ThaiPublica > Sustainability > ESG-driven Society > “Mark van Baal” ผู้ก่อตั้ง Follow This เชื่อจะเปลี่ยนบริษัทได้ต้องเป็น “ผู้ถือหุ้น”

“Mark van Baal” ผู้ก่อตั้ง Follow This เชื่อจะเปลี่ยนบริษัทได้ต้องเป็น “ผู้ถือหุ้น”

1 กันยายน 2022


ซีรีส์ข่าวสร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” (Building “ESG-driven Society”) ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนยั่งยืน: สร้างสังคมฉุกคิดด้วย “ESG” จากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน โดยความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุน ผู้ระดมทุน และผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงความสำคัญของ สิ่งแวดล้อม (environment), สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (governance) เกิดการรับรู้และนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขับเคลื่อนตลาดทุนและประเทศไทยที่ยั่งยืน

shareholder activist กับการขับเคลื่อน ESG เป็นหนึ่งในชุดบทความที่นำเสนอภายใต้ซีรีส์ สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG เพื่อแสดงให้เห็นถึง “พลัง” ในการเป็นผู้ถือหุ้น ผลักดันให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้

ที่มาภาพ: https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/tv/directtalk/20220602/2058901/
โดยทั่วไปผู้ลงทุนทั่วไปมักจะเลือกลงทุนในบริษัทเพราะเห็นว่าบริษัทมีศักยภาพที่จะเพิ่มความมั่งคั่งหรือเป็นแหล่งเงินได้ให้กับผู้ถือหุ้น แต่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อยหันมาเลือกเส้นทางการลงทุนที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเต็มรูปแบบหรือบางส่วน โดยเห็นว่าอนาคตของโลกกำลังตกอยู่ในอันตราย จากพิบัติทางสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม Environment สังคม Social และบรรษัทภิบาล Governance หรือ ESG

ผู้ลงทุนส่วนหนึ่งจึงเลี่ยงลงทุนในบริษัทที่ไม่ยึดหลัก ESG และสนับสนุนบริษัทที่เห็นว่าดำเนินธุรกิจด้วยหลัก ESG

อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ แต่เชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดในการกอบกู้โลกคือการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่คาดว่าจะสร้างผลกระทบทางลบต่อโลก

จะเปลี่ยนบริษัทได้ต้องเป็นผู้ถือหุ้น

หนึ่งในนั้น คือ Mark van Baal อดีตผู้สื่อข่าวพลังงานกับสื่อหลายแห่งในเนเธอร์แลนด์[1]ที่ผันตัวมาผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหว ด้วยการก่อตั้ง Follow This องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่รวบรวมผู้ถือหุ้นนักเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล

Follow This กลายเป็นผู้เล่นระดับนานาชาติรายใหญ่ที่ยื่นมติผู้ถือหุ้นต่อ 5 บริษัทน้ำมันใหญ่ในยุโรปและสหรัฐฯ

ในปี 2002 เมื่อ Mark van Baal ซึ่งเป็นวิศวกรเดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อขายเครื่องทำความเย็นสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ เขาเบื่อกับการไม่ได้ทำอะไรที่รับผิดชอบต่อสังคม จึงตัดสินใจที่จะเป็นนักข่าว หลังจากดูสารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ของ Al Gore เมื่อปี 2006 เขาได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

“ผมเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆว่า อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องเปลี่ยนแปลง พลังงานหมุนเวียนมีโอกาสมหาศาลสำหรับบริษัทเหล่านี้ และการเปลี่ยนมาเป็นบริษัทพลังงานที่ยั่งยืนเป็นโอกาสเดียวที่จะอยู่รอด”

van Baal กล่าวว่า “เชื้อเพลิงฟอสซิลมีส่วนต่อการปล่อยมลพิษมากกว่าครึ่งหนึ่งทั่วโลก หากต้องการที่จะบรรลุข้อตกลงปารีส เราก็ต้องลดการปล่อยมลพิษและเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน บริษัทน้ำมันรายใหญ่มีส่วนสำคัญในเรื่องนี้ จึงต้องการให้เปลี่ยนการลงทุนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานหมุนเวียน เพราะบริษัทเหล่านี้มีเงิน เก่ง มีอำนาจทางการเมือง และไปได้ทั่วโลกที่จะเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและเข้าใจดีว่าการซื้อหุ้นน้ำมันรายใหญ่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างขัดกับความรู้สึก แต่เชื่อว่าการถือหุ้นในบริษัทที่ก่อมลพิษมากที่สุดในโลก เป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

