สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้จัดงานสัมมนา “สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย” ในวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ในโอกาสที่ก้าวสู่ปีที่ 12 โดยมี ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ และเสวนาหัวข้อ “Future Together” โดยมีวิทยากร นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP รองประธานกรรมการ หอการค้าการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนการศึกษา หอการค้าไทย, ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK), นายโจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการอำนวยการ บริษัท Strategy 613 จำกัด และดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทลิสเซินฟิลด์ (Listen Field Inc.)
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในงานสัมมนา “สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย” ในหัวข้อ Future Together ว่า “ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ถามว่ามีธนาคารของรัฐที่ไหนบ้าง ที่สามารถทำธุรกิจควบรวมกิจการได้ (mergers and acquisitions — M&A) , ทำ venture capital, ทำ equity participation ได้ คำตอบคือไม่มี มีแต่ลูกคนนี้เพียงคนเดียวในกระทรวงการคลังที่ทำได้ (EXIM BANK) เรื่องนี้ไม่ใช่โมเดลใหม่ แต่เป็นโมเดล 30 ปีที่แล้ว เข้าใจว่าคนที่ยกร่าง พ.ร.บ.จัดตั้ง EXIM BANK มีเจตนารมณ์ที่จะทำให้ธนาคารแห่งนี้มีความแข็งแกร่ง ซึ่งผมจะเอาเรื่องนี้กลับมาทำใหม่”
30 ปี ยกระดับ SMEs 3 ล้านราย เป็นผู้ส่งออกได้แค่ 2.2 หมื่นราย
ก่อนหน้านี้ คุณสราวุฒิ อยู่วิทยาได้บรรยายให้เห็นมุมในเรื่องของการศึกษาไปแล้ว ส่วนผมนั้นขออนุญาตสแกนอาการของ SMEs ไทย ถ้ามาดูที่ขีดความความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทยทั้งหมด 3.18 ล้านราย พบว่า 1 ใน 3 ของ SMEs ทั้งหมด สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 1 ใน 4 หรือ ประมาณ 800,000 ราย ที่จดทะเบียนนิติบุคคล และ 1 ใน 100 จาก 3.18 ล้านราย เป็นผู้ส่งออกประมาณ 22,285 ราย
“ถ้าเรายังทำโมเดลแบบเดิมๆ เป็นเอ็กซิมแบงก์เหมือนเดิม และคิดว่ากลไกตลาดจะช่วยสร้างให้เกิดผู้ส่งออกได้ ผมว่าเราคิดผิด เพราะ 30 ปีที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า เราสามารถสร้างผู้ส่งออกได้แค่ 1 ใน 100 จากผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหมด 3.18 ล้านราย เราสร้างผู้ส่งออกได้แค่ 30,000 ราย และในจำนวนนี้ 1 ใน 3 หรือ ประมาณ 10,000 ราย เท่านั้นที่รู้จักคำว่า option, hedging หรือ export insurance” ดร.รักษ์ กล่าว
ที่ผ่านมาเราเคยชินกับการแขวนตะกรุด สักยันต์ ถือดาบสองมือ แล้ววิ่งออกไปรบ เราใส่เสื้อเกราะไม่เป็น เพราะ SMEs ไทย ไม่เคยถูกฝึกให้ใส่เสื้อเกราะเลย จากเสือตัวที่ 5 เมื่อ 20 ปีที่แล้วกลายมาเป็นแมวตัวที่ 10 คือ เราสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปแล้วหมด นอกจากใส่เสื้อเกราะไม่เป็น ยังชอบทำธุรกิจแบบแห่ตามกันไป นี่คือ SMEs ไทย ซึ่งมีความเปาะบาง และขาดภูมิคุ้ม
ทำไม SMEs ไทยเปราะบาง?
