ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ณ วันนี้ “สันติภาพ” และ “การปรองดอง” ในเมียนมา เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจ บริษัทเอกชนที่ได้นำเงินเข้าไปลงทุนอยู่ในเมียนมา แน่นอนที่สุด รวมถึงนักธุรกิจจากประเทศไทย
แม้หลายพื้นที่ของเมียนมาในตอนนี้ยังคงมีการสู้รบกันอย่างหนัก ทั้งระหว่างกองทัพพม่า กับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน(People’s Defense Force : PDF) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเงา (National Unity Government : NUG) ฝ่ายตรงข้ามกับสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council : SAC)
การสู้รบระหว่างกองทัพพม่า กับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations : EAOs)
รวมถึงการสู้รบระหว่างกองทัพพม่า กับกองทัพผสมของกองกำลังชาติพันธุ์และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน โดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง ฝั่งตรงข้ามชายแดนด้านตะวันตกของประเทศไทย ที่ดำเนินอย่างเข้มข้นมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว
แต่ความพยายามและความเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดสันติภาพและการปรองดองในเมียนมาก็มีอยู่ตลอด ทั้งความเคลื่อนไหวที่มาจากแรงผลักดันภายนอก และความเคลื่อนไหวที่เริ่มต้นจากภายใน โดยเฉพาะจากสภาบริหารแห่งรัฐ
เพียงแต่กระบวนการสันติภาพที่เริ่มต้นจากภายใน ไม่ค่อยได้รับความสนใจหรือได้รับความเชื่อถือจากสื่อตะวันตก จึงมักไม่ปรากฏออกมาเป็นข่าว
ทำให้เรื่องราวของกระบวนการสันติภาพในเมียนมาทุกวันนี้ จึงดูเหมือนเงียบ คืบหน้าไปแบบล่าช้า
……
วันที่ 1 กรกฏาคม 2565 กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ ในเมียนมา 7 กลุ่ม ร่วมกันออกเอกสารข่าว ผลการประชุมหารือกับ ปรัก สุคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กัมพูชา ในฐานะทูตพิเศษอาเซียนด้านกิจการเมียนมา ผ่านทาง เพจ NCA-S EAO
ปรัก สุคน เดินทางถึงเมียนมาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน เป็นการเดินทางมาเมียนมาครั้งที่ 2 ในตำแหน่งทูตพิเศษอาเซียน เขามีกำหนดการอยู่ในเมียนมารอบนี้ 5 วัน เพื่อเดินหน้าภารกิจการสร้างความปรองดอง ผลักดันกระบวนการสันติภาพ โดยพยายามพูดคุย หารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ในเมียนมาให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ปรัก สุคน ไม่มีโอกาสได้พบกับ อองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในกรุงเนปิดอ
ช่วงเที่ยงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ปรัก สุคน ได้เข้าพบ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐและนายกรัฐมนตรีเมียนมา ที่ห้องตานตะมาน ห้องรับรองภายในทำเนียบประธาน SAC
รุ่งขึ้น วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ปรัก สุคน ประชุมหารือกับตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ 7 กลุ่ม ประกอบด้วย
-
1.สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน(RCSS/SSA) หรือกองทัพรัฐฉานใต้
2.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ(PNLO)
3.กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย(DKBA)
4.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ(KNU/KNLA-PC)
5.พรรครัฐมอญใหม่(NMSP)
6.สหภาพประชาธิปไตยลาหู่(LDU)
7.พรรคปลดปล่อยอาระกัน(ALP)
กองกำลังชาติพันธุ์ทั้ง 7 ล้วนเป็นกลุ่มที่ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ(NCA) กับรัฐบาลเมียนมาไปแล้ว และเป็นกลุ่มที่ตอบรับคำเชิญให้ไปพบและเจรจาสันติภาพกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย แบบเผชิญหน้าเป็นรายกลุ่มในกรุงเนปิดอ
การประชุมใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยเริ่มในเวลา 10.00 น. สิ้นสุดเวลา 12.30 น. จากนั้นตอนเย็น ทั้ง 7 กลุ่ม จึงได้เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวออกมา


เนื้อหาในเอกสารแถลงข่าวไม่ได้ให้รายละเอียดของการหารือ เพียงสรุปประเด็นหลักๆที่พูดคุยกัน เช่น เป้าหมายภารกิจของทูตพิเศษอาเซียนที่ต้องการให้มีการหยุดยิง การนำความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการหาหนทางให้มีการเจรจากันทางการเมืองของภาคส่วนต่างๆ
ส่วนข้อเสนอของกองกำลังชาติพันธุ์ คือหาทางให้การเจรจาสันติภาพบรรลุผลสำเร็จ การปกป้องพลเรือนจากความรุนแรง และหาช่องทางให้พลเรือนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม รวมถึงความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขวิกฤตในเมียนมา และแนวทางฟื้นฟูเมียนมาในระยะยาว(ดูรายละเอียดได้ในเอกสารแถลงข่าว)

