได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารกสิกรไทยให้ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ ด้วยความรู้ความสามารถทำให้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของหลายองค์กรและหลายหน่วยงาน เช่น กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทยคนแรก

‘วิวรรณ’ รับเป็นนักเขียนประจำให้กับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ รวมทั้งเขียนหนังสือแนะนำเกี่ยวกับการจัดการกับการเงินและการลงทุน เพราะให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน

ปัจจุบันคุณวิวรรณเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการจัดการลงทุน ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อนุกรรมการบริหารทรัพย์สินจัดการรายได้และกรรมการการเงินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากการให้มุมมมองเกี่ยวกับการลงทุน ESG แล้วคุณวิวรรณยังฉายภาพการลงทุน ESG ในประเทศไทยที่มีวิวัฒนาการมาตามลำดับ

คนรุ่นใหม่ใส่ใจลงทุน ESG

‘วิวรรณ’ ให้ข้อมูลว่า การลงทุน ESG ผู้ลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้น ราวสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการโลกที่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน และเมื่อองค์การสหประชาชาติได้กำหนดวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG ก็ยิ่งทำให้การลงทุนบนหลักการ ESG ได้รับการตอกย้ำมากขึ้น

โดยเห็นได้ชัดจากผลสำรวจกลุ่มผู้ที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (High Networth Individuals:HNWIs)ของ Capgeminiที่เผยแพร่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า การลงทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อความยั่งยืนทั่วโลกเฉลี่ยแล้วเป็นคนรุ่นใหม่ถึง 55% โดยที่กลุ่มคนอายุไม่ถึง 40 ปีมีสัดส่วนถึง 71% ส่วนกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไปที่สนใจมีสัดส่วน 49% ในเอเชียแปซิฟิกคนที่สนใจการลงทุน ESG มีถึง 79% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและสูงกว่าภูมิภาคต่างๆในโลกอาจจะเป็นเพราะเอเชียแปซิฟิกมีประชากรจำนวนมากและใช้ทรัพยากรโลกมากด้วย ยกเว้นญี่ปุ่นที่มีความสนใจเพียง 25% ส่วนอเมริกาเหนือมีความสนใจ 55% เท่ากับค่าเฉลี่ยโลก ยุโรป 66% ละตินอเมริกา 65%

“เศรษฐี และคนรวยของโลกยิ่งอายุน้อย ก็แคร์เรื่องนี้ เพราะเขาต้องอยู่กับโลกนี้นานกว่า เพราะฉะนั้นก็อยากจะอยู่ในโลกที่ดี”

การลงทุนอย่างยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นกดดันให้ผู้ประกอบการ บริษัทจดทะเบียนต้องมีแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อให้ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนจำนวนมาก

“บริษัทที่ไม่สนใจเรื่องนี้เลย ถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างมาก โดยเฉพาะความเสี่ยงทางด้านชื่อเสียง reputational risk เพราะว่าปัจจุบันกระแสข่าวเกิดขึ้นและกระจายได้อย่างรวดเร็วผ่านช่องทางสื่อต่างๆทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียล ผู้บริหารรุ่นใหม่ก็ตระหนักและพยายามที่จะดำเนินการตามแนวความยั่งยืนมากขึ้น”

ความสนใจในการลงทุนอย่างยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากและหลากหลายขึ้น มีการนำปัจจัย ESG มาพัฒนาเป็นดัชนีต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการลงทุน ESG ของผู้ลงทุน รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือและมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล ในประเทศไทยเองได้มีการผลักดันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้พัฒนาดัชนีด้านนี้ออกมา ทำให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น

‘วิวรรณ’ เล่าอีกว่า ใน 15-20 ปีที่ผ่านมา การที่จะหาหรือแยกแยะสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์รายตัวที่จะลงทุนอย่างยั่งยืน ทำได้ยากเนื่องจากข้อมูลไม่มากพอที่จะประเมินบริษัท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนยังไม่เข้าใจมากนัก จึงมีการเปิดเผยข้อมูลไม่ชัดเจน แต่ปัจจุบันที่มีทั้งเกณฑ์มาตรฐานต่างและเครื่องมือที่หลากหลาย รวมทั้งผลกำไรในระยะยาวที่ดีกว่าของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจบนหลักการ ESG เมื่อเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจปกติก็ช่วยให้การแยกแยะบริษัทที่มีแนวปฏิบัติด้าน ESG ทำได้ง่ายขึ้น

