ThaiPublica > คอลัมน์ > มีอะไรใน พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฉบับใหม่?(3)

มีอะไรใน พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฉบับใหม่?(3)

21 มิถุนายน 2022


พิเศษ เสตเสถียร

ในตอนท้ายของตอนที่ 2 ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายไว้ว่า

“การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติใหม่นี้ดูเหมือนว่า การเรียกประชุมคณะกรรมการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่จำเป็นรีบด่วนเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัทเท่านั้น ส่วนถ้าเป็นการประชุมตามปกติเช่น การประชุมประจำเดือน ก็จะเรียกประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้”

ความข้อนี้ก็อาจจะทำให้เกิดความสับสนแก่ท่านผู้อ่าน เพราะถึงแม้ในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน มาตรา 82 ที่แก้ไขใหม่จะกำหนดให้วิธีการเรียกประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะใช้ได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่จำเป็นรีบด่วนเพื่อรักษาสิทธิและประโยชน์ของบริษัทก็ตาม แต่ในมาตรา 8 ของพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ก็บัญญัติว่า

“การส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุม จะส่งโดยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ในการนี้ ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้องจัดเก็บสำเนาหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมไว้เป็นหลักฐาน โดยจะจัดเก็บในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้”

ก็คือในการประชุมปกติก็จะจัดส่งโดย “จดหมายอิเล็กทรอนิกส์”(เช่น อีเมล) ก็ได้ แต่ในกรณีเร่งด่วนจะแจ้งการนัดประชุมโดย “วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” (เช่น ทางโปรแกรม Line) หรือวิธีการอื่นใด(เช่น โทรศัพท์) ก็ได้ ดังนั้น ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเช่น เลขานุการบริษัทก็จะต้องระมัดระวังให้ดีนะครับ

ประชุมคณะกรรมการไปแล้ว ลำดับถัดมาก็เป็นเรื่องของการประชุมผู้ถือหุ้น

ตามปกติ เราคงนึกภาพการประชุมผู้ถือหุ้นออกว่า ต้องเป็นการประชุมที่มีผู้ถือหุ้นมาประชุมตั้งแต่หลายสิบจนถึงหลายร้อยคน ต้องมีการจัดเตรียมสถานที่ จัดให้มีที่คนเข้าลงทะเบียน ถ้ามีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมมาก ก็จะแยกเป็นลงทะเบียนโต๊ะ ๆ มีเจ้าหน้าที่มากมายมาต้อนรับและอำนวยความสะดวก จัดการให้ทุกอย่างเป็นไปโดยเรียบร้อย

ในระหว่างเวลาก่อนประชุมและตลอดเวลาการประชุม ก็จะมีจัดน้ำชากาแฟและของว่างไว้คอยรับรองผู้ถือหุ้น บางแห่งก็จะมีเลี้ยงข้าวเที่ยงหลังจากการประชุมให้ด้วย และก็มีอีกหลาย ๆ แห่งที่จะมีของชำร่วยเป็นที่ระลึกแก่ผู้ถือหุ้น บริษัทใดที่ไม่มีของชำร่วยก็อาจจะโดนผู้ถือหุ้นต่อว่า

เวลาประชุม คณะกรรมการก็จะนั่งบนเวทีท่ามกลางผู้ถือหุ้นที่มาประชุม มีเจ้าหน้าที่คอยส่งมาไมค์ให้ผู้ถือหุ้นที่จะประสงค์จะแสดงความคิดเห็น มีเจ้าหน้าที่รวบรวมบัตรลงคะแนนไปนับคะแนนในวาระต่าง ๆ และ ฯลฯ จนกว่าการประชุมเสร็จสิ้น นับเป็นเรื่องใหญ่พอดูของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

แต่พอเหตุการณ์ไม่ปกติ เกิดโรคไวรัสโควิด 19 ระบาดขึ้นมา จากที่ประชุมซึ่งมีผู้ถือหุ้นมาชุมนุมกันเป็นสิบเป็นร้อย ทุกอย่างก็หายวับไปกับตาเพราะต้องเปลี่ยนมาเป็นการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการพบกันทางจอภาพแทนเพื่อความปลอดภัยของทุกคน

ในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 4) จึงได้เพิ่มเติมข้อความเข้าไปเป็นวรรคสามของมาตรา 98 ว่า

“กรณีไม่มีข้อบังคับกำหนดห้ามไว้เป็นการเฉพาะ การประชุมผู้ถือหุ้นอาจดำเนินการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้”

(1) ดังนั้นในการประชุมผู้ถือหุ้น ก็อาจจะดำเนินการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะที่กำหนดในเรื่องนั้น ซึ่งในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น บทบัญญัติของพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 โดยในมาตรา 9 บัญญัติว่า

“ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้อง

(1) จัดให้ผู้ร่วมประชุมแสดงตนเพื่อร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนร่วมการประชุม

(2) จัดให้ผู้ร่วมประชุมสามารถลงคะแนนได้ ทั้งการลงคะแนนโดยเปิดเผยและการลงคะแนนลับ

(3) จัดทำรายงานการประชุมเป็นหนังสือ

(4) จัดให้มีการบันทึกเสียงหรือทั้งเสียงและภาพ แล้วแต่กรณี ของผู้ร่วมประชุมทุกคนตลอดระยะเวลาที่มีการประชุมในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่เป็นการประชุมลับ

(5) จัดเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ร่วมประชุมทุกคนไว้เป็นหลักฐาน

ข้อมูลตาม (4) และ (5) ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประชุม”

นอกจากนี้ ในมาตรา 9 ยังกำหนดว่า การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนดโดยประกาศอยู่ในราชกิจจานุเบกษาด้วย

ขณะเดียวกัน ก็ยังให้เพิ่มวรรคสามของมาตรา 101 คือ

“ในกรณีที่ได้จัดให้มีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 98 วรรคสาม ให้ถือว่าที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเป็นสถานที่จัดการประชุม”

การแก้ไขเพิ่มเติมในข้อนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับของการประชุมคณะกรรมการที่กล่าวมาแล้วคือ ในการประชุมต้องประชุมในท้องที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่เมื่อเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้เข้าประชุมอยู่คนละสถานที่กัน กฎหมายก็เลยให้ถือว่า ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทเป็นสถานที่จัดประชุม

คราวนี้ถ้าเป็นการเรียกประชุมโดยผู้ถือหุ้นเพราะบริษัทไม่ยอมเรียกให้ ในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 4) ก็ได้เพิ่มมาตรา 101/1 ว่า

“ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเรียกประชุมเองตามมาตรา 100 วรรคสอง ผู้ถือหุ้นที่เรียกประชุมอาจจัดส่งหนังสือนัดประชุมไปยังผู้ถือหุ้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ หากผู้ถือหุ้นนั้นได้แจ้งความประสงค์หรือให้ความยินยอมไว้แก่บริษัทหรือคณะกรรมการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7/1 แล้ว”

กล่าวคือ การจะส่งหนังสือนัดประชุมซึ่งเรียกประชุมโดยผู้ถือหุ้น ไม่ใช่บริษัท ก็อาจจะมีปัญหาว่าส่งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ มาตรา 101/1 นี้ก็มารับรองว่า สามารถส่งได้ถ้าหากผู้ถือหุ้นนั้นได้แจ้งความประสงค์หรือให้ความยินยอมไว้แล้วแก่บริษัทหรือคณะกรรมการของบริษัทตามมาตรา 7/1 (ส่วนมาตรา 7/1 ว่าไว้ว่าอย่างไรก็จะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง)

ในการประชุมผู้ถือหุ้นนั้น ตัวผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องมาด้วยตนเอง หากติดธุระอื่นใดไม่สามารถมาประชุมได้ก็สามารถแต่งตั้ง “ผู้รับมอบฉันทะ” ให้มาประชุมแทนได้ โดยการมอบฉันทะนี้ก็สามารถทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย โดยได้เพิ่มวรรคสามของมาตรา 102 เป็นข้อความว่า

“การมอบฉันทะตามวรรคหนึ่ง อาจดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แทนได้โดยต้องใช้วิธีการที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ว่าการมอบฉันทะนั้นได้ดำ เนินการโดยผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่นายทะเบียนกำหนด”

ในกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัดนั้นระบุไว้ว่า การมอบฉันทะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้มอบฉันทะ และมอบแก่บุคคลซึ่งผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทกำหนดไว้ ณ สถานที่ที่ประชุมก่อนผู้รับมอบฉันทะเข้าประชุม

หนังสือมอบฉันทะให้เป็นไปตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(1) จำนวนหุ้นที่ผู้มอบฉันทะถืออยู่

(2) ชื่อผู้รับมอบฉันทะ

(3) ครั้งที่ของการประชุมที่มอบฉันทะให้เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนน

ในวรรคสามของมาตรา 102 ที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่กำหนดว่า การมอบฉันทะโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต้องใช้ “วิธีการที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ว่าการมอบฉันทะนั้นได้ดำเนินการโดยผู้ถือหุ้น” ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น นายทะเบียนบริษัทมหาชน(คือกระทรวงพาณิชย์)จะเป็นผู้กำหนดต่อไป

อ่านต่อตอนที่ 4