ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สรรพสามิตแจงซื้อ “สารมาร์กเกอร์” เปลี่ยนเทคโนโลยี สกัดน้ำมันเถื่อน – ไม่ล็อกสเปค

สรรพสามิตแจงซื้อ “สารมาร์กเกอร์” เปลี่ยนเทคโนโลยี สกัดน้ำมันเถื่อน – ไม่ล็อกสเปค

26 กรกฎาคม 2022


สรรพสามิตแจงจัดซื้อ “สารมาร์กเกอร์” 2 แสนกิโลกรัม 120 ล้านบาท เหตุต้องการเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ สกัดน้ำมันเถื่อนทะลัก แทนของเดิมที่ใช้งานมานานกว่า 15 ปี ยันเปิดกว้าง-ไม่ได้ล็อกสเปค ยอมรับเครื่องตรวจรุ่นใหม่แพงกว่ารุ่นเก่า แต่สำคัญมีความแม่นยำสูงกว่า-ใช้งานง่าย-รู้ผลรวดเร็ว-ลดปัญหา Human Error-ไม่มีภาระในการเก็บรักษาสารเคมีที่ใช้ตรวจสอบ

ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว หลังจากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นำเสนอข่าวบริษัทตัวแทนจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ทำหนังสือร้องเรียนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน อธิบดีกรมบัญชีกลาง และอธิบดีกรมสรรพสามิต ขอให้ตรวจโครงการจัดซื้อสารมาร์กเกอร์ของกรมสรรพสามิตที่ใช้ผสมในน้ำมันดีเซล เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อนมาขายในประเทศนั้น แพงเกินไปหรือไม่ ปรากฏว่านายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้นำประเด็นปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อน และการจัดซื้อสารมาร์กเกอร์ของกรมสรรพสามิต ไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 อย่างดุเดือด ร้อนไปถึง ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิตคนใหม่ ที่เพิ่งจะเข้ามาบริหารงานที่กรมสรรพสามิตได้ไม่นาน ยังไม่ได้เข้าไปศึกษาในรายละเอียดของโครงการนี้มากนัก จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่ดูแลรับผิดชอบโครงการจัดซื้อสารมาร์กเกอร์ ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวของไทยพับลิก้า

  • โวย! สรรพสามิต ล็อก TOR ซื้อ “สารมาร์กเกอร์” ป้องกันน้ำมันเถื่อน แพง
  • โดยเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต ชี้แจงถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า ปัญหาการลักลอบนำเข้าและค้าน้ำมันเถื่อนเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ก่อให้เกิดผลเสียระบบเศรษฐกิจมากมาย นอกจากจะทำให้รัฐสูญเสียเงินรายได้ที่จะนำมาใช้พัฒนาประเทศเป็นจำนวนมหาศาลแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผู้ค้าน้ำมันที่สุจริต เสียภาษีถูกต้อง รวมถึงผู้บริโภคต้องใช้น้ำมันที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์

    ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดขบวนการลักลอบขนน้ำมันเถื่อนเข้ามาขายในประเทศ ก็คือเรื่อง “ภาษี” ซึ่งมีผลทำให้เกิดส่วนต่าง ระหว่างราคาน้ำมันที่เสียภาษีถูกต้องกับน้ำมันเถื่อน โดยเฉพาะช่วงที่รัฐบาลเก็บภาษีน้ำมันในอัตราที่สูง เมื่อรวมกับเงินนำส่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้ว น้ำมันเถื่อนจะมีราคาถูกกว่าน้ำมันที่เสียภาษีถูกต้องลิตรละ 6-8 บาทต่อลิตร ตรงนี้กลายเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการลักลอบขนน้ำมันเถื่อนเข้ามาขายในประเทศ ทั้งทางบกและทางทะเลสารพัดรูปแบบ

