ThaiPublica > เกาะกระแส > สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย : Future Together อนาคตเกษตรกรไทยต้อง “Paradigm Shift”

สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย : Future Together อนาคตเกษตรกรไทยต้อง “Paradigm Shift”

15 มิถุนายน 2022


สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้จัดงานสัมมนา “สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย” ในวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 12 โดยมี ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ และเสวนาหัวข้อ “Future Together” โดยมีวิทยากรคือ นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP รองประธานกรรมการ หอการค้าการค้าไทย ประธานคณะกรรมการพัฒนการศึกษา หอการค้าไทย, ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, นายโจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการอำนวยการ บริษัท Strategy 613 จำกัด และ ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลิสเซินฟิลด์ อิงค์(Listen Field Inc.)

ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลิสเซินฟิลด์ อิงค์(Listen Field Inc.)

  • “เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าแบงก์ชาติ แนะสร้าง 5 ภูมิคุ้มกันประเทศไทย
  • สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย: Future Together ต้อง “รื้อและล้างไพ่” ทำใหม่ที่ไม่ใช่แบบเดิม
  • สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย : Future Together การศึกษาเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน
  • สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย : Future Together แบงก์รัฐต้องก้าวออกจากกรอบ ไปสู่ “Beyond Banking”
  • สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย Future Together อนาคตเกษตรกรไทยต้อง paradigm shift ทุกมิติ เปลี่ยนจากเกษตรดั้งเดิมลดใช้สารเคมีเป็นการทำเกษตรแบบ regenerative farming ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลบริหารจัดการฟาร์ม ขณะที่รัฐบาลต้องเลิกเยียวยาแต่ลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น หมดยุคเกษตรแบบเดิม

    การเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรถือเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่จะต้องเดินไปในอนาคต แต่จะเปลี่ยนแปลงอยางไร ภายในงาน “สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย” ที่จัดขึ้นในโอกาสที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าก้าวสู่ปีที่ 12 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ได้จัดเสวนาพิเศษบนโจทย์ใหญ่ “Future Together” โดยมี ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลิสเซินฟิลด์ อิงค์มาบอกถึงอนาคตภาคเกษตรไทยต้องเดินไปในทิศทางไหน

    ดร.รัสรินทร์ บอกว่า ภาคการเกษตรของไทย ต้อง paradigm shift และมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างจริงจัง นั่นคืออนาคตเกษตรกรไทย

    แล้วทำไมภาคการเกษตรของไทยต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือ paradigm shift ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างจริงจัง

    ดร.รัสรินทร์ ได้ยกเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510-2514) เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งระบุเอาไว้ชัดเจนว่าต้องยกระดับเกษตรกร โดยต้องทำให้เกษตรกรมีผลผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ต้องยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

    “แต่ผ่านมาแล้ว 50 ปีปัญหาทุกอย่างยังเหมือนเดิม ถ้า paradigm shift หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วเรายังดำเนินการแบบเดิม ผลที่ได้จะยังเหมือนเดิม”

    ปรับมุมมอง ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนภาคเกษตร

    แล้วภาคเกษตรต้องมี paradigm shift อย่างไร ต้องใช้เทคโนโลยีแบบไหน ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้

    ดร.รัสรินทร์ บอกว่า สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนคือมุมมองในเรื่องของข้อมูล และการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในภาคเกษตรสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งความเชื่อมั่นนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัทลิสเซินฟิลด์ เพราะต้องการทำให้ทุกคนเห็นภาพการเกิดขึ้นของมุมมองและความคิดใหม่ ในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้

    ด้วยความเชื่อมั่นว่า ข้อมูลและเทคโนโลยีสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับภาคเกษตรกรรมได้ทำให้เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ดร.รัสรินทร์และอาจารย์ชาวญี่ปุ่นเริ่มก่อตั้งบริษัท ได้เลือกใช้วันที่ 5 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลกเป็นวันเริ่มต้น

    ดร.รัสรินทร์ เล่าว่า สิ่งที่เธอมั่นใจว่าแนวทางของบริษัทน่าจะเป็นสะพานสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเกษตรกรในอนาคตได้ เกิดจากเรียนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยซิบุ ประเทศญี่ปุ่น โดยได้ทำงานวิจัยที่ชื่อว่า ATI Indication Platform for Economic Model ซึ่งอาจจะฟังดูยุ่งยาก วกวน แต่งานวิจัยชิ้นนี้เหมือนการสร้างถนนให้กับข้อมูลภาคเกษตร ข้อมูลดิน ข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลพันธุ์พืช และข้อมูลในเรื่องของการบริหารจัดการฟาร์ม

