ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > “ปุณยวีร์ จันทรขจร” นักลงทุนแถวหน้ามอง ESG เป็น “Choice-Gimmick” ที่ยังมีคำถาม!!!

“ปุณยวีร์ จันทรขจร” นักลงทุนแถวหน้ามอง ESG เป็น “Choice-Gimmick” ที่ยังมีคำถาม!!!

28 สิงหาคม 2022


    ซีรีส์ข่าว สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” ในส่วน “ESG Investing” พูดคุยกับผู้ลงทุนในประเทศ (สถาบัน/บุคคล) ต่อการลงทุนที่ยึดกรอบ ESG นำเสนอแนวคิด วิธีการ กระบวนการของทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคล ที่นำ ESG มาเป็นกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน รวมทั้งการใช้บทบาทในฐานะผู้ลงทุนร่วมขับเคลื่อนให้กิจการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในกรอบ ESG ซีรีส์นี้จะบอกเล่าแต่ละกรณีตัวอย่าง เพื่อร่วมกันสร้างการลงทุนยั่งยืนด้วย…ESG”

“ปุณยวีร์ จันทรขจร” หรือ “โค้ชเป๊ก” วิทยากรด้านการลงทุนชื่อดัง จัดเป็นนักลงทุนแถวหน้าในตลาดหุ้นไทย ที่นอกจากจะสร้างความสำเร็จให้กับตัวเองด้วยกลยุทธ์การลงทุนที่เห็นผลได้จริงแล้ว รูปแบบการลงทุนของปุณยวีร์ยังเป็นแนวทางให้กับนักลงทุนรายอื่นๆ ได้ตามรอยและสร้างสไตล์การลงทุนของตัวเองขึ้นมา

ปุณยวีร์เป็นนักลงทุนแนวโมเมนตัม (momentum play) ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจ จึงคงสไตล์การลงทุนของตัวเองไว้ แม้โลกการลงทุนปัจจุบันหมุนเร็วและมีแนวคิดการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวคิดลงทุนยั่งยืนหรือ ESG investing แพร่หลายเป็นวงกว้างในกลุ่มนักลงทุนสถาบันด้วยมุมมองว่า การลงทุนยั่งยืนจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนรูปแบบอื่นๆ

ปุณยวีร์บอกว่า “แม้ไม่มี ESG การลงทุนก็ให้ผลตอบแทนตามกลยุทธ์ที่เราวางไว้ และโลกก่อนกระแส ESG ก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้มหาศาล”

ปัจจุบันปุณยวีร์เป็นซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Data-Driven ให้บริการซอฟต์แวร์ในการช่วยหาหุ้นและเก็งกำไร ที่ตอบโจทย์นักลงทุนรายย่อยโดยตรงและยังคงเป็นนักลงทุนที่มีความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้นไทย และล่าสุดบริหารบริษัท Quantum Wealth Management ที่ให้บริการบริหารกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรียบร้อยแล้ว

ทุกศาสตร์การลงทุนมีข้อดี

ปุณยวีร์เล่าว่า เริ่มเข้าสู่ตลาดหุ้นครั้งแรกในปี 2008 หลังจากเริ่มการลงทุนในฐานะมนุษย์เงินเดือนด้วยการซื้อกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษี และเพื่อทำให้เงินงอกเงย จากนั้นได้ศึกษาการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องและรู้จักการลงทุนในหุ้น จึงลงทุนในหุ้นเต็มตัวในปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติซับไพร์มในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบด้านลบต่อเงินลงทุนค่อนข้างมาก

ปุณยวีร์เล่าว่า การลงทุนในช่วงแรกหาความรู้จากเว็บบอร์ดในพันธ์ทิพย์ “ใครบอกดีเราก็ตาม คือช่วงนั้นตลาดดีด้วย พอตลาดดีอะไรก็ดีหมด ปรับตัวขึ้นหมด เราก็คิดว่าทำไมง่ายจัง แต่ปรากฏว่าตรงนั้นเป็นการเชือดเลย”

“ผมลงทุนในหุ้นช่วงนั้นประมาณ 5 แสนเศษ ลงเต็มที่เลย แต่เจอวิกฤติซับไพร์มเงินลงทุนลดเหลือประมาณ 170,000 บาท ตอนนั้นถือว่าหนักหน่วงพอสมควร

ณ จุดนั้นทำให้ปุณยวีร์มองว่า ในแง่ร้ายก็มีแง่ดี เพราะหากวันนั้นไม่ได้เข้าใจว่าตลาดหุ้นทำงานอย่างไร และคิดว่าโลกสวย อาจจะเสียหนักกว่านั้นก็ได้ ตอนนั้นเงินเก็บมาทั้งชีวิต ในช่วงอายุ 24-25 ปี การมีเงินเก็บ 5 แสนถือว่าเยอะมาก แต่หายไป 3 แสนกว่าบาทในครึ่งปีถือว่าช็อก แต่ก็มองว่าดีกว่าเสียตอนที่มีเงินเยอะ ถ้าใส่เงินไปเยอะกว่านั้นก็จะมีปัญหามากขึ้น แต่ก็ฟื้นตัวมาได้ กลับมาอีกครั้งหนึ่งคือปี 2013

ปุณยวีร์ได้กลับเข้ามาลงทุนในหุ้นอีกครั้งเมื่อจบปริญญาโทจากญี่ปุ่นในปี 2011 แต่ครั้งนี้เริ่มจากการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นก่อน ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ปุณยวีร์บอกว่า “ได้โฮมรันอีกรอบ ตอนปี 2013 เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย Abenomics ลูกศร 3 ดอก ตอนนั้นดัชนี Nikkei ปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 6,000 จุด ครึ่งปีจึงได้โฮมรันชุดใหญ่”