น่าเสียดายที่การเขียนเรื่องเกี่ยวกับความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนไม่ได้ผลตามที่ต้องการ

“หลังจากเป็นนักข่าวมาสิบปี ผมได้ข้อสรุปว่าเชลล์ไม่ฟังนักข่าว กลุ่มนักเคลื่อนไหว หรือแม้แต่รัฐบาล คนเดียวที่สามารถโน้มน้าวให้เชลล์เลือกเส้นทางอื่นได้คือผู้ถือหุ้น[2]”

van Baal เห็นว่า การที่จะปรับเปลี่ยนเชลล์(Shell Plc) ได้นั้น เขาจะต้องเป็นผู้ถือหุ้น

“ผมรู้ว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยเพียงคนเดียวสามารถเปลี่ยนแนวทางของบริษัทได้” แนวคิดก็คือว่า “ถ้าคุณสามารถซื้อหุ้นได้มากพอที่จะยื่นมติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ผมก็จะเพียงแค่โน้มน้าวผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ เท่านั้น”

แนวคิดของ van Baal จึงกลายมาเป็น Follow This และเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในยุโรปการยื่นมติผู้ถือหุ้นต้องมีหุ้นอย่างน้อยในมูลค่า 5 ล้านยูโร ดังนั้นในปี 2015 เขาได้รวบรวมผู้ถือหุ้นรายใหญ่และมีพลัง โน้มน้าวให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่มีส่วนร่วมและจัดทำเว็บไซต์ที่ทุกคนสามารถซื้อหุ้น green share ที่ถือเป็นสัญลักษณ์แทนหุ้นเชลล์ได้ในราคาประมาณ 30 ยูโรในขณะนั้น

van Baal บอกว่า แนวคิดนี้ใช้เวลากว่าจะได้รับการตอบรับและไม่มีใครเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้จริง แต่หลังจากนั้นก็มีคนเข้ามาร่วมมากขึ้น มีอาสาสมัครเข้ามาร่วมงานมากขึ้นในการผลักดันภารกิจของ Follow This

ที่มาภาพ: https://www.follow-this.org/our-story/

ยื่นมติแรกต่อเชลล์ปี 2016

ในที่สุด Follow This ก็ระดมเงินได้มากพอจะยื่นมติครั้งแรกเพื่อให้ดำเนินการด้านสภาพอากาศในการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2016 โดยมีผู้ถือหุ้นที่เรียกว่า Green shareholder ถึง 1,600 ราย เพิ่มขึ้นจาก 300 ราย ในปีแรกของการก่อตั้ง แต่ Ben van Beurden ซีอีโอของเชลล์ได้ขอให้ผู้ถือหุ้นลงคะแนนคัดค้านมติดังกล่าว อย่างไรก็ตามมีผู้ถือหุ้น 3% โหวตให้กับมตินี้ ขณะที่ 3% งดออกเสียงลงคะแนน

ในปี 2017 ด้วย green shareholder จำนวน 2,700 ราย Follow This ได้ยื่นมติด้านสภาพอากาศอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ขอให้เชลล์วางเป้าหมายการปล่อยมลพิษของบริษัทให้สอดคล้องกับข้อตกลงสภาพอากาศปารีส คณะกรรมการของเชลล์บอกว่าข้อเสนอนี้เป็น ‘ความเข้าใจผิดขั้นพื้นฐาน’ และ ‘ไม่สมเหตุสมผล’ แต่จำนวนผู้ถือหุ้นที่ลงคะแนนเสียงเห็นด้วยเพิ่มขึ้นเป็น 6% หรือ 2 เท่าจากปี 2016 ด้วยการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นสถาบันรายใหญ่ เช่น Actiam, Van Lanschot Kempen, MN, Blue Sky Group, Church of England

การลงมติของผู้ถือหุ้นครั้งนี้ส่งผลให้เชลล์ต้องฟังผู้ถือหุ้นด้วยการประกาศความมุ่งมั่นด้านสภาพอากาศ(climate ambition) ในครึ่งปีหลังจากนั้น และนับเป็นบริษัทน้ำมันรายแรกของโลกที่ประกาศ climate ambition