“การที่จะประเมินบริษัทต้องมีข้อมูล ทั้งข้อมูลเชิงสถิติตัวเลข( quantitative)และข้อมูลคุณภาพ (qualitative) ที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้บริหาร เพื่อดูความตั้งใจ เจตนารมณ์ ไม่ใช่ทำแต่ form หรือรูปแบบ แต่ไม่มี essence หรือ แก่น ทำจริง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการตั้งใจจริงเป็นเรื่องที่ยั่งยืนกว่า”

ในประเทศไทย G เริ่มปฏิบัติมานานแล้ว

‘วิวรรณ’เล่าว่าในสองทศวรรษที่ผ่านมาคำว่า ESG ยังไม่แพร่หลาย การลงทุนยั่งยืนจึงเริ่มด้วยคำว่า SRI Socially Responsible Investment แนวทางการลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ก่อน คือ การเลือกที่จะไม่ทำร้ายโลกก่อน หรือเป็นคนดีก่อน

อย่างไรก็ตามแม้ คำว่า ESG ในช่วงนั้นยังไม่พูดถึงมาก แต่ SRI แต่ก็ครอบคลุมสิ่งแวดล้อม Environment สังคม Social และการกำกับดูแลกิจการที่ดี Governance

‘วิวรรณ’กล่าวว่าในแง่ตัว G Good Governance การกำกับดูแลกิจการที่ดี ก็ได้มีการปฏิบัติกันมาก่อนหน้าแล้ว ซึ่งในประเทศไทยมีการปฏิบัติมากขึ้นตั้งแต่หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินปี 2540 และมีการจัดตั้งสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors:IOD) เพื่อส่งเสริมให้กรรมการบริษัทไทยมีบทบาทในการกำกับดูแลกิจการมากขึ้น รวมทั้งมีการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินบริษัท

“ตอนนั้นเราพูดถึงแม้กระทั่ง เวลาตัดสินใจลงทุน ผู้จัดการกองทุนอิงจากผลตอบแทนการลงทุนเพียงอย่างเดียวหรือไม่ เพราะเรารู้ว่าไม่ยั่งยืน และเรารู้ว่าเป็นเรื่องจริงๆแล้ว ช่วงหลังมีการทำลายสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติกันเยอะ ต้องมีการชดเชยจำนวนมาก การทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นความเสี่ยงที่กรรมการบริษัทมองข้ามไม่ได้เลย”

‘วิวรรณ’ซึ่งร่วมในคณะกรรมการประเมินบริษัทของ IOD ชุดแรกในช่วงนั้นได้เล่าต่ออีกว่า IOD ได้มีการพิจารณาเกณฑ์การประเมินอย่างละเอียดและรอบคอบ ถึงผลการประเมินที่จะมีต่อบริษัท เพราะเกรงว่าจะเป็นการตีตราบริษัทที่ไม่ปฏิบัติในเรื่อง การกำกับดูแลกิจการ ส่งผลให้เกณฑ์การประเมินจึงออกมาในลักษณะการส่งเสริมให้กำลังใจให้ปฏิบัติ Positive Reinforcement แทนการแสดงผลประเมินในเชิงลบ

“การประเมินของ IOD ตอนนั้นเราหารือกันเยอะในหลากหลายมุม มีการใช้ข้อมูลที่มีและการสัมภาษณ์ผู้บริหาร เพราะในต่างประเทศเมื่อ 20 ปีก่อนก็ยังไม่ established กันมากนัก ของเราส่งเสริมให้ทำดีถ้าทำดีเยอะให้ 4 ดาว และ 3 ดาวลดหลั่นกันมาระดับ และบริษัทไหนไม่มีชื่อไม่มีดาวก็เป็นอันรู้กัน ต้องปรับปรุง บริษัทที่ได้ดาวน้อย ก็ปรับปรุงให้ได้ดาวเยอะ ปัจจุบันเกณฑ์การประเมินของ IOD มีการปรับเปลี่ยนไปมากขึ้น”