ตั้งแต่ปี 2013 เงินต้นมีมากและมากพอที่จะผันตัวออกมาเป็นนักลงทุนเต็มตัว ซึ่งปุณยวีร์เปิดเผยตัวเลขว่าอยู่ในระดับ 10 ล้านบาท ทำให้ ณ จุดนั้นมองว่าสามารถออกมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวได้แล้ว อย่างไรก็ตาม การลงทุนหลังจากนั้นถือว่าดีบ้างไม่ดีบ้าง “ถือว่าล้มลุกคลุกคลาน เจอปัญหาหลายอย่าง มีทั้งขึ้นทั้งลง เรื่อยๆ จนกลายมาเป็นวันนี้ที่เป็นนักลงทุนเต็มตัว และงานบริหารกองทุน private fund ควบคู่ไปด้วย

หากย้อนกลับไปจากวันแรกที่เข้าลงทุนในหุ้น ปุณยวีร์ได้พัฒนาแนวทางการลงทุนของตัวเองดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทุกวันนี้มีสไตล์การลงทุนของตัวเอง แต่ไม่ได้จัดว่าเป็นนักลงทุนสังกัดสายอะไร

“ผมพยายามศึกษามาหลายศาสตร์แล้ว แต่ละศาสตร์มีเสน่ห์ของมัน โดยที่เราอาจจะไม่ต้องเลือกก็ได้”

ปุณยวีร์หยิบยก 3 ศาสตร์การลงทุนมาอธิบายเพิ่มเติม คือ หนึ่ง การศึกษาจากภาพใหญ่ ภาพเศรษฐกิจ สอง คือภาพของพื้นฐาน อ่านงบการเงินบริษัท อิงจากตัวเลขต่างๆ สาม กราฟราคา หรือสายเทคนิค ซึ่งแต่ละด้านมีข้อดี ที่ไม่ต้องเลือกก็ได้ สามารถใช้ความรู้แต่ต้องรู้ให้จริงในต่ละสาย

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศจะช่วยบอกความยากง่ายของตลาดแต่ละช่วง เช่น ปีนี้เจอดอกเบี้ยขาขึ้น ตลาด sideway ทั้งปี ลงทุนยาก ตลาดไม่ปรับตัวขึ้น เพราะสภาพคล่องถูกดึงออก ในขณะที่ช่วงโควิดระบาดเศรษฐกิจแย่ แต่ธนาคารกลางอัดสภาพคล่องมหาศาลเข้ามาในตลาด ตลาดปรับขึ้นตลอดปี 2020-2021 นี่คือภาพของเศรษฐกิจโดยรวมที่ช่วยบอกความยากง่ายในแต่ละช่วง

เมื่อมองในด้านการลงเงิน จริงๆ มี 2 สายคือ สายกราฟกับสายพื้นฐาน มีเสน่ห์คนละแบบ โดยสายพื้นฐาน การอ่านงบการเงินบริษัท เสน่ห์คือการใส่น้ำหนัก ยกตัวอย่าง เมื่อเจอหุ้นหนึ่งตัว ถ้าสายกราฟอย่างเดียว มีเงิน 10 ล้านบาท อาจจะลงทุนสักประมาณ 1-2 ล้านบาท หรือ 10-20% ของพอร์ต เพราะมีความเสี่ยง แต่ถ้ามีความเข้าใจพื้นฐานกิจการว่า น่าจะเป็นหุ้นที่พลิกพอร์ตได้จริง หากถือยาวสัก 4-5 ไตรมาส หรือ 1-2 ปีข้างหน้า ธุรกิจของบริษัทมีโอกาสเติบโตแน่นอน ก็สามารถใส่น้ำหนักกับหุ้นตัวนี้ได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ผลการศึกษา fundamental play คือการเล่นกับน้ำหนักที่ใส่เงินลงไป

สำหรับศาสตร์เทคนิคหรือสายกราฟนั้น ปุณยวีร์กล่าวว่า ประโยชน์ของกราฟจะช่วยในการเก็งกำไรที่จับต้องได้ค่อนข้างไว เพราะกราฟบอก demand กับ supply บอกแรงซื้อแรงขายในตลาด ซึ่งเหมาะกับการเก็งกำไรมาก ดังนั้น ศาสตร์ด้านเทคนิคจะช่วยในการบอกเวลาในการตัดสินใจ ว่า ณ จุดไหนที่ควรจะซื้อ จุดไหนที่ควรจะขาย

“ศาสตร์ด้านเทคนิคช่วยหนึ่งบอก timing สองช่วยบอกตามที่ศัพท์ทางการใช้กันคือ risk to reward ratio หมายถึงถ้าเราซื้อตรงนั้น โอกาสได้ ได้กี่บาทก็คือ reward โอกาสเสีย เสียกี่บาทก็คือ risk เช่น ถ้ามีโอกาสได้ 3 บาท โอกาสเสีย 1 บาท แบบนี้การลงทุนถือว่าคุ้ม แต่ในทางกลับกันซื้อตรงนี้ต่อไปจนแนวด้านบนอาจจะโดนเทขายลงมา อาจจะได้กำไร 1 บาท แต่ถ้าพลาดแบบนี้โอกาสอาจจะ 50:50 แบบนี้ไม่น่าเล่น ดังนั้น กราฟจะบอกทั้งจังหวะเวลาและ risk to reward ratio”

“ฉะนั้นผมไม่มีสังกัด ผมใช้ข้อดีแต่ละแบบมาผสมกัน”