ถามว่าทำไม SMEs ไทยถึงเปราะบาง ประการแรก คือ ขาดองค์ความรู้ โดย Startup Skills Index จัดประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 64 จากทั้งหมด 137 ประเทศ เทียบกับไต้หวันอยู่อันดับ 46 ฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 57 ดังนั้น คุณอย่ามาพูดเรื่องสตาร์ทอัป เพราะถ้าคุณเป็นสตาร์ทอัป เดินเข้าไปหาแบงก์ทั้ง 22 แห่ง ที่เปิดกิจการในประเทศไทย สตาร์ทอัปจะถูกจัดเอาไว้เป็น CSR loan ถ้าคิดแบบนี้ก็ไม่ต้องมาพูดถึงอนาคตของสตาร์ทอัปไทย เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไรให้นายแบงก์มีสปิริต ในการเข้ามาช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัปที่ไม่ใช่แค่ปล่อยกู้ทั่วไปเท่านั้น ต้องพยายามทำ equity participation ให้ได้ด้วย และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ Startup Skills Index จัดอันดับ SMEs ไทยต่ำมาก
ถ้าไปดูเรื่องความเชื่อมโยงกับ global trend พบว่า SMEs ไทยยังขาดความเชื่อมโยง สินค้าที่ SMEs ไทยผลิตได้ ยังไม่ตอบโจทย์เทรนด์ใหม่ พูดง่ายๆ คือ อยากจะทำอะไรก็ทำ แล้วก็วางไว้บนชั้นแสดงสินค้า หลังจากนั้นก็รอผู้ซื้อในตลาดต่างประเทศมาซื้อสินค้าเหล่านั้น
ทำอย่างไรให้ SMEs ไทยเชื่อม Global Trend
“ที่น่าเป็นห่วงมาก คือ SMEs ไทยทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) และนวัตกรรมน้อยมาก จากภาพที่นำมาแสดงจะเห็นว่า SMEs ไทยลงทุน R&D แค่ 0.2% ของงบลงทุนเท่านั้น และสินค้าที่ผลิตขาดความแตกต่างจากสินค้าทั่วๆ ไป มักจะทำตามๆกันมา มากกว่าคิดค้นสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมา”
ดร.รักษ์ กล่าวต่อว่า “ที่ผ่านมามีผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังอยากให้ผมเข้าไปช่วยแก้ปัญหาสถาบันการเงินเฉพาะของรัฐ เวลาจับไม้สั้น ไม้ยาว ผมมักจะจับได้ไม้สั้นเสมอ ผมถูกส่งไปแก้ปัญหาหนี้สินที่ บสย. โดยจัดทำโครงการหมอหนี้ให้กับ บสย. วันนี้โครงการหมอหนี้ ถูกยกระดับกลายเป็นหมอหนี้ของแบงก์ชาติไปเรียบร้อยแล้ว”
สิ่งที่ผมเห็น คือ SMEs ไทย เวลาล้ม จะล้มแบบโดมิโน่ เพราะชอบก๊อบปี้โมเดลกันทุกแบบ แล้วทำตามๆ กันมา
“ผมอยู่ซอยสุขุมวิท ซอย 61 ตั้งแต่ต้นซอยทองหล่อไปจนถึงท้าย คุณจะเห็นว่ามีร้านกาแฟ กับร้านอาหารขนาดเล็ก ขึ้นป้ายเซ้งกิจการกันเกือบหมดเลย เพราะว่าเขาก๊อปปี้โมเดลกันมา ถ้าถามสตาร์ทอัปว่าอยากทำอะไร ไม่ต้องทายก็รู้ว่าอยากเปิดร้านอาหารกับร้านกาแฟ ผมบอกได้เลยว่า ถ้าเดินเข้ามาด้วยความอยากเปิดร้านอาหารกับร้านกาแฟ ขอให้เก็บความฝันนี้ไว้ที่บ้าน เพราะผมแก้หนี้ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มนี้เยอะมาก เกือบ 700,000 ราย หากคุณไม่ได้ “มิชลินสตาร์” มาอยู่ในมือ คุณไม่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากคนอื่น ขอร้องอย่าเปิดร้านอาหารกับร้านกาแฟ เพราะมันจะทำให้คลินิกแก้หนี้มีคิวยาวมาก”
ถ้าย้อนหลังกลับไปดูข้อมูลเมื่อ 10 ปีที่แล้ว SMEs ไทยมีสัดส่วนประมาณ 33% มาจนถึงวันนี้สัดส่วนเพิ่มเป็น 34% ขณะที่หลายประเทศคู่แข่งของไทยมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดเจน ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น และจะแก้ไขอย่างไร สิ่งที่จะต้องทำต่อไป คงต้องเปลี่ยน landscape กันใหม่ อย่างที่ผมจัดทริปพารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมไปถึงคนสร้างบิสซิเนส โมเดล และคุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ซึ่งเป็นผู้ประเมินผลการดำเนินงานของแบงก์รัฐเดินทางไปประเทศเวียดนาม เพื่อมาดูว่า EXIM BANK กำลังทำอะไร ทำไมไม่ช่วยกันสร้างสตาร์ทอัป และใช้ KPI วัดผลสำเร็จ ผมทำ แต่ผมขอ SMEs แต่ผมขอทำ medium size เพราะอะไร?