    ยกตัวอย่าง ในพื้นที่ภาคใต้ ก็มีการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันถูกกว่าประเทศไทย ส่วนภาคอื่น ๆที่มีเขตแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะใช้วิธีแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สรรพสามิตหรือศุลกากรว่า เป็นน้ำมันส่งออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน ขอยกเว้นภาษี และเงินนำส่งกองทุนฯ ปรากฏว่าไม่ได้ส่งน้ำมันออกไปขายในต่างประเทศจริง แต่แอบนำกลับเข้ามาขายในประเทศ ซึ่งรวมไปถึงการขนสินค้าผ่านแดนไทยไปยังประเทศที่ 3 ด้วย ส่วนน้ำมันเขียวก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่รัฐบาลจัดน้ำมันดีเซลคุณภาพดีจากโรงกลั่นน้ำมัน เติมสารสีเขียวลงไปในน้ำมันส่งไปให้ “เรือสถานีบริการ” (Tanker) ขายให้กับเรือประมงในเขตต่อเนื่อง 12 ไมล์ทะเล ในราคาถูก เพราะได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต ปรากฏว่ามีการลักลอบนำน้ำมันเขียวขึ้นมาขายบนชายฝั่งหรือตามเกาะต่างๆ

    ดังนั้น เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันส่งออกที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต กลับเข้ามาขายในประเทศ กรมสรรพสามิตจึงใช้สารมาร์กเกอร์เติมลงไปในน้ำมันดีเซลที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ เพื่อทำเครื่องหมายแยกแยะระหว่างน้ำมันดีเซลที่ขายในประเทศกับน้ำมันที่ดีเซลที่ส่งออก (ปลอดภาษี) หลังจากเติมสารมาร์กเกอร์ลงไปในน้ำมันดีเซลที่ส่งออกไปขายต่างประเทศแล้ว กรมสรรพสามิตก็จะจัดเจ้าหน้าที่สรรพสามิตออกไปสุ่มตรวจตามปั้มน้ำมันหรือรถขนส่งน้ำมัน ที่มีเหตุอันควรสงสัย โดยใช้เครื่องตรวจหาสารมาร์กเกอร์ หากตรวจสอบพบผู้ประกอบการรายใดขายน้ำมันดีเซลที่มีสารมาร์กเกอร์เจือปนอยู่ ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

    ตอบคำถามที่ว่า ทำไมต้องเติมสารมาร์กเกอร์ (Marker) ลงในน้ำมันดีเซล เหตุผลก็เพื่อใช้แยกแยะระหว่างน้ำมันที่เสียภาษีถูกต้องกับน้ำมันส่งออกที่ปลอดภาระภาษี โดยมีหลักการง่ายคือ เติมสารมาร์กเกอร์ลงไปในน้ำมันที่มาขอยกเว้นภาษี เพื่อส่งออกแล้ว ก็มีเจ้าหน้าที่นำเครื่องมือไปสุ่มตรวจหาปริมาณสารมารค์เกอร์ เพื่อทดสอบดูว่ามีการนำน้ำมันส่งออกกลับเข้ามาขายภายในประเทศหรือไม่

    คราวนี้มาดูเทคโนโลยีที่หลายประเทศทั่วโลก นำมามาใช้ป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อน หลัก ๆ จะมีอยู่ 4 วิธี คือ 1. ตักน้ำมันตัวอย่างนำมาเทียบดูสีของน้ำมัน 2. UV Technology ตักน้ำมันตัวอย่างมาเติมสาร Reagents แล้วนำเข้าเครื่องตรวจวัดปริมาณสารมาร์กเกอร์ 3. Fluorescence Technology ตักน้ำมันตัวอย่างใส่เข้าเครื่องตรวจวัดปริมาณสารมาร์กเกอร์เลย โดยไม่ต้องเติมสารเคมีใดๆ และ 4. นำน้ำมันตัวอย่างมาตรวจหา DNA ของน้ำมันในห้องปฏิบัติการ วิธีนี้เป็นเทคนิคขั้นสูงที่มีความยุ่งยาก ไม่สะดวกในการนำไปใช้ทดสอบในภาคสนาม