จากศาสตร์การลงทุนทั้งสามด้านเมื่อพัฒนาการลงทุนเป็นสไตล์การลงทุนของตัวเองแล้ว ปุณยวีร์จัดตัวเองว่าเป็นนักลงทุนแนวโมเมนตั้ม “ผมเทรดตาม momentum play มากกว่า เป็นคนที่เทรดตามแนวโน้มตลาด เพราะเป็นผู้บริหารกองทุนอยู่ด้วย ระยะหวังผลของผมจะอยู่ที่ประมาณ 3 เดือนถึงหนึ่งปี เพราะเราต้องวัดผลตลอด หมายความว่าเราต้องหาปัจจัยอะไรก็ตาม ที่ช่วย drive ให้ราคาหุ้นวิ่งภายในไตรมาส งบการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง แต่จะช้าไปเล็กน้อย เพราะงบการเงินออกไตรมาสละครั้ง แต่ข่าวเศรษฐกิจภาพรวม global macro เข้ามาทุกวัน และเรื่องของ chart มาทุกวัน”

ปุณยวีร์อธิบายเพิ่มเติมถึงวิธีการที่ทำให้การลงทุนของตัวเอง outperform หรือดีกว่าตลาดได้ คือ การย่อยข้อมูลลงมาเพื่อเน้นสไตล์ ซึ่งศัพท์สาย trader เรียกว่า swing trade การเล่นเป็นรอบ เล่นเป็นกรอบ เล่นเป็น momentum play กระแสอะไรมาก็เกาะติดไปด้วย momentum play หรือการเก็งกำไร เป็นการเทรดบนการมองว่าคนอื่นน่าจะเชื่ออะไร

“ต้องบอกว่าตลาดหุ้นถูก drive ด้วยความเชื่อ อาจจะเป็นโจทย์ที่ฟังแล้วย้อนแย้ง เราไม่ได้เทรดในสิ่งที่เราเชื่อ แต่ momentum play หรือการเก็งกำไรเป็นการเทรดบนการมองว่าคนอื่นน่าจะเชื่ออะไร อย่างเช่นเชื่อว่าเศรษฐกิจถดถอย คนส่วนใหญ่เชื่อเรื่องนี้ เราก็เล่นเรื่องนี้ไปด้วย หรือเช่น ช่วงราคาน้ำมันพุ่งจากสงครามรัสเซียยูเครน ซึ่งราคาน้ำมันจะขึ้นไปที่ 200 ดอลลาร์จริงหรือไม่บอกไม่ได้ แต่คนเชื่อว่าน้ำมันจะไปที่ 200 ดอลลาร์ เราเทรดบนความเชื่อของคนอื่น เทรดบนความเชื่อของคนส่วนใหญ่ว่ามองอย่างไร เราก็ใส่เงินในกองทุนน้ำมันไปด้วย เราก็ไปกับเขา”

การลงทุนมีเสน่ห์ ยิ่งศึกษายิ่งสร้างผลตอบแทน

ปุณยวีร์มองว่า การลงทุนมีเสน่ห์ เพราะโจทย์ใหญ่สุดคือ การหาเงิน มองในมุมคนทำงาน ซึ่งการหาเงินสำหรับคนทำงานในแนวคิดของปุณยวีร์มีด้วยกัน 3 แบบ คือ

    หนึ่ง เอาเวลาไปแลกเงิน คือการทำงานที่ได้เงิน เช่น ทำงานเป็นมนุษยเงินเดือน หรือทำงานเป็นฟรีแลนซ์
    สอง การเอาไอเดีย ไปแลกเงิน ความคิดสร้างเงิน เช่น การทำงานเป็นที่ปรึกษา deal-maker

สาม การลงทุนในตลาดหุ้นคือ เอาเงินไปต่อเงิน

ปุณยวีร์มองว่า “เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการหาเงินที่เพิ่มตัวคูณได้เยอะมาก ขณะที่แนวทางแรกเอาเวลาไปแลกเงิน แต่ละวันมีเวลาเต็มที่ 24 ชั่วโมง มีเวลาทำงานอย่างมาก 14-16 ชั่วโมง ขณะที่การลงทุนในตลาดทุนเป็นการหารายได้ที่ไม่มีเพดาน การทำงานประจำ เพดานรายได้อยู่ที่เจ้าของบริษัท อยู่ที่การเติบโตของบริษัท แต่ตลาดทุนไม่มีเพดาน หมายความว่า ยิ่งเราทำเท่าไร ยิ่งเราศึกษาเท่าไร ยิ่งเก่งมากเท่าไร เราสามารถที่จะสร้างผลตอบแทน return ให้กับตัวเองได้ ผมจึงมองว่านี่คือเสน่ห์”

นอกจากนี้ปุณยวีร์กล่าวว่า การลงทุนแบบไม่มีความรู้คือความเสี่ยง โดยยกตัวอย่างจากการประสบการณ์ของตัวเองที่ลงทุนครั้งแรกด้วยเงินลงทุน 5 แสนบาทที่ไม่มีความรู้เลย มีแต่ความต้องการที่จะลงทุนเท่านั้น จึงขาดทุน แต่พอมองย้อนกลับตัวเอง

“เราก็ไม่ได้โทษหรือโกรธเคืองตลาด แต่โทษที่เราโลภเกินความรู้ เราไม่มีความรู้แต่เราอยากได้มากกว่าในสิ่งที่เรามี เพราะฉะนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ตลาดสั่งสอนเรา”

ในโลกปัจจุบันที่การลงทุนพัฒนาไปมากทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์และบริการ การมีความรู้ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นหรือไม่ ปุณยวีร์กล่าวว่า มองได้สองแบบถ้าเทียบกับสิบปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษางบการเงินหรือการศึกษากราฟ ความรู้ยังน้อยมาก แหล่งที่จะหาความรู้มีน้อย เป็นสิ่งหายากพอสมควรในช่วงนั้น แต่วันนี้กลับกัน ข้อมูลมีมากมาย