เรือเล็กต้องออกจากฝั่ง ปั้น SMEs ไทยสู่โกอินเตอร์
“เรือเล็กต้องออกจากฝั่ง SMEs ไทยต้องโกอินเตอร์” ซึ่งผมพูดในทุกๆเวที SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกมีค่าเฉลี่ยของรายได้มากกว่า SMEs ที่ขายในประเทศกว่า 4 เท่า และถ้าคุณเป็น global SMEs ได้ กำไรสุทธิจะประมาณ 1.5 เท่า ส่วน ROA ประมาณ 1.8 เท่า สิ่งเหล่านี้ที่ผมบอก SMEs ไทยทั้ง 3 ล้านราย อย่ากระจุกตัวอยู่ในตลาดที่มีประชากร หรือ มีลูกค้าแค่ 66 ล้านคน หรือ หนี้ครัวเรือน 91% เลย คำว่า “หนี้ครัวเรือน” หมายความว่า มีเงินในกระเป๋า 100 บาท ต้องจ่ายหนี้ 91 บาทเหลือเงินไว้จับจ่ายใช้สอยแค่ 9 บาท มันเป็นไปไม่ได้หรอก ขณะที่เศรษฐกิจไทยวันนี้เริ่มโตช้า เพราะฉะนั้นจะดีกว่าหรือไม่ ถ้า SMEs ไทยจะออกไปสร้างฐานการผลิตในต่างประเทศ
ถามว่าจะทำอย่างไร เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 Exim Bank ไปเปิดสำนักงานผู้แทนที่กรุงโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม และก็มี SMEs รวมถึงเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่มาร่วมงานกับเราด้วย สิ่งที่ผมพูดตรงนั้น และเห็นแล้วว่า มันเป็นไปได้ คือ sunset industry ทั้งหมดที่เป็น SMEs ไทย สามารถไปลงทุนที่ประเทศเวียดนามได้
“ผมพบกับ 5 เสือ ปั่นทอ ฟอกย้อม เขาบอกว่าถ้ายังประกอบธุรกิจอยู่ในเมืองไทย วันนี้คงต้องปรับโครงสร้างหนี้แน่นอน เพราะว่ามันสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันไปหมดแล้ว แต่เขาย้ายฐานการผลิตมาเปิดโรงงานที่กว๋างหงาย และกว๋างนาม วันนี้ผมกล้าพูดได้ว่า อุตสาหกรรมการ์เมนต์ที่ใหญ่ที่สุด คุณภาพดีที่สุดของโลก คือ เวียดนาม นักธุรกิจไทยเหล่านี้เข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของคนไทย ไม่ว่าเป็น ‘อมตะ’ หรือ ‘ดับบลิวเอชเอ’ ที่กล่าวมานี้ EXIM BANK กำลังสร้างโมเดลใหม่ขึ้นมา”
ชูโมเดล 1 เจ้าสัว พา 500 SMEs รุกตลาด ตปท.
