ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โวย! สรรพสามิต ล็อก TOR ซื้อ “สารมาร์คเกอร์” ป้องกันน้ำมันเถื่อน แพง

โวย! สรรพสามิต ล็อก TOR ซื้อ “สารมาร์คเกอร์” ป้องกันน้ำมันเถื่อน แพง

21 กรกฎาคม 2022


ร้องประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน-อธิบดีบัญชีกลาง สอบปมจัดซื้อ “สารมาร์กเกอร์” 200,000 กิโลกรัม ชำแหละ TOR กำหนดสเปค – ห้ามเติมสารเคมีที่ใช้ตรวจสอบน้ำมันเถื่อน สกัดคู่แข่ง? อีกทั้งยังปรับลดปริมาณความเข้มข้นของสารมาร์กเกอร์ที่ใช้เติมในน้ำมันลง 50% – ลดจำนวนเครื่องที่เจ้าหน้าที่ใช้ตรวจสอบน้ำมันเถื่อน จากไม่น้อยกว่า 500 เครื่อง เหลือไม่น้อยกว่า 180 เครื่อง แต่ปรับราคากลางขึ้น 2 เท่าตัว จากกิโลกรัมละ 285 บาท เพิ่มเป็น 600 บาท ถามกรมสรรพสามิตซื้อแพงหรือไม่?

หลังจากที่กรมสรรพสามิตออกประกาศเชิญชวน ภาคเอกชนเข้าร่วมประกวดราคาจัดซื้อสารมาร์กเกอร์ (Marker) ประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 200,000 กิโลกรัม ด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยกำหนดราคากลางเอาไว้ 120 ล้านบาท ซึ่งสารดังกล่าวนี้ใช้สำหรับเติมลงในน้ำมันที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ, ขายในเขตปลอดอากร, เรือประมง และเรือบรรทุกสินค้าขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอสส์ขึ้นไป ที่เดินทางออกไปนอกประเทศ โดยน้ำมันที่ขายให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวนี้จะได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต และเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันที่ได้รับยกเว้นภาษีกลับเข้ามาขายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่เสียภาษีถูกต้อง จึงมีการนำสารมาร์กเกอร์ลงในน้ำมันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมาเป็นเวลากว่า 30 ปี

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจเคมีภัณฑ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 กรมสรรพสามิตได้ออกประกาศเชิญชวน ประกวดราคาซื้อสารมาร์กเกอร์ 200,000 ตัน กำหนดให้ผู้ประมูลงานนี้ยื่นข้อเสนอและราคาผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ปรากฏว่ามี บริษัท เอส.เอ็น.บี.ยูไนเต็ด เคมีคอล จำกัด ซึ่งในอดีตเคยเป็นคู่สัญญากับกรมสรรพสามิตในการจัดหาสารมาร์กเกอร์ และเครื่องตรวจวัดปริมาณสารมาร์กเกอร์ที่ผสมในน้ำมันมานานกว่า 10 ปี ทำหนังสือร้องเรียนถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน, อธิบดีกรมบัญชีกลาง และอธิบดีกรมสรรพสามิต โดยขอให้ตรวจสอบ กรณีที่กรมสรรพสามิตกำหนดเงื่อนไขใน TOR หน้า 12 ข้อ 1.4 ที่ระบุว่า “การใช้เครื่องตรวจวัดประมาณสารมาร์กเกอร์ (marker) ต้องไม่เติมสารเคมีที่ใช้ในการวิเคราะห์ทดลองและการสังเคราะห์ทางเคมีใดๆ ในตัวอย่างน้ำมันที่ใช้ในการทดสอบ” ทั้งที่บริษัท เอส.เอ็น.บี.ฯ ได้มีการทำหนังสือทักท้วงกรมสรรพสามิตในช่วงที่เปิดให้ผู้ประกอบการแสดงความคิดเห็นหรือวิจารณ์ TOR ถึง 2 ครั้ง แต่กรมสรรพสามิตยังคงยืนยันที่จะดำเนินการตามข้อกำหนดเดิม ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้ประกอบกิจการด้านเคมีภัณฑ์หลายรายไม่สามารถเข้าร่วมประกวดราคาครั้งนี้ได้ เพราะต้องใช้สารเคมีเติมลงในตัวอย่างน้ำมัน ซึ่งปกติจะมี 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรก เติมสารเคมีลงไปในน้ำมันตัวอย่าง เพื่อลดความขุ่นมัวหรือสารปนเปื้อนต่างๆ จากนั้นถึงจะเติมสารเคมีอีกชนิดหนึ่งเข้าไปทำปฎิกริยาโดยตรง (selective) กับสารมาร์กเกอร์ที่เติมลงในน้ำมันส่งออก เป็นขั้นตอนที่ 2 ก่อนที่จะนำตัวอย่างน้ำมันเข้าเครื่องทดสอบ

“ถามว่าการที่ TOR กำหนดห้ามเติมสารเคมีใดๆ ลงในน้ำมันตัวอย่างนี้ ถือเป็นการกีดกันหรือไม่เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการบางรายได้เข้าร่วมประกวดราคา ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของรัฐหรือไม่? และทำไมเปิดโอกาสให้เข้าแข่งขันแล้ววัดกันที่ประสิทธิภาพ ทั้งทดสอบความแม่นยำ และระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจหาสารมาร์กเกอร์ ใครดีกว่า เร็วกว่า เป็นผู้ชนะ” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวในวงการธุรกิจเคมีภัณฑ์กล่าวต่อว่า ล่าสุดทราบข่าวเป็นการภายในว่า มีบริษัทยื่นซองประกวดราคาให้คณะกรรมการคัดเลือกของกรมสรรพสามิตพิจารณาจำนวน 2 ราย โดยบริษัทแรกประกอบธุรกิจรับจ้างพิมพ์แสตมป์ให้กับกรมสรรพสามิต ส่วนบริษัทที่ 2 ประกอบธุรกิจด้านไอที ขณะที่บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเคมีภัณฑ์ หรือเคยจำหน่ายสารมาร์กเกอร์ให้กับกรมสรรพสามิต ไม่เข้าร่วมประมูลงานนี้