“แต่ความยากของวันนี้คือการสกัดความรู้จริง หรือสิ่งที่นำมาประยุกต์ใช้กับเราได้จริง จะยากกว่า”

ปุณยวีร์กล่าวย้ำว่า พลวัตรเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นยังเหมือนเดิม ตลาดหุ้นยังถูกขับเคลื่อนด้วยสภาพคล่อง ดอกเบี้ย ผลประกอบการ คนยังโลภ คนยังกลัว ยังเป็นวัฏจักร boom and bust cycle เหมือนเดิม โดยล่าสุดที่ boom และ bust และคนหมดตัวไปคือ crypto currency

“เป็นตัวที่บอกเราว่า ตลาดยังมีทรงที่เหมือนเดิม ยังอยู่กับความโลภ ความกลัว แต่ความรู้ในผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง ความยากอยู่ที่การสกัดความรู้ที่เข้ามามากกว่า”

ปุณยวีร์เปรียบเทียบนักลงสถาบันกับลงทุนรายย่อยว่า “สิ่งที่นักลงทุนสถาบันได้เปรียบคือ อย่างแรก ความรู้ที่มีมากกว่านักลงทุนรายย่อย อย่างผมเองด้านหนึ่งที่เป็นผู้บริหารกองทุน มีเครื่องมือการลงทุนมากว่า แต่เป็นเครื่องมือที่มีราคาแพงมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 3 แสนบาทไปจนถึงล้านบาทต่อเดือน ข้อมูลที่มีก็จะต่างกัน อย่างที่สองคือเงินทุน เงินทุนของกองทุนใหญ่มาก หมายความว่ามีความสามารถในการทนความผิดพลาดได้สูงกว่า เพราะฉะนั้นในแง่ขนาดของเงินและการเข้าถึงข้อมูล รายย่อยเสียเปรียบมากกว่า”

แต่นักลงทุนรายย่อยมีข้อได้เปรียบด้านเวลา นักลงทุนสถาบันและกองทุนต้องแข่งกับเวลาเพราะต้องบริหารให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (net asset value) หรือ NAV ให้สูงเพื่อส่งมอบผลตอบแทนให้กับลูกค้า เป็นรายไตรมาส

“จุดแข็งจริงของรายย่อยที่มีคือเรื่องเวลา ที่จะสามารถเติบโตไปกับบริษัทได้เพราะเราไม่ต้องมีเวลาในการส่งมอบผลตอบแทน NAV ให้ลูกค้า โดยสรุปรายย่อยมีข้อได้เปรียบ คือหนึ่ง ความสามารถในการรอได้มากกว่า กับสอง การเข้าออกได้ค่อนข้างเร็วกว่า ไม่ชอบหุ้นตัวไหนขายออกได้ทันที ชอบหุ้นตัวไหนซื้อเลย แต่ต้องคำนึงถึงด้วยว่าการการเข้าเร็วออกเร็วก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือ ถ้าเราจะหนีก็หนีได้เร็ว แต่ข้อเสียก็คือมนุษย์มีแนวโน้มในการตัดสินใจพลาดอยู่แล้ว การซื้อขายบ่อยๆก็มีโอกาสพลาดเยอะ ก็เป็นจุดด้อยในจุดดีของรายย่อย”

ESG แนวคิดดีแต่ยังมีคำถาม

สำหรับการลงทุนแบบ ESG โดย E คือ สิ่งแวดล้อม (Environment) S คือ สังคม (Social) G คือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่กำลังกลายเป็นกระแสหลักเพราะเชื่อว่าเป็นการลงทุนที่สร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ยั่งยืน ในยุคปัจจุบันที่ตลาดหุ้นตอบสนองต่อปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบค่อนข้างไว จนดูเหมือนว่าการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนด้วยแนวทางการลงทุนอื่นอาจจะเป็นเรื่องยากนั้น

ปุณยวีร์มองว่า…

“ESG เป็นแนวคิดที่ดี แต่มีทั้งจุดที่ดี และจุดที่ต้องตั้งคำถาม”

ปุณยวีร์กล่าวว่า ESG มีมานานแล้ว ภาพใหญ่บอกว่าเป็นสิ่งที่เป็นมิตร (friendly) ช่วยให้ธุรกิจสามารถมีโครงสร้างที่ไม่เทอะทะ (lean structure) และเป็นแนวคิด (concept) ที่ดีมาก ที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าจำนวนมาก โดยสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (Asset Under Managemen — AUM) หลังปี 2020 มีมากกว่า 30 ล้านล้านดอลลาร์ แสดงว่า concept ESG ขายดี แต่ ESG มีทั้งจุดที่ดี และจุดที่ต้องตั้งคำถาม

ปุณยวีร์กล่าวว่า จุดที่ตั้งคำถามคือ โลกขับเคลื่อนและเติบโตด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) มานาน การที่จะเป็น ESG หมายถึงการที่จะดึงเชื้อเพลิงฟอสซิลออก และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแต่ละภาคส่วนที่เปลี่ยนไปจากโลกเดิม

เมื่อเปรียบเทียบกับโลกการเงินที่เติบโตมาจากหนี้ ซึ่งหนี้ไม่ใช่เรื่องดี เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นเหมือนการก่อหนี้ (leverage) เหมือนกัน ที่ผ่านมาโลกโตได้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์

