ThaiPublica > เกาะกระแส > สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย : Future Together การศึกษาเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน

สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย : Future Together การศึกษาเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน

18 มิถุนายน 2022


สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้จัดงานสัมมนา “สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย” ในวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ในโอกาสที่ก้าวสู่ปีที่ 12 โดยมี ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ และเสวนาหัวข้อ “Future Together” โดยมีวิทยากร นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP รองประธานกรรมการ หอการค้าการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนการศึกษา หอการค้าไทย, ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, นายโจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการอำนวยการ บริษัท Strategy 613 จำกัด และ ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทลิสเซินฟิลด์ (Listen Field Inc.)

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP และรองประธานกรรมการ หอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา หอการค้าไทย

  • “เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าแบงก์ชาติ แนะสร้าง 5 ภูมิคุ้มกันประเทศไทย
  • สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย: Future Together อนาคตเกษตรกรไทยต้อง “Paradigm Shift”
  • สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย: Future Together ต้อง “รื้อและล้างไพ่” ทำใหม่ที่ไม่ใช่แบบเดิม
  • สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย : Future Together แบงก์รัฐต้องก้าวออกจากกรอบ ไปสู่ “Beyond Banking”
  • นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP และรองประธานกรรมการ หอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา หอการค้าไทย ผู้ที่เป็นเบื้องหลังให้กับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง รวมทั้งให้การสนับสนุนเรื่องการศึกษามาโดยตลอด ได้มาแบ่งปันเรื่องราวการสร้างคน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวไปด้วยกันของทุกคนในสังคมไทย Future Together

    “การศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคน ตั้งแต่ตัวเด็ก พ่อแม่ คุณครู โรงเรียน ชุมชน ภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชน ที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพราะเป็นคนใช้ทรัพยากรมนุษย์ และเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาการศึกษาโดยตรง”

    ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากำลังคน เพื่อตอบโจทย์โลกในอนาคต เมื่อดูจากโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่ภาวะเจริญพันธ์อยู่ที่ 2.0 ในปี 2538 ปัจจุบันเหลือ 1.5 ในปี 2564 ขณะที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ ที่เคยเฉลี่ยปีละ 8.2 แสนคน ในปี 2538 เหลือ 5.4 แสนคนในปี 2564 ทำให้จำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาลดน้อยลงเรื่อยๆ เห็นได้จากปี 2538 มีจำนวนนักศึกษาระดับอุดมศึกษา 2.05 ล้านคน แต่ปี 2564 ลดเหลือ 1.67 ล้านคน ขณะที่คุณภาพระบบสาธารณสุขทำให้คนไทยมีอายุยืนมากขึ้น ทำให้ไทยมีแนวโน้มจะกลายเป็นสังคมคนสูงอายุมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประมาณการณ์ว่า ในปี 2576 ไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด

    แม้ว่าภาพรวมตัวเลขการว่างงานจะยังไม่มาก แต่คนจบปริญญาตรีที่ตกงานมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับระดับการศึกษาอื่น

    ขณะที่ไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันที่ 28 จาก 64 ประเทศ แม้จะดี แต่ตัวที่ดึงให้อันดับไม่สามารถสูงกว่านี้ คือ การศึกษาที่อยู่ในอันดับที่ 56 เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่อันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่ 25 โดยด้านการศึกษา อยู่ในอันดับที่ 29

    “ขณะเดียวกัน เด็กไทยยังต้องเผชิญกับลักษณะของงานในโลกปัจจุบันที่กำลังจะเปลี่ยนไป หรือ disruption ต้องพบกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป และภาวะโลกรวน หรือ climate change รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคหลังโควิด-19 ที่ทำให้เกิด social loss, learning loss และ new way of work”

    ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากำลังคนเพื่อตอบโจทย์โลกอนาคต โดยการสร้างพื้นฐานความพร้อมสู่โลกแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เริ่มจากการให้ความรู้พื้นฐานตั้งแต่ language literacy หรือการรู้หนังสือ

    ในขณะที่เยาวชนไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะในต่างจังหวัดเวลานี้ ยังไม่รู้ภาษาไทยดีพอ ไม่ต้องพูดถึงภาษาอื่น ต่อมาคือ basic mathematics หรือคณิตศาสตร์พื้นฐาน บวกลบคูณหาร คิดกำไร ขาดทุน คิดเปอร์เซ็นต์ คิดดอกเบี้ย ต้องคิดให้เป็น ไม่เช่นนั้นก็จะถูกหลอกในอนาคต