เกณฑ์กบข.สร้างความตื่นตัว

‘วิวรรณ’ เล่าว่า การให้ความสำคัญกับการลงทุน ESG ของกบข.ที่ได้ริเริ่มจัดทำเกณฑ์ประเมินมาตรฐาน ESG ของ กบขในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาพร้อมกับชักชวนนักลงทุนสถาบันในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เข้ามาร่วมด้วย ทำให้ประเทศไทยตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องการลงทุน ESG

เกณฑ์ประเมินมาตรฐาน ESG ของกบข.เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า GPF-ESG Standard Criteria และเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์

‘วิวรรณ’กล่าวว่า เกณฑ์ประเมินมาตรฐาน ESG ของ กบข.ประกอบด้วย 3 เกณฑ์หลัก คือ 1.เกณฑ์เจตนารมณ์พื้นฐาน 2.เกณฑ์การประกอบธุรกิจ 3.เกณฑ์ความโปร่งใส

‘วิวรรณ’กล่าวว่า GPF-ESG Standard Criteria ของกบข.เริ่มตั้งแต่เกณฑ์แรกเจตนารมณ์พื้นฐาน หมายถึงการจะทำดี ต้องมีเจตนาที่จะเป็นคนดีก่อน ไม่ใช่เป็นคนดีจากการเช็คเครื่องหมายถูกในแบบฟอร์ม แต่เป็นการรับผิดชอบที่จะร่วมสร้างเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้การกำกับดูแลที่ดี รวมทั้งควรมีมาตรการเชิงรุกและรองรับ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจจะแจ้งต่อผู้เกี่ยวข้องและรับผิดชอบอย่างดีอย่างเต็มที่หรือไม่ และต้องมีการวัดผล

“เจตนารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องพยายามต่อไป เพราะบางอย่างไม่สามารถบรรลุได้ภายในปีเดียวหรือสองปี ต้องใช้เวลาและต้องทำให้เป็นวัฒนธรรม ฝังเข้าไปในวัฒนธรรมองค์กร”

ส่วนเกณฑ์ข้อสอง คือการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงาน ลูกค้า ประชาชน รวมไปถึง universal design การออกแบบอาคารสำนักงานรองรับคนพิการ และไม่ดำเนินธุรกิจสีเทา มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ปฏิบติต่อนักลงทุนและผู้ถือหุ้นอย่างเสมอภาคเป็นธรรม และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

สำหรับเกณฑ์ข้อสามความโปร่งใสเน้นไปที่การเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอและในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่เปิดเผยข้อมูลช้าเกินไป หรือมีบางคนรู้ข้อมูลก่อน ซึ่งผิดกฎหมายด้วย เส้นแบ่งระหว่างจริยธรรมกับกฎหมาย จริยธรรมมาก่อน เกิดความรู้สึกผิด guilty เมื่อทำผิดไม่ถูกต้อง และมีการเปิดเผยนักลงทุนมีช่องทางเข้าถึงข้อมูล

เกณฑ์ที่สี่การกำกับดูแลที่ดี เป็นการประเมินองค์ประกอบของกรรมการ และความเพียงพอของจำนวน เพื่อให้ดูแลการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ เวลามีความขัดแย้งทางผลประโยชน์เกิดขึ้นกรรมการเข้าไปแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีหรือไม่ รวมทั้งแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชัน และกรรมการ ผู้บริหาร ไม่มีการกระทำผิดกฎหมาย ยักยอกทรัพย์

เกณฑ์ประเมินมาตรฐาน ESG ของ กบข. (GPF-ESG Standard Criteria)

เกณฑ์ที่ 1: เกณฑ์เจตนารมณ์พื้นฐาน (ESG Intention)
1.กำหนดและเปิดเผยเจตนารมณ์ที่จะเป็นผู้ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบมุ่งมั่นส่งเสริมและร่วมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจ (Economic) สังคม (Social) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ภายใต้การกำกับดูแลที่ดี (Good Governance)
2.ควรมีมาตรการเชิงรุก (Proactive Strategy) เพื่อสนับสนุนให้กิจการสามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และป้องกันการเกิดปัญหาอันจะเป็นอุปสรรคต่อการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ
3.กำหนดมาตรการรองรับ (Reactive Strategy) กรณีเกิดเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ มาตรการดังกล่าวอาจประกอบด้วย การแจ้งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ได้ทราบข้อมูลที่เหมาะสมเพียงพอ ทันเหตุการณ์ การแก้ปัญหาทันทีโดยไม่รอช้า การบรรเทาความเสียหายและเยียวยาผู้เสียหายที่เหมาะสม รวมทั้งมีกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อกำหนดมาตรการเชิงรุกป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ (Preventive Strategy) เป็นต้น
4.ได้รับการประเมินผลการดำเนินการด้าน ESG ในระดับดีจากผู้ประเมินภายนอกที่น่าเชื่อถือ อาทิ การได้รับการประเมินให้เป็นหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