“วันนี้เราบอกว่าเราจะเอาสิ่งนั้นออก แปลว่าเราจะเปลี่ยนจากโลกที่ leverage เป็น non leverage ภาพจะเหมือนกับโลกการเงินจากเดิมที่เราโตด้วยหนี้มาเรื่อยๆ วันหนึ่งเราบอกว่า การโตด้วยหนี้ไม่ดี พราะฉะนั้นเรา มาใช้หนี้กันเถอะ จะเกิดสภาวะที่เรียกว่า deleveraging ยกตัวอย่างในปีนี้ มีการขึ้นดอกเบี้ย มีการลดงบดุล เป็นการ deleveraging สิ่งที่เกิดขึ้นคือราคาสินทรัพย์ร่วงลง”

ปุณยวีร์กล่าวว่า ถ้าจะทำ ESG กันจริง หมายความว่าสภาพของเศรษฐกิจโลก สภาพธุรกิจจริงต้องจะล่มสลาย (collapse) กันก่อน deleverage ก่อน เป็นการปรับโครงสร้าง (restructure) จากเดิม จึงค่อนข้างเป็นปัญหา แม้ในความเป็นจริงโลกถูกแบกด้วยพลังงานเชื้อเพลิงที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับโลกนัก แต่จะเอาพลังงานลม พลังงานน้ำ มาแบกอุตสาหกรรมทั้งโลกเป็นไม่ได้

“เพราะฉะนั้น ESG เป็น concept ที่ดี สำหรับผมคิดว่ายังห่างไกลพอสมควร”

ปุณยวีร์กล่าวว่า การกลับไปสู่ธรรมชาติจากวันนี้ มีต้นทุนสูงมาก ยกตัวอย่าง แบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV รถยนต์ EV เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริง แต่แบตเตอรี ต้องใช้แร่ธาตุต่างๆ ซึ่งผ่านการทำเหมืองที่สร้างมลภาวะสูงมาก จึงดูย้อนแย้งกับการมาใช้ รถ EV เป็นตัวแทนการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสะกัดแร่ลิเธียม โคบอลต์ เพื่อผลิตแบตเตอรี ต้องใช้น้ำในปริมาณที่สูงมาก ดังนั้นการผลิตรถยนต์ EV หนึ่งคันจึงไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (eco-friendly) มากนัก

“ก็เลยมีคำถามว่า ESG มันยังไง นี่คือเรื่องที่หนึ่งที่ผมสงสัย ที่เราตั้งคำถามว่า เป็นไปได้จริงไหมจากสภาพเดิม”

ปุณยวีร์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีคำถามว่า ESG วัดอย่างไร สิ่งแวดล้อม Environment พอรับได้ เช่น จากตัวเลขมลภาวะที่วัดได้จากการผลิตแต่ละช่วง วัดเป็นตัวเลขได้

“ประเด็นคือ social และ governance วัดผลอย่างไร แม้บอกว่าที่ทำงานมีวัฒนธรรม เป็นองค์กรที่ดี เป็นมิตรกับพนักงาน กับซัพพลายเออร์ คู่ค้า มีการบริหารจัดการดี ตรงนี้เป็น grey area ที่ผมรู้สึกว่ายังไม่เคลียร์ เรายังไม่รู้ว่ามันดีจริงไหม

ข้อสงสัยตรงนี้ถูกส่งต่อไปยังสิ่งที่ผมมองว่า ESG ถูก misused เป็นแค่การ PR ที่ใช้ใน main stream media หรือเปล่า เพราะสุดท้ายแล้วเราจะเห็นว่าบริษัทที่ได้ ESG ได้อันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ที่ดีขึ้น เมื่อได้ credit rating ดีขึ้นหมายถึงได้ต้นทุนการกู้ที่ถูกลง”

“เรามองว่า ESG เป็นแค่ตราประทับหนึ่งเพื่อบอกว่า คุณมาลงทุนกับเรา เราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ตรงกับคุณค่า (value) ของคุณ แต่เราก็ไม่รู้ว่าบริษัทนั้นทำจริง ลงทุนเพื่อสร้างโลกใบนี้ให้ใหม่จริงหรือไม่ ถ้าทำได้จริง ก็ดี”

ปุณยวีร์บอกว่าจากข้อมูล ETF ของ ESG ชื่อกอง Vanguard FTSE Social Index Fund Admiral (VFTAX) พบว่า หุ้น 5 อันดับแรกที่บอกว่าเป็น ESG และกองทุนนี้ถือครอง คือ Apple, Microsoft, Amazon, Tesla และ Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยี และเมื่อเจาะลึกลงไปกองทุนนี้ให้น้ำหนักกลุ่มเทคโนโลยีประมาณ 33% กลุ่มเฮลธ์แคร์ประมาณ 15%

ปุณยวีร์กล่าวว่า ก็มีข้อสงสัยว่าผู้ที่ได้ ESG มีแต่บริษัทใหญ่ๆ ทั้งนั้น ที่ได้ตราสแตมป์ว่าดีและเชิญชวนคนเข้ามาลงทุน คนที่เข้าไปลงทุนในสิ่งที่มองว่าเป็น value ของบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งคำว่าธรรมาภิบาลที่ดีมีความกำกวม เพราะสุดท้ายลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ อีกทั้งมองไปทั่วโลก หุ้น 4 ตัวหลักนี้ เป็นหุ้นที่เกือบทุกกองทุนถือลงทุนคือ Microsoft, Alphabet, VISA และ Apple แสดงว่า ESG ยังวนอยู่ในกลุ่มนี้ ในกลุ่มที่เป็นเทคโนโลยีรายใหญ่ หรือแม้แต่บอกว่ามีวิธีการเลือกอย่างดีที่ดีสุด (best in class approach) ก็ยังเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้อยู่ดี

