ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ‘สราวุฒิ อยู่วิทยา’ กลุ่มธุรกิจ TCP ชวนทุกคน ‘ร่วมมือ-แบ่งปันองค์ความรู้’ ปลุกพลังความยั่งยืนเพื่อวันที่ดีกว่า

‘สราวุฒิ อยู่วิทยา’ กลุ่มธุรกิจ TCP ชวนทุกคน ‘ร่วมมือ-แบ่งปันองค์ความรู้’ ปลุกพลังความยั่งยืนเพื่อวันที่ดีกว่า

1 กันยายน 2022


นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP

หลังวิกฤติโควิด -19 ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งด้านวิถีชีวิตและการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจแบบเดิมที่ไม่มองความยั่งยืนอาจจะไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป แต่จับมือร่วมเดินด้วยกันอย่างไรเพื่อสู่เป้าหมายความยั่งยืนร่วมกัน

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ชวนคิดชวนคุย ในงานเสวนา “COLLABORATIVE PARTNERSHIP FOR SUSTAINABILITY ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมาย”

สราวุฒิ ชวนคุยด้วยคำถามใหญ่ จะบริหารจัดการความยั่งยืน เพื่อต่อยอดร่วมกันไปสู่ความสำเร็จร่วมกันได้อย่างไรใน 4 มิติ

1.เริ่มจาก ผลิตภัณฑ์ หรือตัวสินค้า พลังแบรนด์สินค้า (Fulfilling) จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน
2. Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มุ่งใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด โดยลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุดได้อย่างไร
3.Low Carbon คือ เราจะทำให้การผลิตลดคาร์บอนไดอ๊อกไซด์อย่างไร
4.’Water Sustainability’ การจัดการน้ำยั่งยืน ตั้งเป้าคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Net Water Positive)

TCP เดินหน้า ปลุกพลังเพื่อวันที่ดีกว่า

หากย้อนกลับไป เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา กลุมธุรกิจ TCP ในปี 2561 เป็นครั้งแรกที่เริ่มพูดถึง Sustainability หรือความยั่งยืน โดยในปีนั้น เริ่มมองถึงการทำธุรกิจไปพร้อมกับความยั่งยืนให้กับโลก สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

ปีนี้ 2565 ได้มีเป้าหมายใหม่ที่ชัดเจนในการทำธุรกิจคู่กับความยั่งยืน ภายใต้นโยบาย “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” หรือ Energizing a better world for all โดยมีแผน 3 ปี ( 2565-2567 ) ภายใต้กลยุทธ์ 3 เรื่อง คือ ปลุกพลังแบรนด์สินค้า (Fulfilling) 2. ปลุกพลัง ธุรกิจเติบโต (Growing) 3. ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring) ซึ่งทั้ง 3 กลุยุทธ์จะเดินไปคู่กับความยั่งยืนในการดำเนินการ

“ปี 2565 เราจะเริ่มต้นทำธุรกิจไปพร้อมกับความยั่งยืนในทุกด้าน โดยเมื่อ 66 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน แต่วันนี้ เรื่องความยั่งยืนมีความเปลี่ยนแปลงในบริบทที่ใหญ่มากขึ้น และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน และภาครัฐเองให้ความสนใจเรื่องความยั่งยืนมาก ทำให้บริษัทก็ต้องมองภาพใหญ่ขึ้นด้วยเช่นกัน”

สราวุฒิ บอกว่า คำถามที่ผู้บริหารเริ่มมานั่งคิดกันมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด จะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้อย่างไรหลังโควิด-19 แล้ว เราจะรับมือและเดินหน้าอย่างไรขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“โควิด-19 กระตุกความคิดพวกเราทั่วโลก เพราะว่าโควิดทำให้หลายคน หน้าที่การงานไม่มั่นคง เชื้อไวรัสตัวนิดเดียว แต่สามารถสร้างความปั่นป่วนให้โลกทั้งใบได้ แต่มองในอีกมุมหนึ่ง ผมคิดว่าโควิด-19 มีข้อดีแม้จะอยู่นิดเดียว คือ โควิด-19 สอนให้รู้ว่าทุกอย่างในชีวิตมันปรับได้”

วิกฤติโควิด-19 เพิ่มความยากจน-เหลื่อมล้ำ

วิกฤติโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในมุมที่ดี คือ ทำให้ทุกคนปรับตัว ทั้งในเรื่องวิถีชีวิตและการทำงานที่มีการประชุมทางออนไลน์มากขึ้น จากการวิจัยของ FDA พบว่า Digital Platform, E-Commerce เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของ E-Banking ที่ประชาชนทั่วไปใช้กันมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องของ Food Delivery ที่ช่วยการใช้ชีวิตในช่วงโควิด-19 ง่ายขึ้น