ดร.รักษ์ กล่าวต่อว่า “ตอนนี้ EXIM BANK พยายามทำ “supply chain club financing” โดยให้บริษัทขนาดใหญ่ช่วยดูแล SMEs หรือที่เรียกว่า “1 เจ้าสัว 500 SMEs” พยายามสร้าง supply chain ให้เกิดการพึ่งพา และพึ่งพิงกันได้ โดยให้แรงจูงใจแก่บริษัทขนาดใหญ่ ถ้าพา SMEs มา 500 ราย เดินเข้ามาที่ EXIM BANK ได้ เราลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้บริษัทขนาดใหญ่ลง 0.5% ต่อปี โดยมีข้อแม้ว่าบริษัทขนาดใหญ่ ต้องรับรองว่า SMEs ทั้งหมดเป็นเครือข่ายทางธุรกิจ หรือ อยู่กับคุณมาไม่น้อยกว่า 3 ปี เพราะฉะนั้นคนที่ทำ KYC หรือ know your customer คือเจ้าสัว ไม่ใช่ EXIM BANK ส่วนแบงก์จะทำหน้าที่คอยดูธุรกรรมระหว่างบริษัทขนาดใหญ่ กับ SMEs ที่อยู่ในซัพพลายเชนของบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น หลังจาก EXIM BANK ปรับโมเดลธุรกิจมาทำในลักษณะนี้ หนี้เสียของเราต่ำลงมาก เราพยายามจูงใจให้คนตัวใหญ่มาช่วยสร้างคนตัวเล็ก”
ที่ผ่านมา EXIN BANK ลงมือทำไปมากพอสมควร เช่น การทำ two step lending ด้วย โดยให้บริษัทขนาดใหญ่ทำหน้าที่เหมือนแบงก์คอยดูแลลูกค้า และซัพพลายเออร์ในซัพพลายเชนของตัวเอง เพราะฉะนั้นธนาคารที่ดูเหมือนเล็กลง EXIM BANK จึงไม่มีความจำเป็นต้องเปิดสาขาเพิ่ม และไม่จำเป็นต้องไปพัฒนา digital banking
แต่เราดึงเอาลูกค้าขนาดใหญ่เหล่านี้มาปล่อยสินเชื่อร่วมกันกับ EXIM BANK นี่คือ ที่มาของการสร้าง business model ใหม่ให้ธนาคารของรัฐ ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของสาขา เราดึงเอาคู่ค้าให้มาเป็นพันธมิตรแทน คือ เราพยายามทำให้ซัพพลายเชน turn around
ตั้งเป้ายกระดับ OEM ขึ้นเป็นผู้ส่งออก 3 หมื่นราย
SMEs ทั้งหมด 3.18 ล้านราย ถ้าจะสร้างให้ทุกคนเป็นนักรบส่งออก คุณคิดผิด
“ถามว่าทำไมผมจึงเล็งไปที่กลุ่ม SMEs ระดับกลางที่อยู่ในซัพพลายเชนของบริษัทขนาดใหญ่ เพราะเขาคือ 10% หรือ 30,000 ราย ที่เป็น indirect exporter ที่คอยส่งสินค้าและบริการให้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็น last corporation เพราะฉะนั้นเราจึงต้องให้แรงจูงใจเข้าไปที่ last corporation เพื่อดูแลคนในซัพพลายเชนของตนเอง”
“จุดอ่อนของ SMEs ไทย คือ เรามี SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกแค่ 1% ของ SMEs ทั้งหมด 3.18 ล้านราย เราจึงตั้งเป้าหมายไปที่กลุ่ม quick win โดยนำกลุ่ม indirect exporter ประมาณ 10% ที่อยู่ในซัพพลายเชนอยู่แล้ว เข้ามาพัฒนาสร้าง skill set ยกระดับขึ้นเป็น global skill โดยทำร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เคยบอกว่าปลาใหญ่กินปลาเล็ก หรือความเหลื่อมล้ำ หรือความไม่เท่าเทียมกัน ถ้าคุณสร้างแรงจูงใจให้บริษัทขนาดใหญ่มาดูแลคนตัวเล็กๆเหล่านี้ได้แล้วสร้างเขาให้ไปได้ด้วยกัน ก็จะช่วยสร้าง SMEs กลุ่ม 10% นี้ ให้กลายเป็น direct exporter ให้ได้เยอะที่สุด โดย portfolio ครึ่งหนึ่งของ SMEs ยังคงเป็น OEM ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของ portfolio ต้องสามารถสร้างตัวตนของคุณขึ้นมาให้ได้ใน global platform หรือ global market place”