“ผมก็เลยตั้งคำถามว่า ตกลงแล้ว ESG ยังไง แต่ถ้าเรามองย้อนกลับในฝั่งนักลงทุน ย้อนไปถึงสิ่งที่ผมพูดมาก่อนหน้านี้ว่า บางทีเราไม่รู้ว่า ESG ดีจริงไหม ผมไม่สามารถตัดสินได้ว่าดีหรือเปล่า แต่ถ้าเราใส่หมวกนักเก็งกำไรเข้าไป เราเล่นกับสิ่งที่คนอื่นเชื่อว่าดี ถ้าคนอื่นเชื่อว่า ESG ดี แล้ว NAV สูงขึ้น เราก็อาจจะไปทางนั้น โดยที่ยังไม่รู้เนื้อในว่าเป็นอย่างไร อาจจะลงใน ESG เพียงแค่ 2% ของพอร์ต แต่ในแง่ธรรมาภิบาล ก็ได้ตราประทับมาแล้วเป็น ESG”

“สุดท้าย ESG ในมุมมองนักเก็งกำไรจึงเป็นการเล่นหรือการลงทุนกับความเห็นของคนมากกว่า ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นว่าดี เราก็ว่าดีด้วย ในมุมนักเก็งกำไรคำว่าดี คือ ราคาขึ้นตามที่เราคิด นี่คือสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเป็นนักวิเคราะห์ คนขายกองทุนที่ได้ค่าธรรมเนียมจากการดำเนินงาน หรือแม้แต่นักเก็งกำไร ในวันที่ราคาขึ้น ทุกคนบอกว่าดี ก็ดี แต่วันนี้สุดท้ายที่ความจริงปรากฎออกมา ไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนคิด ก็จะกลับไปที่ความต่างในข้อมูล ที่มีมากขึ้น ขณะที่ความโลภ ความกลัว มุมมองของคนยังเหมือนเดิม”

ESG กับการอยู่รอด

ปุณยวีร์กล่าวว่า ในภาพใหญ่เรื่องของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ ตั้งแต่การจัดทำพิธีสารเกียวโต ต่อมาด้วยข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่โลกเดินไปในแนวทางนั้น แต่ประเด็นคือยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวจริงจังเกิดขึ้น นอกจากนี้ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนอาจจะเป็นจุดหลักที่ทำให้ ESG อาจจะหายไปก็ได้

เพราะยุโรปที่พึ่งพาพลังงานราคาถูกจากต่างประเทศ กำลังเผชิญปัญหา และอาจจะหนักขึ้นในช่วงหน้าหนาว หากมีการปิดท่อส่งก๊าซ ยุโรปอาจจะเริ่มกลับมาพิจารณาใช้พลังงานถ่านหินที่เป็นพลังงานราคาถูก ซึ่งพลังงานราคาถูกไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่พลังงานราคาถูกทำให้อยู่รอด เป็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานระดับประเทศ

“กรณีรัสเซีย-ยูเครน จึงจุดประเด็นว่า ESG จะไปต่อได้จริงหรือ คนอาจจะเริ่มกลับมาใส่ใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้ว ใช้สิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ไม่รู้ แต่เอาความอยู่รอดไว้ก่อน เพราะตอนนี้เงินเฟ้อของยุโรปสูงขึ้น เศรษฐกิจก็ไม่ดี ค่าเงินก็อ่อนค่าไปที่ 1:1 เทียบกับเงินดอลลาร์ นี่คือความเหวี่ยงของพลวัตรทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นในมุมนักวิเคราะห์ นักลงทุน นักเก็งกำไร ESG จะช่วยบอกแค่ว่าคนสนใจเข้าไปทำส่วนต่างราคาได้ดีหรือไม่”

ปุณยวีร์กล่าวว่า ประเด็นการใช้พลังงานจะกลายเป็นวาระแห่งชาติ เป็นความมั่นคงของประเทศ ฉะนั้นโอกาสที่โลกจะกลับมาเป็น globalization แล้วพึ่งพา resources ระหว่างกันเพื่อใช้พลังงานราคาถูกอาจจะลดลงได้ “ต่อไปคนอาจจะไม่สนใจว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ สุดท้ายต้องเอาตัวรอดไว้ก่อน เพราะฉะนั้น ESG ถือว่าดี แต่ในเชิงปฏิบัติยังมีคำถามอยู่เยอะ”

ESG ในโลกการลงทุนต้องคิดเยอะ

นอกจากนี้ยังมีประเด็น green washing การฟอกเขียวที่มีความเป็นไปได้หากคิดเผื่อไว้ ตัวอย่างบริษัทที่ได้ credit rating ดีมา เหมือนกับได้ตรายางประทับก็ทำธุรกิจได้ดีกว่ารายอื่น และจะเป็นเป้าหมายในการที่กระแสของเงินจะไหลเข้าไป ขณะเดียวกันกองทุนใหญ่ที่บริหารเงินลูกค้าจำนวนมหาศาล บอกลูกค้าว่าจะไปลงทุน ESG เพื่อกระจายความเสี่ยง (diversify) ก็ขายได้ นอกจากลงทุนได้ผลตอบแทนดีแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตัวบริษัทกับเจ้าของเงินที่เอาเงินไปลงกับ ESG ได้ภาพ branding ด้วย

“ผมไม่รู้ว่ามองร้ายไปหรือไม่ แต่มองกลางๆ มองทั้งสองด้าน”