Mark van Baal แจงข้อเสนอต่อบอร์ดเชลล์ ปี 2018 ที่มาภาพ: https://www.follow-this.org/our-story/

ในปี 2018 Follow This ได้ยื่นข้อเสนอต่อ Shell อีกครั้ง และครั้งนี้บริษัทเห็นว่า “ไม่จำเป็น” ที่จะยอมข้อเสนอของ Follow This จึงมีการโต้กันไปมาอย่างรุนแรงระหว่าง van Baal และ Ben van Beurden ซีอีโอของเชลล์ อีกทั้งนั้นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด 9 ใน 10 รายของเนเธอร์แลนด์ก็ไม่ตอบสนองต่อคำเรียกร้องของ van Beurden ข้อเสนอของ Follow This จึงได้คะแนนเสียงจากผู้ถือหุ้นเพียง 5.5% ขณะที่ 7% งดออกเสียง ซึ่ง van Baal กล่าวว่า หมายความว่าเกือบ 13% ไม่สนับสนุนคณะกรรมการเชลล์อีกต่อไป

เครื่องมือใหม่ของนักลงทุน

van Baal เชื่อว่าการผลักดันบริษัทน้ำมันให้จัดทำแผนหรือมีนโยบายด้านสภาพอากาศนั้นต้องใช้เวลาจึงเดินหน้ารณรงค์ให้ผู้ถือหุ้นตระหนักถึงเรื่องนี้และลงคะแนนเสียงมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบัน Follow This มีผู้สนับสนุนมากถึงกว่า 7,000 รายส่วนใหญ่อยู่ในเนเธอร์แลนด์ ที่เหลืออยู่ในอังกฤษและประเทศอื่นๆ

ในปี 2019 มีผู้ถือหุ้นลงคะแนนมติด้านสภาพอากาศเพียง 5.5% แต่ในการประชุมผู้ถือหุ้นเดือนพฤษภาคม 2020 คะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นต่อมติดังกล่าวเพิ่มเป็น 14.4%[3]

Follow This เสนอให้เชลล์ตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 และ 2050 โดยมุ่งไปที่ขอบเขตที่ 3(ตาม Science Based Targets initiative: SBTi หรือ การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้โครงการริเริ่มที่มีเป้าหมายบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ) รวมทั้งให้รายงานความคืบหน้ารายปี

van Baal กล่าวว่า ผลการลงมติถือว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ “การลงมติของผู้ถือหุ้นเป็นการส่งสารชัดเจนไปยังเชลล์และอุตสาหกรรมน้ำมันโดยรวมว่า บริษัทต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส”

นอกจากนี้ยังมาจากการที่

“ได้ให้เครื่องมือใหม่ไม่มีใครเคยใช้มาก่อนแก่นักลงทุน และใช้กฎหมายของอังกฤษเพื่อยื่นมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของเชลล์ ซึ่งบังคับให้บริษัทบรรจุลงในวาระการประชุม”

ที่มาภาพ:https://www.follow-this.org/resolutions-results/

สำหรับเชลล์เองมีแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการธุรกิจน้ำมันและก๊าซของบริษัทเองลงเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามขอบเขตที่ 1 และ 2

Follow This มีหุ้นในเชลล์ ไม่ถึง 1%[4]

แต่การใช้กลไกผู้ถือหุ้นเพื่อขับเคลื่อนบริษัทให้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลับเจออุปสรรคด้านพลังงานหลังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ในการประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 24 เดือนพฤษภาคม 2022 แผนด้านสภาพอากาศของเชลล์เองได้รับคะแนนเสียงจากผู้ถือหุ้นลดลงมาที่ราว 80% จาก 88.74% ในปีที่แล้ว ขณะที่คะแนนเสียงผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็นด้วยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2021[5]

ด้านคะแนนเสียงผู้ถือหุ้นที่สนับสนุน Follow This ก็ลดลงจาก 30% ในปี 2021 เหลือ 20% ในปี 2022 และนับเป็นครั้งแรกที่คะแนนเสียงสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

van Baal ชี้ว่า คะแนนเสียงที่ลดลง เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนกลบความสำคัญของการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ

เสียงผู้ถือหุ้นข้างน้อยที่มีนัย

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา Follow This ได้ยื่นมติผู้ถือหุ้นในบริษัทต่างๆ เช่น Shell, BP, Chevron, ExxonMobil, Equinor และ Phillips 66 เพื่อกดดันให้แต่ละบริษัทกำหนดเป้าหมายการปล่อยมลพิษให้สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส

แม้การรณรงค์ของ Follow This มีส่วนทำให้จำนวนมติของผู้ถือหุ้นด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในฤดูกาลประชุมผู้ถือหุ้นปี 2022 แต่ Follow This ก็พบกับความพ่ายแพ้ในการยื่นข้อเสนอกับผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่อื่นๆ ในยุโรปและอเมริกาเหนือในปี 2022 นอกเหนือจากคะแนนที่ลดลงในเชลล์

ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของ BP PLC ในเดือนพฤษภาคม ผู้ถือหุ้น 88.53% สนับสนุนแผนการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัท ซึ่งอยู่ในวาระเป็นครั้งแรก ขณะที่ Follow This ได้รับคะแนนเสียงเพียง 14.86% จาก 21% ในปี 2021 ด้านผู้ถือหุ้น ConocoPhillips ลงคะแนนให้ Follow This น้อยกว่าที่ในปี 2021 ส่วนในการประชุมผู้ถือหุ้นของเอ็กซอนโมบิลข้อเสนอของ Follow This ได้รับคะแนนโหวต 28% และได้รับ 33% จากผู้ถือห้นเชฟรอน

นักลงทุนที่ถือหุ้นใน Equinor ASA ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลนอร์เวย์สนับสนุนแผนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของบริษัท และมีเพียง 3.57% เท่านั้นที่โหวตให้กับข้อเสนอของ Follow This

van Baal กล่าวว่า เขาขอบคุณสำหรับการสนับสนุนจากเกือบ 1 ใน 3 ของนักลงทุน ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยที่มีนัยสำคัญ[6]

“มันยังเป็นการแข็งข้อของผู้ถือหุ้น” van Baal กล่าว “และสิ่งเดียวที่เราทำได้ในตอนนี้คือทำงานร่วมกับนักลงทุนเหล่านี้เพื่อโน้มน้าวใจคนอื่นๆ”

ที่มาภาพ: https://www.follow-this.org/resolutions-results/

ก่อนหน้านี้ van Baal กล่าวว่า หากไม่มีเสียงจากผู้ถือหุ้น ก็เชื่อว่า บริษัทน้ำมันอาจจะยังมีข้ออ้างในการไม่จัดการกับสภาพภูมิอากาศ

“ก่อนหน้านี้บริษัทน้ำมันรายใหญ่จะแก้ตัวโดยอ้างว่าการตัดสินใจเชิงนโยบายของพวกเขาขึ้นอยู่กับทางเลือกของผู้บริโภค หรือรัฐบาล หรือกฎระเบียบ และก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบของพวกเขา” van Baal กล่าว

“ตอนนี้สิ่งเชลล์และ BP ประกาศทุกอย่างเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องขอบคุณนักลงทุนที่ลงคะแนนให้มติของเรา นั่นเป็นเพราะเราได้ใส่ไว้ในวาระการประชุม

แหล่งข้อมูล
[1] Investorpedia.2022. Challenging Big Oil From the Inside Out.
https://www.investopedia.com/the-green-investor-podcast-episode-5-5218011
[2] Follow This.Our Story. https://www.follow-this.org/our-story/
[3] Energy Voice 2020. ‘Big win’ as Shell urged by more shareholder activists to meet climate targets.
https://www.energyvoice.com/oilandgas/241020/big-win-as-shell-urged-by-more-shareholder-activists-to-meet-climate-targets/
[4] CityA.M. 2022. Activist investor prepares to take on Shell over climate targets.
https://www.cityam.com/activist-investor-prepares-to-take-on-shell-over-climate-targets/
[5] S&P Global Market Intelligence 2022.Investor opposition to Shell energy transition strategy grows at disrupted AGM.
https://www.spglobal.com/marketintelligence/en/news-insights/latest-news-headlines/investor-opposition-to-shell-energy-transition-strategy-grows-at-disrupted-agm-70497971
[6] The Washinton Post.2022 Investors reject climate proposals targeting ExxonMobil, Chevron.
https://www.washingtonpost.com/politics/2022/05/26/investors-reject-climate-proposals-targeting-exxonmobil-chevron/