ThaiPublica > เกาะกระแส > วาระซ่อมกรุงเทพ : งบประมาณ กทม. ปี’66 ‘ชัชชาติ’ ทำ 214 โครงการได้แค่ไหน ?

วาระซ่อมกรุงเทพ : งบประมาณ กทม. ปี’66 ‘ชัชชาติ’ ทำ 214 โครงการได้แค่ไหน ?

4 มิถุนายน 2022


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

นับจากคณะกรรมการเลือกตั้ง รับรองผลอย่างเป็นทางการ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ที่ได้รับคะแนนเสียงจากชาวกทม.ท่วมท้นเป็นประวัติศาสตร์ 1,386,215 คะแนน เป็นผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร คนที่ 17

หลังจากวันที่ 22 พ.ค 2565 คนกรุงเทพได้มอบความไว้วางใจ แบบที่ ‘ชัชชาติ’ เองบอกว่า เป็นคำสั่งของประชาชน ตั้งแต่วันนั้น ‘ชัชชาติ’ ลงพื้นที่ รับฟังปัญหาประชาชนแบบใกล้ชิดต่อเนื่อง

การลงพื้นที่ ต่อเนืองกว่า 2 ปี นับจากวันที่ประกาศจะลงรับสมัครเป็นผู้ว่า กทมฯ ทำให้ ‘ชัชชาติ’ มีนโยบายที่ละเอียดและแตกต่างนโยบายภาพรวมที่เรียกว่า 9 ด้าน 9 ดี ถ้าทำครบ จะทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่ ตามแคมเปญ “สร้างกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม” หรือ Better Bangkok

“สิ่งที่ผมอยากเห็น คือ กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ สำหรับทุกคน” คือ ประโยค ที่ ‘ชัชชาติ’ ใช้ในทุกเวทีในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา

214 โครงการ เส้นเลือดฝอยใต้งบฯปี’65

การเดินหน้า 214 โครงการ ภายใต้นโยบายใหญ่ 9 ด้าน 9 ดี จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หลังกกต. ประกาศ รับรองผลเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ซึ่งถือว่าเกือบจะสิ้นปีงบประมาณ 2565 หรือเหลือเวลาประมาณ 4 เดือน ที่สิ้นสุดในเดือนกันยายน 2565

แม้จะบอกว่าโครงการทั้งหมดเป็นเส้นเลือดฝอย ที่ไม่มีโครงการขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนมากก็ตาม มาดูกันว่า 214 โครงการ ภานใต้กรอบนโยบายใหญ่ 9 ด้าน 9 ดี ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

1.ปลอดภัยดี คือการรับเรื่องร้องเรียนจุดเสี่ยง ถ้ามี แก้ไขทันที มีแผนดำเนินการทั้งหมด 34 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการกวดขันวินัยจราจร แต่หากจะมีการลงทุนจะเป็นเรื่องของการส่องสว่าง ที่ต้องติดกล้อง CCTV

2.สุขภาพดี ยกระดับศูนย์สาธารณสุข คลินิกโรคคนเมือง มีแผนดำเนินการทั้งหมด 34 โครงการ ที่จะต้องใช้งบประมาณ คือการสร้างโรงพยาบาลในทุกเขต ให้ได้ 10,000 เตียง ,แจกผ้าอนามัยฟรีกับผู้หญิง เป็นต้น

3.สิ่งแวดล้อมดี เช่น การปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ประกาศสงครามกับฝุ่น เปลี่ยนขยะเป็นรายได้ มีแผนดำเนินการทั้งหมด 34 โครงการ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กที่สอดคล้องไปกับแผนการจัดการของแต่ละสำนักงานเขต เช่น การสร้างสวน 15 นาที หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อหาบเร่แผงลอย

4.เรียนดี คืนครูให้กับโรงเรียน เปิดโรงเรียนเป็นพื้นที่ให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์วันเสาร์-อาทิตย์มีทั้งหมด 29 โครงการ

5. บริหารจัดการดี มีแผนดำเนินการทั้งหมด 31 โครงการ

6. เดินทางดี กทม.ต้องเป็นศูนย์กลางดำเนินการควบคุมไฟจราจร ดูเส้นทางรถเมล์ จำนวน 42 โครงการ ซึ่งโครงการที่อาจจะต้องใช้งบประมาณคือการทำ WIFI ฟรีให้กับโรงเรียน และการเรียนฟรี ไม่มีเก็บเพิ่ม

7. โครงสร้างดี แก้ไขผังเมือง ทำโครงสร้างตามผังเมืองให้ทัน จำนวน 34 โครงการ ที่อาจจะต้องใช้งบประมาณ คือการจัดทำโรงบำบัดน้ำเสียชุมชน ส่วนโครงการที่เหลือเป็นเรื่องงานซ่อมแซมของระบบเดิมที่มีอยู่ มากกว่าการสร้างใหม่