    ต่อมา digital literacy (การรู้เท่าทันทางดิจิทัล) เราไม่ได้พูดเรื่อง coding อย่างเดียว coding เป็นส่วนหนึ่ง แต่เรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเขา การค้นหาข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การแยกแยะให้ได้ว่าอะไรคือข้อมูลจริง อะไรคือข้อมูลปลอม เป็นทักษะที่เด็กต้องมี

    สุดท้าย financial literacy (การรู้เท่าทันทางการเงิน) อันนี้สำคัญมาก โรงเรียนในยุคอดีตไม่ค่อยได้สอนเรื่องนี้ ปัจจุบันก็ไม่ค่อยได้สอนเหมือนกัน แต่ถ้าเด็กไม่สามารถดูแลทรัพย์สิน ไม่สามารถดูแลเงินทองที่หามาได้ด้วยตัวเอง อนาคตก็จะไม่สดใส

    ต่อมาคือเรื่องทักษะ วันนี้คงไม่มีใครเถียง เพราะมีการพูดเสมอว่า

    “มีความรู้อย่างเดียวไม่พอวันนี้ต้องมีเรื่อง ความรู้ ทักษะ และความสามารถด้วย ทักษะพื้นฐานที่ มี 4 C รู้กันอยู่ คือ creativity, critical thinking, communication, collaboration และขอเสริมอีกตัวคือศีลธรรม ถ้าคนมีความรู้ มีทักษะดี แต่ไม่มีศีลธรรม เราก็คงไม่มี Future Together”

    สำหรับหอการค้าไทยนั้น มีนโยบาย Connect The Dots ที่ฟังแล้วก็เหมือน Future Together คือหอการค้าจะทำหน้าที่เชื่อมโยงทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผมเป็นประธานคณะกรรมการการศึกษา ภายใต้หอการค้าไทย โดยทีมงานได้ทำ 3 ด้าน คือ การศึกษาพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา

    ในด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน สิ่งที่เน้นคือโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เริ่มตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลอนุญาตให้เอกชนเข้าไปร่วมกับโรงเรียนในการบริหารโรงเรียนร่วมกัน เอกชนไม่ได้เก่งเรื่องการศึกษา แต่เอกชนจะเข้าไปช่วยในหลายเรื่อง โดยนำผู้เชี่ยวชาญ เช่น โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าไปช่วยดูโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีขนาดเล็ก และปีนี้เป็นปีแรกที่มีโรงเรียนร่วมพัฒนาครบ 77 จังหวัด รวม 204 แห่ง

    ในด้านอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาที่สำคัญมาก และมักจะถูกมองข้าม ขณะที่ผู้จบโรงเรียนอาชีวศึกษามีอัตราการตกงานที่ต่ำมาก และตลาดมีความต้องการสูง หอการค้ามีโครงการทวิภาคี โดยภาคเอกชนจะเข้าไปคุยกับสถาบันการศึกษา วางหลักสูตรร่วมกัน ครึ่งหนึ่งเรียนที่โรงเรียน อีกครึ่งหนึ่งมาทำงานที่บริษัท ที่โรงงาน ใช้อุปกรณ์ทำงานจริง แก้ปัญหาจริง เพื่อให้เยาวชนมีประสบการณ์ มีความรู้ ทำงานได้เลยหลังจากจบ และระหว่างเรียนมีรายได้ด้วย โครงการนี้มีหลายบริษัทร่วมกันทำ

    ระดับอุดมศึกษา ช่วงหลังกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาเยอะ มีการให้เอกชนร่วมกับมหาวิทยาลัยวางหลักสูตรให้ตรงกับโจทย์งานที่ต้องการ หรือล่าสุด เมื่อต้นปีนี้ มีหลักสูตร sand box เป็น higher education sandbox ที่มีความยืดหยุ่นของมหาวิทยาลัยมากขึ้น สามารถเอาผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้จบครูมาสอนในมหาวิทยาลัย แต่มีประสบการณ์จริง ทำงานจริง ร่วมกันตั้งหลักสูตร

    มหาวิทยาลัยหอการค้า ที่อยู่ภายใต้หอการค้าไทย ได้เชิญชวน Harbour.Space University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านเทคโนโลยีของสเปน มาเปิดสาขาในไทย เริ่มสอนตั้งแต่ปี 2563 หลักสูตรที่สอนที่มหาวิทยาลัยหอการค้า ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเทคโนโลยี ฟินเทค ไบโอเทค ฯลฯ เป็นหลักสูตรที่อยู่ภายใต้ sand box ของกระทรวง อว. มีทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท และหลักสูตรระยะสั้นสำหรับคนที่ต้องการมา reskill หรือ upskill