เกณฑ์ที่ 2: เกณฑ์การประกอบธุรกิจ (Business Criteria)
1.ดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียสำคัญ อาทิ พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และประชาชนทั่วไป อย่างเท่าเทียมโดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างทางด้าน เชื้อชาติ ศาสนา สถานะทางเพศ สถานะทางสังคม และสภาพร่างกาย
2.ไม่ดำเนินธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างชัดเจนต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อาทิ การค้าอาวุธ การพนัน การค้าบริการทางเพศ การผลิตหรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจลามกอนาจาร การทำร้ายร่างกายหรือทารุณมนุษย์ การทารุณสัตว์ เป็นต้น รวมทั้งการมีรายได้หลักจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือยาสูบ
3.กำหนดมาตรการและแนวทางดำเนินธุรกิจโดยมีการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ อีกทั้งมีมาตรการที่เหมาะสมหากพบว่ามีกรณีความขัดแย้งทางผลประโยชน์เกิดขึ้น
4.ปฏิบัติต่อนักลงทุนและผู้ถือหุ้นอย่างเสมอภาคเป็นธรรม และไม่เอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย
5.ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ มีการประเมินความเสี่ยง กำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ มีนวัตกรรมหรือกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม

เกณฑ์ที่ 3: เกณฑ์ความโปร่งใส (Transparency Criteria)
1.เปิดเผยข้อมูลการประกอบธุรกิจที่สอดคล้องกับการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ รวมถึงผลประกอบการสภาวะอุตสาหกรรม และแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในอนาคต ทั้งที่เป็นการสาธารณะและต่อนักลงทุน ผู้ถือหุ้นอย่างพอเพียงในระยะเวลาที่เหมาะสม
2.เปิดโอกาสให้นักลงทุน ผู้ถือหุ้นผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้เสียมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลและเข้าถึงผู้เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงความคิดเห็นสอบถามข้อสงสัยได้ตามความเหมาะสม

เกณฑ์ที่ 4: เกณฑ์การกำกับดูแลที่ดี (Good Governance)
1.มีโครงสร้าง ขนาด และองค์ประกอบคณะกรรมการที่เหมาะสม คณะกรรมการประกอบไปด้วยผู้มีความรู้ความสามารถที่เพียงพอต่อการกำกับดูแลกิจการให้ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ
2.มีจำนวนคณะกรรมการอิสระที่เหมาะสม สอดคล้องกับหลักการมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสมาคมส่งเสริม สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หรือสถาบันอื่นที่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ
3.คณะกรรมการดำเนินการให้มีการแก้ไขอย่างทันท่วงทีและเหมาะสมหากมีกรณีความขัดแย้งทางผลประโยชน์เกิดขึ้น
4.เข้าร่วมกับองค์กรเครือข่ายที่ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจโดยปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น การแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand’s Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption: CAC) เป็นต้น
5.กรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจจัดการต้องไม่เป็นผู้ที่หน่วยงานภาครัฐสอบสวนแล้วพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย เกี่ยวข้องกับการทุจริต ยักยอกทรัพย์ รับสินบน หรืออื่นใดอันก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่กิจการ

กบข.ยังจัดกลุ่มหลักทรัพย์ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ Tier 1: Positive List หมายถึงหลักทรัพย์ของกิจการที่มีการดำเนินการตามเกณฑ์ประเมินมาตรฐาน ESG ของ กบข. อย่างครบถ้วนหรือทำได้ดีกว่าที่เกณฑ์ ส่วน Tier 2 หมายถึงหลักทรัพย์ของกิจการที่ กบข. ประเมินแล้วพบว่าผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐาน ESG ของ กบข. ในสาระสำคัญ และTier 3: Negative List หมายถึงกิจการที่ กบข. ประเมินแล้วพบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐาน ESG ของ กบข. ในสาระสำคัญ