8. เศรษฐกิจดี เป็นเรื่องใหญ่ กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำตัวเป็น “ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน” จำนวน 30 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพมากกว่าการลงทุนที่จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

9. สร้างสรรค์ดี เปิดพื้นที่ให้เด็กรุ่นใหม่ทำงาน สร้างธุรกิจใหม่ ๆ จำนวน 20 โครงการ

นอกจากนี้ยังมี หัวข้อที่เกี่ยวข้อง เพิ่มขึ้นมาอีก เช่น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับ แสงสว่าง 2 โครงการ พื้นที่สาธารณะ 12 โครงการ ขนส่งสาธารณะ 10 โครงการ อาชญากรรม 5 โครงการ การให้บริการของ กทม.7 โคงการ และ LGBTQIA 4 โครงการ

โดยสรุปภาพรวมนโยบายของ ‘ชัชชาติ’ จึงเป็นเรื่องของการพัฒนา ซ่อมแซม และบริหารจัดการระเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพมากขึ้น ตามแนวทางที่บอกมาตลอดว่า จะะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้บ้าน ใกล้ตัวของประชาชน หรือที่เรียกว่า “ปัญหาเส้นเลือดฝอย” มากกว่าคิดถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์)

งบประมาณ ปี’65 เหลือเท่าไหร่?

งบรายจ่ายของ กทม. ประจำปีงบประมาณ 2565 เหลือเท่าไหร่ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รอง อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. โพสต์เฟซบุ๊ก ‘สามารถ ราชพลสิทธิ์’ เมื่อวันที่ 31 พ.ค ที่ผ่านมา ระบุว่า

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ของ กทม. มีทั้งหมด 78,979 ล้านบาท ประกอบด้วยงบ 11 ประเภท เช่น
– งบบุคลากร ซึ่งเป็นรายจ่ายที่กําหนดให้จ่ายเพื่อการบริหารงานบุคคล
– งบดําเนินงาน ซึ่งเป็นรายจ่ายที่กําหนดให้จ่ายเพื่อการบริหารงานประจํา ได้แก่รายจ่ายที่จ่ายในลักษณะค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุและค่าสาธารณูปโภค
– งบลงทุน ซึ่งเป็นรายจ่ายที่กําหนดให้จ่ายเพื่อการลงทุน ได้แก่รายจ่ายที่จ่ายในลักษณะค่าครุภัณฑ์ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
– งบเงินอุดหนุน ซึ่งเป็นรายจ่ายที่กําหนดให้จ่ายเป็นค่าบํารุงหรือเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการดําเนินงานให้แก่หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรอื่นใดที่ขอรับเงินอุดหนุน และ
– งบกลาง ซึ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้เป็นรายจ่ายของส่วนกลางมิได้กําหนดให้เป็นของหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดโดยเฉพาะ เป็นต้น

อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ยังระบุว่า จากงบทั้ง 11 ประเภท พบว่างบบุคลากรสูงที่สุดคือ 21,071 ล้านบาท คิดเป็น 26.68% ตามด้วยงบโครงการต่อเนื่อง 14,997 ล้านบาท คิดเป็น 18.99% และงบกลาง 14,417 ล้านบาท คิดเป็น 18.26%

ขณะที่งบลงทุนรวมทั้งหมด 14,222 ล้านบาท คิดเป็น 18.01% โดยรวมมาจากงบฯ 4 ประเภท ดังนี้

    – นโยบายผู้บริหาร + โครงการใหม่ (เฉพาะที่ใช้ลงทุน) 263 ล้านบาท
    – ค่าครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง (รายการปีเดียว) 1,392 ล้านบาท
    – โครงการต่อเนื่อง (เฉพาะงบลงทุน) ประกอบด้วย งบกทม. 8,815 ล้านบาท และเงินอุดหนุนรัฐบาล 989 ล้านบาท
    – งบกลาง (เฉพาะที่ใช้ลงทุน) 2,760 ล้านบาท

แล้วงบลงทุนเหลือให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ใช้เท่าไหร่? นายสามารถบอกว่าจากงบประมาณการลงทุนทั้งหมด 14,222 ล้านบาท พบว่ามีเหลือใช้ในปีงบประมาณ 2565 แค่เพียง 94 ล้านบาทเท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2565) ซึ่งเป็นเงินจากงบกลาง ดังนี้

– เงินสำรองจ่ายทั่วไป กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประมาณ 67 ล้านบาท
– เงินสำรองจ่ายทั่วไป กรณีค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนากรุงเทพฯ ประมาณ 27 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นายสามารถระบุว่า งบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2565 ที่ ‘ชัชชาติ’ สามารถใช้ดำเนินงานตามนโยบายที่ใช้หาเสียงเหลือเพียง 94 ล้านบาทเท่านั้น ดูอาจไม่เพียงพอ