    สำหรับ TCP เพิ่งเปิดตัวโครงการ ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า หรือ Energizing a Better World for All เป็นโครงการที่มุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจไปพร้อมกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกคนบนโลกใบนี้ โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว TCP ได้มีการพูดถึงการสร้างความยั่งยืน เช่น โครงการโอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ที่ทำร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ องค์การมหาชน (สสน.) มูลนิธิอุทกพัฒน์ มีการอนุรักษ์ลุ่มน้ำหลายแห่ง สอนชาวบ้านในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และหลายโครงการเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคน เช่น TCP ปลุกความรู้สู่โอกาส ที่ทำงานร่วมกับคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทำโรงเรียนปล่อยแสงที่อบรมครูทั่วประเทศให้มีพลัง มีทักษะในการสอนรูปแบบใหม่ๆ โครงการ TCP Power of Giving ให้พนักงานทีซีพีทั่วประเทศมาเสนอได้ว่าอยากให้องค์กรซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลใดในท้องถิ่นเขา ทำมาปีที่ 3 ใน 18 โรงพยาบาล 16 จังหวัด เป็นต้น

    นอกจากนี้ ยังมีมูลนิธิใจกระทิง ที่ครอบครัวตั้งขึ้น จุดประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยทำงาน 3 ด้าน การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข ปีนี้เป็นปีที่ 5 มีการใช้งบแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท สร้างผลกระทบเชิงบวกได้ 9 หมื่นคน มีโครงการด้านการศึกษา 8 โครงการ ด้านสาธารณสุข 32 โครงการ และด้านสิ่งแวดล้อม 17 โครงการ โดยขอเจาะด้านการศึกษา ที่มุ่งหวังให้เยาวชนไทยมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เช่น การทำโรงเรียนร่วมพัฒนา ที่ TCP รับดูแลโรงเรียนที่จังหวัดพิจิตร และจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยร่วมกับมูลนิธิ Teach For Thailand ในการส่งเด็กที่มีศักยภาพไปเป็นครู การร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นโครงการที่น่าสนใจมาก โดยมูลนิธิฯ จะให้อุปกรณ์แก่ครูไปสอนเด็กระดับมัธยมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทำให้เด็กมีส่วนร่วมในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชบางชนิดที่กำลังจะสูญพันธุ์ในท้องถิ่น

    ทั้งหมดนี้ อย่างที่ชี้ไปตอนต้นว่า โลกปัจจุบันและโลกในอนาคตจะมีความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จำนวนเด็กที่เกิดขึ้นในประเทศไทยลดลง ความรับผิดชอบ หน้าที่ของเด็กเหล่านี้สูงขึ้นมหาศาล และต้องแบกรับภาระของประเทศไว้ในอนาคต สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เด็กเหล่านี้ แม้ปีล่าสุดจะเกิดแค่ 5 แสนกว่าคน แต่ทุกคนมีค่าหมด ทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้สามารถไปให้ถึงจุดที่เขาไปได้ เขาต้องมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น การเข้าถึงการศึกษา การพัฒนาที่มีคุณภาพเป็นภารกิจของพวกเราทุกคน

    “ขอย้ำนะครับว่า การศึกษาเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน หมดสมัยแล้วที่จะบอกว่าการศึกษาเป็นหน้าที่ของครู เป็นหน้าที่ของโรงเรียน แล้วส่งผลิตผลที่ดีกลับบ้าน ไม่ใช่ การศึกษาเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน เด็ก แน่นอนสำคัญมาก พ่อแม่ ชุมชน โรงเรียน ภาครัฐ มีส่วนร่วมหมด รวมถึงภาคเอกชน”

    โดยเฉพาะเอกชนเราต้องทำให้เยอะ เพราะว่าเอกชนเป็นส่วนที่ใช้ทรัพยากรมนุษย์ เป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาทรัพยากร เป็นสิ่งที่ขอฝากไว้ และผมเชื่อว่า ถ้าจะไปถึง Future Together ได้ แปลว่าเราต้องไปด้วยกัน โอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นภารกิจที่ทุกคนต้องช่วยกัน

    ดูข้อมูลเพิ่มเติม