    ในอดีตที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตมีการใช้เทคโนโลยีในการตรวจวัดปริมาณสารมาร์กเกอร์ที่เติมลงในน้ำมันดีเซล หรือที่เรียกว่า “UV Technology” ซึ่งนำมาใช้งานตั้งแต่ปี 2550 โดยกำหนดให้เติมสารมาร์กเกอร์ลงในน้ำมันดีเซลที่มาขอยกเว้นภาษี เพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศในปริมาณ 40 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือ “40 PPM”

    หลังจากเติมสารมาร์กเกอร์ลงในน้ำมันดีเซลสำหรับส่งออกแล้ว ก็จะจัดชุดเจ้าหน้าที่สรรพสามิตออกไปสุ่มตรวจสอบ โดยมีขั้นตอนหรือวิธีการตรวจหาปริมาณสารมาร์กเกอร์ที่ปนอยู่ในน้ำมัน ดังนี้

      1. การเก็บตัวอย่างน้ำมัน นำมาใส่ในภาชนะขวดทึบแสง
      2. นำตัวอย่างน้ำมันมาเทใส่ขวด เติมสาร Blanket แล้วเขย่า รอจนไม่มีฟอง แล้วเข้าเครื่องวัด เพื่อปรับค่าเครื่องมือวัด
      3. เติมสาร Reagent ลงไป แล้วเขย่า รอจนไม่มีฟอง
      4.ใส่เครื่องตรวจวัดสารมาร์กเกอร์

    ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตใช้เทคนิค UV Technology อย่างต่อเนื่อง ก็พบว่าวิธีนี้มีข้อจำกัดประการแรก การเก็บรักษาสารเคมีที่ใช้ในการทดสอบ ซึ่งมีอายุการใช้งานแค่ 6 เดือน, ประการที่ 2 ขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการตรวจหาสารมาร์กเกอร์มีหลายขั้นตอน ยุ่งยาก จึงเป็นความเสี่ยงในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจเกิดข้อผิดพลาดในการตรวจหาปริมาณสารมาร์กเกอร์ หรือที่เรียกว่า “Human Error” ขึ้นได้ และประการที่ 3 มีการกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนในการตรวจวัดสารมาร์กเกอร์เอาไว้ค่อนข้างสูงประมาณ ± 20% ปัจจุบันมีการเติมสารมาร์กเกอร์ลงไปในน้ำมันดีเซล 40 กิโลกรัมต่อน้ำมัน 1 ล้านลิตร หรือ 40 PPM ถึงจะวัดค่าของมันได้

    เมื่อพบปัญหาข้อจำกัดในการใช้งาน อธิบดีกรมสรรพสามิตคนเก่า ก็มีดำริว่า มีวิธีที่ใช้ในการป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อนที่ง่ายและสะดวกกว่านี้หรือไม่ จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตไปศึกษา พบว่าทั่วโลกมีการนำเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า “Fluorescence Technology” มาใช้ป้องกันน้ำมันเถื่อนในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, อังกฤษ, เยอรมนี, อิตาลี, เนเธอแลนด์ , โปรตุเกส, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, จีน และสิงค์โปร์ เป็นต้น

    ส่วนขั้นตอนการใช้งานของ Fluorescence Technology ก็ไม่ยุ่งยากมากนัก โดยการเติมสารมาร์กเกอร์ลงไปในน้ำมันส่งออกในปริมาณแค่ 20 PPM หรือ 20 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น จากนั้นในการตรวจสอบหาสารมาร์กเกอร์ที่ผสมอยู่ในน้ำมัน ก็ใช้วิธีการเก็บตัวอย่างน้ำมันเทใส่ขวด และนำเข้าเครื่องตรวจหาสารมาร์กเกอร์ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเติมสารเคมีใดๆก่อนนำเข้าเครื่อง ซึ่งวิธีนี้มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องเก็บรักษาสารเคมีที่ใช้ในการทดสอบ ลดความเสี่ยงเรื่อง Human Error และที่สำคัญมีความแม่นยำสูงกว่า โดยกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนเอาไว้แค่ ± 5% เท่านั้น