ดึง บสย. ค้ำเงินกู้-ไม่เกิน 15 ล้าน ไม่ต้องใช้หลักประกัน
ดร.รักษ์ กล่าวต่อว่า 10 ปีที่แล้ว เราจัดคณะใหญ่มาก เดินทางโดยชาร์เตอร์ไฟลต์เพื่อไปพบ “แจ็ก หม่า” เซ็น MOU แต่งงานกันเรียบร้อย มันก็ไม่เกิด จนกว่าคุณจะซื้อพื้นที่ในแพลตฟอร์มเขา วันนี้ EXIM BANK ซื้อพื้นที่ในแพลตฟอร์มของอาลีบาบา สร้างแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ ที่เราเรียกว่า “EXIM Thailand Pavilion” ของอาลีบาบา วันนี้เราพยายามออกแบบบริการทุกอย่างให้เป็นไปตามไลฟ์ไซเคิล โดยจับคนตัวเล็กๆมาฝึกอบรม จากนั้นเราก็มีแซนด์บ็อกซ์ให้สินเชื่อโดยที่ไม่ต้องถามหาหลักประกัน
“อันนี้เป็นอีกหนึ่งจุดแข็ง ที่ต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังที่ให้โอกาสผมไปเป็นสัปเหร่ออยู่ที่ บสย. ทำหน้าที่ดูแลผู้กู้ที่ไม่มีหลักประกันทางธุรกิจ จากวันที่ผมเข้าไปอยู่ที่ บสย จนถึงวันนี้ ถ้าลูกค้าเดินเข้ามาขอกู้เงินที่ EXIM BANK วงเงินม่เกิน 15 ล้านบาท ไม่ต้องใช้หลักประกัน แต่ผมใช้ บสย. ค้ำวงเงินกู้ 100% คุณไม่จำเป็นต้องใช้หลักประกันอีกต่อไป ช่วง 3 ปีแรก ผ่อนแบบเบาๆ หรือที่เรียกว่า flexible credit จากนั้นค่อยๆทยอยเพิ่มขึ้น ดร.รักษ์ กล่าว
บริการของ EXIM BANK เราให้โอกาสมากกว่าที่จะไปมองแค่การหารายได้จากดอกเบี้ยหลายคนบอกว่าแล้วแบงก์จะอยู่รอดหรือ ปีที่แล้ว EXIM BANK คิดดอกเบี้ยกับลูกค้า SMEs เพียง 4.5% ก็มีผู้สื่อข่าวถามผมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนี้ต่อไปหรือไม่ ผมตอบว่าคงราคาแบบนี้ต่อไป เพราะแหล่งเงินของเรามีต้นทุนต่ำมาก”
EXIM BANK พยายามสร้างภูมิคุ้มกันในทุก business life cycle ให้เติบโตขึ้นมา โดยจัดทำ export studio เพราะจุดอ่อนของ SMEs ไทย ก็คือสร้างตัวตนในโลกไม่เป็น ทั้งในโลกเป็นจริง และโลกเสมือนจริง จึงเป็นที่มาของการสร้าง business life cycle โดย EXIM BANK ได้ทำ MOU กับคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ให้จัดส่งนักศึกษาปีที่ 4-5 มาช่วยออกแบบเสื้อผ้า หรือ บรรจุภัณฑ์ให้กับ SMEs ที่เป็นลูกค้าของเรา
“ที่ผ่านมาก็มีการจัดงานโอทอปขึ้นหลายงาน ก็มีคนไปถ่ายรูปในงานแล้วนำมาลงใน Facebook และตั้งคำถามว่า ทำไมไม่มีคนเข้าเยี่ยมชมในงานนี้เลย ก่อนหน้านี้ผมเคยพูดว่า อย่าทำให้สินค้าโอทอปต้องซื้อ เพราะความน่าสงสาร วันนี้ packaging ของ SMEs สามารถสร้างตัวตนได้ โดยดีไซน์เนอร์จากคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ และยังมีมาร์เก็ตติ้ง ไดอะล็อก ในการสื่อสาร เพื่อสร้างตัวตนในแพลตฟอร์ม “EXIM Thailand Pavilion” ของอาลีบาบา นี่คือที่มาของกระบวนการทำให้เกษตรกรไทย กลายเป็น smart farmer ให้มีตัวตน ส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศได้”
จับมือพันธมิตรเวียดนามร่วมปล่อยกู้ธุรกิจไทย