    ถนนเส้นนี้จะพาคนที่ขึ้นมาเดินไปถึงจุดหมายปลายทางได้ เนื่องจากทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำเอาข้อมูลดิน ข้อมูลสภาพอากาศ ไปใช้ประโยชน์ได้ และไม่ได้เพียงเกษตรกรเท่านั้น หากยังสามารถไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ซื้อ หรือกระทั่งผู้จัดทำนโยบายก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปตัดสินใจได้

    “งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทุนวิจัยจากรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่เรียนจนเรียนจบเลย โดยคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเป็นผู้อนุมัติทุน และเมื่อเรียนจบกระทรวงเกษตรของรัฐบาลญี่ปุ่นนำงานวิจัยชิ้นนี้ไปบรรจุเป็นนโยบายการปฏิรูปภาคเกษตรของประเทศญี่ปุ่น”

    ดร.รัสรินทร์ บอกว่า การที่รัฐบาลญี่ปุ่นนำเอางานวิจัยไปสู่ระดับนโยบายทำให้เราเชื่อมันว่า สิ่งที่ได้ดำเนินการเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรได้ ซึ่งเมื่อต้นปี 2564 บริษัทคูโบต้าได้เข้ามาถือหุ้น โดยมีเป้าหมายร่วมกันว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริง สามารถทำให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากที่สุด

    “เราไม่ได้ทำงานแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังก้าวไกล โดยดำเนินการ 6 ประเทศ มีออฟฟิศที่ญี่ปุ่นและไทย ซึ่งเทคโนโลยีของเราได้รับการยอมรับในเรื่องการทำงานจริง โดยในปี 2019 ได้รับรางวัลจากยูเอ็นดีพี ที่รับรองว่าเทคโนโลยีของเราทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ได้จริง”

    ตัวอย่างการทำงานร่วมกันระหว่างการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี กับการทำงานภาคพื้นที่ของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครนายก ศรีสะเกษ อุบลราชธานี โดยการนำเอาเทคโนโลยีประเมินวิเคราะห์ร่วมกับการทำเกษตรอินทรีย์ทำให้ช่วยลดคาร์บอนฯ ได้ 40 % จนได้รับรางวัล Japan Agriculture Society of Innovation จากรัฐบาลญี่ปุ่น

    “เราทำวิจัยเชิงลึกที่เป็นสะพานเชื่อมสู่ชุมชน โดยการนำเอาข้อมูล การวิเคราะห์การเจริญเติบโตของพืช และการนำข้อมูลดาวเทียมมาวิเคราะห์ร่วมกันกับเกษตรกร เพื่อให้เกิดการนำเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะเกษตรกรแต่ รวมถึง supply chain หรือห่วงโซ่ทางการผลิตที่เกี่ยวข้องในภาคเกษตรอีกด้วย”

    เกษตรไทยยังเหลื่อมล้ำในการใช้เทคโนโลยี

    ตลอดระยะเวลาการทำงานร่วมกับเกษตรกรไทย ดร.รัสรินทร์ เห็นความแตกต่างที่น่าตกใจ คือ ความเหลื่อมล้ำในการใช้เทคโนโลยีภาคเกษตร มีเกษตรกรจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ จากจุดนี้เองที่เห็นว่า ในฐานะนักวิจัย จะสามารถเป็นกลไกลหนึ่งที่เข้ามามีส่วนร่วม และสามารถเป็นกลไกในการลดความเหลื่อมล้ำนี้ได้ จนผันตัวเองมาเป็นผู้บริหารสตาร์ทอัป

    นอกจากนี้ ดร.รัสรินทร์ ยังเห็นความแตกต่างระหว่างเกษตรกรไทยและเกษตรกรญี่ปุ่น

    โดยสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ มูลค่าผลผลิตต่อพื้นที่ของไทยน้อยกว่าของญี่ปุ่นประมาณ 8.5 เท่า โดยเกษตรกรไทยทำเกษตรในพื้นที่ 2 แสนตารางกิโลเมตร แต่มีมูลค่าการผลิต 2.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นทำเกษตรในพื้นที่มีขนาดเล็กกว่าประมาณ 4 หมื่นตารางกิโลเมตร แต่ได้ผลผลิตมูลค่า 4.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

    ความแตกต่างทางด้านมูลค่าการผลิตมาจากการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตร ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกกำลังพูดกันถึงเรื่องของการใช้เทคโนโลยี แบบ precision agriculture บางคนให้ความหมายว่าเกษตรแม่นยำ

    แต่ในความหมายของ ดร.รัสรินทร์ precision agriculture หมายถึงการใช้เทคโนโลยีและความใส่ใจประกอบกัน โดยได้ยกตัวอย่างที่ถือเป็นแรงบันดาลใจในการอธิบายในเรื่องนี้ผ่านการทำงานร่วมกับเกษตรกร 2 ราย