ขณะที่ในอีกด้านของโควิด-19 ก็สร้างความเสียหายและผลกระทบจำนวนมาก นอกจากเรื่องของการคร่าชีวิตผู้คนที่ต้องเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ยังรวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการศึกษา โดยมีบทความที่เขียนถึง ตลอด 2 ปี เด็กทางฝั่งตะวันตกที่ต้องหลุดออกจากห้องเรียนเป็นระยะเวลายาวนานหลายเดือน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กยาวนานกว่าที่เราคิด เพราะแม้ว่าเด็กจะกลับเข้าห้องเรียนแล้วแต่ทุกอย่างก็ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด

สำหรับประเทศไทย ซึ่งกลุ่มธุรกิจ TCP ได้ทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า โควิด-19 ส่งผลให้เด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษามากถึง 43,000 คน และมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงรอยต่อ

“เราได้ทำงานด้านการศึกษากับ กสศ . โดยมีทุนการศึกษาให้ไป เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะไม่หลุดจากการศึกษา ขณะที่ภาพรวมของการศึกษาของทั้งโลกพบว่าผลกระทบในเรื่องรุนแรงมีตัวเลขเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาทั่วโลก ถึง 24 ล้านคนเพราะโควิด-19”

นอกจากนี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กระทบรายได้ของครัวเรือน ทำให้ปัจจุบันทำให้เกิดความยากจนมากมายทั่วโลก โดยรายงานจาก UN พบว่า ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ทั่วโลกมีคนที่ยากจนแสนสาหัส หรือ extreme property จำนวนมากถึง 581 ล้านคนทั่วโลก แต่หลังโควิด-19 มีคนยากจนแบบขีดสุดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 679 ล้านคน

สราวุฒิบอกว่า ให้ความสนใจในเรื่องปัญหาการศึกษาเนื่องจากเชื่อว่า การศึกษาเป็นคำตอบของหลายอย่างทั้งในเรื่องความยากจน ความไม่เท่าเทียม หากทำให้เด็กทั่วโลกเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อมก็จะแก้ไขได้ ความยากจนแก้ไขได้

ตั้งเป้าหมาย 3 กลยุทธ์ธุรกิจสร้างความยั่งยืน

นอกจากปัญหาวิกฤติโควิด-19 แล้ว ปัญหาโลกร้อนขึ้นก็เป็นอีกปัญหาที่จะสร้างผลกระทบรุนแรงมากขึ้น โดยสราวุฒิกล่าวว่า เรื่องที่ถือเป็นประเด็นร้อนมากที่หลายคนกังวล คือ ขยะที่ล้นโลก และที่เป็นผู้ร้ายมากที่สุดคือขยะพลาสติก

จากรายงานพบว่าในปี 2564 มีขยะพลาสติกไหลเข้าสู่มหาสมุทร 17 ล้านตัน ซึ่งแน่นอนทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงคนทิ้งลงในแม่น้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ปัจจุบันต้องมาร่วมกันในการแก้ไข

“กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ร่วมกับ IUCN องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ และเราเริ่มมาดูกันว่าจะทำให้ธุรกิจของเราเกิดหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรอย่างไรในฐานะที่เราอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม”

สราวุฒิกล่าวว่าเป้าหมายของบริษัทที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นปี 2565 คือเราต้องการความเป็นเลิศเรื่องผลิตภัณฑ์ในธุรกิจของเรา โดยเราดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทคือผลิตสินค้าที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เพราะเมื่อไหรก็เราผลิตมาแล้วขายไม่ได้ก็จะกลายเป็นขยะ

1.ผลิตภัณฑ์ของเราจึงตอบโจทย์เรื่องสุขภาพและต้องเป็น Circular Economy โดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ในปี 2567 ว่า บรรจุภัณฑ์ของบริษัททุกประเภทต้องรีไซเคิลได้ 100 %

2.เรื่องของ Carbon Neutrality บริษัทได้ตั้งเป้า “เป็นกลางทางคาร์บอน” โดยทุกกระบวนการทำงานทั้งธุรกิจในประเทศไทยและต่างประเทศ กระบวนการผลิตต้องลดคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2593

3.การจัดการน้ำที่ยั่งยืน “Water Sustainability” ตั้งเป้าคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Net Water Positive) ภายในปี 2573

“มีคำถามว่าตั้งเป้าหมายแบบนั้นเป็นไปได้หรือไม่ ยากง่ายขนาดไหน ซึ่งผมคิดว่าไม่ต้องคิดว่าง่าย เพราะมันยากอยู่แล้ว แต่มันเป็นสิ่งที่ยากและท้าทาย เราต้องมาช่วยกันคิดว่า เราจะเปลี่ยนความเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้อย่างไร”

ย้อนประวัติศาสตร์การดำเนินการธุรกิจคู่กับการตอบแทนสังคมของกลุ่มธุรกิจ TCP เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้น โดยในรุ่นคุณพ่อ ‘เฉลียว อยู่วิทยา’ ก็มีโครงการอีสานเขียว แม้ว่าปัจจุบันบริบทเปลี่ยนไป ความยากในการดำเนินการมีมากขึ้น เพราะเราไม่ได้ทำภายใต้โจทย์ของประเทศไทยแต่เรามีโจทย์ของโลกเข้ามาให้ร่วมคิดด้วย