“ผมเชื่อว่าใน mainstream ต้องชูว่า ESG ดีแน่นอน ซึ่งเราสามารถหาข้อมูลจาก Google ได้เยอะมาก แต่ในมุมมองของผมถ้าเราอยู่ในโลกการเงินมากพอ เราจะรู้ว่าคน tricky พอสมควรในโลกการเงินเราจะมีอีกขาหนึ่งในการมอง ฉะนั้น ESG ในโลกการลงทุนต้องคิดเยอะหน่อยเพราะไม่รู้ว่าจะเจออะไร ผมถึงบอกว่า E พอวัดได้จากตัวเลขที่รายงานแต่ถูกต้องหรือไม่ เราไม่รู้ แต่ S กับ G วัดอย่างไร บอกไม่ได้จริงๆ ในภาพผม มันจึงเป็นเหมือนตรายางสแตมป์อันหนึ่งที่ขายได้แค่นั้น”

ถ้าเช่นนั้นนักลงทุนควรมีบทบาทอย่างไรในการที่จะจัดสรรเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปุณยวีร์บอกว่า ในเชิงแนวคิดถือว่าดี เช่น ผู้จัดการกองทุน (fund manager) ที่อยากทำให้ภาพบริษัทในการจัดกองทุนดูดี ก็ลงทุน ESG แน่นอน เพราะทำให้พูดได้ว่ามีส่วนร่วมในการช่วยสภาพแวดล้อมและสังคม แต่ในความเป็นจริงผู้จัดการกองทุน มีความตั้งในการพัฒนาเพื่อสร้างโลกจริงหรือไม่

“สำหรับผมในมุม fund manager ถ้าเรามี ESG ต้องแบ่งสองหมวก หมวกหนึ่งเราต้องบอกในฐานะที่เราเป็นคนขาย ซึ่งน่าจะขายได้ง่าย เพราะเป็น theme ที่ลูกค้า มี value ในเรื่องนี้กองทุนของบริษัทเราไปลงทุนในการช่วยโลกประมาณนี้ แต่ในอีกหมวกหนึ่งเราก็ต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่าเงินที่เราเอาไปลงทุน สุดท้ายแล้ว กองทุนที่เราไปลง บริษัทนั้นสามารถสร้างความเป็นมิตรให้กับสิ่งแวดล้อมเหรือเปล่า

ในโลกความเป็นจริงยากมากกับการที่นักลงทุนคนใดคนหนึ่งจะเข้าไปเปลี่ยนบริษัท เพื่อให้บริษัทนั้นทำ ESG หรือแม้แต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมตัวกัน อยู่ที่ผู้บริหารว่าจะทำตามเสียงผู้ถือหุ้นรายย่อยไหม เช่น กรณีบริษัทที่ไม่ไปในทาง ESG อยู่แล้ว อยู่ๆดีให้มาทำ ESG โดยที่กำไรลดลง ไม่มีบริษัทไหนทำ แต่ถ้าเห็นว่าธุรกิจเดิมเริ่มตันแล้วจะไปลงในบริษัทที่ป็น ESG มากขึ้นก็เป็นไปได้ ถ้าธุรกิจเก่าโตไม่ได้แล้ว และธุรกิจใหม่เป็น ESG ด้วยและได้กำไรด้วยทำบริษัทก็น่าจะทำ แต่ถ้าธุรกิจเก่าไม่เป็น ESG แต่ยังโตต่อเนื่องอย่างมีนัยะ ทำให้ความมั่งคั่งสูงขึ้น ไม่มีความเป็น ESG แล้ว ไม่ต้องทำ ESG ก็ได้

สำหรับการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจด้วยหลักการ ESG ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ปุณยวีร์ มองว่า เป็นการยกภาพลักษณ์ ตลาดทุนไทยในสายตาต่างชาติ ซึ่ง ESG อาจจะดีต่อการดึงกระแสเงินต่างชาติเข้ามา เพราะตลาดหุ้นไทยเล็กมากไม่ถึง 1% ของตลาดโลก กองทุนบางกองทุนอาจจะไม่สามารถเข้ามาลงทุนได้ แต่การส่งเสริม ESG อาจจะช่วยดึงกระแสเงินของต่างชาติที่มีข้อจำกัดเรื่อง ESG ให้ขยับเข้ามาลงทุนในไทยได้มากขึ้น ในขณะเดียว การพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีการไปในมุมของ ESG มากขึ้น จะเป็นการปรับให้บริษัทไทยคล่องตัวและแข็งขันมากขึ้นปล่อยของเสียได้น้อยลง แต่ต้องมีการวัด ESG วัดที่ชัดเจนและโปร่งใส

ปุณยวีร์กล่าวว่า ในระยะยาว ESG ดีแน่นอนเพราะมีแนวโน้มในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การที่จะจะไม่ทำลายธรรมชาติ แต่ในระยะสั้นต้นทุนในการเปลี่ยนโลกที่ขับเคลื่อนโดยเชื้อเพลิงต่างๆ เชื้อเพลิงหนักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมาก จึงมีการตั้งคำถามเยอะ ว่าทำได้จริงหรือไม่ แม้จะเป็นนักลงทุนเองก็ตาม

“ส่วนตัวผม ภาพในระยะยาวถ้ามองจากใจ ผมมองว่า การที่เราเป็น ESG ทำได้มากกว่าการไปลงทุนด้วยซ้ำ สามารถทำได้หลายรูปแบบมาก เป็นมูลนิธิก็ได้ หรือว่ามีการเอาเงินไปทำ CSR อย่างจริงจัง ESG ไม่ใช่เป็นทางเดียวที่จะบอกว่า กองทุนหรือตัวเรา อยากจะพัฒนาโลกร่วมกัน อาจจะใช้เงินของเราไปซื้อสตาร์ทอัปหรือไปซื้อบริษัทเทคโนโลยี ที่มองว่ามีศักยภาพในการที่จะเปลี่ยนโลกจริง เช่น การเกษตร การประมง ไปลงทุนตรงๆ ไม่ต้องผ่าน ESG ก็ได้

