ThaiPublica > คอลัมน์ > มีอะไรใน พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฉบับใหม่?(2)

มีอะไรใน พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฉบับใหม่?(2)

4 มิถุนายน 2022


พิเศษ เสตเสถียร

ต่อจากตอนที่1: มีอะไรใน พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฉบับใหม่?

เรื่องถัดมาก็คือเรื่องผู้มีอำนาจเรียกประชุมคณะกรรมการ โดยได้แก้ไขมาตรา 81 เป็นว่า

“มาตรา 81 ประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุมคณะกรรมการ เมื่อมีเหตุอันสมควรหรือเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัท กรรมการตั้งแต่สองคนขึ้นไปจะร่วมกันร้องขอให้ประธานกรรมการเรียกประชุมคณะกรรมการได้ โดยต้องระบุเรื่องและเหตุผลที่จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาไปด้วย ในกรณีเช่นนี้ให้ประธานกรรมการเรียกและกำหนดวันประชุมภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ

ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่ดำเนินการตามวรรคสอง กรรมการซึ่งร้องขออาจร่วมกันเรียกและกำหนดวันประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องที่ร้องขอได้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง”

ผลของการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 81 นี้ก็คือ

(1) ผู้มีอำนาจเรียกประชุมคณะกรรมการก็คือ “ประธานกรรมการ” ซึ่งจะเรียกเมื่อใดก็ได้ กฎหมายปล่อยให้เป็นดุลพินิจของประธานกรรมการ นอกจากนี้ก็จะให้คนที่เป็น “กรรมการ” ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปก็สามารถที่จะเรียกประชุมคณะกรรมการได้ แต่จะต้องเรียกผ่านประธานกรรมการ จะเรียกเองยังไม่ได้ โดยกำหนดให้ประธานกรรมการกำหนดวันประชุมภายใน 14 วันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ

กฎหมายเดิมบัญญัติเอาไว้แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้ไม่มีความชัดเจนอยู่หลายประการเช่น ไม่ได้มีการกำหนดว่า กรรมการ 2 คนที่ขอเรียกประชุมนั้นต้องระบุมาว่าจะประชุมในเรื่องอะไร หรือกฎหมายกำหนดว่าให้ประธานกรรมการกำหนดวันประชุมภายใน 14 วัน อย่างนี้ประธานกรรมการที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่มีกรรมการร้องขอก็อาจจะกำหนดวันประชุมเป็นปีหน้าเลยก็ได้ เพราะถ้อยคำของกฎหมายก็บอกให้กำหนดวันประชุมเท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดว่าให้เรียกว่าใด และก็อาจจะมีคนหัวหมอตีความ(แบบปัญญาอ่อน)ว่า ถ้าประธานกรรมการกำหนดวันแล้วก็เสร็จสิ้นหน้าที่ ไม่จำเป็นต้องมีการประชุมแต่อย่างใด เป็นต้น ซึ่งก็จะเห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายเดิมนั้นไม่ชัดเจน และทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้

กฎหมายที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมใหม่จึงบัญญัติว่า กรรมการ 2 คนที่ขอเรียกประชุมนั้นต้องระบุเรื่องที่ขอเรียกประชุมนั้นด้วยว่าเรื่องอะไร พร้อมทั้งบอกเหตุผลที่จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาว่ามีความจำเป็นอย่างไร หรือข้อดีข้อเสียของเรื่องที่จะประชุมไปด้วย ไม่ใช่มาเรียกประชุมลอย ๆ

เมื่อกรรมการได้ระบุเรื่องมาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กฎหมายก็ให้ประธานกรรมการ “เรียก” และ “กำหนดวันประชุม” ภายใน 14 วันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ การแก้ไขเพิ่มเติมนี้เป็นการทำให้กฎหมายมีความชัดเจนขึ้น

(2) ในกฎหมายเดิมนั้น ก็ไม่ได้มีบทบัญญัติบอกเอาไว้ว่า ถ้าประธานกรรมการไม่เรียกประชุมให้ตามที่กรรมการร้องขอนั้น ผลจะเป็นอย่างไร? เหมือนกับปล่อยให้เป็นแดนสนธยาต่อไป

การแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้จึงได้เพิ่มรายละเอียดเข้ามาอีกว่า ถ้าหากประธานกรรมการไม่ดำเนินการเรียกประชุมให้ด้วยเหตุอันใดก็ตาม กรรมการซึ่งร้องขอก็อาจร่วมกันเรียกและกำหนดวันประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องที่ร้องขอนั้นได้ภายใน 14 วันนับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาที่ประธานกรรมการต้องเรียกประชุม

