ThaiPublica > คอลัมน์ > มีอะไรใน พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฉบับใหม่?

มีอะไรใน พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฉบับใหม่?

26 พฤษภาคม 2022


พิเศษ เสตเสถียร

​พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 นั้น วุฒิสภาได้มีลงมติเห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎรไปตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 แต่เพิ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเอาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 จึงมีผลใช้เป็นกฎหมายในวันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัดฉบับใหม่นี้มีหลักใหญ่ใจความที่สำคัญก็คือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการประชุมโดยใช้วิธีการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ตลอดจนเรื่องที่เกี่ยวข้อง) ว่าต่อไปนี้การประชุมคณะกรรมการบริษัทก็ดี การประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทก็ดี สามารถใช้วิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ภายใต้เงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้

อันที่จริง ก่อนที่จะได้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้นั้น รัฐบาลก็ได้ตราพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 มาบังคับใช้ก่อนแล้ว ซึ่งในมาตรา 6 ของพระราชกำหนดได้บัญญัติไว้ว่า

“การประชุมตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุม นอกจากจะดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแต่ละฉบับแล้ว ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมจะกำหนดให้จัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และให้มีผลเช่นเดียวกับการประชุมตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”

และในมาตรา 11 ของพระราชกำหนดดังกล่าวก็ได้บัญญัติรับรองไว้ว่า

“ให้ถือว่าการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกำหนดนี้เป็นการประชุมโดยชอบด้วยกฎหมาย และห้ามมิให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกำหนดนี้เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่นใดเพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์”

ในปีที่ผ่านมาเราก็จะเห็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์กันอยู่มากมายหลายบริษัท

แต่ถึงกระนั้น ในพระราชกำหนดดังกล่าวซึ่งออกมาเป็นการด่วนเฉพาะหน้า โดยดูได้จากหมายเหตุท้ายพระราชกำหนดที่บอกไว้ว่า

“เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้”

ถึงแม้จะมีพระราชกำหนดที่รับรองถึงการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่าชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับได้นั้นก็ตาม ก็ยังมีเรื่องในรายละเอียดอีกหลายเรื่องที่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้พูดถึง และก็เป็นลักษณะของนักกฎหมายไทยคือถ้าไม่ได้เขียนไว้ชัดเจน ก็จะไม่มีใครยอมปฏิบัติ ไม่มีใครที่จะกล้าตีความหรือใช้กฎหมายในทางที่เป็นไปได้แต่ไม่ได้เขียนเอาไว้เลย เพราะผิดจากวิธีการที่ได้เรียนหรือสั่งสอนกันมา

ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 มาเพื่อบอกกันให้ชัดๆ (ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าชัดจริงหรือเปล่า) ว่าในเรื่องต่อไปนี้จะทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างไร

เรื่องแรกของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็คือ การประชุมคณะกรรมการ โดยในมาตรา 79 ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นดังนี้

“มาตรา 79 คณะกรรมการต้องประชุมอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกสามเดือน ณ ท้องที่อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทหรือจังหวัดใกล้เคียง เว้นแต่ข้อบังคับของบริษัทจะกำหนดให้มีการประชุม ณ ท้องที่อื่นในราชอาณาจักร

กรณีไม่มีข้อบังคับกำหนดห้ามไว้เป็นการเฉพาะ การประชุมคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งอาจดำเนินการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเป็นสถานที่จัดการประชุม”

สิ่งที่มาตรา 79 นี้ได้แก้ไขเพิ่มเติมก็คือ

1. ข้อความเดิมของมาตรา 79 ก็คือ “คณะกรรมการต้องประชุมอย่างน้อยสามเดือนต่อครั้ง” ได้แก้ไขใหม่เป็น “คณะกรรมการต้องประชุมอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกสามเดือน” สาระสำคัญนั้นยังคงเหมือนเดิม แต่ปรับถ้อยคำเล็กน้อย เพราะถ้อยคำของเดิมนั้นมีคนไปทักว่า การประชุมคณะกรรมการครั้งหนึ่ง ๆ อย่างน้อยจะต้องยาว 3 เดือน ถ้าแปลว่าอย่างนั้นก็คงจะต้องประชุมติดต่อกันไม่ได้ไปทำอย่างอื่น ก็เลยมีการแก้ไขใหม่เป็น “ประชุมอย่างน้อย 1 ครั้งทุก 3 เดือน”

2. ได้เพิ่มข้อความในวรรค 2 ว่า การประชุมคณะกรรมการอาจดำเนินการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่คณะกรรมการอีกทางหนึ่ง นอกเหนือไปจากเดิมที่ต้องประชุมด้วยการมาร่วมประชุมกันด้วยตัวบุคคลตัวเป็นๆ (ก่อนที่จะมีพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563) โดยถ้าจะประชุมกันผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็ต้องปฏิบัติตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

3. การประชุมคณะกรรมการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์นี้จะต้องเป็นกรณีที่ข้อบังคับกำหนดไม่ได้ห้ามไว้เป็นการเฉพาะ ผู้เขียนเองยังไม่เคยเห็นข้อบังคับของบริษัทมหาชนใดที่ห้ามไม่ให้มีการประชุมรูปแบบอื่น แต่การที่มีบทบัญญัติของมาตรา 79 นี้เขียนไว้ ก็สันนิษฐานว่าคงต้องมีบริษัทมหาชนที่มีการกำหนดไว้ในข้อบังคับว่าห้ามประชุมรูปแบบอื่น

4. โดยที่การประชุมต้องมีสถานที่ประชุม ซึ่งตามกฎหมายจะต้องเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทหรือที่จังหวัดใกล้เคียง ยกเว้นแต่ถ้ามีข้อบังคับของบริษัทกำหนดให้บริษัทสามารถประชุม ณ ท้องที่อื่นในราชอาณาจักรได้

คราวนี้เมื่อมีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็จะมีปัญหาว่าประชุม ณ ที่ใด เพราะตัวกรรมการคงอยู่ที่ต่างๆ กัน กฎหมายจึงบอกว่า ให้ถือว่าที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเป็นสถานที่จัดการประชุม

กรรมการที่เป็นชาวต่างประเทศของบริษัทก็คงจะดีใจ เพราะสามารถเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการของบริษัทได้โดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาแต่ประการใด

(ยังมีต่อในตอนที่ 2)