    จากนั้นกรมสรรพสามิตได้ดำเนินการจัดซื้อสารมาร์กเกอร์ ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของภาครัฐ 2560 ทั้งการกำหนดราคากลาง เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ และออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการเข้า ประกวดราคาซื้อสารมาร์กเกอร์ 200,000 ตัน ด้วยวิธการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) กำหนดให้ผู้ประมูลยื่นข้อเสนอและราคาผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นการประมูลที่เปิดกว้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาผลการประกวดราคา ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ

    หากเปรียบเทียบโครงการจัดซื้อสารมาร์กเกอร์ในปีงบประมาณ 2563 กับปีงบประมาณ 2565 จะเห็นว่าผลการจัดซื้อสารมาร์กเกอร์ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดิมนั้น กำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องจัดหาสารมาร์กเกอร์ให้กรมสรรพสามิต 450,000 กิโลกรัม ภายใต้วงเงินงบประมาณ 144 ล้านบาท สามารถนำไปใช้ผสมหรือเติมลงในน้ำมันดีเซลได้ 11,250 ล้านลิตร ส่วนในปีงบประมาณ 2565 กำหนดให้ผู้ชนะจัดหาสารมาร์กเกอร์ให้กรมสรรพสามิต 200,000 กิโลกรัม วงเงินงบประมาณ 120 ล้านบาท สามารถนำไปใช้เติมลงในน้ำมันดีเซลได้ 10,000 ล้านลิตร

    จากภาพที่นำมาแสดงจะเห็นว่า ปริมาณสารมาร์กเกอร์ที่ใช้เติมลงในน้ำมันดีเซลลดลงไป 250,000 ลิตร ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อก็ลดลง 24 ล้านบาท และปริมาณน้ำมันดีเซลที่ผ่านการผสมสารมาร์กเกอร์ลดลง 1,250 ล้านลิตร หากไปดูราคากลางครั้งสุดท้ายในปีงบประมาณ 2563 ที่มีการเปิดประมูลและได้ผู้ชนะด้วย พบราคากลางเฉลี่ยอยู่ที่ 320 บาท/กิโลกรัม ส่วนราคากลางของปีงบประมาณ 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 600 บาท/กิโลกรัม จะเห็นว่าราคาเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคากลางเฉลี่ยต่อหน่วยของเทคโนโลยีแบบใหม่แพงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากราคาตัวเครื่องตรวจวัดปริมาณสารมาร์กเกอร์รุ่นใหม่แพงกว่าเครื่องรุ่นเก่ามาก จริงๆตัวสารมาร์กเกอร์ราคาไม่แพง แต่แพงตรงที่เครื่องตรวจวัดปริมาณสารมาร์กเกอร์

    ถามต่อว่าทำไมกรมสรรพสามิตปรับลดจำนวนเครื่องตรวจวัดปริมาณสารมาร์กเกอร์ จาก 500 เครื่อง เหลือ 180 เครื่อง ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวนี้ต้องนำไปจัดสรรให้กับเจ้าหน้าที่สรรพสามิต ใช้ตรวจสอบน้ำมันเถื่อน