“วิธีการเราทำอย่างไร ที่ต้องทำจะไปด้วยกันได้ ผมยกตัวอย่างโครงการบรรจุภัณฑ์น้ำดื่ม เป็นโครงการร่วมกับบริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด ทำให้เราสามารถนำอะลูมิเนียมในบรรจุภัณฑ์ประมาณครึ่งหนึ่งที่เราใช้กลับมารีไซเคิลได้”

สราวุฒิบอกว่าพอเริ่มทำไปแล้วก็เริ่มเห็นว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ได้ใหญ่โต และเราจะเห็นทางเดินว่าจะไปด้วยกันได้ ทำงานร่วมกับพันธมิตร ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งหมด บทเรียนที่เราถอดออกมาได้ ถ้าไปด้วยกันก็เดินถึงจุดหมายได้

ร่วมมือ แบ่งปัน หัวใจสู่ความยั่งยืน

บทเรียนความสำเร็จที่ถอดออกมาได้จากโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว คือความร่วมมือ ร่วมมือและร่วมมือ มีความสำคัญมาก เพราะเป้าหมายที่จะไป เพียงแค่องค์ความรู้ของเรา ไม่สามารถทำได้

ความร่วมมือดังกล่าวต้องเกิดจากทุกภาคส่วน ภาครัฐต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นจริงได้ โดยพิจารณา ปลดล็อค กฎหมายที่เป็นอุปสรรค เช่น กรณีบริษัททำ โซลาร์รูฟเพื่อผลิตไฟฟ้ามาใช่ในการผลิตของเรา แต่ปัญหาคือเมื่อหยุดผลิต ไฟฟ้าเหล่านั้นต้องโยนทิ้ง เพราะระเบียบของรัฐไม่สามารถขายได้ หรือ คืนกลับไปได้ ทำให้ต้องทิ้งไฟฟ้าเหล่านั้นไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาคเอกชน ภาครัฐ ตื่นตัวมากขึ้นและมีความพยายามจากภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ ขณะที่ความร่วมมือภาครัฐ เอกชนยังไม่เพียงพอ ต้องรวมถึงความร่วมมือจากผู้บริโภคด้วย เพราะปัญหาน้ำท่วมในบ้านเรา มาจากการทิ้งขยะลงไปในคลอง

ผู้บริโภคจึงเป็นโจทย์หนึ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีชีวิต ตั้งแต่การเลือกซื้อสินค้า มีงานวิจัยในต่างประเทศที่สำรวจความเห็นของผู้บริโภค 100 คน ว่าจะเลือกสินค้าที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนหรือไม่ ปรากฏว่ามีเพียง 26% ที่จะเลือกซื้อสินค้าเหล่านั้น ดังนั้นเป้าหมายยังห่างไกล แต่ยังมีความหวัง หากผู้บริโภคลุกขึ้นมาบอกว่า ฉันจะซื้อสินค้าที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น

ส่วนเรื่องที่สองที่เห็นว่า สำคัญมากเช่นกัน คือ เรื่องของการแบ่งปันทรัพยากร และองค์ความรู้ โดยเห็นว่าเรื่องธุรกิจอาจจะเป็นความลับของบริษัทได้ แต่เรื่องความยั่งยืนไม่ควรจะเป็นความลับ แต่ต้องเป็นเรื่องที่นำเอาความรู้มาแบ่งปันกัน

“ใครทำอะไรแล้วดี ต้องมาแชร์กันต้องมาสอนกัน เพราะว่าพวกเราทุกคนก้าวแข่งกับความเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศโลกที่ร้อนขึ้น 1.5 องศา ซึ่งมันไม่ได้อยู่นิ่งๆ ยิ่งเราทำร้ายโลกมากขึ้นเท่าไหร ความร้อน 1.5 องศา ก็ใกล้เข้ามาเท่านั้น บริษัทผมพร้อมร่วมมือและแชร์ความรู้ในเรื่องนี้”

สราวุฒิกล่าวว่าเรื่องสุดท้ายคือ การปรับตัวและกำหนดเป้าหมาย ซึ่งหากตั้งเป้าหมายแล้ว หมายความว่าต้องทำได้จริง แม้ว่าจะยากและท้าทายก็ตาม เราต้องมั่นใจทำได้จริง ซึ่งมีเรื่องของเทคโนโลยีที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้

“นอกจากนี้การมีเป้าหมายต้องถามว่ามันคุ้มมั้ยที่จะทำ เช่น เรื่องบรรจุภัณฑ์ แม้เราจะตั้งเป้าหมายเอาไว้สวยงาม แต่ราคาเพิ่มขึ้นสองเท่าความยั่งยืนก็ไม่เกิดขึ้น”

การสร้างความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ หากแบ่งปันองค์ความรู้ สร้างความร่วมมือกับทุกคนทุกภาคส่วน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ เป็นพันธมิตรที่เดินไปสู่เป้าหมายยั่งยืนด้วยกัน