ThaiPublica > คอลัมน์ > เงินเฟ้อมาจากไหนและขึ้นดอกเบี้ย ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้หรือ?

เงินเฟ้อมาจากไหนและขึ้นดอกเบี้ย ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้หรือ?

15 มิถุนายน 2022


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Pipat Luengnaruemitchai (https://www.facebook.com/lpipat)

เศรษฐกิจโลกกำลังเจอปัญหาที่ใหญ่หลวง จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ขึ้นไม่หยุด และล่าสุดเงินเฟ้อสหรัฐปรับขึ้นไปถึง 8.6% สูงสุดในรอบ 40 ปี ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อน และไม่ปรับลดลงอย่างที่หลายฝ่ายคาดไว้ ทำเอาตลาดตื่นตระหนกตกใจ เพราะคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น (อาจจะเห็น 0.75% ก็ได้) หนักขึ้นกว่าที่คาด (ดอกเบี้ยอาจจะไปถึง 4% หรือมากกว่า) จนอาจจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้(ของไทยเองก็ตระหนกพอกัน จนแบงก์ชาติเปลี่ยนสัญญาณ น่าจะเห็นดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น)

น่าลองมาดูกันนะครับว่า “เงินเฟ้อ” ในปัจจุบัน มาจากไหน และการขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างไร

เงินเฟ้อมาจากไหน?

ถ้าดูแบบกว้างๆเงินเฟ้อในสหรัฐและที่อื่นๆรวมถึงเมืองไทยมาจากสี่ส่วนใหญ่ๆ

1.คือ ราคาสินค้าที่ปรับขึ้นจากการเปิดเมือง ที่อุปสงค์ปรับเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณสินค้ามีไม่พอ เพราะหาไม่ได้ หรือสินค้าขาดแคลนจากการปิดเมือง เช่น ราคารถเก่า ค่าโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน ที่ปรับเพิ่มขึ้นไปสูงมาก แต่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นบ้าง

2. คือ ราคาน้ำมันและราคาพลังงาน ที่ปรับสูงขึ้นจากภาวะสงคราม และมาตรการคว่ำบาตรของยุโรป ที่มีต่อรัสเซีย ที่ทำให้ปริมาณน้ำมันโลกหายไปบางส่วน และภาวะสงครามก็ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น เพราะกระทบการส่งออกอาหารและปุ๋ยที่สำคัญด้วย

ส่วนหนึ่งของปัญหาคือสิ่งที่หลายคนเรียกว่า “Greenflation” หรือเงินเฟ้อที่เกิดจากความพยายามลดการใช้พลังงานฟอสซิลเพื่อแก้ปัญหาโรคร้อน ทำให้บริษัทน้ำมันขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตแม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับขึ้น เพราะไม่มั่นใจในอนาคต หรือที่บางคนเรียกว่า preemptive underinvestment ทำให้ปัญหาราคาน้ำมันค้างสูง

ต้องยอมรับว่า ปัจจัยราคาน้ำมันนี้เป็นปัจจัยที่คาดเดาได้ยาก และมีความผันผวนสูงตามสถานการณ์ และมีผลต่อเงินเฟ้อมาก

3.คือ ปัญหา supply disruption ทั้งที่เกิดจากปัญหาระยะสั้น เช่น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เรือ คนขับรถบรรทุก ปัญหา “ชิป” หาย zero Covid policy ในจีน ต้นทุนการผลิตต่างๆที่ทำให้สินค้าแพงขึ้น รวมถึงราคาบ้าน ที่แรับขึ้นแม้ยอดขายเริ่มลดลง

และปัญหาระยะยาว เช่น ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ โครงสร้างประชากร และความมั่นคงของ supply chain ที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต จนนำไปสู่ต้นทุนที่สูงขึ้น

และ 4. คือ ปัญหาด้านอุปสงค์ ที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจร้อนแรงที่จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานที่ตึงตัว แรงกดดันจากค่าจ้างที่ปรับสูงขึ้น การคาดการณ์เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเมื่อเงินเฟ้อค้างสูงเป็นเวลานาน และ “narrative” ของเงินเฟ้อทำให้ผู้ประกอบการเริ่มส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปหาผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น

สังเกตว่า สาเหตุของเงินเฟ้อส่วนใหญ่ในขณะนี้ “มาจากด้านต้นทุน” เสียส่วนใหญ่ (ข้อ 1-3) แน่นอนว่านโยบายการเงินแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย

ขึ้นดอกเบี้ยไปไม่ได้ช่วยทำให้สงครามจบ ขึ้นดอกเบี้ยไป ไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันลดลง ไม่ได้ทำให้ผลิตชิปได้เร็วขึ้น

และผลจากการขึ้นดอกเบี้ย อาจจะไม่ได้กระทบเศรษฐกิจไปอีกหลายไตรมาส แปลว่าเราอาจจะไม่เห็นผลของการขึ้นดอกเบี้ยไปอีกสักพักเลย

  • KKP Research ชี้โลกเปลี่ยน ดันเงินเฟ้อสูงยาวหลายปี ศก.ไทยเสี่ยงซึมยาว
  • “เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าแบงก์ชาติ แนะสร้าง 5 ภูมิคุ้มกันประเทศไทย
  • แล้วขึ้นดอกเบี้ยไปทำไม?

    แม้เงินเฟ้อจะมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากฝั่งต้นทุน แต่ปัญหาที่ธนาคารกลางไม่อยากให้เกิดเลย คือภาวะที่เงินเฟ้อสูงเป็นเวลานาน แล้วนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อติดลมบน คนส่วนใหญ่คาดว่าเงินเฟ้อจะสูงไปเรื่อยๆ และเริ่มปรับราคาสินค้า ค่าจ้าง ค่าเช่าบ้าน ตามการคาดการณ์เงินเฟ้อของเขา

    ลองนึกภาพว่า ถ้าเงินเฟ้อแทนที่จะเป็นประมาณ 2% ต่อปี กลายเป็น 7-8% ต่อปีไปนานๆ ต่อไปใครจะปรับค่าจ้าง ค่าเช่าบ้าน ราคาสินค้า ก็จะบวกเงินเฟ้อเข้าไป และพออยู่ในภาวะเงินเฟ้อสูง คนจะปรับราคาสินค้าตามต้นทุน แบบไม่ตะขิดตะขวงใจ เพราะใครๆเขาก็ปรับกัน ทำให้ราคาสินค้าขึ้นไม่หยุด

    อาจต้องยอมให้เกิดเศรษฐกิจชะลอเพื่อป้องกันเงินเฟ้อค้าง

    การปรับขึ้นดอกเบี้ยและการส่งสัญญาณจากธนาคารกลางเป็นการถอนการกระตุ้นที่ไม่จำเป็นออกไป รักษาความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางในการควบคุมเงินเฟ้อ ยึดโยงการคาดการเงินเฟ้อ และอาจต้องปรับนโยบายให้ไปแตะเบรกเศรษฐกิจหนักๆด้วย เพื่อปรามปัญหาจากฝั่งอุปสงค์ (ข้อ 4) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไม่ให้เข้าไปร่วมผสมโรงกับปัญหาจากฝั่งต้นทุน (ข้อ 1-3)

    และเป็นความท้าทายในภาวะที่เงินเฟ้อขึ้นตอนเศรษฐกิจไม่ดี (stagflation) ที่การแตะเบรกอาจจะทำให้เกิดความเดือดร้อน ทั้งเงินเฟ้อที่ยังสูงแก้ยาก และเศรษฐกิจแผ่วลงจนเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession)

    จากประสบการณ์ในอดีตธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยทีไรพาเศรษฐกิจเข้าสู่ recession เกือบทุกรอบ แต่ก็อาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก

    ประสบการณ์ยุคปี 1970-80 สอนเราว่า แม้เงินเฟ้อจะมาจากต้นทุน แต่ถ้าทิ้งไว้นานๆ จนการคาดการณ์เงินเฟ้อไม่มีจุดยึดโยง (เป้า 2% ไม่มีความหมายอะไร) เงินเฟ้อจะค้างสูง เอาลงยาก และสุดท้ายอาจจะต้องใช้ยาแรงที่กระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าถ้ายอมเจ็บแต่เนิ่นๆ

    สรุปคือ แม้การขึ้นดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งต้นทุนโดยตรง แต่ก็มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายและส่งสัญญาณให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อติดลมบน และการคาดการณ์เงินเฟ้อหลุดจากกรอบไปนานๆ เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางเอง

    สถานการณ์ปัจจุบันเป็นความท้าทาย ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องติดตามสถานการณ์ สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ และมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

    ประชาชนและนักลงทุนคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมมาตรการรับมือกันด้วยครับ

    หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/lpipat