ล่าสุด EXIM BANK ไปเปิดสำนักงานผู้แทนที่เวียดนาม มีหลายคนถามว่า ทำไมไม่เปิดสาขาเต็มรูปแบบ ผมตอบว่า ผมไม่ต้องการนำเงิน หรือสภาพคล่องไปเพื่อเปิดสาขาเต็มรูปแบบ เพราะผมมีธนาคารกรุงเทพเป็นพันธมิตรอยู่แล้ว และก็มีธนาคาร BIDV ของประเทศเวียดนาม เป็นพันธมิตรอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเปิดเป็น full branch ผมทำหน้าที่เป็นแค่ IB ผมสร้างโปรเจค และหลายๆ โปรเจกต์ที่เราสร้าง เราจับมือกับแบงก์เวียดนาม ทำ syndicate loan ทำ Project BCG ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งในวันนี้ BCG portfolio ของประเทศเวียดนามกว่า 50% มาจากนักลงทุนไทย ตอนนี้ทุนไทยเป็นทุนที่แข็งแกร่งมากอีกทุนหนึ่ง ที่น่าสนใจคือ “BCG industry”
ภาพนี้คือความสำเร็จของจากเกษตรกรไทยจาก อ.แม่ระมาด จ.ตาก สามารถยกระดับขึ้นมาเป็น global exporter ได้ อย่างประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัล Global Award กว่า 10 รางวัล วันนี้ผลิตภัณฑ์ของเกษตรไทยคนนี้วางขายอยู่ที่ห้างแฮร์รอดส์ ลอนดอน จนสามารถที่จะสร้างตัวตนขึ้นมาได้
ถ้าพูดถึงขมิ้นชัน คือสารสกัดที่ใช้เป็นสารป้องกันการก่อโรคมะเร็ง และสร้างภูมิคุ้มกัน ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรไทยรายนี้คือ หัวขมิ้นชันที่เกษตรกรในหมู่บ้านช่วยกันเพาะปลูก จากกิโลกรัมละ 18 บาท กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตะกร้ากิโลกรัมละ 8,000 บาท
วันนี้ EXIM BANK พยายามทำสินเชื่อที่เรียกว่า “Transformation Loan” เป็นสินเชื่อที่ถูกที่สุดในประเทศไทย เราคิดอัตราดอกเบี้ยกับ SMEs เพียงแค่ 2% ต่อปี เท่ากับที่คิดกับเจ้าสัว หรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ แต่มีข้อแม้ว่า คุณต้องแจ้งเกิดให้ได้ คุณต้องซื้อเครื่องจักรที่ดี คุณต้องซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ที่ดีที่สุด คุณต้องสามารถจ้างที่ปรึกษามารีแบรนด์ธุรกิจของคุณให้ได้ ส่วน EXIM BANK จะมีหน้าที่ให้สินเชื่อรีแบรนด์ธุรกิจของคุณ โดยมีรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนดอกเบี้ยส่วนที่เกินจาก 2% ที่ EXIM BANK คิดกับลูกค้า SMEs โดยผ่านการพิจารณาจากสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย ซึ่งมาทำหน้าที่ KYC แทน EXIM BANK เพื่อแปลงร่างข้ามสู่อุตสาหกรรมใหม่
จากหัวหอมกิโลกรัมละ 30 บาท ตอนนี้กลายมาเป็นสติกเกอร์หัวหอมกิโลกรัมละ 50,000 บาท ซึ่งเป็นสติกเกอร์ที่แปะอยู่ตรงหน้ากากอนามัย เมื่อประมาณ 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราจะเห็นการประชุมคณะรัฐมนตรีมีการใส่หน้ากากอนามัยติดสติกเกอร์หัวหอม วันนี้ก็มีการปรับอัตลักษณ์ใหม่ จากเดิมเป็นตัวการ์ตูนน่ารักๆ ตอนนี้สายมูกำลังมาแรง ก็เปลี่ยนมาเป็นรูปปี่เซียะแทน เหมือนกับเครื่องรางของคนจีน เป็นภาพกวนอู่ ติดอยู่ที่หน้ากากอนามัย อันนี้ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไทยสามารถสร้างตัวตนในเวทีโลกได้
แนะแบงก์รัฐปรับตัวสู่ “Beyond Banking”