‘วิวรรณ’กล่าวว่า การกำกับดูแลกิจการของธุรกิจในไทยดีขึ้นแต่ต้องการการกระตุ้นเป็นระยะ ส่วนการให้รางวัลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยได้ แต่จะจำกัดเฉพาะผู้ที่ในแวดวงตลาดทุน ต้องขยายวงให้มีการยอมรับในวงกว้างขึ้น

“การใช้กรณีตัวอย่างมาจูงใจ จะทำให้ได้ผล อย่างที่เราเคยเห็นจากสารคดีในต่างประเทศ ที่มีการเยี่ยมชมโรงงาน บวกกับคำถามของผู้ดำเนินการรายการหรือพิธีกร จะให้มุมของผู้บริหารออกมา คนทั่วไปอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่เราต้องทำให้ผู้บริหารเข้าใจและดำเนินการก่อน ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งและอยากทำ และวางเป็นเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ เมื่อคนทั่วไปเห็นตัวอย่างแล้ว ก็จะเกิดการเปรียบเทียบ การผลักดันในเชิงบวกจากตัวอย่างที่ดีๆ ก็จะให้คนเกิดความรู้สึกว่าอยากจะทำดี และคนที่ไม่เคยรู้จัก ESG ก็จะได้รู้และเข้าใจ”

Negative list ทำในสิ่งที่ไม่ชอบไม่เลือก

สำหรับการลงทุนส่วนตัวคุณวิวรรณบอกว่า การจัดการการเงินและการลงทุนต้องเริ่มเร็ว เพราะจะบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ไม่ยาก โดยส่วนตัวได้เริ่มลงทุนหลังทำงานได้สักระยะหนึ่งในช่วงอายุประมาณ 25 ปีด้วยเงินลงทุนจำนวนไม่มากนัก แต่เมื่อทำงานไปและมีเงินมากขึ้นก็ยกระดับการลงทุนเป็นหลักหมื่นบาท

และในขณะนั้นแนวคิดการลงทุน ESG ยังไม่เกิดขึ้น ไม่มีการบัญญัติศัพท์ ESG หรือการลงทุนยั่งยืน มีเพียงแนวคิดการดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การลงทุนแบบรักษ์โลก

แต่โดยที่ตนเองให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเช่น การไม่เปิดไฟทิ้งไว้ และปิดไฟหากไม่ใช้งาน “เพื่อประหยัดให้โลก” การลงทุนของตัวเองจึงออกมาในแนวนั้นเพราะ “การลงทุนยั่งยืนมันซ่อนอยู่ในใจอยู่แล้ว เราไม่อยากไปลงทุนในบริษัท เช่น ทำน้ำเสีย เราไม่อยากให้เขาทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ ถ้าเขาทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ไม่อยากลงทุนกับเขา เพราะเราก็เป็นเจ้าของบริษัทนะ ถ้าเราเอาเงินไปให้เขาลงทุน เราก็ไม่อยากมีบริษัทเอาเปรียบคนอื่น หรือโกง”

โดยที่ช่วงนั้นยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ESG ไม่มีการ ‘วิวรรณ’มีแนวทางเลือกบริษัทที่จะเข้าลงทุน คือเลือกบริษัทที่ดี ด้วยการมองไปที่การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ตอบแทนสังคมเช่น การให้ทุนการศึกษา และเห็นได้ว่าบริษัทที่ดีเจริญก้าวหน้าทั้งนั้น เป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็น

แน่นอนว่าข้อมูลของบริษัทในขณะนั้นยังมีไม่มาก แต่’วิวรรณ’ใช้วิธีการดูจากข่าว เมื่อใดที่มีการสร้างผลกระทบทางลบก็จะเป็นข่าว เพราะฉะนั้นบริษัทไหนที่เป็นข่าวทางลบก็ทำเครื่องหมายไว้ ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง

“เดิมในช่วงนั้น positive list ไม่เห็น แต่เรามี negative list ก็กาออก เมื่อได้ข่าวไม่ดีเกี่ยวกับบริษัทไหนก็กาชื่อออก เช่น การทิ้งน้ำเสีย การใช้แรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ อีกทั้ง ESG ในช่วงนั้นมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ยังไม่พูดถึงสังคม การกำกับดูแลกิจการที่ดี อย่างไรก็ตามบริษัทที่ไม่ดีมีไม่มาก เพราะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังมีน้อย และส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่คุณภาพดีทั้งนั้น”

นอกเหนือจากการใช้การทำดีของบริษัทเป็นเกณฑ์การตัดสินใจเลือกลงทุนแล้ว ‘วิรรณ’ยังมองไปที่ชื่อเสียงของผู้บริหาร “ถ้าหากมีข่าวว่าเป็นคนไม่ดี ไม่โปร่งใส หรือดูเทา ก็กาออกเหมือนกัน” เพราะเมื่อก่อนยังไม่มีการให้คะแนนทางบวก อีกทั้งยังมีช่าวลือเกิดขึ้นเยอะมากในช่วงนั้น

‘วิวรรณ’กล่าวต่อว่า การลงทุนในระยะหลังๆ มีตัวเลือกเยอะขึ้นก็หันมาใช้วิธีเลือกเข้า เป็น positive list ว่าอยากได้อะไรไม่อยากได้อะไร อีกทั้งจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเพิ่มมากขึ้น สัดส่วนบริษัทที่มีแนวปฏิบัติ ด้าน ESG กับบริษัททั่วไปก็มากขึ้น ทำให้มีตัวเลือกมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวไม่ได้มีการลงทุนหุ้นรายตัวมากนัก แต่ลงทุนผ่านกองทุนเป็นหลัก การลงทุนหุ้นรายตัวจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในแต่ละธีมมากกว่า เช่นในช่วงเทคโนโลยีเฟื่องฟูก็จะลงกองทุนที่เน้นการลงทุนด้านนี้ แล้วเลือกหุ้นรายตัวมาเสริมเพิ่มน้ำหนัก

‘วิวรรณ’บอกว่า แนวคิดการลงทุนส่วนตัวที่ให้หลัก negative list ยังไม่ได้แสดงออกไปในวงกว้าง มีเพียงการพูดคุยแลกเปลี่ยนในกลุ่มเพื่อนว่าไม่ลงบริษัทที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน เพราะช่วงนั้นยังไม่ได้เริ่มเขียนหนังสือ

แต่หลังจากนั้นการลงทุน ESG ก็เพิ่มขึ้น เพราะมีการพัฒนาเครื่องมือ เกณฑ์มาตรฐาน มีการผลักดันจากทุกภาคส่วน

ผลการศึกษาหลายชิ้นก็แสดงชัดเจนว่าในระยะยาวบริษัทที่ทำธุรกิจบนหลัก ESG ก็จะให้ผลตอบแทนที่ดี เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้ในกรณีที่อาจจะเกิดการฟ้องร้อง หรือชดเชยค่าเสียหาย และทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจไปได้โดยไร้ความกังวล

นอกจากการลงทุนที่อิงความยั่งยืนแล้ว การทำงานของ’วิวรรณ’เองก็เกี่ยวข้องกับ ESG ค่อนข้างมากโดยเฉพาะตัว G โดยช่วงการทำงานในระดับพนักงานปฏิบัติการด้านสินเชื่อที่ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล(regulated industry) ที่เข้มงวด นอกจากทางการกำกับดูแล้วยังต้องกำกับตัวเองด้วย จึงยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ไม่ปล่อยสินเชื่อที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้กับบริษัทที่ไม่มีรายได้ในรูปสกุลเงินจากต่างประเทศ ยกเว้นบริษัทส่งออก เพราะถือว่าเป็น natural hedge มีการป้องกันความเสี่ยงในตัวเอง

“ตรงนี้ก็ถือเป็นการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท เพราะกรรมการบริษัทที่ขอกู้เป็นสกุลเงินต่างประเทศทั้งๆที่ไม่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ ต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบว่าไม่ควรกู้ หรือกู้ก็ควรมีการป้องกันความเสี่ยง”

ส่วนการทำงานด้านวาณิชธนกิจ(Investment Banking) ‘วิวรรณ’กล่าวว่า การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัทต่างๆ ก็ต้องมีการสอบถามถึงแนวปฏิบัติต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการ ผ่านการสัมภาษณ์ผู้บริหารเพื่อให้รู้จักบริษัทมากขึ้นและสามารถจัดทำข้อมูลเอกสารต่างๆให้กับบริษัทได้