นอกจากนี้ ทางบริษัทที่ร้องขอความเป็นธรรมกับประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และอธิบดีกรมบัญชีกลางในฐานะที่กำกับดูการการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การประมูลจัดหาสารมาร์กเกอร์ของกรมสรรพสามิตในปีนี้ มีการปรับลดสเปคลงหลายรายการ แต่กลับตั้งราคากลางไว้สูงปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่าตัว มีประเด็นที่สำคัญๆ ดังนี้

1. ปรับลดปริมาณความเข้มข้นของสารมาร์กเกอร์ลง 50% จากการประมูลในปีที่ผ่านๆ มา ใน TOR เดิมจะกำหนดให้ใช้สารมาร์กเกอร์เติมลงในน้ำมันส่งออก หรือน้ำมันเขียวในปริมาณ 40 PPM แต่ TOR ของปีงบประมาณ 2565 ปรับลดปริมาณความเข้มข้นลงเหลือ 20 PPM หมายความว่า TOR เดิมเคยกำหนดให้เติมสารมาร์กเกอร์ในอัตราส่วน 40 กิโลกรัมต่อปริมาณน้ำมัน 1 ล้านลิตร แต่ TOR ฉบับใหม่กำหนดให้เติมสารมาร์กเกอร์ลงในน้ำมันแค่ 20 กิโลกรัมต่อปริมาณน้ำมัน 1 ล้านลิตร ซึ่งการปรับลดปริมาณสารมาร์กเกอร์ที่ใช้เติมลงในน้ำมันส่งออกน้อยลง อาจส่งผลทำให้ตรวจสอบน้ำมันเถื่อนมีประสิทธิภาพลดลงและทำได้ยากขึ้น

2. ลดจำนวนเครื่องที่เจ้าหน้าที่ใช้ตรวจหาปริมาณสารมาร์กเกอร์ที่เติมลงในน้ำมัน โดยการประมูลในปีที่ผ่านมา TOR เดิมกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องเตรียมเครื่องตรวจวัดปริมาณมาร์กเกอร์เอาไว้ไม่น้อยกว่า 500 เครื่อง แต่การจัดซื้อสารมาร์กเกอร์ในปีนี้มีการปรับลดจำนวนเครื่องที่ใช้ตรวจวัดสารมาร์กเกอร์ลงมาเหลือไม่น้อยกว่า 180 เครื่อง โดยเครื่องตรวจหาสารมาร์กเกอร์จะเป็นอุปกรณ์ที่เจ้าหน้าที่สรรพสามิตใช้ในการตรวจวัดปริมาณสารมาร์กเกอร์ที่เติมลงในน้ำมันส่งออกหรือน้ำมันเขียว ซึ่งใช้ประจำการอยู่ในห้องปฏิบัติการของสำนักงานสรรพสามิตทั้ง 10 ภาคและที่กรมสรรพสามิต รวมทั้งใช้ในภาคสนามสามารถเคลื่อนย้ายได้

3. กำหนดราคากลางในการจัดซื้อสารมาร์กเกอร์เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว โดยการจัดซื้อสารมาร์กเกอร์ในปีที่ผ่านมา TOR เดิมกำหนดราคากลาง ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ไว้ที่ 129.11 ล้านบาท ดูเหมือนแพง แต่ถ้าเทียบราคาต่อหน่วยแล้ว ตกกิโลกรัมละ 285.50 บาท ส่วน TOR ฉบับใหม่ กำหนดราคากลาง ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นเงิน 120 ล้านบาท หากเทียบราคาต่อหน่วยจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 600 บาท แพงกว่าปีที่ผ่านมา 2 เท่าตัว ส่วนการกำหนดราคากลาง TOR เดิมใช้รูปแบบของคณะกรรมการ แต่ TOR ใหม่กำหนดราคากลางในรูปแบบของบุคคล

นอกจากนี้ ในข้อกำหนดของ TOR ฉบับใหม่ ไม่ได้กำหนดให้มีการทดสอบกรณีที่น้ำมันดีเซลที่ส่งออกมีการปนเปื้อนน้ำมันเตา ตามปกติของการดำเนินธุรกิจขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีการใช้เรือหรือรถบรรทุกน้ำมันคันเดียวกันขนถ่ายน้ำมันหลายชนิดสลับไปมา ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจมีน้ำมันเตาเจือปนอยู่ในน้ำมันดีเซล เมื่อใช้เครื่องตรวจวัดอาจให้ผลเช่นเดียวกับน้ำมันที่เติมสารมาร์กเกอร์ ซึ่งในอดีตกรมสรรพสามิตเคยมีปัญหาข้อพิพาทกับผู้ประกอบการขนส่งน้ำมันมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้น คณะกรรมการยกร่าง TOR ของกรมสรรพสามิตในอดีต จึงกำหนดให้มีการทดสอบเรื่องการปนเปื้อนของน้ำมันเตาไว้เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาข้อพิพาทกับเอกชน การที่บริษัท เอส.เอ็น.บี.ฯ ไปยื่นหนังสือร้องเรียนครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กระบวนการจัดซื้อสารมาร์กเกอร์มีความโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทางราชการ

  • “ของเถื่อน” ทะลัก – ลุยจับ “ดีเซล-บุหรี่” หนีภาษี