    รายแรกเป็นเกษตรกรชาวญี่ปุ่นที่เมืองโอบิฮิโระ ฮอกไกโด ซึ่งดูแลพื้นที่ประมาณ 50 เฮกเตอร์ แต่สามารถสร้างรายได้ต่อปีมากกว่า 50 ล้านเยน สิ่งที่เกษตรกรชาวญี่ปุ่นคนนี้สนใจคือ เขาใช้เทคโนโลยีในการประเมินอัตราการเจริญเติบโตของของพืชของตนเอง และมีการนำเอาอัตราการเจริญเติบโตไปวางแผนการให้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับอัตราการเจริญเติบโต ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใส่ปุ๋ย และเป็นกลไกสำคัญซึ่งทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำเกษตรลงไปอีกด้วย

    ส่วนเกษตรกรอีกรายหนึ่ง เป็นเกษตรกรชาวไทยชาวจังหวัดศรีสะเกษ ชื่อพ่อปาติ ที่แม้จะอายุ 70 กว่าปีแต่ไม่หยุดเรียนรู้ โดยการนำเอา AI มาใช้ในการปลูกข้าวอินทรีย์ มีการใช้เทคโนโลยีในการบันทึกข้อมูล การนำเอาข้อมูลสภาพอากาศ และข้อมูลจากดาวเทียมมาวิเคราะห์

    “เราทำร่วมกันคือ พ่อปาติอยู่ในพื้นที่ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแปลง ส่วนของเราจะเห็นภาพรวม โดยนำข้อมูลจากดาวเทียมมาวิเคราะห์ให้พ่อปาติมองจากข้างบนลงล่าง เพื่อให้เห็นว่าพื้นที่ไหนมีปัญหาบ้าง พื้นที่ไหนบ้างที่อัตราการเจริญเติบโตไม่ดี พ่อปาติจะนำข้อมูลไปปรับพื้นดินให้มีความเรียบ ให้มีการแตกกอได้ดี และให้ปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น”

    สิ่งที่พ่อปาติทำ ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับโลก เช่น มาตรฐาน IFOAM และกว่า 80% ข้าวอินทรีย์ของพ่อปาติได้ส่งออกไปทั่วโลกเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่เพียงเทคโนโลยีที่เป็นกลไกเพิ่มผลผลิต แต่ความใส่ใจในทุกมิติที่เกี่ยวข้องทั้งการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี และนำไปใช้อย่างใส่ใจสม่ำเสมอ สามารถเปลี่ยนเกษตรกรให้มีรายได้มากขึ้น

    ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนเกษตรยุคสารเคมี

    ต้องยอมรับว่า การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ และความใส่ใจในเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ สร้างความเปลี่ยนแปลงได้..

    โดยในมุมของประเทศรัฐบาล ถึงเวลาที่ต้องให้ความสนใจในเรื่องนี้ และต้องเข้าใจว่า การลงทุนเทคโนโลยีไม่สามารถจะหวังผลให้ลงทุนวันนี้แล้วได้ผลในอีก 3 เดือน แต่ต้องคำนึงผลในระยะยาว ว่าต้องดำเนินการอย่างไรให้สัมฤทธิ์ผลได้

    ดร.รัสรินทร์ บอกว่า ในทั่วโลกกำลังพูดถึง precision agriculture ที่มีความก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก โดยในมุมมองของเธอมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ 2 ส่วน คือ ส่วนแรก นำเอา precision agriculture มาใช้ในกระบวนการผลิต โดยนำ multispectral vision มาใช้ทำให้กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดปัจจัยการผลิตและลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนลง

    ส่วนที่สองนำเอา precision agriculture มาใช้เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยการนำเอา AI มาใช้ร่วมกับการอ่านดีเอ็นเอของพืช ซึ่งเทคโนโลยีนี้เรียกว่า genomic selection

    ดร.รัสรินทร์ บอกว่า เรามาสู่ยุคเปลี่ยนผ่านไปอีกขั้นตอนหนึ่งจากการใช้สารเคมี ที่นำเอาปุ๋ยเคมีมาเพิ่มผลผลิต แต่ตอนนี้เราเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า regennetive farming คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทำให้คุณภาพผลิตดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันต้องฟื้นฟูดินและสิ่งแวดล้อมไปด้วย และสินค้าที่ผลิตได้ต้องระบุแหล่งที่มาในการกระบวนการผลิตว่ามีคาร์บอนปริมาณเท่าไหร่ นำเอาเทคโนโลยีอะไรมาใช้ นั่นหมายถึงการเปลี่ยนผ่านจาก sustainable farming มาเป็น regennetive farming ซึ่งทั่วโลกหันกลับมาสนใจในเรื่องของสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ในปี 2026 สหภาพยุโรปจะออกกฎให้ระบุปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสินค้า

    ดร.รัสรินทร์ กล่าวว่า….