หลังจากให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อแปลงร่างไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ เราก็ต้องกลับมาดูตัวเองด้วย สิ่งที่ผมกำลังจะบอกก็คือ ลูกๆ ของกระทรวงการคลังทั้ง 7 คน ก็ต้อง transform ตัวเองด้วย แบงก์ของรัฐก็ต้องก้าวออกจากกรอบเพื่อไปสู่ “Beyond Banking” ช่วงที่มีการประชุมคณะกรรมการสภาสถาบันการเงินของรัฐ หรือ “สภา SFI” ก็มีการให้โจทก์แก่ผู้บริหารแบงก์ของรัฐฝากไปทำเป็นการบ้าน คือ การทำแผนธุรกิจ หรือแผนวิสาหกิจในการสร้างตัวตนของแบงก์รัฐให้ชัดเจนขึ้น เพื่ออนาคตของประเทศไทย
“แบงก์ของรัฐต้องเป็นผู้ให้ “โอกาส” ไม่ใช่เป็นแค่ผู้ให้เงิน ถ้าคุณให้เงินแล้ว คุณก็จุดธูป รอว่าธุรกิจของลูกค้าจะประสบความสำเร็จ คุณไปไม่รอดหรอก ในที่สุดจะต้องมานั่งนับ NPLs ของแบงก์คุณ”
จากนั้นก็จะมีคนจากกระทรวงการคลังมานับ NPLs ของคุณ พร้อมกับตั้งเป้าหมายให้คุณ ต้องลด NPLs ลงปีละเท่าไหร่ ลองทายดูว่าปีที่แล้ว EXIM BANK มีสัดส่วน NPLs ต่อยอดสินเชื่อคงค้างอยู่เท่าไหร่ EXIM BANK เปลี่ยน business model มาแล้ว 1 ปี ตอนนี้ EXIM BANK มี NPLs คงค้างอยู่ที่ 2.78% หลังจากเราไปเป็น partner กับลูกค้า นี่คือคำว่า “Beyond Banking” เราทำงานแบบ Extra Mile คือ ให้มากกว่าเดิม และเข้าไปอยู่ในทุกๆ วงจรการเติบโตของธุรกิจ
“ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทวงการคลังและผมเดินทางไปเยี่ยมชมกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัท Truong Thanh Quang Ngai Power and High Technology Joint-Stock Company (TTQN) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ไปลงทุนที่จังหวัดกว๋างหงาย ประเทศเวียดนาม โครงการนี้ถือเป็นโปรเจ็กต์แรกของประเทศเวียดนาม และวันนี้คุณวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท เสริมสร้างฯ กำลังชวน EXIM BANK ไปลงทุนที่ประเทศมองโกเลีย เราจะไปสร้าง BCG Landscape ที่มองโกเลียด้วยกัน และนี่ก็คือภาพที่ EXIM BANK ไปเปิดสำนักงานผู้แทนที่ประเทศเวียดนาม”
จากนั้นก็เดินทางไปเยี่ยมชมกิจการห้างค้าส่งและค้าปลีก MM Mega Market ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เอ็มเอ็ม เมก้ามาร์เก็ต เวียดนาม จำกัด ในกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น โดยมี TCC Land International Pte. Ltd. ในเครือบริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ถือหุ้น โดย EXIM BANK กำหนดเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่จะต้องจัดมุมที่เราเรียกว่า SMEs corner โดยบริษัท เอ็มเอ็มฯ มีหน้าที่สนุบสนุนโรงงานผลิตข้าวถุง หรือ “ข้าวแสนดี” ซึ่งเป็น SMEs จากประเทศไทยมีโรงงานผลิตอยู่บริเวณเชิงสะพานพระราม 3 นำสินค้าของ SMEs ไทยไปจัดทำ display โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นี่คือเงื่อนไขเดียวที่ EXIM BANK ขอจากทุนไทยขนาดใหญ่ คือ ช่วยกันสร้าง SMEs ไทยให้เกิดขึ้น และมีที่ยืนอย่างอบอุ่น เพราะ SMEs ไทยกลัวความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แต่ถ้า SMEs ไทยไปกับบริษัทแม่ของเขา ก็จะเติบโตได้
ทุกๆ อย่างเป็นไปได้ และความสำเร็จจะดีที่สุด ถ้าเราสามารถแชร์ความสำเร็จ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำได้ขอบคุณครับ