    กรมสรรพสามิต ชี้แจงว่า กรมสรรพสามิตมีสำนักงานพื้นที่ทั้งหมด 87 พื้นที่ สรรพสามิตภาคอีก 10 แห่ง รวม 97 แห่ง แค่ 180 เครื่อง เฉลี่ยแค่หน่วยละ 2 เครื่อง ก็เพียงพอแล้ว บางจังหวัด บางพื้นที่ ไม่มีรถบรรทุกขนน้ำมันข้ามผ่านแดนเลย ตามนโยบายของกรมสรรพสามิต เราจะเน้นส่งเครื่องตรวจวัดปริมาณสารมาร์กเกอร์ไปให้พื้นที่ที่มีการขออนุญาตส่งออกน้ำมันหรือตามด่านศุลกากร เช่น ด่านศุลกากรเชียงราย, เชียงของ, หนองคาย, น่าน, นครพนม, มุกดาหาร, อุบลราชธานี, สระแก้วหรือภาคใต้ เป็นหลัก เราจะเน้นส่งเครื่องมือตรวจสอบน้ำมันเถื่อนไปให้มากเป็นพิเศษ แค่ 180 เครื่องก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ถึง 500 เครื่อง

    ตรงนี้ก็ต้องถามย้อนกลับไปว่า ทำไมการประมูลในอดีตมีการกำหนดสเปคเอาไว้ถึง 500 เครื่อง ทั้งที่ ใช้จริงไม่ถึง ตรงนี้ถือเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายอื่น หรือไม่?

    ถามว่า การจัดซื้อสารมาร์กเกอร์ครั้งนี้ ใน TOR ข้อ 1.4 กำหนดว่า “การใช้เครื่องตรวจวัดปริมาณสารมาร์กเกอร์ (Marker) ต้องไม่เติมสารเคมีที่ใช้ในการวิเคราะห์ทดลอง และการสังเคราะห์ทางเคมีใดๆในตัวอย่างน้ำมันที่ใช้ในการทดสอบ” ตรงนี้ถือเป็นการล็อกสเปคหรือไม่

    ประเด็นนี้ กรมสรรพสามิตยืนยันว่า ไม่ได้มีการล็อกสเปคแต่อย่างใด ผู้ประกอบการรายใดจะไปหาเทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจสอบสารมาร์กเกอร์ประเภทนี้มาขายกรมสรรพสามิตก็ได้ กรมสรรพสามิตเปิดกว้าง แต่วัตถุประสงค์ของการจัดซื้อสารมาร์กเกอร์ครั้งนี้ กรมสรรพสามิตคำนึงถึงความต้องการใช้งานของทางราชการ และประสิทธิภาพในการป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อน เป็นหัวใจสำคัญ ใครจะไปหาเทคโนโลยีแบบที่ไม่ต้องไปเติมสารเคมีมาขายกรมสรรพสามิตก็ได้

    ถามว่าทำไมการประมูลครั้งนี้ไม่มีผู้ประกอบกิจการเคมีภัณฑ์ยื่นซองประกวดราคา แต่กลับเป็นบริษัทผลิตแสตมป์สุรายาสูบ กับผู้ประกอบการไอที เข้ายื่นข้อเสนอ กรมสรรพสามิต ชี้แจงว่า งานนี้ไม่ใช่งานจ้าง ซึ่งจะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ทางด้านเทคนิค แต่เป็นงานซื้อของ ผู้ประกอบการรายไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบกิจการด้านเคมีภัณฑ์เท่านั้น แต่ที่สำคัญต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ผลิตแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายเทคโนโลยีแบบใหม่ เพื่อนำมาใช้ตรวจสอบน้ำมันเถื่อน หากชนะประมูลก็ต้องไปนำเครื่องจากผู้ผลิตมาส่งมอบให้กรมสรรพสามิต พร้อมกับจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาฝึกอบรมการใช้เครื่องมือให้กับเจ้าหน้าที่สรรพสามิต หากส่งมอบงานล่าช้าก็ถูกปรับ ทำไม่ได้ก็ยึดเงินประกัน