ช่วงบ่าย ปรัก สุคน ได้ประชุมหารือกับ พล.ท.หย่าปญิ ประธานคณะกรรมการเจรจาสันติภาพ(National Solidarity and Peace Negotiation Committee : NSPNC) และทีมงาน NSPNC ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสภาบริหารแห่งรัฐ
……

ความเคลื่อนไหวของทูตพิเศษอาเซียนด้านกิจการเมียนมา เป็นกระบวนการสันติภาพที่ได้รับแรงผลักดันจากภายนอก ส่วนความเคลื่อนไหวจากภายในได้เริ่มต้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 หลังผ่านการรัฐประหารมาครบ 1 ปี สภาบริหารแห่งรัฐส่งจดหมายเชิญไปยังกองกำลังชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศไปแล้ว และกลุ่มที่ยังไม่ได้เซ็น ให้ส่งตัวแทนมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันสหภาพครบรอบ 75 ปี ซึ่งเตรียมจัดขึ้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565
ในโอกาสเดียวกันนี้ สภาบริหารแห่งรัฐ ได้วางแผนจัดประชุมร่วมกับตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ที่มาร่วมงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูกระบวนการเจรจาสันติภาพขึ้นใหม่ หลังได้หยุดชะงักไปนานกว่า 1 ปี
มีกองกำลังชาติพันธุ์ 11 กลุ่ม ส่งตัวแทนไปร่วมฉลองวันสหภาพครบรอบ 75 ปี ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ในนี้ 7 กลุ่มเป็นกองกำลังที่เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศไปแล้ว ได้แก่ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน พรรคปลดปล่อยอาระกัน พรรครัฐมอญใหม่ สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย และ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU)
อีก 4 กลุ่ม เป็นกองกำลังที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ คือ กองทัพสหรัฐว้า(UWSA) พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน(SSPP) หรือกองทัพรัฐฉานเหนือ กองทัพเมืองลา(NDAA) และกองทัพอาระกัน/สหสันนิบาติแห่งอาระกัน(AA/ULA)
วันที่ 22 เมษายน 2565 หลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ หรือก้าวสู่ศักราชใหม่ของเมียนมาแล้ว พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ MRTV เชื้อเชิญกองกำลังชาติพันธุ์ทุกกลุ่มให้ส่งตัวแทนมาพบและเจรจาสันติภาพกับเขาแบบเผชิญหน้า เป็นรายกลุ่ม
วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 มีกองกำลังชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ตอบรับที่จะส่งตัวแทนมาพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ในนี้เป็นกองกำลังที่เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศแล้ว 7 กลุ่ม ได้แก่ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ พรรครัฐมอญใหม่ พรรคปลดปล่อยอาระกัน องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ สหภาพประชาธิปไตยลาหู่
อีก 3 กลุ่มเป็นกองกำลังที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ คือ กองทัพสหรัฐว้า กองทัพเมืองลา และพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน


กระบวนการเจรจา เริ่มขึ้นในวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565 โดย พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน ได้พาคณะเดินทางมาพบและเจรจากับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นกลุ่มแรก
จากนั้นตัวแทนกลุ่มอื่นๆเริ่มทยอยนำคณะเดินทางมายังกรุงเนปิดอ ได้แก่
- วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม นายอ่องมิน รองประธานพรรครัฐมอญใหม่
- วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม ซอเทาะเล ประธานสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ
- วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม เลาะหย่ากุ รองประธานพรรคสหรัฐว้า(UWSP) ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมืองของชาติพันธุ์ว้า ซึ่งเคลื่อนไหวคู่ไปกับกองทัพสหรัฐว้า
- วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน อู ซานเป้ รองประธานเขตพิเศษหมายเลข 4 เมืองลา และคณะผู้บริหารระดับสูงของเมืองลา
- วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน ดอ ส่อเมียะราส่าลิน รองประธานพรรคปลดปล่อยอาระกัน
- วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน ขุนทุนติ่น รองประธานองค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ
- วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน ซอ ซะตี ผู้บัญชาการ กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย
- วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา พ.อ.ส่อละมอน เลขาธิการ สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ เป็นคณะล่าสุดที่เดินทางมาพบกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย







การเจรจาของทั้ง 9 กลุ่ม มีรูปแบบเดียวกัน โดยหลังจากตัวแทนของแต่ละกลุ่มได้พบและพูดคุยแบบเผชิญหน้ากับพล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายแล้ว แต่ละกลุ่มต้องได้ประชุมร่วมกับ พล.ท.หย่าปญิ และทีมงานคณะกรรมการเจรจาสันติภาพ ต่ออีกอย่างน้อย 1-2 วัน จึงค่อยเดินทางกลับ
ไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาการพูดคุยของแต่ละกลุ่มโดยละเอียด ส่วนใหญ่เป็นการบอกประเด็นกว้างๆว่า ทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม เห็นด้วยในหลักการว่าแนวทางแก้ปัญหาและสร้างสันติภาพในเมียนมาในระยะยาว ต้องนำระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตย ที่ทุกกลุ่ม ทุกชาติพันธุ์มีความเท่าเทียมกันมาใช้
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะระหว่างกองทัพ กับกองกำลังชาติพันธุ์ทุกลุ่มให้เกิดขึ้นมาให้ได้เสียก่อน…
จากกองกำลังชาติพันธุ์ 10 กลุ่มที่ตอบรับคำเชิญของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ขณะนี้เหลือเพียงพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน หรือกองทัพรัฐฉานเหนือ เพียงกลุ่มเดียวที่ยังไม่ได้ส่งตัวแทนมาเจรจาสันติภาพที่กรุงเนปิดอ

พ.อ.จายสู้ โฆษก พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน ให้สัมภาษณ์กับ Tai TV Online (https://www.facebook.com/TaiTVonline/posts/pfbid0zPbGFaG6jAHT5g6AVBbZS1c1bzQkJbaJid2fi9RLq1FD5dESDdT3eKvspEnuoLf2l) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า พรรคก้าวหน้ารัฐฉานพร้อมที่จะเจรจาสันติภาพ รอเพียงให้สภาบริหารแห่งรัฐติดต่อนัดหมายวัน เวลา ที่แน่นอนมาก่อน ก็จะไปพบที่กรุงเนปิดอได้ทันที
พ.อ.จายสู้ให้สัมภาษณ์ท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพพม่ากับพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน กำลังตึงเครียดเพราะเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน กองทัพพม่าได้ยื่นคำขาดให้พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน ถอนกำลังทหารที่ตั้งไว้ 3 จุด ในอำเภอเมืองสู้ จังหวัดดอยแหลม ตอนกลางของรัฐฉานได้แก่ ที่บ้านดอยนาย 1 จุด กับอีก 2 จุด ที่บ้านม่านเวียง 2 จุด ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565
แต่เมื่อถึงผ่านพ้นเส้นตายที่กองทัพพม่าขีดไว้ พรรคก้าวหน้ารัฐฉานไม่ยอมถอนทหารเหล่านั้นออกจากพื้นที่ ทำให้กองทัพพม่าเริ่มเสริมกำลังเข้าไปในพื้นที่เมืองสู้ จนชาวบ้านหวั่นเกรงว่าการสู้รบของทั้ง 2 ฝ่าย กำลังจะเกิดขึ้น…

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 สภาบริหารแห่งรัฐได้ประกาศเชิญชวนผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ของรัฐ The Global New Light of Myanmar อีกครั้ง ให้กองกำลังชาติพันธุ์ที่เหลือ ส่งตัวแทนมาเจรจาสันติภาพแบบเผชิญหน้ากับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เป็นรายกลุ่ม กำหนดให้แต่ละชาติพันธุ์ตอบกลับภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565
แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานว่า มีกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มใดได้ตอบรับคำเชิญของสภาบริหารแห่งรัฐ ครั้งที่สอง มาแล้วบ้าง
……
แม้การขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพมีการเดินหน้าตลอด นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 แต่ทุกวันนี้ ยังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของเมียนมา ไม่เฉพาะในดินแดนรัฐชาติพันธุ์เท่านั้น ในเมืองใหญ่ๆอย่าง ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ ยังมีการวางระเบิด การโจมตีหน่วยงานของรัฐ หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ ปรากฏให้เห็นเป็นระยะ
ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากคู่ขัดแย้งโดยตรงของสภาบริหารแห่งรัฐไม่ได้มีเพียงกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์เท่านั้น แต่ยังมีรัฐบาลเงาและกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ที่ยังเดินหน้าต่อสู้ไม่หยุด
ที่สำคัญ สภาบริหารแห่งรัฐได้นิยามให้กองกำลังพิทักษ์ประชาชนและรัฐบาลเงาเป็นกลุ่มก่อการร้าย ทั้ง 2 กลุ่มนี้จึงไม่ได้เป็นคู่เจรจา ไม่มีการเชิญมาพูดคุยกัน
กระบวนการ“สันติภาพ”ในเมียนมา ที่แม้จะดูคืบหน้า แต่แท้จริงแล้ว อาจยังไปไม่ถึงไหน…