“งาน IB เราต้องเขียนเรื่องราวและจัดทำข้อมูลบริษัทก็ต้องถามว่าปรัชญาการทำธุรกิจของบริษัทคืออะไร แต่ 30-40 ปีก่อนก็ยังไม่ชัดเจน เพราะปัญหาโลกร้อน ยังไม่รุนแรง คนก็ไม่ยังไม่รู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนมากนัก และสินทรัพย์ที่ลงทุนก็มีให้เลือกไม่มาก”

SRI สร้างบรรทัดฐานนำไปสู่ ESG ยกระดับสังคม

การที่จะชี้ชัดลงไปว่าบริษัทไหนมีการปฏิบัติตามหลัก ESG จริงหรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่ประเมินจากการกาเครื่องหมายถูกในแบบสำรวจเท่านั้น โดย’วิวรรณ’กล่าวว่า ต้องมีข้อมูลเชิง qualitative กับดูจากผู้บริหารว่ามีความตั้งใจหรือไม่ หรือเป็นเพียงการทำเพื่อหวังชื่อเสียงและรางวัล

“พวกนี้เวลาคุยเยอะก็จะรู้ว่าของจริงหรือของเทียม ไม่สามารถดูจากการตอบแบบฟอร์ม checklist ต้องพูดคุย”

‘วิวรรณ’กล่าวว่า การลงทุนในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ด้วยเกณฑ์ประเมิน ESG จะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนบางรายอาจจะต้องการลงทุนในธุรกิจที่มีการปฏิบัติตามหลัก ESG อย่างเต็มที่ ขณะที่ผู้ลงทุนรายอื่นอาจจะต้องการลงทุนในบริษัทที่มีการปฏิบัติตามมาตรฐาน ESG

“การลงทุน ESG จะมากหรือน้อยอยู่ที่ตะแกรง หรือเกณฑ์การประเมินที่ใช้ ตะแกรงห่างก็จะได้จำนวนบริษัทมากหน่อย ตะแกรงถี่อาจจะไม่มีสักบริษัทที่ลงทุนได้ ต้อง trade-off เช่น การลงทุนใน emerging market บางครั้งอาจจะไม่มีตัววัด บอกไม่ได้ว่าบริษัทที่ลงทุนนั้นดีหรือไม่ดี หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง การพิจารณาลงทุนในบริษัทผลิตโกโก้ที่ใช้โกโก้จากอัฟริกาที่มีการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งหากใช้เกณฑ์ ESG เข้มข้นบริษัทนี้อาจจะไม่สามารถทำธุรกิจได้เลย หากว่าพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบจากอัฟริกาแห่งเดียว”

‘วิวรณ’เชื่อว่าในระยะยาว จะมีบริษัทให้เลือกเยอะขึ้น เพราะแนวโน้มของโลกจะบีบให้คนที่ทำไม่ดีมีพื้นที่น้อยลงเรื่อยๆ

“ต้องใช้พลังของสังคมในการช่วยกันสร้างสังคมให้ดีขึ้น ถ้าสังคมต้องการแบบนี้ คนที่ไม่มี mindset แบบนี้ก็ต้องออกไป ต้องไปหาเงินที่อื่น แต่ถ้าต้องการเงินจากเราก็ต้องทำให้ได้ ต้องใช้แบบนี้ช่วยด้วย”

‘วิวรรณ’กล่าวว่า นักลงทุนรายบุคคลก็สามารถสร้างแรงขับเคลื่อนได้ ด้วยการไม่ลงทุนในบริษัทที่สร้างผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม หรือไม่รับผิดชอบต่อสังคม เชื่อว่ามีบริษัทให้เลือกลงทุนเพียงพอ แม้จะลงทุนเฉพาะ ESG เท่านั้น และยังดีกว่าด้วยในระยะยาว เนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ปฏิบัติบนหลัก ESG เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้จะน้อย ต้นทุนความเสียหายอาจจะไม่มีเลย เพราะความเสียหายเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