ในขณะเดียวกัน การแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ก็ได้เพิ่มมาตรา 81/1 เข้าไปอีกหนึ่งมาตราว่า

“ในกรณีที่ไม่มีประธานกรรมการไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้รองประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุมคณะกรรมการ ในกรณีที่ไม่มีรองประธานกรรมการไม่ว่าด้วยเหตุใด กรรมการตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจร่วมกันเรียกประชุมคณะกรรมการได้”

มาตรานี้ก็ได้เพิ่มเติมเข้ามาสำหรับกรณีที่บริษัทไม่มีประธานกรรมการด้วยเหตุใดๆ เช่น ประธานกรรมการถึงแก่กรรม หรือลาออกแล้วยังไม่ได้ตั้งประธานคนใหม่ หรือป่วยหนักจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ และ ฯลฯ เมื่อมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ว่ามา ถ้าบริษัทมีการแต่งตั้งรองประธานกรรมการ ก็ให้รองประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุมคณะกรรมการแทน แต่ถ้าบริษัทไม่ได้มีตำแหน่งนี้ ก็ให้กรรมการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปรวมกันเรียกประชุมคณะกรรมการได้ เป็นการแก้ไขข้อขัดข้องในทางปฏิบัติ

การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการเรื่องถัดมาคือเรื่องการส่งหนังสือนัดประชุม โดยได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 82 เป็นดังนี้

“ในการเรียกประชุมคณะกรรมการ ให้ส่งหนังสือนัดประชุมไปยังกรรมการไม่น้อยกว่าสามวันก่อนประชุม เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัทจะแจ้งการนัดประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใดและกำหนดวันประชุมให้เร็วกว่านั้นก็ได้”

(1) ตามธรรมดาในเรื่องของการประชุมที่เป็นทางการก็จะต้องมีการส่งหนังสือนัดประชุมเพื่อให้ผู้ที่จะต้องเข้าร่วมประชุมนั้นได้ทราบถึงเรื่องที่จะประชุม จะได้เตรียมตัวหาข้อมูล หรือมีข้อที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยประการใดก็นำมาถกกันในที่ประชุม แต่เดิมการส่งหนังสือนัดประชุมของคณะกรรมการ กฎหมายได้กำหนดให้ส่งไปยังกรรมการไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุม กฎหมายใหม่นี้ได้ลดระยะเวลาการส่งลงโดยให้ส่งไม่น้อยกว่า 3 วันก่อนประชุม(คำว่า “วัน” หายไปโดยไม่ทราบว่าด้วยเหตุอันใด)

(2) คณะกรรมการเป็นผู้บริหารจัดการบริษัท ส่วนที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นนั้นเป็นเพียงผู้กำกับดูแล การบริหารจัดการงานในบริษัทก็เปรียบเสมือนคณะรัฐมนตรีกับรัฐสภาคือ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารจัดการบ้านเมืองโดยตรง ส่วนรัฐสภาเป็นผู้กำกับดูแล ดังนั้น การประชุมคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการบริษัทในบางสถานการณ์ จึงมีความจำเป็นต้องกระทำด้วยความรวดเร็วเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์

คราวนี้นอกจากได้ลดระยะเวลาของการส่งหนังสือนัดประชุมเหลือเพียง 3 วันแล้ว ในกรณีที่จำเป็นรีบด่วนเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัท บริษัทก็จะแจ้งการนัดประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใดและกำหนดวันประชุมให้เร็วกว่า 3 วันก็ได้ อย่างเช่น ถ้ามีเหตุเช่น สมมุติว่าเกิดมีการลดค่าเงินบาทลง บริษัทมีเงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก คณะกรรมการต้องมาประชุมกันอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาของบริษัท กฎหมายที่แก้ไขใหม่ก็บอกว่าจะแจ้งการนัดประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์และส่งหนังสือนัดประชุมเป็นกระดาษเพราะจะต้องรีบมาประชุมกัน

การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติใหม่นี้ดูเหมือนว่า การเรียกประชุมคณะกรรมการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่จำเป็นรีบด่วนเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัทเท่านั้น ส่วนถ้าเป็นการประชุมตามปกติเช่น การประชุมประจำเดือน ก็จะเรียกประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้

(ยังมีต่อในตอนที่ 3)