แต่กระนั้นก็ตาม หากพิจารณาจากงบประมาณ ปี 2565 ซึ่งเหลือเวลาในการดำเนินการตามปีงบประมาณอีกไม่เกิน 4 เดือน โดยสิ้นสุดปีงบประมาณ 30 กันยายน 2565 ‘ชัชชาติ’ อาจยังไม่สามารถบริหารจัดการงบประมาณ เพื่อดำเนินการให้ได้ตามนโยบาย 214 โครงการ แต่หากเป็นการดำเนินการนโยบาย แบบเน้นเส้นเลือดฝอยที่ใช้งบประมาณไม่มาก อาจจะยังบริหารจัดการได้ภายใต้งบประมาณที่ถูกจัดสรรไปแล้ว

ขณะที่นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่างบประมาณประจำปี 2565 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีประมาณเกือบ 80,000 ล้านบาท ขณะนี้เหลืองบประมาณประจำปี 2565 ที่เป็นเงินสะสมที่สามารถใช้ได้อยู่ 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของงบกลางที่ยังมีอยู่อีกประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่มีอยู่เพียงพอสำหรับการทำงาน ก่อนเข้าสู่การพิจารณางบประมาณก้อนใหม่ ซึ่งเป็นของปีงบประมาณ 2566 ยืนยันว่าเพียงพออยู่แล้ว

รื้องบประมาณปี66 เดินหน้า 214โครงการ ?

การผลักดันนโยบายภายใต้งบประมาณ ปี 2566 ยังสามารถทำได้หรือไม่ เป็นคำถามที่หลายคนสรุปแล้วว่า อาจจะยาก หรือโอกาสน้อย แต่ในความเป็นจริงตามกรอบระยะเวลาดำเนินการของ “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร” ยังมีโอกาสการในปรับแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย

ทั้งนี้หากพิจารณาการจัดทำงบประมาณของ กทม. แบ่งออกเป็น 2 ก้อน คือการพิจารณางบประมาณในส่วนรัฐบาลสนับสนุน ที่เสนอภายใต้กระทรวงมหาดไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วงเงิน 22,159 ล้านบาท ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอาจจะยังไม่สามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนได้เพราะจัดทำไปแล้ว

ทั้งนี้การจัดทำงบประมาณ ปี 2566 ในส่วนงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล พบว่ามีรายละเอียดของการจัดสรรงบประมาณ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ งบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ วงเงิน 22,159 ล้านบาท งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ วงเงิน 124 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ วงเงิน 22,159 ล้านบาท กำหนดไว้เพื่อนำไปใช้จัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนในกทม. และภารกิจโอนถ่ายด้านการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่โดยส่วนใหญ่ยังเป็นงบบุคลากร มีรายละเอียดดังนี้

เงินอุดหนุนทั่วไป วงเงิน 20,616 ล้านบาท แบ่งเป็น

1. ค่าใช้จ่ายบุคลากร เช่น เงินอุดหนุนบุคลากรปฏิบัติงานการป้องกันควบคุมและบรรเทาอัคคีภัยและสาธารณภัย และเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาภาคบังคับ 9,429 ล้านบาท

2. ค่าใช้จ่ายดําเนินงาน มีรายละเอียดดังนี้

เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ วงเงิน 1,543 ล้านบาท ก็เป็นงบที่กำหนดรายละเอียดโครงการเอาไว้แล้ว ดังรายละเอียดดังนี้

ทั้งนี้หากพิจารณาจากงบประมาณที่เสนอภายใต้กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 20,616 ล้านบาท อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดในการบริหารจัดการงบประมาณ

ขั้นตอนพิจารณางบฯปี’66

ในส่วนงบประมาณที่มาจากการประมาณการณ์รายได้ของ กทม.เอง ‘ชัชชาติ’ ยังมีโอกาสในการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับนโยบายได้ เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเสนอรายละเอียดงบประมาณตามข้อบัญญัติงบประมาณของกทม.

โดยการประมาณการณ์รายได้ของ กทม.ในปี 2566 ได้ประมาณ 79,000 ล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณปี 2565 หากปฏิทินการพิจารณางบประมาณปี 2566 มี ขั้นตอนการพิจารณางบประมาณ ดังนี้

ดังนั้นการดำเนินโครงการ 214 โครงการของ ‘ชัชชาติ’ ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม.4 ปี หากลงมือทำตั้งแต่วันนี้ ไม่ต้องใช้เวลาเรียนรู้งานเหมือนที่ผ่านๆมา ก็ต้องติดตาม ‘วาระซ่อมกรุงเทพให้น่าอยู่น่าเที่ยว’ สามารถบริหารจัดการให้ได้ตามนโยบายที่วางเอาไว้
และจะเห็นเป็นรูปธรรมได้แค่ไหน