“แนวโน้มผู้ลงทุนจะเคลื่อนไหวมากขึ้นเพื่อให้บริษัทมีแนวปฏิบัติเรื่อง ESG เพราะฉะนั้นบริษัทที่ต้องการให้คนมาลงทุน ต้องการเงินจากตลาด ก็ต้องไปในทิศทางเดียวกัน โลกค่อยๆเปลี่ยนไป สังคมกำลังบีบ บีบให้คนทำไม่ดีอยู่ไม่ได้”

นอกจากนี้ระยะหลังแนวคิด triple bottom line ซึ่งวัดและประเมินผลการดำเนินงานของกิจการ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินของการดำเนินงานด้าน สังคมและสิ่งแวดล้อม ได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้ลงทุนก็จะเห็นว่าได้ลงทุนบริษัทที่สร้างผลทางบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างชัดเจน

“เป็นการสร้าง norm หรือบรรทัดฐาน ตั้งบรรทัดฐานไว้ว่า ถ้าคนจะเป็นคนดีต้องมีบรรทัดฐาน แบบไหน เมื่อมีบรรทัดฐานเยอะๆ แล้วคนถือ norm นั้นเป็นเรื่องปกติไป มันก็จะเป็นเรื่องที่ดี คือ ยกระดับทั้งโลกทั้งสังคมได้”

‘วิวรณ’กล่าวว่า การสร้างบรรทัดฐานต้องทำทั้งให้แรงจูงใจ ทั้งบีบบังคับ ทำให้โอกาสคนทำไม่ดีลดลง โอกาสที่จะได้เงินคนอื่นไปทำธุรกิจน้อยลง

‘วิวรรณ’ปิดการสัมภาษณ์ด้วยการย้ำว่า การส่งเสริม ESG ควรเน้นไปที่ SRI หรือ Socially Responsible Investment ให้กับนักลงทุนทั่วไปก่อนเพื่อให้มีความเข้าใจ เพราะเป็นแนวปฏิบัติของผู้ลงทุนที่จะก่อให้เกิด ESG ขึ้นได้

‘วิวรรณ’เล่าว่า ตอนที่เริ่มจุดประกายแนวคิดและพัฒนาดัชนี SRI ในช่วงก่อนหน้า การทำ CSR(Corporate Social Responsibility) ของบริษัทยังเป็นกิจกรรมหลักในการตอบแทนสังคม จึงพยายามขายแนวคิดว่า SRI ไม่ใช่ CSR แต่ CSR เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น SRI เป็นแนวคิดที่ฝังอยู่ใน DNA ในการทำธุรกิจว่าจะธุรกิจในแนวนี้ไม่เบี่ยงเบนไปนอกเส้นทาง และต่างจากการทำ CSR เพราะในขณะที่บริษัทมีการทำ CSR แต่อาจจะมีการดำเนินธุรกิจอย่างไม่รับผิดชอบก็ได้

‘วิวรรณ’กล่าวว่า SRI คือ การทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ต้องตั้งใจที่จะทำ ทุกจุดที่สัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับคนอื่น สิ่งแวดล้อม ไม่สามารถทำให้บริษัทไม่ดีได้ ต้องดีทุกจุด คิดให้รอบให้ครบทุกด้าน นอกจากนี้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนแบบ SRI เพื่อบีบให้บริษัททำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ

“เราต้องพยายามชี้ให้เห็นข้อดี และต้องตระหนักว่าเรื่องนี้ยังมีคนไม่รู้อีกมาก อยากให้เน้นไปที่ SRI แนวทางการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมก่อน เพราะหากมีการส่งเสริม SRI ก็จะมีผลต่อ ESG ด้วย เพราะ ESG จะเป็นแง่ผู้ปฏิบัติ คือบริษัท ขณะที่ SRI จะเป็นในแง่ ผู้ให้เงิน ผู้ลงทุนด้วย การลงทุนแบบ SRI จะก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติและโลก ส่วนรวมและดีต่อตัวผู้ลงทุนด้วย ยั่งยืนด้วย ดังนั้นจึงควรส่งเสริม SRI ชี้ให้ผู้ลงทุนเห็นว่า สามารถทำได้แล้ว การส่งเสริม ESG เป็นการให้รางวัลบริษัท แต่ SRI ยังเป็นการบีบบริษัทให้ปฏิบัติ ”