การที่บอกว่าเราลง ESG เพราะเรารักโลก ผมว่ามันแคบไปนิด เราทำอะไรได้มากกว่านั้น ESG อาจจะเป็นเพียง ลูกเล่น หรือ gimmick โลกก่อน ESG ที่ผ่านมาก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้มหาศาล”

“เช่น ตัวอย่างก่อนโควิดไม่ต้อง ESG เลย การลงทุนเน้นเทคโนโลยีเป็นหลัก เทคล้วนๆ มองในเรื่อง VR, AR หรือแม้แต่รถยนต์ EV การผลิตแบตเตอรีสำหรับรถ EV ก็ไม่ได้ ESG มาก แต่ประเด็นคือเงินไหลเข้าในกลุ่มนั้นมากกว่า หรือแม้แต่ตอนที่น้ำมันพุ่ง คนก็แห่เข้าไปเก็งกำไรน้ำมัน ถ้าเราบอกว่าเรารักโลกจริง เราเป็น fund manager คนหนึ่งที่หัวใจสีเขียวมากเราเห็นว่าราคาน้ำมันจะขึ้น เราเห็นว่ากองทุนน้ำมันจะขึ้น แต่น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราจะซื้อหรือไม่ซื้อ สุดท้ายซื้ออยู่ดี เพราะเบอร์หนึ่งคือ การสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับเจ้าของกองทุน ที่เหลือเป็น gimmick รองๆ ที่ทำมาเป็น CSR ของบริษัทมากกว่า”

ปุณยวีร์กล่าวว่า การทำดีบางครั้งไม่ต้องบอกต่อ แต่ ESG คือการทำดีแล้วบอกต่อให้หน่อยว่าทำ ก็เลยมีคำถามว่า เป็นการทำ branding ด้วยหรือเปล่า แม้วัตถุประสงค์ดีแน่นอน ทำให้โครงสร้างบริษัทคล่องตัว มีการลดของเสีย กับพนักงาน ดีกับคู่ค้า ไม่มีข้อเสีย แต่ในโลกแห่งความจริงการประยุกต์ใช้ ต้องตั้งคำถามอีกเยอะพอสมควรว่า ทำอย่างไรวัดอย่างไร มีเกณฑ์อย่าง ใครเป็นคนกำหนด บริษัทที่ได้ ESG มีสิทธิประโยชน์อะไรทางการค้า ทางภาษีหรือไม่ บริษัทที่ไม่ได้เสียประโยชน์อะไรไหม บริษัทที่ไม่ได้จะถูกลงโทษอย่างไร บริษัทที่ดีได้ประโยชน์อะไร

“พวกนี้พอเราเห็นผลของมันแล้วเราจะกลับมาย้อนบอกได้ว่า ESG ดีหรือไม่ แล้วดีในมุมของใคร บางทีอาจจะดีกับเจ้าของทุน แต่อาจจะไม่ดีกับคู่ค้าหรือไม่ ก็ไม่สามารถรู้ได้ ยังมีคำถามอีกเยอะ”

ปุณยวีร์มองว่า ESG จะหนีไม่พ้นวัฏจักรของตลาดที่มีทั้ง boom และ bust ไมว่าจะเป็นกองทุนที่ชื่อชั้นดีแค่ไหน หากโลกเริ่มหันมาใช้พลังงานราคาถูก และเงินที่อยู่ใน ESG ไม่สร้างผลตอบแทน ขณะที่เงินลงทุนในสิ่งที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำผลตอบแทนได้สูง เงินก็จะหันไปลงทุนในกลุ่มนั้น ฉะนั้น ESG ก็จะกลับมาสู่วัฏจักร เหมือนอย่างที่เคยเห็นการแห่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือช่วงหนึ่งแห่ไปลงที่เซมิคอนดักเตอร์เพราะชิปเป็นโครงสร้างของอุตสาหกรรม 5G ที่ขาดไม่ได้ หรือแม้แต่รถ EV ที่มองว่าจะพลิกโลกESG เองจะอยู่ในcycle นั้น เพราะฉะนั้น ESG ในภาพใหญ่ เป็นเพียงแค่ product หนึ่งเท่านั้นเอง

“ในสายตาของนักการเงิน ESG เป็นแค่ product หนึ่งเท่านั้นที่หนีจากวัฏจักรตลาดไม่พ้นอยู่ดี แต่ปลายทางต้องบอกว่ามันดี นี่คือจุดแข็ง”

ESG อาจจะไม่ใช่คำตอบของนักลงทุนเพราะนักลงทุนต้องการผลตอบแทน ที่เป็นประเด็นหลักของของคนที่เข้ามาในตลาดหุ้น ปุณยวีร์กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ที่นักลงทุนอยากได้ส่วนต่างของราคา อยากได้กำไร อยากได้เงินมากขึ้น แต่หากบนเม็ดเงินที่ได้นั้นได้ branding ด้วย ได้ภาพลักษณ์ที่ดีด้วย ก็ เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าหากไม่ได้ภาพลักษณ์ที่ดี แต่ยังได้กำไรดีอยู่ นักลงทุนยังไปต่อ

“ผมเลยมองว่า ESG เป็น choice ไม่ว่า ESG จะมีหรือไม่มี ตลาดหุ้นจะดำเนินต่อไป ความโลภความกลัวจะดำเนินต่อไป คนจะยังเทรดต่อไป เพียงแต่ว่าพอ ESG เข้ามาจะช่วยยกระดับภาพที่ดีขึ้นเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาเยอะขึ้น มี choice ในการขายของเยอะขึ้น มี choice ในการเล่าเรื่องมากขึ้น ทำให้ product ตัวหนึ่งที่เรียกว่า ESG เข้ามามีบทบาทในใจคนมากขึ้นเท่านั้นเอง”