    “ขอย้ำว่างานนี้เป็นการซื้อของ ไม่ได้จ้างมาทำงาน ถ้าจ้างมาทำงานแล้ว กรมสรรพสามิตไปกำหนดสเปคว่าห้ามเติมสารเคมีใดๆในการตรวจสอบน้ำมันเถื่อน กรณีแบบนี้ถือว่าเป็นการกีดกัน ไม่ให้มีการจ้างผู้ประกอบการบางรายเข้ามาทำงาน แต่กรณีนี้เป็นการซื้อของ ยกตัวอย่าง ซื้อคอมพิวเตอร์หรือซื้อสีทาอาคาร มีตัวแทนจำหน่ายอยู่หลายราย หลายยี่ห้อ ซึ่งกรมสรรพสามิตอาจไปซื้อจากผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายรายใดก็ได้ แต่ขอให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการใช้งานของทางราชการ เช่น การใช้งานไม่ยุ่งยาก สะดวกสบาย ไม่ต้องเติมสารเคมีใดๆในการตรวจสอบ ลดข้อผิดพลาดด้านของคน ตัดปัญหาในการเก็บรักษาสารเคมีที่ใช้ทดสอบ ซึ่งมีอายุแค่ 6 เดือน, ส่วนสารมาร์กเกอร์ที่ใช้ผสมลงในน้ำมันมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 3 ปี เป็นต้น ส่วนที่เหลือแข่งกันที่ประสิทธิภาพของสินค้า และราคา ไม่ได้ล็อกสเปคแต่อย่างใด”

    ส่วนคำถามที่ว่าทำไมการประมูลซื้อสารมาร์กเกอร์ในปีงบประมาณ 2565 ใช้เจ้าหน้าที่คนเดียวกำหนดราคากลาง ส่วนการประมูลในปีงบประมาณ 2563 ใช้รูปแบบของคณะกรรมการกำหนดราคากลาง กรมสรรพสามิต ชี้แจงว่า ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของกรมบัญชีกลางนั้น กรมสรรพสามิตจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่คนไหนไปสืบราคาจากท้องตลาดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นคณะกรรมการ ซึ่งเจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่ได้รับมอบหมายก็ไปสอบราคามาจาก 3 บริษัท ไม่ได้กำหนดราคากลาวขึ้นมาเอง บางบริษัทที่ไปสอบถามแล้ว ก็ไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งเป็นสิทธิของเขา หลังจากได้ราคาจาก 3 บริษัทมาแล้ว ก็นำมาหาค่าเฉลี่ย และเปรียบเทียบกับราคาที่กรมสรรพสามิตเคยซื้อย้อนหลังกลับไป 2 ปี ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ มิฉะนั้น กรมบัญชีกลางก็คงไม่อนุญาตให้กรมสรรพสามิตออกประกาศเชิญชวนประกวดราคา

    สรุปการจัดซื้อสารมาร์กเกอร์ครั้งนี้ กรมสรรพสามิตต้องการเปลี่ยนเทคโนโลยีในการป้องกันน้ำมันเถื่อนใหม่ทดแทนของเก่าที่ใช้มานานกว่า 15 ปี ถ้าพิจารณาต้นทุนต่อหน่วยยอมรับว่าตัวเครื่องตรวจวัดแบบใหม่แพงกว่าของเดิม แต่ได้เทคโนโลยีใหม่ที่มีความแม่นยำสูงกว่า โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนแค่ ± 5% ขณะที่เทคโนโลยีแบบเดิมมีค่าความคลาดเคลื่อน ± 20% รวมทั้งสารมาร์กเกอร์ที่จะนำไปผสมในน้ำมันลดลงไปครึ่งหนึ่ง, ลดข้อผิดพลาดของเจ้าหน้าที่, ไม่มีภาระในการเก็บรักษาสารเคมีที่ใช้ในการตรวจสอบ, สะดวกรวดเร็ว ใช้งานง่าย เพียงแค่ตักน้ำมันตัวอย่างใส่เครื่องตรวจสอบรู้ผลทันที…