    “ในยุคนี้ เราต้องส่งออกผลผลิตทางการเกษตร ต้องระบุแหล่งที่มาและกระบวนการผลิต ว่าทำให้เกิดคาร์บอนในปริมาณเท่าไหร่ เราต้องเตรียมรับมือเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค regenerative farming โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่ปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น เช่น ราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น 200% เกษตรกรไม่สามารถใช้ปุ๋ยในปริมาณเท่าเดิมแล้วหวังผลที่จะได้ผลผลิตเท่าเดิม เพราะว่ายิ่งใส่ปุ๋ยไปมากเท่าไหรก็คือต้นทุนการผลิตจะเพิ่มมากขึ้น”

    ถึงเวลาเปลี่ยนเงินเยียวยาลงทุนภาคเกษตร

    ดร.รัสรินทร์ มองว่า การใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญสำหรับภาคเกษตรในอนาคต โดยในส่วนของบริษัทลิสเซินฟิลด์ ได้นำเอาเทคโนโลยีที่เรียกว่า precision agriculture ในกระบวนการผลิตเพื่อช่วยเกษตรกร การประเมินผลผลิต สภาพอากาศ และฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป การประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ รวมถึงการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมมาประเมินว่าพืชในแปลงมีอัตราการเจริญเติบโตเป็นอย่างไร ต้องปรับปรุงอย่างไร เพื่อปรับเปลี่ยนการทำเกษตรให้เพิ่มผลิตได้

    นอกจากนี้ ยังให้ความใส่ใจกับการพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาได้ทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อวิจัยพัฒนาพันธุ์พืช โดยประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญในเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมของบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้สามารถใช้เทคโนโลยีทัดเทียมกับบริษัทขนาดใหญ่ โดยการพัฒนาพันธุ์ด้วยเทคโนโลยี genomic selection เพื่อตรวจสอบยีนว่าลักษณะพันธุกรรมเหล่านี้จะส่งต่อไปยังรุ่นลูกอย่างไร

    “เราทำการวิจัย แพลตฟอร์ม เพื่อจัดทำข้อมูล พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่นำมาพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสม เพราะเราไม่สามารถใช้รูปแบบการพัฒนาสายพันธุ์แบบเดิมที่ใช้ระยะเวลายาวนาน แต่ genomic selection ช่วยย่นระยะเวลาในการพัฒนาสายพันธุ์และเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่ปลูกได้”

    เช่น ที่ญี่ปุ่นได้วิจัยพบว่า ผู้บริโภคชอบส้มที่ปอกเปลือกง่าย แต่จะทำอย่างไรให้สามารถพัฒนาสายพันธุ์นั้นขึ้นมาได้ ญี่ปุ่นได้นำเอาเทคโนโลยี genomic selection มาพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมในเวลา 6-7 ปี จากวิธีการพัฒนาสายพันธุ์แบบเดิมต้องใช้เวลา 9-10 ปี

    ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญคือการฟื้นฟูดิน เพราะจากการสำรวจดินในจังหวุดสุพรรณบุรี 200 ตัวอย่างเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าดินคุณภาพอินทรีย์ต่ำจนหมดโอกาสในการแข่งขันด้านเกษตรที่จะพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพที่ดีได้ จึงถึงเวลาที่ไทยจะต้องพลิกฟื้นคุณภาพดินอย่างจริงจังเน้นการใช้เทคโนโลยี regennetive farming ให้ความสำคัญในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทุกภาคส่วน และดิน น้ำ อากาศ ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกนั่นจึงจะถือว่า future ของภาคการเกษตรได้

    นอกจากนี้…

    ประไทยต้องลงทุนเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ต้องเปลี่ยนเงินเยียววยาบางส่วนมาลงทุนเทคโนโลยี ให้เกษตรกรมีศักยภาพในการแข่งขัน ลงทุนปรับเปลี่ยนดินให้มีคุณภาพเพื่อทำให้ผลผลิตดีขึ้น และต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดในเรื่องมาตรการจูงใจของเกษตรกร จากเดิมที่สนับสนุนแบบบอนไซ ไม่ได้ทำให้เกษตรกรมีศักยภาพ แต่ต้องมีมาตรการจูงใจทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพต่อผลผลิตอย่างแท้จริง

    นอกจากนี้ ต้องพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ เพื่อทำให้เหมาะสมกับพื้นมีศักยภาพในการเพาะปลูก มีผลิตผลที่ดี มีจุดเด่น และมีอัตลักษณ์ของสินค้าในแต่ละพื้นที่

    ในส่วนของผู้บริโภคทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกษตรกรไทยจะทำอย่างไรให้กระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นความท้าทายของเกษตรกรไทยที่ต้องเปลี่ยนแปลงในทุกมิติโดยการนำเอาเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้